http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-09

120 ปี “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” กับอนุสาวรีย์ 3 ยุค 3 นิยามสยามสมัย โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.


120 ปี “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” กับอนุสาวรีย์ 3 ยุค 3 นิยามสยามสมัย
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 76 


“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” มาจากภาษาละติน Ars Longa Vita Brevis เป็นม็อตโตที่ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” หรือCorrado Feroci (คอร์ราโด เฟโรชิ) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรเคยประกาศไว้ จนเป็นที่จารจำแก่ลูกศิษย์ชาวหน้าพระลานสืบมาทุกรุ่น

อาจารย์ศิลป์เกิดเมื่อ 15 กันยายน 2435 และถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 70 ปีใน พ.ศ.2505 ฉะนั้น ปีนี้นอกจากจะครบสิบรอบนักษัตรหรือ 120 ปีชาตกาลแล้ว ยังครบ 5 ทศวรรษแห่งการจากไปของท่านอีกด้วย 
ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย เป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะมากเกินคณานับ ยิ่งศิลปินรุ่นก้นกุฏิแทบทุกคนล้วนแต่สรรเสริญบูชาท่านประดุจพ่อคนที่สอง 
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจในอีกมิติหนึ่งของอาจารย์ศิลป์ ก็คือการเป็นบุคคล "สองแผ่นดิน-สี่รัชกาล" เดินทางจากประเทศอิตาลีที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดของโลกศิลปกรรมตอนอายุ 30 ใช้ชีวิตในสยามนานถึง 40 ปี ผ่านความรุ่งโรจน์และยุคเข็ญ เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาระลอกแล้วระลอกเล่า 

ข้อสำคัญท่านเป็นศิลปินเสาหลัก ผู้มีหน้าที่สนองเจตนารมณ์ของทุกรัฐบาลในการสร้าง "อนุสาวรีย์" ที่ต่างก็ใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ทางการเมืองกดข่มกัน
บทบาทดังกล่าวประจักษ์แจ้งในงานศิลปะอันยืนยาวและยังคงอยู่ก็คือ "อนุสาวรีย์" ที่สร้างขึ้น 3 ยุค แต่ละยุคมีเบื้องหน้าเบื้องหลังของคำบัญชาหรือใบสั่งที่ต่างอุดมการณ์ หลายชิ้นเป็นงาน "ศิลปะแนวบาดแผล" ที่ฝังรอยร้าวให้แก่วิญญาณศิลปินของท่านไม่น้อย


งานชิ้นแรกของศาสตราจารย์จากฟลอเรนซ์ 
กับฉากสุดท้ายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี คือคลื่นลูกที่สองของนายช่างอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในกรุงสยามตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อจากคลื่นลูกแรก ที่เข้ามาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มแรกนี้ฝากผลงานไว้มากมาย อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังพญาไท สถานีรถไฟหัวลำโพง สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นต้น 
ในขณะที่ยุคของศาสตราจารย์หนุ่มวัย 30 ผู้สำเร็จการศึกษามาจาก The Royal Academy of Art of Florence ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือเรียกว่าคลื่นลูกที่สองนั้น เดินทางสู่สยามตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ขอให้รัฐบาลอิตาลีหาช่างปั้นมาประจำกรมศิลปากร อาจารย์ศิลป์จึงส่งผลงานออกแบบเข้าประกวดให้ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งราชบัณฑิตยสภาอิตาลีพิจารณาคัดเลือก ฝ่าด่านผู้สมัครมากถึง 200 คน

ผลงานในทศวรรษแรกของอาจารย์ศิลป์ ระหว่างปี 2466-2475 นั้น คาบเกี่ยวสมัยปลายรัชกาลที่ 6 ต่อยุครัชกาลที่ 7 ช่วงแรกๆ เน้นหนักไปในการออกแบบเหรียญกษาปณ์ และเหรียญที่ระลึกเสียเป็นส่วนใหญ่ 
กระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี ใน พ.ศ.2475 รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริให้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าเชื่อมกรุงเทพฯกับกรุงธนฯ เข้าด้วยกัน พร้อมโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรีและนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ได้ออกแบบพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1) หันหน้าสู่กรุงเทพฯ หันหลังให้กรุงธนฯ โดยมอบหมายอาจารย์ศิลป์เป็นผู้ปั้น 
พระปฐมบรมราชานุสรณ์ มีลักษณะน่าเกรงขามตามอย่างกษัตริย์โบราณ ประทับนั่งกุมพระขรรค์บนบัลลังก์ที่ประดับเครื่องพานพุ่มสักการะ สื่อให้เห็นภาพของ "ราชาในรัฐจารีต" ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างไปจาก พระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 อันเป็นผลงานของช่างชาวฝรั่งเศส ที่นำเสนอพระมหากษัตริย์ด้วยภาพลักษณ์สมัยใหม่ ทั้งฉลองพระองค์-พระมาลาแบบตะวันตกและการทรงม้า เปล่งประกายภาพของพระราชาที่สามารถรวมศูนย์อำนาจในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างเฉียบขาด

ในขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงตระหนักดีถึงความผันแปรทางการเมือง ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังอ่อนแรงลง เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จักรวมศูนย์อำนาจทุกอย่างมาอยู่ภายใต้บารมีของบุคคลเพียงคนเดียว การนำเสนอพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ด้วยภาพของกษัตริย์ที่ย้อนกลับไปสู่ยุค "ราชาธิราช" (ไม่สมัยใหม่แต่น่าเคารพยำเกรงไม่แพ้กัน) แทนที่ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" จึงปรากฏขึ้นอย่างจงใจ 
พิธีเปิดอนุสาวรีย์มีขึ้นเมื่อ 6 เมษายน 2475 พร้อมกับการฟื้นพระราชประเพณีแห่กระบวนเรือพยุหยาตรา ซึ่งห่างหายไปในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ยิ่งเท่ากับเป็นการประกาศอุดมการณ์ของรัชกาลที่ 7 ที่มีต่อระบอบราชาธิราช หรือราชาธิปไตยอย่างเปิดเผย 
เพียง 3 เดือนให้หลัง วันที่ 24 มิถุนายนในปีเดียวกัน คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจจากพลังอนุรักษนิยม เพราะการที่รัชกาลที่ 7 ตอกย้ำให้ราษฎรสำนึกถึงปุญญาปารมีของสถาบันกษัตริย์ ผ่านพระปฐมบรมราชานุสรณ์ชิ้นนี้มากเพียงไร ก็ยิ่งเท่ากับท้าทายความต้องการของ "พลังฝ่ายก้าวหน้า" ที่กำลังจะหมุนกงล้อ อภิวัฒน์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบรัฐสมัยใหม่ที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมากขึ้นเท่านั้น 

นั่นคือตำนานหน้าแรก ที่อาจารย์ศิลป์ต้องเข้าไปพัวพันกับการสร้างอนุสาวรีย์ในฐานะช่างปั้น ไม่มีบันทึกหลักฐานว่าลึกๆ แล้วท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร หวานชื่นหรือขื่นขม?



