.
บทความของปี 2554 - สัญญากับพระเจ้าของเยอรมนี พลังงานหมุนเวียนกระฉูด ป้อนไฟฟ้า 1 ใน 5 ของประเทศ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
บทความของปี 2554 - โรงไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน ยุทธศาสตร์พลังงานสะอาด โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
อนาคตของโลก 50-100 ปี พืชแปดหมื่นชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 100
( ภาพจาก : markevanstech.com )
จากการศึกษาของสถาบัน Kew Garden ร่วมกับ ICUN และ Natural History Museum ในลอนดอน โลกเราตอนนี้มีพืชเหลืออยู่ประมาณ 400,000 ชนิด ลดลงมาครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีเมื่อ 200-300 ปีที่แล้ว และหนึ่งในห้าของพืชทั้งหมดที่เหลืออยู่ตอนนี้หรือราว 80,000 ชนิดมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ไปภายใน 50-100 ปีข้างหน้า
แรงกดดันที่ทำให้พืชจำนวนมากของโลกมีโอกาสสูญพันธุ์มาจากการบุกรุกที่อยู่อาศัยในธรรมชาติของพืชโดยผ่านการเกษตรกรรมและการขยายตัวของเมือง รวมทั้งผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยน้ำมือมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงส่งผลต่อน้ำที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชเท่นั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของพืชด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวนี้เรียกร้องต้องการให้ทั่วทั้งโลกหันมาให้ความสนใจที่จะหยุดยั้งหรือพลิกเปลี่ยนเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพืช
แม้กระทั่งพืชในทางเกษตรกรรมเองก็ถูกจำกัดอย่างน่าเป็นห่วง จากการศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า ในช่วงไม่กี่ร้อยปีมานี้ มนุษย์มุ่งทุ่มเทให้กับพืชเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ร้อยละ 80 ของพลังงานจากอาหารของคนทั่วโลกมากจากพืชที่เพาะปลูกกันเพียง 12 ชนิด เป็นธัญพืช 8 ชนิดได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวเจ้า ข้าวเดือย ข้าวสาลี ข้าวไร อ้อย และพืชหัว 4 ชนิดคือ มันสำปะหลัง มันฝรั่ง มันเทศ และมันหวาน
จากแนวโน้มที่กำลังดำเนินอยู่นั้น โลกอยู่ในความสุ่มเสี่ยง ภายใต้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนหรือสุดโต่งอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งที่ต้องทำและต้องมีความร่วมมือกันในระดับโลกสำหรับในกรณีของพืชมีอยู่สามระดับ
อย่างแรกคือการธำรงรักษาที่ยังมีอยู่
อย่างที่สองคือการซ่อมสร้างและฟื้นฟูส่วนที่เสียหาย
และสุดท้ายคือระบบสำรองเพื่อรับมือในกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ซึ่งก็คือธนาคารเมล็ดพันธุ์
อันที่จริงเวลานี้มีการทำเช่นนี้อยู่ทั้งสามอย่าง และมีการขยายความร่วมมือกันไปทั่วโลกด้วย แต่ก็ยังเป็นไปในขอบเขตเล็กๆ ในขณะเดียวกันข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนในประเทศต่างๆ เช่นกัน สิ่งที่ยังอาจจะขาดคือความร่วมมือและความมุ่งมั่นในระดับรัฐบาลของนานาประเทศทั่วโลก เพื่อจะเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นและกว้างขวางครอบคลุมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกันหยุดหยั้งการทำลายล้างลง
บางคนอาจจะเห็นว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเป็นเรื่องปกติธรรมดา และมันก็เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เราไม่จำเป็นต้องมีพืช 400,000 ชนิดเราก็อยู่ได้ พืชไม่กี่ชนิดก็สามารถผลิตออกซิเจนให้เพียงพอได้
ศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮ็อปเปอร์ ผู้อำนวยการ Kew Gardens ซึ่งใกล้จะหมดวาระจากตำแหน่งเร็วๆ นี้ ให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน ว่า คิดแบบนั้นก็มีเหตุผลอยู่บ้างหากโลกอยู่นิ่งๆ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่พลังของความหลากหลายก็เช่นเดียวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสติปัญญาของมนุษย์ คือยุทธศาสตร์ความเสี่ยงในสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
ต้องการทางเลือกที่หลากหลายหรือจะลดมันลงไปจนถึงระดับต่ำสุดก็แล้วแต่จะเลือก
บางประเทศที่มองอะไรยาวๆ เขาไม่อยู่นิ่งเฉย เช่นเกาหลีใต้เมื่อปี 2009 ริเริ่มแผนห้าปีสำหรับการฟื้นฟูป่าและดูแลแม่น้ำลำคลอง แผนนี้เชื่อมโยงกับการสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งด้วย
+++
บทความของปี 2554
