http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-22

สามัญสตรี โดย คำ ผกา

.

สามัญสตรี
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 89


"ฉันไม่ได้บอกว่าครอบครัวฉันเป็นอะไรที่ดีเด่นจนไม่มีข้อเสียเลย ฉันเป็นฉัน มีทั้งดีและไม่ดี...ฉันไม่กลัวความจริงอะไรทั้งสิ้น จริงคือบอกว่าจริง ไม่จริงก็คือไม่จริง อาปอไม่ได้ทำ แล้วให้มองดูเถอะว่าความเป็นอยู่ของครอบครัวเราน่าจะทำไปเพื่อใคร แล้วเบอร์โทร.นั่นเราจะรู้เขาได้หรือ อาปอมีแค่นี้ มีชีวิตวนเวียนอยู่กับลูกหลาน ไม่ได้เคยเข้าสภา ไม่เคยอะไร จะรู้อะไรได้ขนาดนั้นหรือ ถ้าเขาไปดูเสื้อแดง และถ้าเขาจะชอบเขาเสื้อแดงก็คงไม่ทุ่มสุดตัวอะไรขนาดนั้นหรอก เพราะเขามีภาระของเขาอยู่ เหมือนกับฉันทุกวันนี้ ฉันก็ทำอะไรสุดตัวไม่ได้เพราะมีภาระ...

เราเป็นครอบครัวธรรมดาที่ถ้าเจออะไรเข้ามาทีหนึ่งก็แย่ เพราะเราไม่มีอะไรที่จะตั้งรับนักหนา แต่ถ้าไม่มีอะไร ชีวิตก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ก็สุขไปตามอัตภาพของเราแค่นั้น ไม่ได้ต้องออกไปดิ้นรนให้ได้อะไร

ฉันไม่ได้มีความหวัง ถ้าตอนที่อาปอยังอยู่ ฉันอยากจะไปทุกที่ อยากจะพูด อยากจะบอกเพื่อให้อาปอออกมา แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว และฉันมีหน้าที่ต่อครอบครัว

แต่ฉันก็ยังจะไม่ทิ้งคนในเรือนจำ"

รักเอย, รสมาลิน ตั้งนพคุณ  สนพ. อ่าน 2555



นักเรียนประวัติศาสตร์เรียนรู้อดีตในหลายมิติ มีทั้งประวัติศาสตร์ของความเป็นแม่ ประวัติศาสตร์ของความเป็นพ่อ ประวัติศาสตร์ของนม ของจู๋ ของจิ๋ม ประวัติศาสตร์ของความเป็นเมีย เรียนแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ของอารมณ์ ความรู้สึก ประวัติศาสตร์ของการหัวเราะ ร้องไห้ ประวัติศาสตร์ของความรัก ฯลฯ 
เมื่อประวัติศาสตร์มีอยู่ในทุกหนทุกแห่งในชีวิต หลักฐานทางประวัติศาสตร์จึงมีตั้งแต่ไดอารี่ของยาย สูตรอาหารแม่ จดหมายถึงเมียน้อยของพ่อ เก้าอี้ของปู่ ฯลฯ 
การให้ความสำคัญกับบันทึกเรื่องราวของสามัญชนนั้นเห็นได้จากการสะสมหนังสืองานศพของนักประวัติศาสตร์ หรือการตามล่าหาไดอารี่ของสามัญชนทั่วไปในยุคต่างๆ เพื่อสะกดรอยหารหัสความรัก ความชัง ความโกรธ ความฝันประดามีของมนุษย์ในแต่ละห้วงของเวลา

คนไทยก็คุ้นเคยกับงานเขียนเชิงบันทึก ไดอารี่ อัตชีวประวัติ บันทึกความทรงจำ เช่น ประวัติต้นรัชกาลที่หก, เกิดวังปารุสก์, ชีวิตเหมือนฝันของ คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ดุจนาวากลางสมุทร ฯลฯ 
แต่น้อยนักที่เราจะได้อ่าน "บันทึกความทรงจำ" ของคนที่สามัญเสียงยิ่งกว่าสามัญชน 

ทำไมคนสามัญ ธรรมดา ไม่เขียนเรื่องของตนเอง? 
ก็เพราะพวกเขาเห็นว่า ชีวิตของเขาไม่น่าสนใจ ไม่สลักสำคัญ ไม่สามารถเป็นแรงบันดาลใจ บทเรียน ต้นแบบ ให้แก่ใคร ไม่มีเกียรติยศ สรรเสริญให้อวดอ้าง และแม้กระทั่งอาจเห็นว่า ชีวิตของตนเองน่าอาย และน่าถูกลืมมากกว่าน่าจดจำ
หรือพวกเขาก็ยุ่งเหยิงอยู่กับภาระต่างๆ นานาในชีวิตจนไม่เหลือเวลาสำหรับการนั่งจดจำอารมณ์ ความรู้สึกของตน




ป้าอุ๊ภรรยาของอากงก็เป็นหนึ่งในสามัญชนเหล่านั้น หากอากงไม่ตายคาความอยุติธรรมในคุก เราคงไม่มีโอกาสได้รู้จักชีวิตของ "คนไทย" ชนชั้นหนึ่งที่ไม่เคยมีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้แก่พวกเขา 
เรารู้ว่า สังคมไทยมี เจ้า มีขุนนาง มีพ่อค้า เจ้าสัว มีชาวนาในชนบท มีคหบดีท้องถิ่น มีชาวชนบทที่อพยพมาเป็นชนชั้นแรงงานในเมือง แต่ "บันทึกความทรงจำ" ของป้าอุ๊ทำให้เราได้รู้จัก คนชั้นล่างในเมือง ลูกจีน ลูกไทย ลูกข้าราชการชั้นผู้น้อย ความฝันของพวกเขา และความพยายามที่จะมี "วันที่มีความสุขตามประสา" ความพยายามจะบรรลุถึงการเป็นลูกที่ดี จนถึงการเป็นพ่อแม่ที่ดี การเป็นปู่และย่าที่ดี ความเชื่อว่าการศึกษาคือสิ่งเดียวที่จะทำให้ชีวิตพ้นจากความทุกข์ยาก 

อากงเป็นลูกจีนที่พ่อแม่มาจากเมืองจีน พูดภาษาจีนเป็นภาษาหลักยิ่งกว่าภาษาไทย ได้เข้าโรงเรียนจีน ดีดลูกคิดเก่งจนเข้าแข่งขันดีดลูกคิดในโรงไม้ที่ทำงานอยู่ 
คนพื้นเพแบบอากงอาจจะมีอยู่เกือบหนึ่งในสามของประเทศและอาจจะเกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัดแบบกรุงเทพฯ หรือชลบุรี 
แต่เราคนไทยหาได้สำเหนียกถึงการมีอยู่ของผู้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นจีนแบบอากง เป็นฮินดู เป็นซิกข์ เป็นจีนอินโดหรือที่เรียกว่าย่าหยา เป็นญวน เป็นมอญ 
เราอาจจะได้รู้จักคนเหล่านี้บ้าง หากพวกเขาเป็นชนชั้นนำ หรืออยู่ในเครือข่ายชนชั้นนำหรือเป็นปัญญาชน

แต่คนแบบอากงลูกจีนในเมืองไทย เรียนหนังสือพออ่านออกเขียนได้ ดีดลูกคิดเป็น ทำงานเป็นคนงานในโรงไม้ ขยับมาเป็นพนักงานขับรถ แต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่งสร้างครอบครัว
พวกเขาไม่ใช่กรรมกรไร้การศึกษา อากงอ่านหนังสือ อ่านสามก๊ก ฟังเพลง ร้องเพลงสุนทราภรณ์ ดูหนัง ดูละครเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบันเทิงมวลชนที่เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นในยุคนั้นของไทย (กางเกงขาโบว์ลิ่งที่ซื้อเป็นของขวัญให้ป้าอุ๊)

อากงคือตัวแทนของชนชั้นกลางระดับล่างแค่รอปัจจัยที่เหมาะสม เช่น หากรัฐไทยมีการศึกษามวลชนที่มีประสิทธิภาพ มีประกันสุขภาพ มี public housing ที่ดี คนแบบอากง ป้าอุ๊ จะสามารถนำพาครอบครัวไปสู่ความเป็นชนชั้นกลางได้อย่างสง่างามและเต็มภาคภูมิ


ป้าอุ๊เป็นลูกทหารชั้นผู้น้อย พ่อของเธอตายในยศร้อยโท แม่เป็นแม่บ้านรับจ้างซัก-รีด ชุดทหาร มีพี่น้องถึงแปด-เก้าคน แม่เลิกกับพ่อ เธอจึงเรียนหนังสือถึงชั้น ป.4 เพื่อออกมาทำงาน เลี้ยงน้อง แบ่งเบาภาระครอบครัว ฟังแค่นี้ มันก็คือชีวิตของ "คนจน" ไทยอีกเกือบทั้งประเทศที่เราอ่านพบในหนังสือพิมพ์ หนัง ละคร นิยาย แต่เราไม่เคยลง "ทำความรู้จัก" กับคนจบ ป.4 เหล่านี้อย่างจริงจัง 
คนจบ ป.4 ที่เกิดช่วงปี 2490 ลงมาจำนวนมาก มีโอกาสเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ตั้งแต่ไปซาอุฯ ไปไต้หวัน ได้เห็นโลก ได้อ่านหนังสือ ได้ชมภาพยนตร์ บ้างได้รับ "การศึกษา" ผ่านการทำงานกับครอบครัวนักการทูต นักการเมือง ในฐานะ "แม่บ้าน"

คนเหล่านี้อาจจะไม่ได้รับการศึกษาสูงในระบบ แต่พวกเขาไม่ใช่ชาวชนบท พวกเขาคือชนชั้นกลางในเมืองอีกกลุ่มหนึ่งหายไปจากการรับรู้ของสังคมไทยเพราะมันง่ายที่จัดประเภทพวกเขาเท่ากับ กรรมกร คนงาน คนจนในเมือง พร้อมกันนั้นจินตนาการที่จะมองเห็นพวกเขาอยู่ในวัฒนธรรมมวลชนของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็น การอ่านวรรณกรรม กิจกรรมสันทนาการ พักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง ช็อปปิ้ง จึงหายไปด้วย

"บางทีฉันก็เหมือนคนบ้า ชอบไปพูดเสียงดังๆ ใส่ทะเล เหมือนไประบาย ถ้าโมโหก็จะเขวี้ยงหินลงไปในน้ำ มันเป็นความสุข เป็นโลกส่วนตัว ...มีนกบิน อากาศเช้า...อยากจะร้องเพง อยากจะทำอะไรก็ทำ ฉันไม่มีห้องส่วนตัว ไม่เคยมีอะไรส่วนตัว การได้ไปที่นั่นก็เหมือนได้ไปมีโลกส่วนตัวของตัวเราเอง" (น.21) 
ครอบครัวคนจนในเมืองที่ได้ "เสพ" วัฒนธรรมมวลชนซึ่งหมายถึง "การศึกษา" ในอีกรูปแบบหนึ่ง (ป้าอุ๊ยังเขียนว่าช่วงที่เธอพักหลังคลอด ทำงานไม่ได้ เธอเฝ้าแต่อ่านหนังสือแล้วก็อ่านหนังสือเท่าที่มีในบ้าน อย่าง สามก๊ก ฉบับวณิพก ที่อากงชอบอ่านและซื้อ) ครอบครัวคนจนในเมืองที่อยู่ในสองวัฒนธรรมคือจีนและไทย ครอบครัวคนจนในเมืองที่มีจริยธรรมอย่างชนชั้นกลางทั่วไป 
"เราไม่ใช่คนรวยที่จะต้องมีอะไรสมบูรณ์แบบหมด เรามีหนี้สิน มีความลำบาก สุขสบาย ควบคู่กันไปหมด ...ฉันบอกลูกว่า การเรียนก็เหมือนค้าขาย คือลงทุนให้น้อย เอากำไรให้มากที่สุด กำไรคือความรู้" (น.28-29)




อะไรกันที่ทำให้สังคมไทยไม่เคยรู้จักรู้ "ใจ" ไม่เคยเห็นไม่เคยแคร์ความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เรายังเห็นคนจนเท่ากับโง่ เท่ากับไร้รสนิยม เท่ากับไม่อ่านหนังสือ เท่ากับไม่มีวัฒนธรรม เราไม่เคยคิดว่าเพราะพวกเขามีชีวิต เพราะพวกเขาหายใจ เพราะพวกเขาคิด เพราะพวกเขาตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบจากทุกประสบการณ์ในชีวิตจากทุกเพลงที่ฟังจากทุกเล่มของหนังสือที่อ่าน พวกเขาไม่มีวันเหมือนเดิม ไม่มีวันอยู่กับที่ 
แต่เพราะเราคิดเช่นนั้น เราจึงคิดว่าเราจะ "กระทำ" ต่อเขาอย่างไรก็ได้ จะชี้ให้ทั้งทางไปสวรรค์หรือนรก จะสั่งให้บอกว่านี่คือสีดำทั้งที่เป็นสีขาว สั่งให้บอกว่าสีขาวทั้งที่เป็นสีดำ เราทำไปทั้งหมดนั้นเพราะเราไม่เคยรู้จักเขาเลย

"เหมือนกับท่านได้ทำคุณูปการให้กับสังคมที่คดงอให้เป็นเส้นตรง...และเป็นขุนเขาที่ยอมหลอมละลายโดยหินทุกก้อนและทรายทุกเม็ด เพื่อที่จะเติมเต็มให้กับหุบเหวให้เป็นพื้นดินเดียวกัน เสมอภาพ ภราดรภาพ และเป็นพื้นดินที่เท่าเทียมกัน พร้อมกับสันติภาพในส่วนของดินที่มีฟ้าอยู่สูงสุดในชั้นฟ้าที่เมตตาต่อพื้นดิน" (จดหมายของป้าอุ๊ถึงอาจารย์วรเจตน์หลังจากที่อาจารย์วรเจตน์ถูกดักทำร้ายร่างกาย
นี่คือชะตากรรมของสามัญชนที่ได้เปิดเผยตัวตนต่อสังคมที่ถือเอาความ ignorance เป็นเจ้าเรือน

บันทึกความทรงจำของสามัญชนสตรีคนหนึ่ง 
ทั้งตบหน้าและขย้อนความไร้สัมปชัญญะของสังคมตอแหลสังคมหนึ่ง


และในอนาคตบันทึกความทรงจำนี้จะหมายถึงหมุดหมายของการต่อสู้ของสามัญชนในดินแดนแห่งนี้ที่สามัญชนไม่เคยถูกมองว่าเป็น "คน" แม้ล่วงเข้าศตวรรษที่ 21



.