มหาวิทยาลัยศิลปากร
กับศิลปะยุคคณะราษฎร

ปี2476 อาจารย์ศิลป์ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลที่มาจากคณะราษฎร คือกรมศิลปากร ให้เปิดโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างขึ้น อันเป็นรากฐานนำไปสู่การยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2486 
หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลป์สมัยนั้น ได้ปาฐกถาไว้ชัดถึงหน้าที่ของกรมศิลปากรว่า ต้องเอื้อประโยชน์แก่ประเทศชาติให้ครบ 3 ด้าน มิใช่ "ศิลปะ" มีคุณค่าเพียงแค่เป็น "ศิลปะบริสุทธิ์" ในตัวเองเท่านั้น แต่ทว่าต้องมี...
ประโยชน์ทางการศึกษาอบรม ประโยชน์ทางการเมือง และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ ถนนราชดำเนินกลาง คือตัวแทนศิลปะที่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองอย่างชัดเจนที่สุด ก่อสร้างระหว่างปี 2582-2483 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โครงสร้างของอนุสาวรีย์ออกแบบโดย นายหมิว อภัยวงศ์ 
แน่นอนว่าประติมากรรมนูนสูงที่ประดับรายรอบฐานนั้นจักเป็นผลงานใครอื่นใดมิได้นอกเสียจากอาจารย์ศิลป์ ผู้เป็นทั้งนายช่างใหญ่แห่งกรมศิลปากร และเป็นทั้งคณบดีคณะจิตรกรรม-ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร 
ภาพประดับเหล่านี้ อาจารย์ศิลป์ปั้นด้วยแนวเหมือนจริง ละทิ้งแนวอุดมคติเหมือนครั้งที่ปั้นพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ผู้หญิงมีรูปร่างสูงใหญ่แข็งแรงไม่อ้อนแอ้นอรชรเหมือนนางในวรรณคดี ผู้ชายมีมัดกล้ามแสดงกายวิภาคแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เนื้อหาเน้นเรื่องราวชีวิตประจำวันของสามัญชนประกอบสัมมาชีพ อาทิ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน กรรมกร ทหาร ครู หมอ พ่อค้า ที่มีอยู่จริงมิใช่เทพนิยาย


จุดเด่นที่สุดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็คือ "พานแว่นฟ้า" ที่ตั้งใจออกแบบให้เห็นว่า "สิทธิแลอธิปไตย" นั้นเป็นสิ่งที่ราษฎรช่วยกันสถาปนามาจากข้างล่างแล้วยกเทินขึ้นไว้ มิใช่เป็นการมอบลงมาจากใครเบื้องบน
ถือเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความเสมอภาค เรียบง่ายลดทอนลวดลายกนกไทยโบราณอันฟุ่มเฟือย กล่าวให้ง่ายก็คือไม่มี "ฐานานุศักดิ์" ที่แบ่งชั้นวรรณะทางสถาปัตยกรรมกันอีกต่อไป 

เรียบง่ายเสียจนถูก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วิจารณ์ว่าเป็นงานหยาบกระด้างแข็งกร้าว ไร้รสนิยม ถึงขั้นเหยียดหยามว่าเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมแนวฟาสซิสต์

ไม่ว่าใครจะคิดเห็นเช่นไรกับอนุสาวรีย์แห่งนี้ แต่บทบาทของมันมีความน่าสนใจมากกว่าประเด็นเรื่องงาม-ไม่งาม ด้านหนึ่งนั้นมันสนองเจตนารมณ์ของผู้สร้าง ด้วยถูกใช้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ครั้งสำคัญคือ 14 ตุลา 2516, 17-20 พฤษภา 2535 และครั้งล่าสุดคือเมษา 2553 ก่อนถูกกระชับพื้นที่สลายการชุมนุมทำให้ต้องไปหาพื้นที่ใหม่คือย่านการค้าราชประสงค์

ส่วนอีกด้านหนึ่งที่น่าประหลาดใจ ก็คือในยุคของ "สฤษดิ์-ถนอม" กลับแปรความหมายใหม่นำไปใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับจุดเริ่มต้นตรวจพลสวนสนามเนื่องในวันกองทัพไทย



ยุคเผด็จการ "อำนาจนิยม"
สู่รัฐราชาชาตินิยม (ใหม่)


จอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะมาจากกลุ่มคณะราษฎร แต่เมื่อมีอำนาจมาถึงจุดหนึ่งกลับนำแนวคิดแบบ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" มาสถาปนา จนถูกมองว่าเป็นฟาสซิสต์แบบมุโสลินี กลายเป็นต้นตอของลัทธิเผด็จการ "ทหารนิยม" สืบต่อมาจนถึงยุค จอมพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร ไปในที่สุด ทั้งๆ ที่มีอุดมการณ์ที่ต่างกันสุดขั้ว
เดิมนั้นจอมพล ป. มีเจตนาที่จะสร้างชาติไทยให้วัธนา ด้วยแนวคิดแบบชาตินิยม อันเป็นด้านตรงกันข้ามกับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยรัชกาลที่ 5-6 ที่เน้นแนวคิดการทำไทยให้เป็นประเทศทันสมัยตามอย่างตะวันตก 
เกิดจุดหักเหระหว่างทศวรรษที่ 2490เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามยอมประณีประนอมกับกลุ่มอำมาตย์มากขึ้น พร้อมกับเริ่มหวั่นเกรงภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ผลสุดท้ายก็กลายเป็นนักอนุรักษ์นิยมขวาตกขอบเหมือนเงาของคณะเจ้าอีกราย

ผลงานอนุสาวรีย์ในช่วงบั้นปลายชีวิตของอาจารย์ศิลป์ ที่ต้องรับใช้แนวคิดแบบชาตินิยมสุดโต่งของยุคจอมพล ป. ต่อเนื่องมาจนถึงลัทธิราชาชาตินิยม (ใหม่) ของยุคจอมพลสฤษฏิ์ ธนะรัชต์นั้น ส่วนมากเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของบูรพกษัตริยาธิราช อาทิ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาพแทนแห่งการโหยหาวีรกรรมที่เต็มไปด้วยกฤษฎาภินิหารของนักรบฉกาจกล้ากึ่งสมมติเทพ

ก่อนหน้านั้นในปี 2477 ยุคที่คณะราษฎรยังมีอุดมการณ์อันเบ่งบาน อาจารย์ศิลป์เคยปั้นอนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารีหรือย่าโมที่โคราช ในภาพลักษณ์ของหญิงแกร่งบึกบึน เป็นสัญลักษณ์ของการให้ความสำคัญแก่สตรี และเปิดพื้นที่ให้กับผู้นำในท้องถิ่นได้มีบทบาทขึ้นมาบ้าง พร้อมกับได้ดำริสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อปี 2487 ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระปฐมบรมราชานุสรณ์ที่รัชกาลที่ 7 ทรงสร้าง อันมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองแฝงอยู่
ความผันแปรในระบอบการปกครองที่พลิกขั้วจากเสรีประชาธิปไตยมาสู่ระบอบราชาชาตินิยมที่หวนกลับมาเชิดชูให้กษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจไทยทั้งชาติอีกครั้งนั้น ส่งผลกระทบถึงวงการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ที่อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการมาทุกยุคสมัยอย่างไม่มีทางเลี่ยง 
จากรูปปั้นบุคคลสามัญชนที่ดูเป็นมนุษย์สมบูรณ์เคยได้รับการยกย่อง แนวโน้มของศิลปินที่ส่งงานเข้าประกวดในยุคระหว่าง 2490-2505 กลับนิยมนำเสนองานประติมากรรมที่อ่อนระทวยด้วยเนื้อหาวรรณคดี หรืองานจิตรกรรมแนวประเพณีหวานแหววที่เต็มไปด้วยกนกและป่าหิมพานต์ฝันเฟื่องอีกครั้ง


ครบรอบวาระ 120 ปี ของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี แล้ว ขอร่วมจุดเทียนรำลึกพร้อมร้องเพลง Santa Lucia ผ่านบทความนี้

ด้วยความสะท้อนสะเทือนใจถึงเส้นทางชีวิตอันโหดหินของบุรุษจากแดนไกลคนหนึ่ง ที่อุทิศทุ่มเทแรงกายใจและมันสมองผลิตงานศิลปะเพื่อยกระดับวงการศิลปกรรมไทย แม้นต้องผ่านความขัดแย้งเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาอย่างทุลักทุเลถึงสามยุคแห่งสยามสมัย




.