สัญญากับพระเจ้าของเยอรมนี พลังงานหมุนเวียนกระฉูด ป้อนไฟฟ้า 1 ใน 5 ของประเทศ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 100
"วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากมโนธรรม คือความล่มสลายของจิตวิญญาณ" ราเบเลย์ส
ข้อความข้างบนนี้ลอกมาจากข้อความที่เป็นการเปิดเล่มก่อนเข้าสู่เนื้อหาของหนังสือเล่มหนาแต่น่าอ่านชื่อ "นักวิทยาศาสตร์ของฮิตเลอร์" เขียนโดย จอห์น คอนเวล แปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์ เป็นหนังสือที่มุ่งค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคมในแง่มุมโดยเฉพาะด้านจริยธรรมและศีลธรรม และมโนธรรมของนักวิทยาศาสตร์ผ่านประวัติศาสตร์เยอรมนีในยุคนาซีเรืองอำนาจ ซึ่งฮิตเลอร์พยายามที่จะใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการครองโลก
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่งอกรากมาจากยุคนาซีมีทั้งส่วนที่เป็นไปในเชิงทำลายล้างและที่ต่อยอดสร้างสรรค์มาจนถึงปัจจุบัน บทเรียนและบาดแผลหลังสงครามโลกเปลี่ยนแปลงเยอรมนีไปเป็นประเทศที่มีบุคลิกเฉพาะตนที่ดูจะแตกต่างจากมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เพราะไม่ได้มีความรู้เยอรมนีมากพอ
เพียงแต่รู้สึกได้ว่ามีความแตกต่างเมื่อสัมผัสจากบทบาทภายนอกที่ปรากฏให้เห็น
คงจะจำกันได้ว่าไม่นานหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมา ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลเยอรมนีก็ทำสัญญากับพระเจ้าโดยออกมาประกาศแผนการณ์เลิกใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หมดทุกโรงทั่วประเทศภายในปี 2022 โดยจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน โดยไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปีดังกล่าวตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 35
เมื่อนับนิ้วกันมันก็แค่ 11 ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก และใครต่อใครทั่วโลกก็ถือว่าเป็นคำประกาศที่ท้าทายมากเช่นกัน
หลายคนไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าจะทำได้ ที่ปรามาสกันไปต่างๆ นานา ก็มีไม่เว้นแม้แต่นักวิชาการบางคนในเมืองไทยที่เผื่อใจไว้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บ้านเราก็เป็นไปด้วย บ้างก็ว่าไม่ผลิตเองก็ไปซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ บ้างก็ว่าเดี๋ยวต้องกลับไปหาถ่านหิน แล้วแต่จะพูดกันไป
เมื่อไม่กี่วันก่อน มีตัวเลขออกมาว่าถึงตอนนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นในเยอรมนีร้อยละ 20.8 มาจากพลังงานหมุนเวียน อัตราการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนในระยะสิบปีที่ผ่านมาของเยอรมนี เมื่อเทียบแล้วเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 15 จากปี 2000 เฉพาะปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.5 ซึ่งถือเป็นอัตราเพิ่มที่ก้าวกระโดด
ส่วนใหญ่แล้วไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระยะสิบปีก่อนหน้าส่วนใหญ่ได้มากจากลมและชีวะมวล แต่ปีที่ผ่านมาการเติบโตส่วนใหญ่มาพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 76 และปัจจุบันไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนร้อยละ 3.5 สูงกว่าพลังงานจากน้ำ
ทั้งๆ ที่แสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยที่ประเทศเยอรมนีได้รับนั้นพอๆ กับอลาสก้า
แน่นอนว่าเบื้องหลังการเติบโตของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาจากการผลักดันของรัฐบาล รวมถึงการขับเคลื่อนของภาคประชาชน แทนที่จะติดยึดกับกรอบความคิดเก่าๆ แล้วมองเห็นแต่ด้านที่เป็นอุปสรรค ก็มุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
การอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อผลักดันการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนนั้นมีแน่นอน ในเยอรมนีก็มี นั่นคือการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากประชาชนในราคาสูงกว่าตลาด แล้วกระจายภาระนั้นไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะไม่สูงขึ้นมากนัก
ปัญหาในบ้านเราคือขาดความุ่งมั่นจริงจัง นอกจากความมุ่งมั่นอย่างมโหฬารในเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของพวกนักการเมืองและเหล่าบิวโรแครตแล้ว พลังงานทางเลือกอื่นๆ ล้วนเต็มไปด้วยอุปสรรคที่สรรจะหยิบยกกันขึ้นมา
