http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-11

ภัยใหญ่ น้ำท่วมชายฝั่งทะเลและคลื่นความร้อน โดย อนุช อาภาภิรม

.

ภัยใหญ่ น้ำท่วมชายฝั่งทะเลและคลื่นความร้อน
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 38 


ความรุนแรงสุดขั้วของน้ำท่วมชายฝั่งและคลื่นความร้อนที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้น ประกอบด้วย 2 ด้านใหญ่ด้วยกัน
ด้านหนึ่งได้แก่ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากมายเพื่อการผลิตและการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ 
อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ การขยายตัวของเมือง เกิดอภินคร (Mega-city) ขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

ทั้ง 2 ด้านนี้อาจเรียกรวมกันว่าอารยธรรมอุตสาหกรรมที่แผ่คลุมไปทั้งโลก


การที่มนุษย์มีส่วนในการสร้างปัญหานั้น อาจทำให้เกิดความคิดว่าปัญหาคงแก้ได้ไม่ยากเพราะว่าเมื่อสร้างได้ก็ย่อมต้องแก้ไขได้ 
แต่ความจริงดูไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากว่ามีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับระบบ
กล่าวกันว่ามนุษย์สร้างระบบ แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในด้านหนึ่งระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น เมื่อมันก่อรูปจนแข็งตัว เช่นกลายเป็นสถาบันหรืออารยธรรม มันก็กลับมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เอง 
ในอีกด้านหนึ่ง คนเรานั้นมักรับมรดกทางอารยธรรมมา ไม่ได้สร้างเอง ดังนั้น จึงมีความจำกัดมากในการแก้ไขสิ่งใดได้


ในบางด้านจึงคล้ายกับระบบควบคุมมนุษย์ บังคับให้มนุษย์ทำสารพัดอย่างเพื่อที่จะรักษาตนเอง (ระบบ) ไว้ 
ปัญหาทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในระบบ และโดยทั่วไปเราสามารถแก้ปัญหาเฉพาะที่ไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระบบ มีเพียงบางเงื่อนไขและบางเวลาเท่านั้นที่มนุษย์สามารถแก้ปัญหาใหญ่ทางสังคมที่กระทบต่อโครงสร้างของระบบได้ 

มีตัวอย่างมากมาย จะขอยกกรณีอุตสาหกรรมการบิน ที่ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้พยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาอุตสาหกรรมนี้ไว้ ไม่ใช่คิดอย่างอื่น เช่น สร้างรถไฟความเร็วสูงมาทดแทน


อุตสาหกรรมการบินเป็นธุรกิจที่ไม่แน่นอน มีกำไรสุทธิเฉลี่ยราวร้อยละ 1 ถึง 2 เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยกว่าร้อยละ 5 ของอุตสาหกรรมทั้งหมดในสหรัฐ เป็นธุรกิจที่อยู่รอดยาก หากไม่เป็นเพราะการสนับสนุนของรัฐบาลต่างๆ จนสร้างค่านิยมขึ้นว่าสายการบินเป็นหน้าตาของประเทศ ถึงขาดทุนบ้างก็ไม่เป็นไร 
อุตสาหกรรมนี้ก็ยากที่จะตั้งมั่นได้ การพัฒนาสายการบินของหลายรัฐบาลนั้น ยังมีเหตุผลเบื้องลึกว่าอุตสาหกรรมการบินเป็นฐานสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร 
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินที่รวดเร็ว ช่วยให้ไปได้ทุกแห่งในโลก เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการรวมศูนย์ความมั่งคั่งและอำนาจของผู้มั่งคั่ง

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 สายการบินต่างๆ เผชิญปัญหาราคาน้ำมันแพงขึ้นโดยลำดับ จนเมื่อถึงปี 2012 ประมาณว่าค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึงร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่เพียงร้อยละ 15 นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก 
หลายสายการบินต้องเลิกหรือขายกิจการของตนไป เกิดการปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งหมดอยู่ในกรอบว่าจะรักษาระบบหรือสายการบินของตนไว้ให้ได้
หนทางแก้ไขที่กระทบต่อผู้โดยสารโดยตรง มีหลายประการได้แก่  
(1) ใช้เครื่องบินขนาดที่พอเหมาะ สามารถจัดวางที่นั่งตามผัง 3-4-3 ได้ คาดว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ โดยจะลดเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างเช่น แอร์บัส เอ380 หรือโบอิ้ง 747-8 ซึ่งแม้ขายได้หลายร้อยลำนั้น ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการบรรทุกสินค้า 
(2) ลดขนาดเก้าอี้เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร เพราะว่าผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเที่ยวละ 1 หรือ 2 คนมีผลต่อการเท่าทุนหรือขาดทุนทีเดียว บางสายการบินลดขนาดเก้าอี้นั่งลง 1 นิ้ว และลดช่องว่างทางเดินด้วย
(3) การลดน้ำหนัก เช่นบางสายการบินถอดจอรับโทรทัศน์ออกจากที่นั่ง และแทนที่ด้วยไอแพด จอโทรทัศน์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้หนักรวม 2 ตัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มที่นั่งได้ร้อยละ 40 และยังลดน้ำหนักเมื่อบรรทุกเต็มที่ลงได้อีก 
(4) การเพิ่มค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่นค่าอาหาร ค่าที่นั่งติดหน้าต่าง ค่าที่นั่งส่วนหน้าของเครื่องบิน และเครื่องไอแพดที่กล่าวข้างต้น ผู้โดยสารที่ต้องการใช้ต้องเสียเงินเพิ่มอีก 17 ดอลลาร์ 
จากการปรับปรุงดังกล่าว ทำให้สายการบินแบบ โลว์ คอสต์ ที่ถือกันว่าเป็นส่วนเสริมขึ้น จะค่อยๆ กลายเป็นสิ่งปกติสามัญ และการเดินทางทางอากาศที่เคยเป็นของหรู มีบริการประทับใจ ก็จะกลายเป็นการเข้าเครื่องทรมานมากขึ้นทุกที
(ดูบทความของ Andrew McKay ชื่อ Running on Empty: Big Airlines in Big Trouble ใน southernlimitsnz.com, 180812 ตัวเอนเป็นของผู้เขียน ) ในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันอาจเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว สายการบินก็คงต้องปรับตัวแรงต่อเนื่อง


สำหรับกรณีน้ำท่วมชายฝั่งทะเลและคลื่นความร้อน มีผลกระทบกว้างใหญ่กว่ามาก ไม่ใช่เพียงต่ออุตสาหกรรม หากต่อทั้งอารยธรรมอุตสาหกรรม มาตรการแก้ไขที่น้อยไปก็จะไม่ได้ผล ที่พอได้ผลจริงจังก็จะกระทบต่อโครงสร้างของอารยธรรม จะได้กล่าวเป็นลำดับไป


ภัยใหญ่น้ำท่วมชายฝั่งทะเล

ภัยน้ำท่วมชายทะเลที่มีส่วนจากการกระทำของมนุษย์ ที่สำคัญมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ 
(1) การที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 
(2) พายุฝนรุนแรงเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทั้ง 2 ประการแรกนี้เพิ่มความสุดขั้วของลมฟ้าอากาศให้เกิดถี่และกว้างขวางขึ้น 
(3) การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่นิยมอยู่ชายทะเล บางการศึกษาระบุราวร้อยละ 40 ของประชากรโลกอาศัยอยู่บนพื้นที่ห่างจากชายทะเลไม่เกิน 100 กิโลเมตร (ดูบทรายงานชื่อ Percentage of Total Population Living in Coastal Areas ใน sedac.ciesin.columbia.edu) มีความหนาแน่นประชากรเป็น 3 เท่าของที่อยู่ลึกไปในแผ่นดิน เหล่านี้ด้านหนึ่งก่อแรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลอย่างหนัก อีกด้านหนึ่งก็รับผลรุนแรงจากภาวะน้ำท่วมด้วย 
(4) การเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว ในปี 1950 มีเพียง 83 เมืองที่มีประชากรกว่า 1 ล้านคน แต่ในปี 2007 จำนวนเพิ่มขึ้นเป็นถึง 468 เมือง และที่น่าจับตาคือการเกิดขึ้นของอภินคร ที่มีประชากรสูงกว่า 10 ล้านคน ปี 1950 มีเพียงนครนิวยอร์ก และอาจนับรวม โตเกียว ในปัจจุบันมีถึง 27 เมืองเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และอยู่ในเขตชายฝั่งทะเล ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อภัยน้ำท่วมชายฝั่งทะเล

ดังนั้น สองประการหลังนี้เพิ่มความรุนแรงของภัยน้ำท่วมชายฝั่งทะเล และหากอภินครเหล่านี้เกิดเป็นอัมพาตไปย่อมกระทบไปทั้งโลก

ระดับน้ำทะเลสูง ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงเป็นเรื่องที่วิตกกังวลกันทั่วโลก ก่ออันตรายอย่างช้าๆ แต่รุนแรง และต้องเสียเงินในการแก้ไขมาก ไม่แก้ก็ไม่ได้ เพราะมีผู้คนตั้งถิ่นฐานมาก
ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงราว 8 นิ้วตั้งแต่ปี 1880 และอัตราการเพิ่มก็เร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าภายในศตวรรษที่ 21 นี้ระดับน้ำทะเลจะขึ้นสูง 20 ถึง 80 นิ้วแล้วแต่เหตุปัจจัย 
ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเมื่อผสมกับพายุฝนรุนแรงก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่งรุนแรง (Surging Seas Climate Centre 140312 )

อันตรายเมืองใหญ่ใกล้ชายทะเล ธนาคารโลกร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชียและไจก้า ได้ร่วมมือกันวิจัยว่าด้วยเรื่องความเสี่ยงทางภูมิอากาศและการปรับตัวของอภินครชายฝั่งทะเล โดยยึด 3 นครได้แก่กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ ซิตี และมะนิลาเป็นกรณีศึกษา ใช้เวลาวิจัยอยู่ 2 ปีและได้เสนอผลการศึกษาใน "การประชุมว่าด้วยการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในเขตเอเชียแปซิฟิก" ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2010 ก่อนเกิดมหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งคุกคามกรุงเทพฯ อย่างไม่เคยมีมาก่อนไม่นาน
รายงานวิจัยชี้ว่าอภินครชายฝั่งทะเลทั้งสามจะเผชิญความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมากขึ้น เช่นการที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง และเหตุการณ์ลมฟ้าอากาศสุดขั้วมากขึ้น แม้ว่าจะมีการใช้เงินเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันภัยต่างๆ ไว้แล้ว แต่ก็จะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ลมฟ้าอากาศสุดขั้วได้

จำต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างจริงจัง การลอกท่อระบายน้ำและคูคลอง และแก้ไขปัญหาดินทรุดเนื่องจากใช้น้ำใต้ดินมากไป รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณต้นน้ำ เมื่อคำนึงถึงว่าความเสียหายจากภัยนี้สูงนับพันล้านดอลลาร์ จึงควรใช้มาตรการเชิงรุก และนำแผนการเตรียมรับภัยลมฟ้าอากาศสุดขั้วเข้ากับการวางผังเมือง 
สำหรับกรุงเทพฯ นั้น รายงานชี้ว่าปัญหาน้ำท่วมเกิดจากแผ่นดินทรุดและปริมาณฝนตกหนักในบริเวณที่รับน้ำเป็นวงกว้างแล้วไหลบ่าเข้าท่วมเมือง 
ทางแก้อยู่ที่การป้องกันการสูบน้ำจากใต้ดิน การปรับปรุงการพยากรณ์และการสื่อสารเกี่ยวกับน้ำท่วม เสริมคันป้องกัน และลงทุนในการตั้งเครื่องสูบน้ำให้มาก

ส่วนภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูง และพายุใหญ่นั้นไม่มาก แต่ก็ต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ส่วนโฮจิมินห์ซีตีและมะนิลานั้นดูจะมีปัญหาหนักกว่าเนื่องจากต้องเผชิญกับพายุใหญ่ด้วย
(ดูข่าวเผยแพร่ชื่อ Asian Megacities Threatened By Climate Change ใน climatechange.worldbank.org 221010)

กลางเดือนสิงหาคม 2012 ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบี ได้ออกเอกสารรายงานเน้นว่า อภินครแห่งเอเชียที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจะต้องเติบโตแบบสีเขียวเพื่อความอยู่รอด ชี้ว่าระหว่างปี 1980 ถึง 2010 ประชากรเมืองในเอเชียเพิ่มขึ้นกว่าพันล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกพันล้านคนในปี 2040  
อภินครกว่าครึ่งหนึ่งตั้งอยู่ในเอเชีย เอเชียได้ใช้เงินมากในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ยังไม่พอ มีการเน้นเชิงปริมาณ แต่ไม่ใช่คุณภาพ
เช่น มีการสร้างถนนอย่างกว้างขวาง แต่ไม่ได้สร้างท่อระบายน้ำไว้ด้วย ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสีเขียว
กรณีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี 2011 น้ำท่วมกรุงปักกิ่งในเดือนกรกฎาคม และท่วมร้อยละ 80 ของมะนิลาในเดือนสิงหาคม 2012 ชี้ว่านครใหญ่ในเอเชียยังไม่พร้อมรับมือภัยลมฟ้าอากาศสุดขั้ว และคุ้มครองประชาชนของตน ที่เรียกว่าสีเขียวมี 2 ด้านคือเทคโนโลยีสีเขียวและการเป็นเมืองสีเขียว (สำนักข่าวเอเอฟพี)



คลื่นความร้อน

คลื่นความร้อนปรากฏบ่อยขึ้นทั่วโลก และเป็นปัญหามากสำหรับประเทศอากาศอบอุ่นที่ไม่คุ้นกับอากาศร้อน 
ในปี 2012 นี้ก็ได้เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรป มันเป็นกระแสอากาศร้อนที่เคลื่อนที่ช้าพร้อมกับมีความชื้นในอากาศสูง ปรากฏนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนต่างๆ โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากการเป็น "ลมแดด" ซึ่งมีอัตราสูงกว่าภัยจากน้ำท่วมเป็นอันมาก
สำหรับการกำหนดอุณหภูมิว่าแค่ไหนจึงเรียกว่าร้อนนั้น ต่างกันไปในประเทศตะวันตกมีตั้งแต่ 25 ถึง 35 องศาเซลเซียส 
ทุกปีในสหรัฐคลื่นความร้อนสูงทำให้ผู้คนเสียชีวิตเกือบ 700 คน ที่คลื่นความร้อนมีอันตรายถึงตายเพราะว่ามันมีความชื้นสูงด้วย ความชื้นที่สูงทำให้เหงื่อไม่แห้ง เกิดอาการเหนียวตัวอึดอัด เพราะร่างกายระบายความร้อนไม่สะดวก

เมื่อความร้อนในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะส่งผลกระทบต่อสมองและระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งสะเทือนต่ออวัยวะภายในหลายแห่ง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผิวหนังเป็นผื่นแดงและแห้ง เกิดความมึนงง จนถึงหมดสติ และตายได้ 
ผู้เสี่ยงต่อคลื่นความร้อนเป็นชาวเมืองที่สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวต้องรักษา คนอ้วน และผู้กินยาระงับประสาททำให้การตอบสนองต่อความร้อนลดลง นอกจากนี้ การใช้พัดลมพัดลมร้อนใส่ก็ทำให้เป็นอันตรายมากขึ้น (ดูบทความของ Katherine Harmon ชื่อ How Does a Heat Wave Affect the Body? ใน scienctificamercan.com 230710)
ในประเทศไทยหน้าร้อนปีนี้ก็มีข่าวคนเสียชีวิตหลายคน

คลื่นความร้อนยังส่งผลต่อการลุกลามของไฟป่าและทำให้ตาข่ายไฟฟ้าต้องใช้งานเกินกำหนดจากการเปิดเครื่องปรับอากาศ จนทำให้ระบบไฟฟ้าล่มได้ แต่ละปีต้องเสียเงินมากเพื่อต่อสู้กับคลื่นความร้อน ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ปีนี้อุณหภูมิสูงจัด เกิดไฟฟ้าดับในบางแห่ง บริษัทไฟฟ้าต้องออกคำเตือนให้ประชาชนใช้ไฟอย่างประหยัด 

ที่ร้ายกว่านี้ก็คือ เมื่อดูพฤติกรรมของฤดูกาลเป็นเวลานาน หากพบว่าฤดูร้อนนานขึ้น ภาวะแห้งแล้งถี่ขึ้น และอุณหภูมิต่ำสุดสูงขึ้น ในที่นั้นก็มีโอกาสสูงที่คลื่นความร้อนจะเกิดถี่ขึ้น (ดูบทความของ Laura J. Nelson ชื่อ As a heat wave rolls across U.S., scientist predict more to come ใน latimes.com 290612

การจะแก้ไขปัญหาอากาศรุนแรงสุดขั้วให้ได้ผล ก็อาจต้องทำถึงขั้นปรับเปลี่ยนอารยธรรมอุตสาหกรรมไปด้วย



.