http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-02

เก่งกิจ: ปัญหาธรรมกาย-พระไพศาล-มหาเถรสมาคม-สุรพศ และบททดลองเสนอเกี่ยวกับสถานะของสถาบันศาสนาในสังคมไทย

.

ปัญหาธรรมกาย-พระไพศาล-มหาเถรสมาคม-สุรพศ และบททดลองเสนอเกี่ยวกับสถานะของสถาบันศาสนาในสังคมไทย
โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
ใน www.prachatai.com/journal/2012/08/42403 . . Fri, 2012-08-31 20:43


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
กลุ่มประกายไฟ
31 สิงหาคม 2555



อันเนื่องมาจากการที่พระธัมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายออกมาทำนายภพภูมิของ  Steve Jobs   ต่อมาพระไพศาล วิสาโล ออกมาวิจารณ์พระธัมชโยว่า “อวดอุตริมนุษยธรรม ถึงขั้นอาบัติปาราชิก” และ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการผู้โดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึง 3 คดี ได้ออกมาเขียนบทความสนับสนุนพระไพศาล โดยเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว แม้จะแสดงความเชื่อมั่นว่า มหาเถรสมาคมไม่มีน้ำยาจะจัดการกับวัดพระธรรมกาย – วิวาทะดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นธรรมกายผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ แต่ยังสะท้อนปัญหาในเชิงหลักการจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาที่ว่า “สถาบันทางพุทธศาสนาจะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร” – ผมมีความเห็นและข้อเสนอต่อกรณีปัญหาและวิวาทะดังกล่าว ดังนี้


1.ประเด็น Secularism – ในทางหลักการแล้ว คุณสมบัติประการสำคัญประการหนึ่งของสังคม/รัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยนั้น รัฐกับศาสนาเป็นสิ่งที่มีอิสระจากกัน/ไม่ขึ้นต่อกัน รัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา ไม่เป็นสปอนเซอร์ให้แก่ศาสนา ในทางกลับกัน ศาสนาต่างๆมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมของตนเองได้เต็มที่ ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายหรือไปละเมิดกับชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพของบุคคลอื่น – สรุปง่ายๆคือ วัดและองค์กรศาสนาต้องการเลี้ยงตัวเอง จ่ายภาษี และทำตัวเองเสมือนๆกับองค์กรอื่นๆในสังคม

2.รัฐไทยเป็น secularism หรือไม่ – รัฐให้งบประมาณสำนักงานพุทธศาสนาปีละ 4 พันล้านบาท และยังใช้ช่องทางของรัฐในการโฆษณาให้แก่พุทธศาสนาตลอดทั้งปี – พุทธศาสนาไม่เคยเป็นอิสระจากรัฐ แต่เป็นเครื่องมือทางอุดมการที่สำคัญที่สุดของรัฐ (อาจเรียกได้ว่าเป็น “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในแบบที่ อ.ธงชัย วินิจจะกูลเสนอ)

3.มหาเถรสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของ “กลไกอำนาจรัฐ” ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ที่มา ลักษณะโครงสร้างองค์กร กฎระเบียบ และทรัพยากร (เงิน) – ลำพังพระธรรมวินัยไม่ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่มหาเถรสมาคมแม้แต่น้อย แต่มหาเถรสมาคมเป็นผลผลิตของการต่อสู้กันระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังอนุรักษ์นิยม ซึ่งในท้ายที่สุด พลังอนุรักษนิยมที่เป็นปฏิปักษ์อย่างถึงที่สุดต่อหลักการประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ

4.สิทธิเสรีภาพในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรในสังคมประชาธิปไตย – สังคมไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สถาบันทางสังคมจำนวนมากที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย/คนเท่ากัน/คนเหมือนกันกำลังถูกท้าทาย นับตั้งแต่สถาบันจารีตจนถึงสถาบันครอบครัว ดังเช่น กรณีอากง/อ.สุรพศ กับประเด็น 112 ที่คนในสังคมลุกขึ้นมาอ้างสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อทางสังคมการเมืองที่แตกต่างออกไป แต่ฝ่ายสถาบันจารีต (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐและผูกติดกับพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ) กลับปราบปรามจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระรมเดชานุภาพ – สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ขัดแย้งอย่างถึงที่สุดต่อหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (ไม่ต้องเรียกว่า “เสรีนิยม” ก็ได้ แค่ความเป็นมนุษย์ก็พอ) – ซึ่ง อ.สุรพศเองก็เป็น “เหยื่อ” ของความอยุติธรรมนี้ เช่นเดียวกับอากงและคนอื่นๆ – การต่อสู้ของเราคือต้องยืนยันสิทธิเสรีภาพของอากง อ.สุรพศ และคนอื่นๆที่จะมีความเชื่อที่แตกต่างออกไปได้อย่างถึงที่สุด

5.“ศาสนาพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ” ก็เป็น “ความเชื่อ” แบบหนึ่ง ไม่ได้/ไม่ควร/ไม่จำเป็นต้องยกให้สูงส่ง/เหนือกว่า/จริงกว่า/วิทยาศาสตร์มากกว่าความเชื่อแบบอื่นๆ เช่น ความเชื่อแบบคริสต์ มุสลิม ผี และความเชื่อทางการเมืองอื่นๆ – การทำให้พุทธเถรวาทฉบับไทยๆเป็นความเชื่อแบบหนึ่งหรือปรัชญาทางสังคมแบบหนึ่งทำให้เราสามารถศึกษาได้ ถกเถียงได้ ตั้งคำถามได้ ตีความแตกต่างได้ เลือกจะเชื่อส่วนหนึ่ง ทั้งหมดส่วน หรือเลือกจะไม่เชื่อเลยก็ได้ – การทำให้สถานะของศาสนากลายเป็น “ความเชื่อ” (เท่าๆกับความเชื่ออื่นๆ) จึงสัมพันธ์กับ “สิทธิเสรีภาพ” ที่เลือกได้ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ – ความเชื่อจึงไม่ใช่การบังคับ กรอกหูว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการใช้กลไกและอำนาจรัฐในการบังคับแบบที่เป็นอยู่ – ถ้าไม่ยอมรับว่าศาสนาพุทธเถรวาทแบบไทยๆมีฐานะเท่าๆกับความเชื่อแบบอื่นๆ (ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการแยกสถาบันพุทธออกจากรัฐเท่านั้น) การพูดถึงเสรีภาพในการนับถือ/ไม่นับถือศาสนาหรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาพุทธและความเชื่อทางการเมืองแบบอื่นๆ (เช่น กษัตริย์นิยม) ก็จะไม่มีความหมาย

6.การเรียกร้องของ อ.สุรพศและพระไพศาลให้ “มหาเถรสมาคม” (ย้ำว่ามหาเถรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเผด็จการที่แจ้งข้อหา 112 กับ อ.สุรพศ นั่นแหละ) เข้ามาจัดการกับธรรมกาย (รวมถึงกรณีแม่ชีทศพร-พ่อเด็กชายปลาบู่) (ซึ่งความเชื่อของธรรมกาย-แม่ชีทศพร-พ่อเด็กชายปลาบู่จะถูกหรือผิดมันก็ขึ้นกับการถกเถียงในแง่ความรู้ทางพุทธศาสนา ตราบเท่าที่เขาไม่ได้ละเมิดชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพของใคร หรือถ้าเขาละเมิดก็มีกฎหมายของรัฐที่จะลงโทษอยู่แล้ว) เท่ากับการเรียกร้องให้รัฐไทย (โดยมหาเถร) ยังคงผูกขาดการตีความพุทธศาสนาให้เป็นแบบเดียวอยู่ และใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการ/บังคับ/ทำลายความหลากหลายซึ่งเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ในพุทธด้วยกันเอง – การเอาคำสอนไปผูกกับสถาบันนั้นทำราวกับว่า พุทธศาสนามีหนึ่งเดียว/เป็นสัจธรรม/ตายตัว/ไร้ประวัติศาสตร์ – คนที่เรียนประวัติศาสตร์มาบ้างก็พอจะรู้ว่า ศาสนาทุกศาสนามันหาความบริสุทธิ์ไม่ได้ ต่อให้ยึดกับคัมภีร์แต่ก็มีหลายคัมภีร์ ไม่มีใครอ้าง originality ได้ ยิ่งแพร่ขยายไปมากเท่าไร ก็ยิ่งผสมผสาน/รวมกับความเชื่อในท้องถิ่นจนหาต้นหาปลายไม่ถูก ศาสนาพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ ก็ไม่ได้ต่างกัน ผสมปนเปจนมั่วไปหมด แม้แต่การสังคยนาพระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นหลายครั้งจนไม่สามารถหาต้นฉบับเดิมที่มาจากพุทธวจนะได้ การอ้างพุทธแบบหนึ่งเดียว/สัจจะ/วิทยาศาสตร์/ท้าทายไม่ได้/ตายตัวจึงขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และขัดฝืนต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม

7.ลองพิจารณาข้ออ้างของ อ.สุรพศ ที่ว่า ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ แต่ต้องการใช้พระธรรมวินัยมาจัดการกับธรรมกาย ซึ่งในคัมภีร์มีระบุไว้อยู่แล้วแต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติ แต่ในขณะเดียวกัน อ.สุรพศ ก็อ้างว่า มหาเถรสมาคมในฐานะ “หัว” ของเถรวาทแบบไทยๆต้องมีหน้าที่เข้ามาจัดการบังคับใช้พระธรรมวินัยให้เกิดขึ้นจริงให้ได้  ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเองในการจัดการกับความผิดเหล่านี้ พูดง่ายๆคือ มหาเถรสมาคมไม่มีประสิทธิภาพ – แค่อ่านพื้นๆก็พอจะทราบแล้วว่า ข้อเสนอของ อ.สุรพศมีความขัดแย้งกันเองอย่างที่สุด ในขณะที่เรียกร้องให้รัฐกับศาสนาแยกเป็นอิสระจากกัน แต่ในกรณีนี้กลับบอกว่าให้มหาเถรสมาคมเข้ามาใช้อำนาจจัดการกับธรรมกาย – ลักษณะเช่นนี้น่าจะสอดคล้องกับลักษณะ สองมาตรฐาน (double standard)  (นี่ยังไม่นับกรณีที่พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากในประเทศไทย นับตั้งแต่พระสังฆราชซึ่งเป็น “หัว” ของมหาเถรสมาคมทำพิธีปลุกเสกพระเครื่องบนสมมติฐาน (อวดอุตริ) ที่ว่าคุณสมบัติส่วนบุคคล (มนุษยธรรมที่ (ไม่) มีในตน) สามารถทำให้ก้อนดินกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ เราควรจะชี้ชัดว่านี่เป็นการอวดอุตริมนุษยธรรมที่ไม่มีในตนหรือมอมเมางมงายไม่น้อยไปกว่าวัดพระธรรมกาย แม่ชีทศพร และพ่อของเด็กชายปลาบู่หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่พระไพศาลและอ.สุรพศไม่ได้แตะและอาจจะไม่กล้าแตะ เพราะยังเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมซึ่งมีพระสังฆราชเป็นประธานฯจัดการกับวัดพระธรรมกายอยู่)

8.ปัญหาใหญ่ก็คือ ข้อเรียกร้องของ อ.สุรพศให้ “พระธรรมวินัย” เข้ามาจัดการกับสงฆ์จะเป็นไปได้ (หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาของคนไม่มีศาสนาแบบผู้เขียน เพราะสุดท้ายแล้ว ชาวพุทธก็ต้องเป็นคนออกแบบกันเองว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยไม่ให้รัฐมายุ่ง) ก็ต่อเมื่อเราปลดล็อคปัญหา secularism ให้ได้เสียก่อนต่างหาก – เพราะสุดท้ายแล้ว สังคมที่ไม่แยกศาสนาออกจากรัฐจะเจอสภาพ “หนีเสือปะจระเข้” คือ พยายามจัดระเบียบให้พระและศาสนิกชนเข้าที่เข้าทางโดยไม่ได้ใช้ศรัทธาหรือความยินยอม แต่ใช้อำนาจรัฐและการบังคับแบบที่ อ.สุรพศเสนอ -- ตราบใดที่ยังแยกรัฐออกจากศาสนาไม่ได้ ตราบใดที่องค์กรสงฆ์พึ่งพิงเงินปีละหลายพันล้านจากเงินงบประมาณ ตราบใดที่มหาเถรสมาคมผูกขาดการตัดสินถูกผิดไว้ที่ตัวเอง ฯลฯ ข้อเรียกร้องของ อ.สุรพศจะไม่มีความหมายตั้งแต่แรก – ยิ่งดึงดันให้มหาเถรสมาคมไปจับผิด/ผูกขาด/จัดการกับ “พวกนอกรีต” มากเท่าไร ยิ่งสถาบันศาสนาเกาะติด/อ้างอิงอำนาจตัวเองกับรัฐ สถาบันทางศาสนา (รวมถึงคำสอน) ยิ่งจะโดดเดี่ยวและห่างไหลจากความสามารถในการปรับตัวอยู่ร่วมกับโลกประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที – สุดท้ายจะกลายเป็นส่วนหนึ่ง/ซากเดนของสังคมเก่าแบบเดียวกับสถาบันจารีตนิยมทั้งหลายที่รอวันผุพังไป

9.ข้อเสนอเกี่ยวกับสถานะที่เหมาะสมของสถาบันศาสนาในสังคมประชาธิปไตยในที่นี้ก็คือ การที่พุทธศาสนาจะอยู่ร่วมกับสังคมประชาธิปไตยได้ ก็ต่อเมื่อพุทธศาสนายอมรับว่าตัวเองเป็นเพียง “ความเชื่อ” แบบหนึ่งในสังคมที่วิจารณ์ได้ โต้แย้งได้ ไม่เชื่อก็ได้ มีได้หลายนิกายที่หลากหลาย การยอมรับว่าตัวเองเป็นความเชื่อคือการปฏิเสธการอ้างว่ามีพุทธแบบเดียว/สัจธรรม/วิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด (ซึ่งต้องทำก่อนอื่น) คือ รัฐจะต้องแปรรูปกิจการพุทธศาสนาทั้งหมดให้เป็นของเอกชน (privatization) คือ รัฐต้องไม่ให้เงินกับวัดและสถาบันทางศาสนา สถาบันศาสนาและคำสอนของศาสนาควรยอมรับว่า ศาสนาของตนจะอยู่ได้ในสังคมประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อคำสอนของตนเองเป็นสิ่งที่ทนต่อการพิสูจน์ได้อย่างไม่มีการบังคับ แต่ต้องขึ้นกับศรัทธาของศาสนิกชนเองที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อ จะสนับสนุนทั้งด้านการเงินและทรัพยากรแก่สถาบันเหล่านั้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าศาสนิกชนเห็นว่ามีประโยชน์ก็ให้การสนับสนุน แต่หากไม่มีประโยชน์ก็เลิกสนับสนุน ไม่ต่างจากคนไปซื้อขายของในตลาดที่มีสินค้ามากมายให้เลือก – หากไม่ปล่อยให้สถาบันศาสนาเป็นเอกชน จำนวนวัดและจำนวนนักบวชในประเทศไทยในฐานะที่เป็น supply ในระบบตลาดจะไม่สะท้อนศรัทธาในฐานะที่เป็น demand จริงของคนในสังคมไทย เพราะรัฐเอาเงินภาษีมหาศาลมาเป็นตัวกระตุ้นการสร้างศรัทธาซึ่งไม่มีอยู่จริง – พูดง่ายๆก็คือ หากวัด (บรรษัท) ไหนไม่สามารถผลิตศรัทธา (สินค้า) ที่ดึงดูดศาสนิกชน (ลูกค้า) ได้ วัดนั้นก็อาจต้องลดขนาดลงหรือปิดตัวเองไป หากวัดไหนสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่า ก็จะอยู่ได้

10.ข้อเสนอเรื่อง privatization ข้างต้นนี้ไม่ได้แย้งกับ “สิ่งที่เป็นอยู่แล้ว” แต่แค่อยากให้ “ยอมรับความจริง” (realistic)กว่านี้ว่า วัดทุกวัด องค์กรศาสนาทุกองค์กรทำงาน/หากินไม่ต่างกับองค์กรธุรกิจทั่วไป มีขายเครื่องราง หนังสือ คำสอน สร้างแบรนด์โดยการโฆษณา จัดคอนเสิร์ต สะเดาะเคราะห์แก้กรรม ดูดวง ฯลฯ เพื่อหาเงินหาความศรัทธาเข้าวัด – นี่คือสิ่งที่ใครๆก็เห็น แต่ปัญหาคือสิ่งที่เป็นอยู่ดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับ “สถานะที่เป็นทางการ” ขององค์กรศาสนาที่อ้างพระธรรมวินัย (และความเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้) – เราวิจารณ์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่าอาศัยสถานะแบบก้ำกึ่งคือทำมาหากินแบบเอกชน/ธุรกิจ (ไม่เสียภาษี) แต่อ้างตัวว่าเป็นองค์กรรัฐ (แถมอ้างระบบบุญคุณด้วย) สถาบันศาสนาในบ้านเราก็สภาพไม่ต่างกัน
– ถ้าอยากให้สถาบันศาสนา (เช่นเดียวกับสถาบันกษัตริย์) อยู่ในสถานะที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ต้องรีบรื้อกลไกที่ปกป้องคุ้มครองสถานะพิเศษของสถาบันศาสนาให้หมด นั่นคือสถานะที่ได้รับการปกป้องพิเศษจากรัฐผ่านมหาเถรสมาคมและเงินงบประมาณหลายพันล้านบาทต่อปีให้ได้เสียก่อน และต้องเก็บภาษีจากวัดและพระ พร้อมๆกับที่ชาวพุทธต้องไปคิดกัน (เอง) ว่าจะดูแลศาสนาของท่านทั้งหลายอย่างไร ซึ่งนั่นเลยพ้นความสนใจของคนไม่มีศาสนาแบบผู้เขียนไปแล้ว



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อ่านความคิดเห็นท้ายบท ได้ที่ www.prachatai.com/journal/2012/08/42403 



.