ใครไม่เชื่อไปดูตารางเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของพลังงานชนิดต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องซื้อเนื้อที่โฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์ในนามของการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนแก่ประชาชนดูเอาก็แล้วกัน จะเห็นสัจธรรม
+++
โรงไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน ยุทธศาสตร์พลังงานสะอาด
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1624 หน้า 100
เมื่อเร็วๆ นี้อ่านบทความหนึ่งมาจากเว็บไซต์ Thinkprogree.org ของฝรั่งมังค่า เว็บไซต์นี้มีเนื้อหาน่าสนใจหลายๆ เรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจส่วนตัวของผมก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อย่างที่รู้กันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าห่วง เหมือนอย่างสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำซากในบ้านเราที่ดูจะรุนแรงมากขึ้นทุกปี ก็เพราะเหตุมาจากความปล่อยปละละเลยในเรื่องสิ่งแวดล้อมนี่แหละของเราๆ ท่านๆ นี่แหละ
รายงานชิ้นที่ได้อ่านเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการของบริษัทโซลาร์ซิตี้ ในสหรัฐอเมริกา บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นมาทำธุรกิจพลังงานสะอาดโดยเฉพาะก่อตั้งมาได้ราวๆ 5 ปี และก็เติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง
โครงการล่าสุดที่โซลาร์ซิตี้กำลังทำคือโครงการติดตั้งระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 160,000 แห่งบนหลังคาบ้านและอาคารในฐานทัพสหรัฐทั่วประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี
มูลค่าของโครงการนี้ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ โดยได้รับการอุดหนุนจากกระทรวงพลังงานในลักษณะของการค้ำประกันเงินกู้ส่วนหนึ่ง เมื่อติดตั้งเสร็จก็ขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งมักจะขายในราคาต่ำกว่าราคาไฟฟ้าในตลาดจากขนาดของโครงการจัดได้ว่าเป็นโครงการที่ใหญ่มากและเป็นแนวทางใหม่ที่ไม่เคยทำกันมาก่อน
ผลที่จะได้ชัดๆ ก็คือลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานไม่สะอาดลงได้ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างงานที่เรียกกันว่างานสีเขียวหรือ กรีน จ็อบไปด้วย อันเป็นแนวคิดที่ประธานาธิบดีโอบามาเคยเสนอไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียง
เป็นความพยายามที่จะผนวกเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเข้ากับการสร้างเสริมเศรษฐกิจไปด้วย
ส่วนที่คิดว่าน่าสนใจก็คือโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่กระทรวงพลังงานสหรัฐทำขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์การบุกเบิกแนวทางใหม่ๆในการผลิตพลังงานสะอาด โครงการที่จะผ่านการอนุมัติและได้รับการอุดหนุนจะต้องเป็นโครงการพลังงานสะอาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไหน
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะแทนที่จะนั่งมองหาแต่อุปสรรคของพลังงานสะอาดจนแทบจะมองเห็นพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเดียวแบบในบ้านเรา กระทรวงพลังงานสหรัฐกลับใช้วิธีคิดแบบกลับหัวกลับหาง กระตุ้นให้คนหรือธุรกิจที่มีความคิดความทะเยอทะยานคิดค้นวิธีการต่างๆ ที่เป็นไปได้ออกมาทำกันจริงๆ
ทั้งๆ ที่จะว่าไปสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ถูกโจมตีเรื่องการให้ความร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อนของโลกมาตลอดก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่ในยุคโอบามาที่ตอนหาเสียงพูดไว้แบบหนึ่ง หลังจากได้ตำแหน่งมาแล้วกลับทำไปอีกแบบหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งที่สหรัฐอเมริกาทำได้ดีเช่นกันอย่างเช่นโครงการนี้
ที่จริงแล้วโครงการกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นวิธีสร้างพลังงานสะอาดและทำให้เกิดการจ้างงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐไม่ได้สำเร็จไปหมด ก่อนหน้านี้มีบริษัทไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โซลินดราล้มละลายไป เงินลงทุนกว่าห้าร้อยล้านเหรียญละลายไปกับแสงแดด ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการของกระทรวงพลังงานกันอย่างหนัก
แต่เมื่อเทียบกับโครงการทั้งหมดวงเงินค้ำประกันที่ให้กับโซลินดราก็เป็นเพียงร้อยละสองที่ให้กับบริษัทพลังงานสะอาดทั้งหมดเท่านั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย