.
สุรพศ ทวีศักดิ์: ว่าด้วยพุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธปรัชญา พุทธวิทยาศาสตร์ พุทธประชาธิปไตย
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:00:00 น.
( และใน www.prachatai.com/journal/2012/09/42594 . . Wed, 2012-09-12 14:05 มีความคิดเห็นท้ายบท )
ข้อวิจารณ์ที่ว่า การตีความพุทธศาสนาในเชิงปรัชญา เน้นความมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตยหรือการอ้างอิงคำสอนที่ถูกต้องจาก "พระไตรปิฎก" เป็นการขจัดทำลายความหลากหลายของพุทธศาสนา ทำให้พุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธแก้กรรม พุทธปาฏิหาริย์ พุทธปลุกเสก พุทธแบบบ้านๆ พุทธนอกพระไตรปิฎก ฯลฯ ไม่มีที่ยืนในสังคม หรือกลายเป็นพุทธชายขอบไป ผมคิดว่าข้อวิจารณ์ดังกล่าวมีแง่มุมทั้งในเชิงข้อเท็จจริงและในเชิงหลักการที่ซับซ้อนอยู่ จึงอยากเสนอมุมมองอีกด้านเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน
ประเด็น "ข้อเท็จจริง" มีข้อพิจารณาอยู่สองเรื่องหลักๆ คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อหาในพระไตรปิฎก และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ถูกตีความ หรือประยุกต์เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม
เป็นความจริงว่า เนื้อหาในพระไตรปิฎกมีทั้งเรื่องราวที่สะท้อนความเชื่อแบบพุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธที่เป็นปรัชญา มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตย หมายความว่าไม่ว่าคุณจะตีความพุทธอย่างไร คุณก็สามารถอ้างอิงที่มาที่ไปจากพระไตรปิฎกมาสนับสนุนการตีความของคุณได้ทั้งสิ้น เพราะในพระไตรปิฎกมีทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีสางเทวดา นรก เปรต อสุรกาย โลกสวรรค์ พรหมโลกชั้นต่างๆ กระทั่งเรื่องการเหาะเหินเดินหาวไปจนถึงราหูอมจันทร์ มีความเชื่อเรื่องบุญ บาป กฎแห่งกรรม ชาติหน้า ชาติหลัง ซึ่งเป็น "ความเชื่อร่วม" ทางศาสนาในวัฒนธรรมพราหมณ์ของชาวอินโดอารยันที่มีอิทธิพลทางศาสนาและการเมืองในชมพูทวีปมาก่อนจะเกิดพุทธศาสนาราว 5-3 พันปี
ในขณะเดียวกันเนื้อหาของคำสอนพุทธส่วนที่ว่าด้วยกฎธรรมชาติและสภาวะนามธรรมบางอย่าง ก็รุ่มรวยเสน่ห์ดึงดูด "คนช่างคิด" ทั้งหลายให้กระหายที่จะไตร่ตรองตีความคำสอนเหล่านั้นในเชิงปรัชญา ความมีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ก็มีอยู่อย่างเด่นชัด เช่นคำสอนเกี่ยวกับสังขตธรรม อสังขตธรรม สุญญตา อนัตตา ไตรลักษณ์ ปฏิจสมุปบาท อริยสัจ ขันธ์ห้า กฎแห่งกรรม ธรรมชาติของจิตหรือวิญญาณ ในวงการศึกษาพุทธศาสนาอย่างเป็นวิชาการก็มีการตีความ จำแนกแยกแยะเนื้อหาของหลักธรรมเหล่านี้ให้เห็นส่วนที่เป็นอภิปรัชญา (metaphysic) ญาณวิทยา (epistemology) และจริยปรัชญา (moral philosophy) เอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก็มีประโยชน์มากในทางวิชาการ
นักคิดชาวพุทธบางคน เช่น ท่านพุทธทาส ก็ตีความว่า "พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต" ดังงานเขียนชื่อ "ปมเขื่อง" จะว่าไปก็มีความลึกซึ้งไม่ด้อยไปกว่าความคิดเรื่องจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ส่วนที่ตีความว่าพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยนั้น เห็นได้จากงานเขียนของ ส.ศิวรักษ์ ที่อ้างอิงหลักความเสมอภาค และเสรีภาพของสังคมสงฆ์ในสมัยพุทธกาล และการตีความพุทธศาสนาเพื่อตอบ "ปัญหาพื้นฐาน" ทางปรัชญานั้น เห็นได้ชัดในงานของสมภาร พรมทา ที่ตีความหลักการพุทธศาสนาเพื่อตอบปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม รวมทั้งปัญหาจริยธรรมในโลกสมัยใหม่ เช่นปัญหาการทำแท้ง ชีวจริยธรรม การโคลนนิ่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในพระไตรปิฎกนอกจากจะมีหลากหลายสามารถนำมาอ้างอิงสนับสนุนทั้งพุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธปรัชญา พุทธวิทยาศาสตร์ พุทธราชาธิปไตย พุทธประชาธิปไตย แม้กระทั่งพุทธสังคมนิยม (เช่นธัมมิกสังคมนิยม เผด็จการโดยธรรม) ได้แล้ว (คือใครๆ ก็หยิบเรื่องนั้นเรื่องนี้มาสนับสนุนการตีความของตนได้ แต่จะสมเหตุสมผลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ในพระไตรปิฎกนั้นเองยังมีการวิพากษ์ความงมงายในรูปแบบต่างๆ เช่น การยึดถือภูเขา จอมปลวก ต้นไม้ แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การไหว้ทิศ การบูชายัญ ความเชื่อเรื่องพระพรหมสร้างโลก ความงมงายในศีลพรต ความเชื่อลัทธิกรรมเก่า กระทั่งวิจารณ์การตีความคำสอนของตถาคตอย่างคลาดเคลื่อนว่าเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเป็นการ "ตู่พุทธพจน์" (ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่าคนที่ตู่พุทธพจน์เป็นมหาโจร เป็นโมฆบุรุษ เป็นต้น) นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกยังได้วาง "มาตรฐาน" ตัดสินว่าอะไรคือพระธรรมวินัยของตถาคตเอาไว้ด้วย
จึงกลายเป็นว่า เนื้อหาส่วนที่เป็นการวิพากษ์ความงมงาย การสอนผิด และหลักเกณฑ์การตัดสินพระธรรมวินัยเหล่านี้เองที่ชาวพุทธจำนวนหนึ่งใช้เป็น "มาตรฐาน" อ้างอิงในการแยกแยะว่า อะไรคือคำสอนที่ถูกต้อง และอะไรน่าจะไม่ใช่คำสอนของพุทธะ (โดยมีสมมติฐานว่า พระไตรปิฎกอาจมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่ใช่พุทธพจน์เข้าไปภายหลัง ดังท่านพุทธทาสบอกว่า พระอภิธรรมปิฎกไม่อยู่ในรูปพุทธพจน์ และเห็นว่าพระไตรปิฎกควรฉีกทิ้งสัก 70 % ก็ได้ เหลือไว้สัก 30% ที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจเรื่องทุกข์กับการดับทุกข์ก็พอ) ซึ่งบางทีการกระทำเช่นนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่ากำลังพยายามแยก "พุทธแท้-พุทธเทียม"
แต่หากมองอย่าง common sense เราอาจเข้าใจได้ว่านี่เป็น "หลักการทั่วไป" ที่คนจะตั้งคำถามว่าอะไรใช่-ไม่ใช่ หรือใครพูดถูกพูดผิด เช่น นักวิชาการคนนี้อธิบายความคิดของโสเครตีสถูกหรือไม่ คนนั้นอธิบายความคิดของมาร์กซ์ผิดหรือเปล่า เป็นต้น หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสอนถูกสอนผิดที่ไม่ได้ใช้อำนาจมาควบคุมบังคับก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลรองรับ ดังที่ยอมรับกันปกติในแวดวงวิชาการด้านอื่นๆ
จะเห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อหาในพระไตรปิฎกที่พุทธผี พุทธพราหมณ์ พุทธปรัชญา พุทธวิทยาศาสตร์ พุทธราชาธิปไตย พุทธประชาธิปไตย พุทธสังคมนิยม ต่างก็อาจอ้างอิงสนับสนุนความเชื่อของตนได้ทั้งนั้น รวมทั้งฝ่ายที่พยายามแยกแยะคำสอนที่ถูก-ผิด ก็สามารถอ้างอิง "มาตรฐาน" สำหรับวินิจฉัยจากพระไตรปิฎกได้อีกเช่นกัน ปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันที่ดูสับสน ย้อนแย้ง เอาเข้าจริงแล้วอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีมานาน แม้แต่ในพระไตรปิฎกเองก็มีความซับซ้อนย้อนแย้งในตัวเอง และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการแยกนิกายออกเป็นร้อยๆ นิกาย เป็นต้น
ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพัฒนาการของพุทธศาสนาที่ถูกตีความหรือประยุกต์เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม จะเห็นว่าพุทธศาสนาถูกตีความเข้ากับบริบททางสังคมการเมือง และบริบทวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นมาโดยตลอด โดยในบริบททางสังคมการเมืองพุทธศาสนาถูกตีความสนับสนุนระบบราชาธิปไตยมาโดยตลอด (อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นมา)
ที่เราเรียกว่า "พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์" นั้น ก็คือพุทธราชาธิปไตยนี่แหละ ที่ตีความว่ากษัตริย์คือสมมติเทพ เป็นพระโพธิสัตว์ กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าหลวง) มีระบบการปกครองสงฆ์ที่ขึ้นกับอาวุโสทางสมณศักดิ์ที่ถูกสถาปนาโดย "พระราชอำนาจ" และเป็นพุทธพราหมณ์ คือพุทธที่ถือว่าพระสงฆ์มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเหมือนพราหมณ์ มีบทบาทสำคัญในการรักษาพิธีกรรมของราชสำนักและรัฐพิธี ดังนั้น พุทธแบบนี้จึงไม่ใช่พุทธในเชิงปรัชญา ความมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ หรือพุทธประชาธิปไตยแต่อย่างใด
พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พุทธราชาธิปไตย+พุทธพราหมณ์) นี่แหละที่ขจัดทำลายความหลากหลายของพุทธศาสนา ดัง ร.6 ลงโทษกักบริเวณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เพราะเทศนาว่าการส่งทหารไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นปาณาติบาต และดังที่การรวบอำนาจรวมศูนย์คุกคามครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา เป็นต้น พุทธที่ว่านี้ดูถูกพุทธผีว่างมงาย แต่ตนเองกลับทำพิธีพุทธาภิเษก เจิมป้าย รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก ปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นกิจวัตร นอกจากนี้ยังไม่ยินดีกับการตีความคำสอนพุทธในเชิงปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์มากนัก (ผู้ที่สัมผัสระบบการศึกษาของสถาบันสงฆ์คือนักธรรม-บาลี ย่อมรู้ว่าคนที่จบเปรียญ 9 ส่วนมากจะมีทัศนคติแอนตี้การตีความคำสอนพุทธแบบท่านพุทธทาส พวกนี้เน้นการเรียนแบบท่องจำ และเชื่อว่าพุทธบริสุทธิ์คือพุทธตามตัวอักษรในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา)
การตีความพุทธในเชิงวิทยาศาสตร์ของวชิรญาณภิกขุหรือ ร.4 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อคณะสงฆ์กระแสหลักมากนัก ที่มีอิทธิพลคือการรวบอำนาจการปกครองสงฆ์จากทั่วประเทศมาไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำควบคู่ไปกับการรวบอำนาจทางบ้านเมืองในสมัย ร.5 อันเป็นข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์พัฒนาการทางการเมืองของสยามประเทศ ฉะนั้น อิทธิพลของวชิรญาณภิกขุและสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่มีต่อคณะสงฆ์จริงๆ คือการวางระบบการปกครองและการจัดการศึกษาพุทธศาสนาแบบรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งส่งผลให้พุทธราชาธิปไตย+พุทธพราหมณ์ทรงอิทธิพลมากเป็นพิเศษเท่านั้น
ส่วนการตีความพุทธในเชิงวิทยาศาสตร์กลับมีอิทธิพลต่อพระภิกษุที่ขบถต่อระบบอย่างท่านพุทธทาสมากกว่า (ดังที่ท่านพุทธทาสเขียนพุทธประวัติฉบับวิจารณ์ ก็อ้างอิงการตีความที่ "เป็นเหตุเป็นผล" ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ) เอาเข้าจริงการตีความพุทธว่าเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผลที่พิสูจน์ได้ซึ่งเป็นเรื่องของการท้าทายทางปัญญาย่อมขัดแย้งกับธรรมชาติของพุทธราชาธิปไตย และพุทธพิธีกรรมแบบพราหมณ์ ฉะนั้น การตีความพุทธว่าเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุผลที่พิสูจน์ได้จึงไม่ได้มีอิทธิพลต่อคณะสงฆ์กระแสหลักมากนัก หากแต่ไปกันได้ดีกับพุทธแบบท่านพุทธทาสที่เน้นเสรีภาพในการตีความ การวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนา สังคมการเมือง รวมทั้งการก้าวข้าม "อคติ" ระหว่างนิกายเถรวาท มหายาน นิกายอื่นๆ และกระทั่งก้าวข้ามอคติระหว่างศาสนา
จะว่าไปแล้วศาสนาหลักๆ ของโลกล้วนแต่ถูกตีความรับใช้สังคมการเมืองในบริบทของยุคสมัยนั้นๆ ทั้งสิ้น ในยุคกลางมีนักปรัชญาศาสนาจำนวนมากอ้างอิงความคิดทางปรัชญาของอริสโตเติลสนับสนุนการมีอยู่ของพระเจ้า (เช่นโทมัส อไควนัส และ ฯลฯ) มีการตีความแนวคิด (concept) เรื่องพระเจ้าสนับสนุนความชอบธรรมของระบอบเผด็จการกษัตริย์และอำนาจเผด็จการของศาสนจักร แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปแนวคิดเรื่องพระเจ้าก็ถูกตีความสนับสนุนประชาธิปไตย ดังคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นต้นว่า "พระเจ้าสร้างมนุษย์มาเท่าเทียมกัน..." หรือแนวคิดเรื่องสิทธิทางธรรมชาติของจอห์น ล็อก ก็อ้างว่าสิทธิทางธรรมชาติเป็นสิทธิที่พระเจ้าประทานมาพร้อมกับการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นต้น
มองอีกแง่หนึ่ง ศาสนามีทั้งลักษณะที่แข็งทื่อตายตัวและยืดหยุ่น บางทีเราก็รู้สึกได้ว่าศาสนานำพามนุษย์ไปสู่ความสับสนทางความคิด สับสนระหว่างความจริงและความลวง ความมีเหตุผลและความงมงาย เสรีภาพและพันธนาการ สันติภาพและความรุนแรง ฯลฯ แต่สุดท้ายเราก็พบว่าศาสนาถูกตีความเสมอ อยู่ที่ว่าการตีความแบบไหนจะสมเหตุสมผลและมีคุณค่าต่อการส่งเสริมการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ยุติธรรมมากกว่า
ที่น่าประหลาดก็มีเพียงบ้านเราเท่านั้นแหละ ที่ถ้าใครตีความว่าพุทธเป็นประชาธิปไตย หรือเข้ากันได้กับประชาธิปไตยมักจะถูกโวยว่า กำลังดึงศาสนามายุ่งการเมือง ขณะที่การตีความพุทธสนับสนุนราชาธิปไตยมาเป็นพันๆ ปี กลับแทบจะไม่มีใครเดือดร้อนว่าพุทธศาสนายุ่งการเมือง
แท้จริงแล้ว การตีความว่าพุทธเป็นปรัชญา มีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การทำให้พุทธศาสนาเป็นของที่ "แตะต้องไม่ได้" แต่เป็นการทำให้พุทธศาสนามาอยู่ในเวทีของเหตุผลที่ถกเถียงโต้แย้งกันได้อย่างเสรี เป็นการดึงพุทธศาสนาออกมาจากอำนาจของ "พุทธราชาธิปไตย+พุทธพราหมณ์" เพื่อมาสัมผัสกับปัญหาในโลกที่เป็นจริง
เราจะกล่าวหาว่าชาวพุทธไม่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร หากเราปฏิเสธการตีความพุทธสนับสนุนประชาธิปไตย เราจะตัดสินว่าพุทธไม่ยอมรับคุณค่าของความมีเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร หากเรารังเกียจการตีความคำสอนสอนบางเรื่องของพุทธว่าเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์
และเราจะสรุปว่าพุทธไม่มีคำตอบเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานของชีวิตและสังคมการเมือง เช่น เรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ศักดิศรีของมนุษย์ได้อย่างไร หากเราปฏิเสธการตีความพุทธในเชิงปรัชญาและความมีเหตุผล
แท้จริงแล้วเราควรจะยอมรับมิใช่หรือว่า การตีความพุทธในเชิงปรัชญา ความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตย คือลักษณะหนึ่งของความงอกงามแห่งพุทธศาสนาอย่างท้าทายทางปัญญา และอย่างสอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบันและอนาคต
ในทางตรงข้าม โดยที่ไม่จำเป็นต้องปกป้อง พุทธผี พุทธไสยศาสตร์ พุทธปาฎิหาริย์ พุทธแก้กรรม พุทธอ้างอิง "สถานะผู้มีญาณวิเศษเหนือมนุษย์" ทำมาร์เก็ตติ้งเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของบรรดาคนดังของโลก ฯลฯ พุทธพวกนี้ก็ยังทำหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มข้นในสังคมที่เราใฝ่หาความมีเหตุผล ความเป็นวิทยาศาสตร์ ความเท่าเทียม และความเป็นประชาธิปไตยนี่แล
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย