http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-06

พิศณุ:(3) เสน่ห์ของ ยูเซน โบลต์

.
บทความของปี 2554 - ประโยชน์ของการยิ้ม โดย พิศณุ นิลกลัด

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

(3) เสน่ห์ของ ยูเซน โบลต์
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 96 


ไปดูโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอนตั้งแต่วันเปิดถึงวันปิดรวม 2 สัปดาห์ ผมได้ไปดูกีฬาในสนามจริงๆ แค่ 3 วัน ที่เหลือนั่งดูถ่ายทอดสดหน้าจอทีวีตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนทุกวัน 
ถือเป็นการดูโอลิมปิกยาวนานและมากประเภทกีฬาที่สุดในชีวิต 
ดูแล้วก็เห็นตรงกับข้อเขียนของคอลัมนิสต์กีฬาหนังสือพิมพ์รายวันอังกฤษคนหนึ่งที่บอกว่า "ที่นั่งที่ดีที่สุดของการดูโอลิมปิกคือที่นั่งบนโซฟา"
ใช่เลยครับ

ที่นั่งตรงอื่นไม่สะดวกสบาย
แค่ลงรถไฟใต้ดินเดินไปสนามกีฬาก็เหนื่อยแล้ว 
ดูโอลิมปิกหรือดูฟุตบอลโลกสมัยนี้เหมือนกันหมด คือถ้าไม่มีตั๋วเข้าชมอยู่ในมือเขาห้ามเข้าใกล้สนาม มาตรการรักษาความปลอดภัยเขาเข้มงวดมาก กระบวนการตรวจกระเป๋าตรวจสัมภาระต้องผ่านการตรวจการเอ็กซ์เรย์เหมือนจะขึ้นเครื่องบินไปอเมริกาเป๊ะ 
ดังนั้น เมื่อลงรถเมล์หรือรถไฟ เราต้องเดินเท้าไปสนามอีกเป็นกิโลเมตร บางสนามต้องเดินไป 2 กิโลเมตร กลับอีก 2 กิโลเมตร

การดูโอลิมปิกในสนามจึงไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
นี่ยังไม่นับการเดินไต่บันไดจากชั้นล่างสุดขึ้นไปนั่งบนอัฒจันทร์ชั้นบนสุดซึ่งเหนื่อยมาก
สูงลิบลิ่วเลยครับ 
คนสูงอายุที่ปัสสาวะบ่อยยิ่งทุกข์หนักเพราะสนามกีฬาหลายสนามเขาสร้างห้องน้ำไว้ชั้นล่าง อย่างสนามแข่งว่ายน้ำ
ต้องเดินขึ้นเดินลง ลิฟต์มีไว้สำหรับผู้พิการเท่านั้น
ผมพบคนไทยท่านหนึ่ง อายุ 70 แล้วครับ ท่านเคยไปแข่งโอลิมปิกที่เฮลซิงกิ บอกว่าไปดูโอลิมปิกคราวนี้ดูแค่วันเดียวเพราะอัฒจันทร์สูงเหลือเกิน เดินไม่ไหว นอกจากนั้น ดูในสนามเห็นนักวิ่งไกลลิบๆ ตัวเล็กนิดเดียว 

ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง



การดูโอลิมปิกในสนามสิ่งที่ได้คือ บรรยากาศและความทรงจำ 
แต่ถ้าต้องการเห็นชัด เห็นทุกรายละเอียด ต้องดูทีวี
อย่างดูแข่งวิ่ง 100 เมตร เรามีโอกาสเห็นภาพการแข่งขันตั้ง 15 นาที เริ่มตั้งแต่ ยูเซน โบลต์ วอร์ม อัพ ใต้ถุนอัฒจันทร์ พูดคุยหยอกล้อกับเยาวชนอาสาสมัครที่คอยถือตะกร้าใส่สัมภาระของ นักวิ่งที่เส้นสตาร์ต ภาพช้าทุกมุมของการวิ่งที่ใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาที ซึ่งถ้าเราดูในสนามไม่มีทางเห็นชัดและเห็นไม่หมด 
รวมทั้งหลังแข่งมีสุดยอดนักวิ่งของโลกอย่าง ไมเคิล จอห์นสัน ซึ่งได้เหรียญทองโอลิมปิกทั้งวิ่ง 200 และ 400 เมตร มานั่งวิเคราะห์สดๆ ให้ฟัง พูดถึงจังหวะการก้าวขาของโบลต์ รวมทั้งอารมณ์สบายๆ 15 วินาทีก่อนออกสตาร์ตการวิ่งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต ซึ่ง ไมเคิล จอห์นสัน บอกว่าเขาทำอย่างโบลต์ไม่ได้ เพราะในช่วงเวลานั้นทุกคนต้องเพ่งสมาธิไปที่การออกสตาร์ตและการ วิ่งเท่านั้น

ดู ยูเซน โบลต์ มาหลายครั้ง แล้วมาดูจะๆ คราวนี้ ผมมีความเห็นว่าด้วยรูปร่างและช่วงขาที่ได้เปรียบมากมาย และด้วยกติกาใหม่ที่ใครออกสตาร์ตก่อนเสียงปืนต้องออกจากการแข่งขันทันที ทำให้ไม่มีใครกล้าชิงจังหวะ "ลักไก่" ออกวิ่ง "พร้อม" เสียงปืน โบลต์ยิ่งมีโอกาสชนะมาก
เขาจะไม่ชนะก็ต่อเมื่อไม่สมบูรณ์เต็มที่ หรืออยากได้ที่ 2 บ้างเหมือนเมื่อตอนแพ้ โยฮัน เบล็กคราว คัดเลือกทีมชาติก่อนโอลิมปิก 2012 
นักวิจารณ์ของอังกฤษบอกว่าด้วยบุคลิก ความเป็นคนสนุกสนานขี้เล่น การเป็นมิตรกับผู้ชม และเข้าถึงได้ง่าย (reachable) ทำให้ ยูเซน โบลต์ เป็นนักวิ่งที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกรีฑาทุกรายการต้องการให้เข้าร่วมแข่งขัน 
เพราะเขาเป็นทั้งสีสันและแม่เหล็กที่ทำให้การแข่งขันได้รับความสนใจจากทุกคนแม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้สนใจกรีฑาแม้แต่นิดเดียว

คิดดูก็แล้วกัน พอวิ่งเข้าเส้นชัยทั้ง 100 เมตร, 200 เมตร, และ 4 คูณ 100 เมตร ยูเซน โบลต์ จะเดินเข้าไปกอด เข้าไปถ่ายรูปกับแฟนๆ ที่นั่งชมติดขอบสนามแบบเต็มใจไม่เบื่อไม่รำคาญและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ใครโชคดีได้ถ่ายรูปกับ ยูเซน โบลต์ หลังเข้าเส้นชัยโอลิมปิกก็ต้องเก็บภาพนี้ไว้อวดกันชั่วลูกชั่วหลาน 
บางจังหวะ ยูเซน โบลต์ ก็คว้ากล้องของช่างภาพหนังสือพิมพ์มาถ่าย ทำตัวเป็นช่างภาพซะเอง ช่างภาพคนนั้นก็ได้ภาพถ่ายฝีมือ ยูเซน โบลต์ ซึ่งถ้าจะนำไปประมูลเอาเงินเข้าการกุศลก็คงได้เงินพอสมควร

โลกไม่เคยมีแชมป์วิ่ง 100 เมตร ที่สนุกสนานแบบนี้ ตรงนี้ล่ะครับที่ทำให้ค่าเข้าร่วมแข่งขัน (appearance fee) ของ ยูเซน โบลต์ แพงมาก



+++
บทความของปี 2554

ประโยชน์ของการยิ้ม
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1625 หน้า 96


วันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมได้รับการประกาศให้เป็นวันยิ้มโลก หรือ World Smile Day โดยจัดครั้งแรกเมื่อปี 1999

ผู้ริเริ่มวันยิ้มโลก คือ ฮาร์วีย์ บอลล์ (Harvey Ball) ศิลปินชาวอเมริกันที่วาดรูปวงกลมอมยิ้มสีเหลืองที่รู้จักกันในชื่อ สมายลี่ย์ เฟซ (Smiley Face) เมื่อปี 1963 และเป็นรูปที่โด่งดังไปทั่วโลกรวมถึงเมืองไทยด้วย 
เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อนเสื้อยืดยี่ห้อช็อกโกแลตของไทย พิมพ์ลาย Smiley Face ขายดีมาก 
สโลแกนของ World Smile Day คือ Do an act of kindness, help one person SMILE! แปลว่า "การให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยให้คนหนึ่งคนได้ยิ้ม" 


พูดถึงเรื่องยิ้ม...เมื่อเดือนสิงหาคมมีหนังสือที่เขียนเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการยิ้ม ชื่อ Lip Service 
คำว่า Lip Service ไม่ได้แปลว่ายิ้ม แต่มีความหมายว่าพูดในสิ่งที่คนฟังอยากได้ยิน แต่ใจของคนพูดไม่ได้เห็นด้วยตามนั้น 

หนังสือเล่มนี้ เขียนโดย มาริแอนน์ ลาฟร้านซ์ อาจารย์แห่งคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยล

อาจารย์มาริแอนน์ ลาฟร้านซ์ บอกว่าสนใจเรื่องการยิ้มเพราะยิ้มเป็นการแสดงออกที่เหมือนกันทั่วโลก ไม่มีคนชาติไหนไม่รู้จักการยิ้ม
แต่รอยยิ้มของคนแต่ละชาติแต่ละวัฒนธรรมมีการตีความหมายแตกต่างกันออกไป และมีวิธีการยิ้มที่ต่างกันเหมือนภาษาพูดที่มีแอ๊กเซ่นหรือสำเนียงเป็นแบบฉบับของแต่ละชาติ 
ยกตัวอย่างเช่น คนอังกฤษเวลายิ้มจะเห็นฟันล่างมากกว่าคนอเมริกัน 
นอกจากนี้ การศึกษาของอาจารย์ลาฟร้านซ์ ได้ทดสอบคนออสเตรเลียให้ดูภาพถ่ายรูปหน้าปกติของคนออสเตรเลียกับคนอเมริกัน และให้บอกว่าคนในรูปคนไหนเป็นออสเตรเลียน คนไหนเป็นอเมริกัน  
ผลปรากฏว่าคนออสเตรเลียส่วนใหญ่ตอบไม่ถูกว่าคนในภาพเป็นคนชาติไหน

แต่เมื่อให้ดูภาพที่คนเหล่านั้นยิ้ม คนออสเตรเลียนส่วนใหญ่ตอบได้ถูกต้องว่าคนในภาพเป็นอเมริกัน หรือออสเตรเลียน 
อาจารย์ลาฟร้านซ์ยังบอกด้วยว่า แววตาเป็นเครื่องบ่งบอกว่ายิ้มนั้นๆ เป็นยิ้มจริงใจหรือยิ้มเสแสร้ง 
ยิ้มที่จริงใจ และยิ้มที่คนยิ้มมีความสุขจริงๆ จะมีรอยย่นรอบๆ ตา ส่วนยิ้มเสแสร้งจะยิ้มเร็ว และหุบยิ้มเร็ว ผิดกับยิ้มจริงใจที่อยู่บนใบหน้านานกว่าและจะค่อยๆ หุบลง



การยิ้มเป็นการแสดงออกที่ซับซ้อนกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด มนุษย์เรายิ้มในหลายอารมณ์ที่ต่างกัน เวลามีความสุข เวลาตื่นเต้น ประหม่า อับอาย หรือโกรธ เราแสดงการยิ้มที่ต่างกันไป
จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงยิ้มบ่อยกว่าผู้ชาย ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะผู้หญิงมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวไวกว่าผู้ชาย ซึ่งการยิ้มก็เป็นรูปแบบการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัววิธีหนึ่ง นอกจากนี้ สังคมมีทัศนคติว่าผู้หญิงควรยิ้มบ่อยกว่าผู้ชาย และผู้หญิงมักทำงานในด้านการให้บริการซึ่งถูกคาดหวังว่าต้องยิ้มบ่อย นอกจากนั้น มีผู้วิเคราะห์ว่าผู้หญิงมักมีสถานภาพทางสังคมที่ยังด้อยกว่าผู้ชาย การยิ้มจึงเป็นการแสดงออกถึงความยอมรับว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า
เด็กทารกเกิดมาก็รู้จักการยิ้มโดยที่ไม่ต้องมีคนสอน ซึ่งอาจารย์ลาฟร้านซ์วิเคราะห์ว่าเป็นสัญชาตญาณของการเอาชีวิตรอด เพราะทารกต้องการทำให้พ่อแม่ หรือคนเลี้ยงรักใคร่ 
ซึ่งการยิ้มจะทำให้ใครเห็นใครก็รักใคร่เมตตา



ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระบอกว่าการยิ้มทำง่ายกว่าการทำหน้าบึ้ง เพราะการยิ้มใช้กล้ามเนื้อ 17 จุด ส่วนการทำหน้าบึ้งใช้กล้ามเนื้อถึง 73 จุด และยังบอกด้วยว่าการยิ้มมีประโยชน์ต่อเจ้าของรอยยิ้มดังนี้ 

1. การยิ้มช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่าเอ็นโดฟินส์ ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด ซึ่งสารนี้โดยปกติจะหลั่งเมื่อเวลาออกกำลังกาย ทำสมาธิ และยิ้ม

2. การยิ้มช่วยลดอาการเจ็บปวด มีการทดลองพบว่าเวลาคนไข้เข้ารับการรักษาที่มีความเจ็บปวดอยู่บ้าง คนที่ยิ้มจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าคนที่ทำหน้าเหยเก เพราะการแสดงออกทางใบหน้ามีผลต่อประสาทสัมผัสความรู้สึก

3. คนที่ยิ้มบ่อย ภูมิต้านทานโรคจะดี จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยโอซาก้าพบว่าคนที่ยิ้มและหัวเราะเวลาดูหนังตลก ระดับภูมิต้านทานโรคจะสูงขึ้น

4. จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ที่อเมริกาพบว่าการยิ้มและหัวเราะเป็นเวลา 10 ถึง 15 นาที เผาผลาญพลังงาน 50 แคลอรี

มีคนเคยกล่าวว่า การยิ้มนั้นไม่ต้องเสียเงินในการสร้าง แต่มีผลมหาศาล ทำให้ผู้ได้รับรอยยิ้มมีความสุข แม้จะยิ้มเแป๊บเดียว แต่อยู่ในความทรงจำของผู้ได้รับตลอดไป

ปีนี้วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2554 เป็น "วันยิ้มโลก" ครับ



.