.
ภัควดี แปล: พอล เอ็ม. สวีซี “ทำไมชะงักงัน?”
ใน www.prachatai.com/journal/2012/09/42433 . . Sun, 2012-09-02 21:43
( ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก Paul M. Sweezy, “Why Stagnation?” Monthly Review, http://monthlyreview.org/2012/06/01/why-stagnation-2 )
พอล เอ็ม. สวีซี เป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของ Monthly Review ตั้งแต่ ค.ศ.1949 กระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ.2004 บทความนี้เรียบเรียงขึ้นมาจากบันทึกย่อสำหรับการปาฐกถาต่อ Harvard Economics Club เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1982 และตีพิมพ์ซ้ำจากต้นฉบับที่เคยเผยแพร่ใน Monthly Review ฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ.1982 หรือเมื่อสามสิบปีที่แล้ว
ผู้แปลนำบทความนี้มาแปล เพราะเห็นว่ามีหลายประเด็นที่มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
คำถามว่า “ทำไมชะงักงัน?” ค่อนข้างสำคัญเป็นพิเศษสำหรับผม ตั้งแต่ผมเริ่มศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์มาจนถึงปีนี้ก็ครบรอบห้าสิบปีพอดี วงจรตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เริ่มต้นใน ค.ศ.1929 กำลังเข้าใกล้จุดต่ำสุด ภาวะว่างงานในปีนั้นตามตัวเลขของรัฐบาล อยู่ที่ร้อยละ 23.6 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และไต่ไปจนถึงจุดสูงสุดใน ค.ศ.1933 ที่ร้อยละ 24.9 ตัวเลขคงอยู่ในระดับสองหลักตลอดทั้งทศวรรษนั้น กระนั้นก็ตาม ภาวะฟื้นตัวเริ่มขึ้นใน ค.ศ.1933 และมันกลายเป็นสถิติของภาวะฟื้นตัวที่ใช้เวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จนถึงตอนนั้น แม้เมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวสูงสุดใน ค.ศ.1937 แต่อัตราการว่างงานก็ยังอยู่ที่ร้อยละ 14.3 และพุ่งสูงขึ้นอีกในช่วงปลายปี ซึ่งบังเอิญเป็นปีที่ผมจบปริญญาเอกพอดี ทุกท่านลองจินตนาการดูเถิดว่า จะมีสภาพแวดล้อมอื่นใดมากไปกว่านี้อีกที่จะสร้างความฝังใจแก่นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มคนหนึ่งว่า ปัญหาเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานไม่ใช่วงจรขึ้นลง แต่เป็นภาวะชะงักงันระยะยาวต่างหาก?
หลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงใน ค.ศ.1937 การวิวาทะเกี่ยวกับสาเหตุต่าง ๆ ของภาวะชะงักงันเริ่มแพร่หลายในวงการเศรษฐศาสตร์ ผู้อภิปรายประเด็นนี้ที่โดดเด่นที่สุดสองคนคือ อัลวิน แฮนเซ่น (Alvin Hansen) กับโยเซฟ ชุมพีเทอร์ (Joseph Schumpeter) นักเศรษฐศาสตร์ระดับหัวกะทิของฮาร์วาร์ดในช่วงทศวรรษ 1930 จุดยืนของแฮนเซ่นสรุปรวบยอดไว้ดีที่สุดในหนังสือของเขาชื่อ Full Recovery or Stagnation? ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1938 ส่วนของชุมพีเทอร์อยู่ในบทสุดท้ายของตำราชุดสองเล่มของเขาที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1939 ในชื่อว่า Business Cycles
ชุมพีเทอร์ตีตราทฤษฎีของแฮนเซ่นว่าเป็น “ทฤษฎีของโอกาสการลงทุนที่หายไป” ซึ่งก็เป็นคำจำกัดความที่เหมาะสม ตามทฤษฎีนี้ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมก้าวหน้าสมัยใหม่มีศักยภาพมหาศาลในด้านการออม ทั้งเพราะโครงสร้างความเป็นบรรษัทขนาดใหญ่และเพราะการกระจายรายได้ส่วนบุคคลที่ไม่เท่าเทียมอย่างมาก แต่หากขาดโอกาสการลงทุนที่ให้ผลกำไรมากเพียงพอ ศักยภาพการออมนี้กลับมิได้แปรเปลี่ยนไปเป็นการสะสมทุนที่แท้จริงและความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน แต่กลับกลายเป็นภาวะรายได้ตกต่ำ การว่างงานของคนจำนวนมากและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรัง อันเป็นเงื่อนไขที่สรุปรวมด้วยคำว่า “ภาวะชะงักงัน” (stagnation) (แน่นอน กรอบของการวิเคราะห์นี้ได้มาจาก General Theory ของเคนส์โดยตรง ซึ่งเป็นผลงานที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1936 และแฮนเซ่นเป็นผู้ตีความและผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ที่รู้จักกันดีที่สุดในฟากสมุทรแอตแลนติกฝั่งนี้)
เพื่อให้ทฤษฎีนี้สมบูรณ์ ก็ต้องมีคำอธิบายว่าทำไมจึงเกิดภาวะขาดแคลนโอกาสการลงทุนขึ้นในทศวรรษ 1930 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ความพยายามของแฮนเซ่นในการเติมคำลงในช่องว่างตรงนี้ อยู่ในรูปของสิ่งที่เขาพิจารณาว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่กลับกลายไม่ได้ ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้นและสุดท้ายก็กลายเป็นเงื่อนไขครอบงำความเป็นไปของโลกหลังจากจุดที่ชุมพีเทอร์เรียกว่า “วิกฤตการณ์โลก” เริ่มขึ้นใน ค.ศ.1929 ถ้าจะอธิบายอย่างหยาบ ๆ ง่าย ๆ สักหน่อย ตามแนวคิดของแฮนเซ่นนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือ (1) การสิ้นสุดการขยายอาณาเขตเชิงภูมิศาสตร์ บางครั้งเรียกกันว่า “การปิดชายแดน” แต่แฮนเซ่นตีความกว้างขึ้นในระดับโลก (2) อัตราการเติบโตของประชากรที่ถดถอยลง และ (3) แนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีการใช้ทุนน้อยลงกว่าขั้นตอนต้น ๆ ของการพัฒนาระบบทุนนิยม ในทัศนะของแฮนเซ่น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทั้งหมดทำให้เกิดข้อจำกัดต่ออุปสงค์สำหรับการลงทุนใหม่ ๆ และในแง่นี้จึงทำให้ศักยภาพมหาศาลในการออมของระบบแปรเปลี่ยนไปเป็นแรงขับที่สร้างภาวะชะงักงันมากกว่าเครื่องจักรสู่การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
กลุ่มผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของแฮนเซ่น ซึ่งรวมชุมพีเทอร์อยู่ด้วย มองเห็นคุณประโยชน์น้อยมากในทฤษฎีนี้ มิใช่ว่าพวกเขาปฏิเสธความจำเป็นของการสะสมทุนที่เข้มแข็งเพื่อความเติบโตที่ยั่งยืนและการจ้างงานในอัตราสูง แต่เพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถยอมรับข้อถกเถียงว่า ความเปลี่ยนแปลงที่แฮนเซ่นระบุชี้ไว้นั้นเป็นความจริง หรือต่อให้มันเป็นความจริง มันก็ไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งการบั่นทอนอุปสงค์ของการลงทุนใหม่ ๆ การสิ้นสุดการขยายอาณาเขตเชิงภูมิศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ทำไมมันจึงเพิ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านร้ายทางเศรษฐกิจเมื่ออีกสามสี่ทศวรรษให้หลัง? ความเติบโตของจำนวนประชากรไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการลงทุน มันอาจมีความหมายแค่การว่างงานเพิ่มขึ้น ที่อยู่อาศัยแออัดมากขึ้น มาตรฐานการครองชีพตกต่ำลง ส่วนลักษณะและผลกระทบที่อ้างถึงความเปลี่ยนแปลงในนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ และตามทัศนะของกลุ่มผู้วิจารณ์นั้น มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้
ตรงกันข้ามกับทฤษฎีของแฮนเซ่น ชุมพีเทอร์นำเสนออีกทฤษฎีหนึ่งโดยตั้งคำถามจากแง่มุมที่แตกต่างออกไป แทนที่จะถามว่า อะไรคือสาเหตุของภาวะชะงักงันในทศวรรษ 1930 เขากลับตั้งคำถามว่า ทำไมวงจรขาขึ้นที่เริ่มต้นใน ค.ศ.1933 จึงสิ้นสุดลงโดยที่ไม่มีสภาพการณ์หลายอย่างที่พึงมี เช่น ภาวะจ้างงานเต็มอัตรา ราคาสินค้าสูงขึ้น สินเชื่อตึงตัว ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่เขาและนักเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ คาดการณ์ไว้เสมอมาว่าเป็นสภาพการณ์ “ปรกติ” ที่พึงเกิดขึ้นในช่วงท้ายของขั้นตอนความเฟื่องฟูในวงจรขาขึ้น บางท่านคงจำได้ว่า ชุมพีเทอร์แบ่งวงจรเศรษฐกิจออกเป็น 3 ประเภท แต่ละประเภทตั้งชื่อตามนักคิดคนก่อน ๆ ที่ศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้ อันประกอบด้วย “Kitchins” (วงจรที่สั้นมาก โดยพื้นฐานแล้วเป็นวงจรของสินค้าคงเหลือหรือสินค้าที่ผลิตเกินอุปสงค์) “Juglars” (สิ่งที่นักเขียนส่วนใหญ่คิดว่า นี่แหละคือวงจรธุรกิจ) และ “Kondratieffs” (วงจรที่เชื่อกันว่ามีระยะเวลาประมาณห้าสิบปี เป็นวงจรที่ชุมพีเทอร์เชื่อว่าเป็นความจริงของโลกเศรษฐกิจ) ประสบการณ์ในช่วงทศวรรษ 1930 นั้น เขาให้คำจำกัดความว่าเป็น “วงจร Juglar ที่น่าผิดหวัง” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
เนื่องจากชุมพีเทอร์ไม่ยอมรับทฤษฎีโอกาสการลงทุนที่ขาดหายไปของแฮนเซ่น ชุมพีเทอร์หันไปกล่าวโทษบรรยากาศต่อต้านธุรกิจในช่วงเวลานั้นแทน บรรยากาศที่เขาคิดว่าเป็นผลพวงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการพัฒนาระบบทุนนิยม ในแง่หนึ่ง เราอาจเรียกบรรยากาศนี้ว่า “ทฤษฎีนิวดีลของภาวะชะงักงัน” และเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่เชื่อกันอยู่แล้วในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่เป็นธรรมดาสำหรับชุมพีเทอร์ที่เขาต้องทำให้มันหักมุมเป็นพิเศษสักหน่อย สำหรับชุมพีเทอร์ หัวใจสำคัญของปัญหาไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของกฎหมายนิวดีล ซึ่งเขายอมรับว่าสอดคล้องกับการทำงานตามปรกติของระบบทุนนิยม แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคลากรที่บังคับใช้กฎหมายและสิ่งที่เขามองว่าเป็นจิตวิญญาณต่อต้านธุรกิจที่คนเหล่านี้ประพฤติปฏิบัติออกมาต่างหาก เขาเชื่อว่า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบด้านลบที่บั่นทอนทำลายความเชื่อมั่นและการมองโลกในแง่ดีของผู้ประกอบการ พร่าเลือนความหวังที่มีต่ออนาคตและขัดขวางกิจกรรมการลงทุนในปัจจุบัน
มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ๆ ที่วิวาทะเกี่ยวกับภาวะชะงักงันนี้เกิดขึ้นมามากมายหลังจากการตกต่ำอย่างรุนแรงของวงจรเศรษฐกิจในช่วง ค.ศ.1937-38 ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนมีเหตุผลให้ตั้งความหวังว่า วงจรขาขึ้นอันยาวนานที่เริ่มต้นใน ค.ศ.1933 จะดำเนินต่อไปจนเต็มกำลังการผลิตและภาวะจ้างงานเต็มอัตรา ดังนั้น เมื่อเกิดความซบเซาลงอย่างรุนแรง จึงทำให้เสียขวัญ เมื่ออัตราการว่างงานกระโดดขึ้นไปที่ร้อยละ 19 ใน ค.ศ.1938 และคงค้างอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 17 ตลอด ค.ศ.1939 ความเป็นจริงอันมืดมนของภาวะชะงักงันจึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไป หนังสือที่ออกมาใน ค.ศ.1938 ของแฮนเซ่นและการตอบโต้ของชุมพีเทอร์ในปีต่อมา จึงเป็นแค่จุดเด่นของปรากฏการณ์ที่น่าจะกลายเป็นหนึ่งในการถกเถียงระดับคลาสสิกในประวัติศาสตร์ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ และมิใช่มีเพียงแค่นักเศรษฐศาสตร์ที่วิตกกังวลกับเรื่องนี้ กระทั่งประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ เมื่อโครงการนิวดีลอันเคยเป็นความหวังของเขาต้องมาเหี่ยวเฉาจากหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อน เขาก็รีบแต่งตั้งคณะกรรมาธิการระดับสูงที่เรียกว่า Temporary National Economic Committee (TNEC) ขึ้นเพื่อค้นหาว่า อะไรที่ทำให้เกิดความผิดพลาดและสามารถแก้ไขอะไรได้บ้าง แต่ยังไม่ทันที่ TNEC จะได้เริ่มรายงานการค้นพบ (อันน้อยนิดอย่างยิ่ง) สงครามโลกครั้งที่สองก็ปะทุขึ้นเสียก่อน เพียงชั่วข้ามคืน หัวข้อปัญหาภาวะชะงักงันทั้งหมดก็อันตรธานไปจากสายตาของทุกคน และไม่เคยรื้อฟื้นกันขึ้นมาอีก
หลังสงครามโลก ใน ค.ศ.1952 ผลงานการศึกษาหัวข้อนี้อย่างจริงจังและสำคัญชิ้นหนึ่งได้รับการตีพิมพ์ในอังกฤษ นั่นคือ Maturity and Stagnation in American Capitalism ของโยเซฟ สแตงดึล (Joseph Steindl) นักวิชาการลี้ภัยชาวออสเตรียที่ใช้เวลาหลายปีในช่วงสงครามอยู่ที่ Oxford Institute of Statistics แต่น่าเสียดายที่ผลงานชิ้นนี้ถูกเพิกเฉยจากวงการเศรษฐศาสตร์ และช่วงเวลายาวนานของการขยายตัวของระบบทุนนิยมหลังสงครามโลก ซึ่งกำลังดำเนินไปในช่วงที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมา จึงดูราวกับเสือกไสให้ “ปริศนา” ของภาวะชะงักงันทั้งหมดถูกปัดทิ้งไปอยู่ในซอกหลืบของเรื่องประหลาดทางประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม หลายเหตุการณ์ในระยะหลังแสดงให้เห็นว่า การกลบฝังประเด็นภาวะชะงักงันเป็นการด่วนสรุปเกินไป ผมคงไม่จำเป็นต้องบอกทุกท่านอีกว่า ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ปัญหานี้ย้อนรอยกลับมาอีก โดยครั้งนี้มีการหักมุมใหม่ ๆ ที่สะท้อนออกมาในศัพท์บัญญัติคำใหม่คือ “ภาวะชะงักงันควบคู่ภาวะเงินเฟ้อ” (stagflation) ภาวะนี้ย้อนกลับมาปรากฏซ้ำเมื่อไรแน่ควรเป็นหัวข้อวิวาทะกันอีกทีหนึ่ง อาจในช่วงปลายทศวรรษ 1950 โดยมีสงครามเวียดนามเป็นปัจจัยที่ช่วยถ่วงเวลาออกไปชั่วคราว หรืออาจในช่วงต้นทศวรรษ 1970 หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ตลาดสินเชื่อหดตัว (credit crunch) อันสืบเนื่องมาจากการล้มละลายของบริษัท Penn Central Transportation Company และการที่ประธานาธิบดีนิกสันประกาศถอนตัวจากมาตรฐานทองคำอย่างเป็นทางการและการทดลองควบคุมค่าแรงและราคาสินค้าเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรืออาจเป็นไปได้ว่า ภาวะชะงักงันย้อนกลับมาอย่างแท้จริงโดยเริ่มต้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน ค.ศ.1974-75 ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ1970 ได้สำแดงปรากฏการณ์ในรูปแบบใหม่ของ “ภาวะชะงักงันควบคู่ภาวะเงินเฟ้อ” ให้ทุกคนได้เห็น และแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาวะเศรษฐกิจรังแต่จะแย่ลงนับตั้งแต่นั้นมา โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดเจนสองชุดด้วยกัน
ข้อเท็จจริงชุดแรกคือ ภาวะว่างงานในโลกทุนนิยมพัฒนาแล้ว (24 ประเทศในกลุ่ม OECD) คาดว่าจะทะลุ 30 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมด (แน่นอนว่า ตัวเลขสูงกว่านี้ในกลุ่มผู้หญิง คนหนุ่มสาวและชนกลุ่มน้อย) ข้อเท็จจริงชุดที่สองคือ ในสหรัฐอเมริกา มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยสองครั้งเกิดขึ้นติดต่อกัน โดยมีแนวโน้มเป็นไปได้ที่ครั้งหลังในขณะนี้อาจร้ายแรงจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเต็มที่ (นี่มิได้หมายความว่า ผู้สันทัดกรณีที่คาดหมายหรือทำนายว่าจะมีภาวะขาขึ้นในอนาคตอันใกล้มีมุมมองที่ผิดพลาด ใน ค.ศ.1930 ก็มีภาวะขาขึ้นสั้น ๆ และมักมีการอ้างถึงภาวะฟื้นตัวที่ใช้เวลานานในช่วง ค.ศ.1933-1937 อันที่จริง ภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ว่าในช่วงวงจรขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม ไม่เพียงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่เกิดขึ้นเสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)
ผมจะไม่เสแสร้งว่าติดตามงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ ๆ ได้ทันทั้งหมด แต่ผมมีความรู้สึกว่า วงการเศรษฐศาสตร์ยังไม่ได้เริ่มกลับไปวิวาทะเกี่ยวกับภาวะชะงักงัน ซึ่งขาดห้วนไปอย่างกะทันหันเนื่องจากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง ผมรู้สึกว่า ถ้าเราถามนักเศรษฐศาสตร์ว่า เราตกอยู่ในภาวะจมปลักที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร แม้ว่าเขาหรือเธอคงไม่ปฏิเสธว่ามันจมปลักจริง ๆ แต่ก็จะตอบคำถามด้วยการให้คำแนะนำถึงวิธีการออกจากปลัก แต่ไม่ค่อยมีคำอธิบายที่ชัดเจนมากนักว่าเราเดินมาติดหล่มนี้ได้อย่างไร
เลนเนิร์ด ซิลค์ (Leonard Silk) บรรณาธิการเศรษฐศาสตร์สายกลางผู้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลแห่ง New York Times เป็นตัวอย่างที่ดี ในหลายคอลัมน์ที่เขาเขียนในระยะหลัง เขาย้ำตลอดเวลาถึงความหมิ่นเหม่ของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลเรแกนและชี้แนะหนทางที่น่าจะดีกว่า ในคอลัมน์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในเซ็คชั่น “ธุรกิจ” ของหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม เขาถึงขนาดให้ข้อมูลภูมิหลังจำนวนมาก โดยเน้นที่แผนภูมิห้าอันที่ย้อนหลังไปถึง ค.ศ.1965 แสดงให้เห็นรากเหง้าของปัญหาที่ย้อนหลังไปเป็นระยะเวลายาวนาน หัวข้อคอลัมน์ก็ตั้งได้อย่างน่าสนใจว่า “สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เป็นภาวะเรื้อรังของการว่างงานและความหยุดนิ่งของภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลคือตัวการ” อ่านเผิน ๆ นี่ดูเหมือนเป็นทั้งคำบรรยายและคำอธิบายถึงภาวะชะงักงัน แต่ถ้าอ่านทั้งบทความ กลับไม่พบคำอธิบายจริง ๆ มากนัก นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสักเท่าไร เพราะนับตั้งแต่ ค.ศ.1965 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกามีรัฐบาลถึงห้าชุด ซึ่งมีอุดมการณ์และนโยบายแตกต่างกันไป และโดยเหตุผล เชิงนิรนัย แล้ว มันไม่น่าเป็นไปได้ที่ใครจะกลั่นประสบการณ์โดยรวมทั้งหมดให้เหลือแค่องค์คณะใดองค์คณะหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบาลตัวการ” ซึ่งสมควรเป็นแพะรับบาป เลนเนิร์ด ซิลค์เองก็ไม่ได้พยายามทำเช่นนั้นจริงจังหรอก กระทั่งเราตั้งข้อสงสัยได้ด้วยซ้ำไปว่า ชะรอยบรรณาธิการมักง่ายบางคนคงเขียนพาดหัวข้อคอลัมน์ให้โดยไม่ทันได้อ่านบทความนี้อย่างละเอียดลออ
ดังนั้น เราจึงยังมีคำถามว่า “ทำไมชะงักงัน?” คำถามนี้ตั้งขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1930 แล้วก็ถูกปัดทิ้งไปโดยยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ ความเป็นจริงในโลกกำลังตั้งคำถามนี้ซ้ำอีก ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรยอมรับความท้าทายนี้และช่วยกันหาคำตอบอีกครั้ง
ผมคิดว่าเราจะช่วยหาคำตอบได้ดีขึ้น ถ้าเราเริ่มต้นตรงที่แฮนเซ่นเริ่มไว้ให้ในทศวรรษ 1930 โดยพื้นฐานแล้ว โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทั้งในภาคบรรษัทและในมิติส่วนบุคคลก็ยังคงเหมือนกับเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ศักยภาพในการออมก็ยังคงมหาศาล และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มที่ศักยภาพนี้ยิ่งมากขึ้น มิใช่ลดลง การรวมศูนย์ของภาคบรรษัทเพิ่มขึ้นและการกระจายรายได้ส่วนบุคคลยังคงเหลื่อมล้ำลิบลิ่ว ยิ่งไปกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโครงสร้างภาษีมีแต่จะยิ่งเอื้ออำนวยต่อบรรษัทและคนรวยมากขึ้น ๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเสมอภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ การลงทุนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนคือสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยไม่ให้ระบบเศรษฐกิจจมลงสู่ภาวะชะงักงัน และนี่แหละคือสิ่งที่ขาดหายไปเป็นเวลานานแล้ว และโดยเฉพาะขาดหายไปในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดังนั้น สาเหตุโดยตรงของภาวะชะงักงันก็เหมือนเมื่อคราวทศวรรษ 1930 กล่าวคือ แนวโน้มอันแรงกล้าที่จะออมและแนวโน้มอันอ่อนแอที่จะลงทุน
ผมขอออกนอกเรื่องสักประเดี๋ยวเพื่อชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า สมรรถนะโดยรวมของระบบเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ไม่ได้แย่ลงกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ได้แย่เท่ากับในช่วงทศวรรษ 1930 ทั้งนี้เพราะสาเหตุใหญ่ ๆ สามประการด้วยกันคือ (1) บทบาทที่มากขึ้นอย่างมหาศาลของการใช้จ่ายภาครัฐและการจัดงบประมาณแบบขาดดุลของรัฐบาล (2) การเติบโตอย่างกว้างขวางของหนี้ผู้บริโภค รวมทั้งหนี้เงินกู้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1970 และ (3) ฟองสบู่ของภาคการเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากการเติบโตของสินเชื่อแล้ว ก็ยังมีความเฟื่องฟูของการเก็งกำไรสารพัดรูปแบบ ทั้งแบบใหม่แบบเก่า ซึ่งก็ส่งผลที่ก่อให้เกิดกำลังซื้อที่มากกว่าแค่การไหลหยด (trickle down) ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ “ที่แท้จริง” ส่วนใหญ่ในรูปแบบของการเพิ่มอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งสามประการนี้คือพลังสำคัญที่ช่วยบรรเทาภาวะชะงักงันไว้ตราบเท่าที่ยังไหว แต่ก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่เสมอว่า ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้มากเกินไป มันอาจพังทลายกลายเป็นความตื่นกลัวแบบเก่า ๆ ที่เราไม่ได้เห็นมานานแล้วนับตั้งแต่สมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วง ค.ศ.1929-33 ( . . พ.ศ. 2472-76 )
ดังนั้น ในเบื้องต้นที่สุด เราจึงกลับไปตรงจุดที่วิวาทะในทศวรรษ 1930 ทิ้งค้างไว้ นั่นคือ ทำไมแรงจูงใจเพื่อการลงทุนจึงอ่อนแอเหลือเกิน? ผมคิดว่า เมื่อนำคำตอบของแฮนเซ่นมาใช้กับปัจจุบัน มันชวนให้คล้อยตามได้น้อยกว่าสมัยที่เขานำเสนอเป็นครั้งแรก และแน่นอนว่าคงไม่มีใครเห็นด้วยกับชุมพีเทอร์ในการกล่าวโทษนโยบายต่อต้านธุรกิจว่าเป็นตัวการบั่นทอนกำลังใจของนายทุนจากการลงทุนในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ยิ่งกับรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจอย่างรัฐบาลเรแกนในวอชิงตันตอนนี้ คงยิ่งไม่มีใครคิดเช่นนั้น เราจึงต้องมองหาคำตอบที่อื่น
ผมขอเสนอว่า คำตอบจะพบได้ในการวิเคราะห์ช่วงเวลาระยะยาว ช่วงยี่สิบห้าปีหรือประมาณนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงที่เราไม่มีปัญหาภาวะชะงักงัน อันที่จริง ระหว่างช่วงเวลานั้น แรงจูงใจเพื่อการลงทุนมีความแข็งแกร่งและคงเส้นคงวาทีเดียว และสถิติความเติบโตของระบบเศรษฐกิจก็น่าจะดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงใด ๆ ก็ตามในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ผมคิดว่า เหตุผลก็คือ สงครามโลกได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสภาพการณ์เศรษฐกิจโลกไปในลักษณะที่สร้างความเข้มแข็งให้แรงจูงใจเพื่อการลงทุนอย่างมาก ผมวิเคราะห์ปัจจัยหลัก ๆ โดยสังเขปย่นย่อได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้คือ (1) ความจำเป็นต้องฟื้นฟูความเสียหายจากช่วงสงคราม (2) อุปสงค์ที่ขยายตัวขึ้นมาอย่างมากต่อสินค้าและบริการ เนื่องจากการผลิตถูกทำลายหรือหดตัวลงในระหว่างสงคราม (บ้าน รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ ฯลฯ) กำลังซื้อจำนวนมากที่สั่งสมไว้ในระหว่างสงครามของบริษัทและปัจเจกบุคคลที่สามารถเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ที่มีศักยภาพหรืออุปสงค์ที่มีแนวโน้มจะซื้อ (potential demand) ให้กลายเป็นอุปสงค์ที่แท้จริงหรือซื้อจริง (effective demand) (3) การที่สหรัฐอเมริกาตั้งตัวเป็นผู้ครองความเป็นใหญ่ในโลกได้จากผลของสงคราม เงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นพื้นฐานของระบบการเงินสากล การค้าก่อนสงครามและกลุ่มเงินตราหลายกลุ่มพังทลายลง และเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายทุนอย่างค่อนข้างเสรีถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้อำนวยพลังขับดันให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างมาก (4) ผลพลอยได้ที่ภาคพลเรือนได้จากเทคโนโลยีของกองทัพ โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องบินไอพ่น และ (5) การที่สหรัฐอเมริกาสร้างอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในช่วงสันติภาพขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ โดยได้แรงกระตุ้นจากสงครามใหญ่ ๆ ในภูมิภาค ทั้งสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ข้อเท็จจริงที่สำคัญมากแต่มักถูกมองข้ามไปก็คือ เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในบรรยากาศธุรกิจ การมองโลกในแง่ร้ายและความระแวงที่หลงเหลือตกค้างมาจากยุคทศวรรษ 1930 ไม่ได้มลายหายไปในฉับพลัน แต่เมื่อเริ่มเห็นชัดว่า ความเฟื่องฟูหลังสงครามมีรากหยั่งลึกกว่าแค่การซ่อมแซมความเสียหายและการสูญเสียของสงคราม บรรยากาศจึงแปรเปลี่ยนไปเป็นการมองโลกในแง่ดีในระยะยาว ความเฟื่องฟูของการลงทุนขนานใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญทั้งหมดของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่จึงปลดปล่อยออกมาทันที ทั้งเหล็กกล้า รถยนต์ พลังงาน การต่อเรือ สารเคมีหนักและอื่น ๆ อีกมากมาย กำลังการผลิตถูกสร้างสมขึ้นมาอย่างรวดเร็วในทุกประเทศทุนนิยมชั้นนำ รวมทั้งในประเทศโลกที่สามที่ค่อนข้างก้าวหน้าบางประเทศ เช่น เม็กซิโก บราซิล อินเดีย และเกาหลีใต้
เมื่อย้อนกลับไปดูสาเหตุต่าง ๆ ของภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นซ้ำในทศวรรษ 1970 ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงไว้ในใจก็คือ ทุกปัจจัยที่เป็นพลังขับดันการขยายตัวระยะยาวของเศรษฐกิจยุคหลังสงครามโลกล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัดในตัวมันเอง อันที่จริง นี่คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติของการลงทุน กล่าวคือ มันไม่เพียงสนองตอบต่ออุปสงค์ มันยังปรนเปรออุปสงค์ด้วย ความเสียหายระหว่างสงครามได้รับการซ่อมแซม อุปสงค์ที่ถูกถ่วงไว้ในระหว่างสงครามก็ได้รับการปรนเปรอ กระบวนการในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในช่วงสันติภาพ) ต้องอาศัยการลงทุนมากกว่าการรักษาอุตสาหกรรมนั้นเอาไว้ การขยายกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมมักลงเอยที่การสร้างกำลังการผลิตล้นเกินขึ้นมาเสมอ
กล่าวอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ แรงจูงใจต่อการลงทุนที่เข้มแข็งนำไปสู่การลงทุนจำนวนมากที่ย้อนกลับมาบ่อนทำลายแรงจูงใจต่อการลงทุน นี่คือความลับของความเฟื่องฟูระยะยาวหลังสงครามและการหวนกลับมาของภาวะชะงักงันในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อความเฟื่องฟูเริ่มจางหายไป ภาวะชะงักงันถูกเตะถ่วงออกไปอีกหลายปีด้วยการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น ๆ ทั้งในระดับชาติและสากล การเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่งมากขึ้น ๆ เงินเฟ้อมากขึ้น ๆ พอถึงตอนนี้ การบรรเทาอาการโดยไม่รักษาที่ต้นเหตุกลับกลายเป็นเรื่องร้ายยิ่งกว่าเรื่องดี และปัญหาที่มาซ้ำเติมภาวะชะงักงันให้ซ้ำร้ายลงไปอีกก็คือสถานการณ์ของภาคการเงินที่เสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว
นี่หมายความว่า ผมกำลังให้เหตุผลหรือชี้นำว่า ภาวะชะงักงันกลายเป็นภาวะความเป็นไปโดยถาวรหรือเปล่า? เปล่าเลย นักคิดบางคน (ซึ่งผมคิดว่าคงรวมแฮนเซ่นไว้ในกลุ่มนี้ด้วย) คิดว่า ภาวะชะงักงันของทศวรรษ 1930 จะคงอยู่ไปเรื่อย ๆ และเราจะก้าวข้ามพ้นมันได้ก็ต่อเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในโครงสร้างของระบบทุนนิยมก้าวหน้าเท่านั้น แต่ดังที่ประสบการณ์ได้สำแดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาคิดผิด และข้ออ้างเหตุผลคล้าย ๆ กันในวันนี้ก็พิสูจน์ได้ว่าผิดเช่นกัน ตัวผมเองไม่เชื่อว่า สงครามโลกครั้งใหม่จะช่วยสร้างผลพวงตามมาเหมือนครั้งที่แล้ว (หรือดังผลพวงในระดับที่น้อยกว่าหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) หากสงครามครั้งใหม่ใหญ่พอที่จะส่งผลกระทบใหญ่ ๆ ต่อระบบเศรษฐกิจ มันก็คงกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งหลังจากนั้นก็คงแทบไม่เหลืออะไรให้สร้างขึ้นมาใหม่ แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างมั่นใจว่า ต่อแต่นี้จะไม่มีแรงกระตุ้นใหม่ ๆ ที่มีพลังต่อการลงทุนอีกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น แรงกระตุ้นแบบที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม การรถไฟ และรถยนต์ในสมัยก่อน ผมคิดว่า สิ่งที่เราพอพูดได้ก็คือ อะไรแบบนั้นยังไม่มีให้มองเห็นเลย ณ ขอบฟากฟ้าในตอนนี้ สำหรับคนที่เข้าใจประเด็นนี้ บทเรียนที่ชัดเจนก็คือ แทนที่จะรอให้เกิดปาฏิหาริย์ (หรือหายนะที่กอบกู้กลับคืนไม่ได้) นี่คือเวลาสำคัญที่เราต้องอุทิศความคิดและแรงกายแรงใจเพื่อแทนที่ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยระบบเศรษฐกิจที่ทำงานเพื่อตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์ และไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นแค่ผลพลอยได้ของการมีอยู่หรือการขาดหายไปของโอกาสการลงทุนที่ดึงดูดแค่นายทุนที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมจำนวนหยิบมือหนึ่งเท่านั้น
ผมขอปิดท้ายด้วยข้อคิดเห็นสองสามประการเกี่ยวกับความเกี่ยวพันของการวิเคราะห์ข้างต้นกับหัวข้อที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นั่นคือ ประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมมีลักษณะแบบวงจรระยะยาวที่กินเวลาประมาณห้าสิบปีหรือไม่ (วงจรที่ชุมพีเทอร์เรียกว่า Kondratieff cycle) ประการแรก เราควรเข้าใจให้ชัดเจนว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่อยู่ตรงที่พัฒนาการของระบบทุนนิยมเกิดขึ้นในแบบไม่สม่ำเสมอ โดยมีช่วงเวลาของการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามมาด้วยช่วงเวลาของการขยายตัวช้า (หรือกระทั่งไม่ขยายตัวเลย) และในทางกลับกันด้วย ซึ่งมักเรียกกันว่า คลื่นยาว หลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งบอกถึงการมีอยู่จริงของคลื่นยาวในความหมายข้างต้นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว และนักสถิติก็สามารถจัดการกับข้อมูลเชิงสถิติที่มีอยู่มากมายหลากหลายแทบไม่มีสิ้นสุดเพื่อสร้างเป็นเหตุผลสนับสนุนได้ว่า มีช่วงลำดับเวลาที่ต่อเนื่องกันของอัตราความเติบโตที่รวดเร็วกับถ่วงช้า ซึ่งดูเหมือนสอดคล้องกับการอ้างว่ามีกลไกวงจรซ่อนอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ทั้งหมดจริง ๆ
แต่ความสอดคล้องกับการมีอยู่จริงของกลไกวงจรเศรษฐกิจไม่ใช่ข้อพิสูจน์ถึงการมีอยู่จริงของกลไกดังกล่าว เหตุผลที่เรายอมรับแนวคิดว่า วงจรระยะสั้นมีอยู่จริง (กล่าวคือ วงจรที่กินเวลาน้อยกว่าสิบปี เช่น วงจร Kitchin และ Juglar ของชุมพีเทอร์) ก็เพราะกลไกนั้นสามารถอธิบายได้ทั้งในเชิงวิเคราะห์และพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ ประเด็นสำคัญก็คือ เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า ทั้งสองขั้นตอนที่เป็นพื้นฐานของวงจร กล่าวคือ การขยายตัวและการหดตัว เป็นสิ่งที่สามารถแจกแจงให้เห็นได้ว่า ในแต่ละขั้นตอนนั้นต่างก็มีเมล็ดพันธุ์ของขั้นตอนตรงกันข้ามแฝงอยู่ในตัวมันเอง หลักการนี้เป็นแก่นกลางของทฤษฎีวงจรธุรกิจสมัยใหม่ทั้งหมด ในที่นี้ขอคัดอ้างข้อความที่เป็นตำราพื้นฐานของวิชานี้มานมนานดังนี้
วงจรธุรกิจประกอบด้วยการสลับกันไปมาระหว่างการขยายตัวและการหดตัวในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด.....ระบบเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนไม่สามารถทรงตัวอยู่บนแคมเรือที่สมดุลได้ และช่วงเวลาของการขยายตัวย่อมต้องหลีกทางให้ช่วงเวลาของการผลิตและการจ้างงานที่หดตัวเสมอในเวลาไม่นานนัก ยิ่งกว่านั้น (อีกทั้งนี่คือหัวใจสำคัญของปัญหา) นั่นคือ ในแต่ละวงจรขาขึ้นหรือขาลงมีลักษณะของการซ้ำเติมตัวมันเอง มันผลักดันตัวมันเองและสร้างแรงขับดันไปในทิศทางเดียว พอเริ่มต้นขึ้นแล้ว มันก็จะมุ่งไปในทิศทางนั้น จนกว่าจะเกิดแรงสะสมที่เหวี่ยงไปในทิศทางตรงกันข้าม (Robert A. Gordon, Business Fluctuations, New York, 1952, 214)
วลีที่เป็นกุญแจสำคัญคือ “จนกว่าจะเกิดแรงสะสมที่เหวี่ยงไปในทิศทางตรงกันข้าม” สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งในขั้นตอนการขยายตัวและหดตัวของวงจรธุรกิจตามปรกติ แต่ความสมมาตรนี้ใช้ไม่ได้กับคลื่นยาว ดังที่เราตั้งข้อสังเกตไว้แล้วในกรณีของการขยายตัวระยะยาวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การเปลี่ยนทิศทางเกิดขึ้นก็จริง มันเป็นธรรมชาติที่ความเฟื่องฟูของการลงทุนย่อมต้องฝ่อลงเอง แต่ประสบการณ์ในช่วงทศวรรษ 1930 และ 1970 ชี้ให้เห็นชัดเจนเช่นกันว่า ขั้นตอนของภาวะชะงักงันในคลื่นยาวนั้นไม่ได้ก่อให้เกิด “แรงสะสมที่เหวี่ยงไปในทิศทางตรงกันข้าม” เมื่อใดก็ตามที่แรงนั้นเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากตรรกะภายในของระบบเศรษฐกิจ แต่เกิดขึ้นจากบริบททางประวัติศาสตร์ที่กว้างกว่า ซึ่งโอบล้อมการทำงานของระบบเศรษฐกิจเอาไว้ สงครามโลกครั้งที่สองคือปัจจัยที่ยุติภาวะชะงักงันในช่วงทศวรรษ 1930 เรายังไม่รู้ว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ภาวะชะงักงันในทศวรรษ 1970 และ 1980 ยุติลง—หรือจะยุติลงแบบไหน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย