http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-15

(2) 380 ปี..เปลี่ยนวิธี ชิงอำนาจ กำลังทหารไม่ชี้ขาดอีกต่อไป (จบ) โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
อ่าน .. (1) 380 ปี..เปลี่ยนวิธี ชิงอำนาจ กำลังทหารไม่ชี้ขาดอีกต่อไป โดย มุกดา สุวรรณชาติ
ได้ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/09/m380pwp1.html

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

380 ปี...เปลี่ยนวิธี ชิงอำนาจ กำลังทหารไม่ชี้ขาดอีกต่อไป (จบ)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 20


ครบ 6 ปี รัฐประหารกันยายน 2549 มีคนสงสัยว่า วิธีการใช้กำลังชิงอำนาจจะหมดไปหรือไม่ ฉบับที่แล้วได้ย้อนดูอดีต การชิงอำนาจสมัยอยุธยาตอนปลาย ก็พบว่าประวัติศาสตร์ที่ไม่ยอมสอนในห้องเรียน ออกมาในแนว...ศึกชิงบัลลังก์เลือด (ใครอยากรู้เรื่องละเอียด ต้องรออ่านจาก...ศิลปวัฒนธรรม...)
แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า เส้นทางชิงอำนาจในสมัยก่อน ไม่มีทางให้เลือกมากนัก 
พอมาถึงยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็พยายามจะใช้ระบอบประชาธิปไตย ให้เปลี่ยนถ่ายอำนาจแบบสันติ โดยการเลือกตั้งของประชาชน 
แต่ผ่านมากว่า 80 ปี คนที่ถืออาวุธในบ้านเราซึ่งใกล้ชิดกับอำนาจ ยังเคยชินกับวิธีการแบบเก่า การรัฐประหารชิงอำนาจโดยผู้นำทางทหารจึงยังเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง



40 ปีหลัง 2475
ประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมในอำนาจ


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2476-2500) แค่ปีแรก 2476 เกิดการชิงอำนาจกันถึง 3 รอบ มีทั้งปิดสภาโดยนายกรัฐมนตรี และการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจคืนของพระยาพหลในเดือนตุลาคมและเกิดกบฏบวรเดชในเดือนธันวาคม 2476
ต่อมาในปี 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ คณะรัฐประหารแสร้งยกอำนาจให้ นายควง อภัยวงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี 
หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็รัฐประหารทวงอำนาจคืน ให้เจ้าของอำนาจตัวจริง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งกุมอำนาจต่อมานับ 10 ปี

2500-2516 ทหารครองเมือง ปี พ.ศ.2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็รัฐประหาร จอมพล ป. โดยการสนับสนุนของอเมริกา จอมพลสฤษดิ์ครองอำนาจจนเสียชีวิตในปี 2506 จากนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ก็สืบต่ออำนาจเผด็จการทหารต่อมาจนถึง 2516 รอบนี้ถือเป็นเผด็จการโดยทหารแท้ๆ 
สรุปว่า 40 ปีแรกของหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดการรัฐประหารหลายครั้ง อำนาจส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในมือผู้ถืออาวุธ โดยเฉพาะช่วงปี 2490-2516



หลัง 14 ตุลา 16 
ประชาชนมีส่วนร่วมบ้าง


การลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้ทำให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ของประชาชน แม้จะมีการรัฐประหารสุดโหดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ไม่สามารถสกัดกั้นการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนได้ ช่วงนั้นมีคนบางกลุ่มหมดหวังกับแนวทางสันติ และตอบโต้ฝ่ายทหารด้วยกำลังอาวุธทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่เหตุการณ์ก็สงบใน 5 ปี 

ต่อมาระบอบประชาธิปไตยค่อยๆ พัฒนาอย่างช้าๆ และดีขึ้นในอีก 10 ปี แต่ก็มีการรัฐประหารของ รสช. ในปี 2534 ในปี 2535 ประชาชนก็ต่อต้าน จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  
หลังจากนั้น จึงมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทย เป็นรัฐบาล


70 ปีหลัง 2475 ประชาชนเข้าร่วมในอำนาจแล้ว

หลังนโยบายช่วยคนจนของไทยรักไทยถูกนำไปปฏิบัติ ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรคและอื่นๆ คนทั่วทั้งประเทศเข้ามาร่วมในกระแสนี้ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ นอกจากนั้น การกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ทำให้คน 40-50 ล้าน ได้รับประโยชน์ และรู้ว่าตัวเองมีอำนาจ ทุกคนเข้าใจแล้วว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์และกินได้ 
พอถึงกันยายน 2549 ก็มีคนโง่หลงยุคทำรัฐประหารขึ้นมาอีก คราวนี้ทำเพื่อดิ้นรนรักษาอำนาจเก่าอย่างเต็มที่ กว่าจะรู้ตัวว่าพลาดไปก็ถลำลึกจนเกิดการสังหารหมู่กลางกรุง 
การปราบประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ยิ่งกระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมการต่อสู้มากขึ้น เข้มข้นขึ้น

คนนับล้านที่เข้าร่วมทั้งในเหตุการณ์จริงและผ่านระบบสื่อสาร ได้ยกระดับคุณภาพทางความคิด การต่อสู้ และมีทัศคติที่เปลี่ยนไป 
เหตุการณ์นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของการเข้าร่วมสัประยุทธ์ทางการเมืองของประชาชนชั้นล่างหลายล้านคนที่จะเข้าร่วมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม


จำปี 2553 ให้ดีเพราะนั่นคือเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจกำหนดชะตากรรมของประเทศด้วยตนเอง และได้เริ่มแสดงผล ตั้งแต่การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 แต่นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้น เปรียบเหมือนการต่อยมวยสากลสมัครเล่นครั้งแรกเท่านั้น



สถานการณ์แบบวันนี้คือจุดเปลี่ยนวิธีชิงอำนาจ 

คนบางกลุ่มคิดว่า ...ปลายอยุธยายังใช้ดาบฟันกันจนเลือดท่วมเพื่อชิงอำนาจ กรุงธนบุรีมีกษัตริย์แค่องค์เดียวก็ถูกรัฐประหาร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 80 ปี ก็มีรัฐประหารเป็น 10 ครั้ง วิธีการใช้กำลังชิงอำนาจจึงยังไม่น่าหมดไป

ทีมวิเคราะห์มีความเห็นว่า แม้เรื่องการชิงอำนาจด้วยกำลัง จะเป็นยุทธวิธีที่ทำกันมานานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น แม้มีคนคิดอยากจะทำ แต่ก็ทำไม่ได้ง่ายอีกแล้ว ด้วยเหตุผลดังนี้ 
1. ความเป็นระบบสากลมีผลในทางปฏิบัติ มีผลกระทบถึงระบบสังคมที่ทุกประเทศ ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนด้วยการค้าขายกับคนทั่วโลกทั้งอาหารและพลังงาน ไม่มีใครปิดประเทศแล้วอยู่ได้ การไม่ยอมรับของประชาคมโลกต่อการรัฐประหาร หรือการใช้กำลังชิงอำนาจ กดดันให้ไม่มีใครกล้าขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศโดยรัฐประหาร 

2. ทิศทางการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สู่ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังเป็นกระแสหลัก ที่จริงเกิดขึ้นมานาน 20 ปีแล้ว ในยุโรปตะวันออก และในช่วงเวลานี้ก็เกิดในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ผู้ที่กดขี่เข่นฆ่าประชาชนพ่ายแพ้และถูกลงโทษ ถ้าไม่ตาย ก็ต้องหนีออกจากประเทศ เป็นบทเรียนที่น่ากลัว  

3. ระบบการสื่อสารที่ทันสมัยและรวดเร็ว ทำให้ผู้กุมอำนาจที่กระทำความผิด บีบบังคับประชาชน ฆ่าคน หรือกระทำการผิดศีลธรรม ไม่สามารถปกปิดความจริงความชั่วต่างๆ ไว้ได้  

4. ทหารรู้ดีว่าหลังจากทำรัฐประหารยึดอำนาจได้แล้วก็ไม่สามารถเป็นผู้นำปกครองประเทศได้ ต้องยกอำนาจให้นักการเมืองอยู่ดี บทเรียนที่เห็นชัดในการรัฐประหารสองครั้งหลังในปี 2534 และ 2549 ดังนั้น จึงไม่มีใครอยากเอากระดูกมาแขวนคอ หรือ เตะหมูเข้าปากหมา

การออกมารัฐประหารนับแต่วันนี้ จะกลายเป็นเหยื่อของทหารอีกกลุ่มที่เข้าข้างประชาชนที่ต้องการปราบกบฏ
ทหารฉลาดรู้ดีว่าถ้าเป็นทหารอาชีพ ปรับตัวให้เข้ากับกระแสประชาธิปไตย จะอยู่รอดและได้ประโยชน์สูงสุดเช่นในประเทศจีน เกาหลี อเมริกา รัสเซีย และไม่มีใครมั่นใจว่าสามารถควบคุมทหารที่ถืออาวุธทุกคนได้ ไม่มีใครรู้ความคิดทางการเมืองของทหารเหล่านั้น 
ดูผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาในเขตทหารก็รู้แล้วว่า ถ้าสถานการณ์ผันผวน ไม่มีใครคุมใครได้ คำสาบานที่ให้ท่องบ่นทุกวันก็ไม่ใช่หลักประกัน

5. กระแสตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยในปัจจุบันมีสูงมาก ไม่เพียงคนเสื้อแดง แต่คนทั่วทั้งประเทศเข้ามาร่วมในกระแสนี้ พวกเขาพร้อมจะต่อต้านถ้าคิดว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ และไม่ยุติธรรม ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ถ้าคนจำนวนมากลุกขึ้นสู้ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ปรากฏการณ์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่คนเสื้อแดงมือเปล่ายอมถอยเหตุการณ์จึงไม่รุนแรงมากแต่ถ้ามียุทธศาสตร์เดินหน้าสู้ ในครั้งต่อไป สงครามกลางเมืองย่อมมีโอกาสเกิดขึ้น

6. เมื่อมีผู้คิดค้นวิธีตุลาการภิวัฒน์ขึ้นมาได้และวันนี้ยังคงทำให้คนหลงเชื่อว่าความยุติธรรมยังมีเหลืออยู่ ก็แสดงว่ายังสามารถหลอกคนส่วนใหญ่ได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งช่วงเวลาแบบนี้ วิธีการทางทหารจึงยังไม่ใช่ทางเลือก และดูเหมือนว่ามีผู้พยายามพัฒนาตุลาการภิวัฒน์ให้เป็นตุลาการธิปไตย

ทั้งหมดคือเหตุผลที่การรัฐประหารแบบเก่ามีโอกาสเกิดยากมาก แม้วันนี้กำลังทหารไม่ได้ชี้ขาดแต่เมื่อกำลังฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งแต่ยังไร้อำนาจ แสดงว่ายังมีอำนาจของอีกฝ่ายหนึ่งกดดันอยู่มากพอสมควร อาจจะแฝงอยู่ในองค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากประชาชน การต่อสู้จึงยังดำรงอยู่ อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง 
ขณะนี้ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายจะเน้นไปทางการปฏิรูปด้วยระบบการเมืองกฏหมายหรือแม้แต่ใช้เสียงของประชาชนกดดัน แนวทางการปฏิวัติยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้น พรรคไทยรักไทยเลือกแนวทางการปฏิรูปตามระบบรัฐสภา
แต่ ปชป. ซึ่งไม่คิดว่าจะชนะเลือกตั้งจะเล่นตามระบบนี้ตรงๆ หรือ



การต่อต้านรัฐประหารวันพรุ่งนี้ 
คือต่อต้านตุลาการภิวัฒน์


1. การตั้งสมมุติฐานว่าจะมีการใช้กำลังทำรัฐประหารหรือไม่ จะมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของแต่ละฝ่าย เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองในเดือนกันยายน 2549 เพราะรู้เป้าหมายว่า หลังกลางเดือนกันยายน จะต้องมีรายการมาตามนัด

ถ้าฝ่ายพรรคไทยรักไทยประเมินถูกต้องและเตรียมตั้งรับการรัฐประหาร คงไม่เกิดขณะนั้น แม้ไม่ยกเลิกก็ต้องเลื่อนออกไป ในสถานการณ์ ปัจจุบัน รัฐบาลอยู่ในสภาพที่มีประชาชนสนับสนุนจำนวนมาก ก็สามารถใช้ต้านอำนาจรัฐประหารได้เช่นกัน 
แต่อย่าให้ข่าวการรัฐประหารแบบเก่า มาหลอกหลอนจนเสียแนวการต่อสู้ทั้งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ยิ่งกลัวก็ยิ่งถูกขู่ผลสุดท้ายจะไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ประชาชนไม่ได้เลือกรัฐบาลมาเพื่อให้แจกของ

2. ต้องหาทางแก้รัฐธรรมนูญให้ได้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ระบบยุติธรรมไม่เอียงข้าง เพราะวันนี้และพรุ่งนี้ จะเป็นแนวรบของตุลาการภิวัฒน์กับประชาธิปไตยแบบไม่ใช้กำลัง แต่จะใช้กฎหมาย ระบบสื่อสาร กำลังมวลชน 

ในทางยุทธศาสตร์กลุ่มอำนาจเก่าต้องพยายามรักษารัฐธรรมนูญ 2550 เอาไว้ให้ได้เพื่อกุมความได้เปรียบในการแต่งตั้งคนเข้าไปคุมระบบยุติธรรมเพราะนี่เป็นอำนาจอธิปไตยที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวของกลุ่มที่ไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งจากประชาชน 
พรรคเพื่อไทยต้องตระหนักว่าการสนับสนุนของประชาชนไม่ได้อยู่ในกระแสสูงตลอดไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง และฝีมือทางเศรษฐกิจ
ถ้าช่วงกระแสดีไม่รู้จักแก้ปัญหาสำคัญ โอกาสอาจหลุดลอยไป

3. แม้ฝ่ายรัฐบาลจะต้องการใช้แนวทางปฏิรูป หลีกเลี่ยงการปะทะทุกกรณี แต่ในความเป็นจริงก็จะมีช่วงเวลาที่ใช้กำปั้นต่อกำปั้นเข้าปะทะกันนายกฯ และทีมงาน ต้องไม่หูเบา ของขม ของหวานผ่านหู ผ่านตาต้องคิด 
เช่น ไม่ควรเข้าไปในเขตอันตราย ไม่ว่าใครจะยั่วยุอย่างไร ผู้ก่อการร้ายปลอมได้ แต่ระเบิดเป็นของจริง

พรรคเพื่อไทยจะไม่มีโอกาสพ่ายแพ้โดยการโจมตีของ ปชป. หรือการรัฐประหารตราบที่ประชาชนยังสนับสนุน
แต่จุดอ่อนคือตัวเอง การแตกสามัคคี และเรื่องการบริหาร หรือคนในทุจริต ถ้านายกฯ ยังขยัน อดทน ทำงานเป็นทีม สามารถอยู่จนครบสมัยได้ไม่ยาก ที่ผ่านมานายกฯ ทำงานและวางตัวได้ดี รู้จุดอ่อนตัวเองใช้ความสามารถทีมงานเสริม  
เรื่องนี้แม้ผู้นำที่เก่งของมหาอำนาจ ก็ยังต้องใช้ทีมงานที่เชี่ยวชาญ 
วันนี้แม้มีทีมงาน แต่ดูแล้วยังไม่พอ รวมทั้งคนที่บริหารกระทรวงต่างๆ ยังสร้างผลงานไม่ดี มีจังหวะปรับปรุงต้องทำ อำนาจบริหารช่วงนี้ไม่ควรใช้ตอบแทนใครเพราะยังเป็นโค้งอันตราย


สรุปครบ 6 ปีรัฐประหาร 2549 คู่ต่อสู้ต่างเปลี่ยนวิธี

เพราะผู้ที่ทำรัฐประหารคือกบฏมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 113-114 มีโทษถึงประหารชีวิตและจำคุกผู้ให้การสนับสนุน ส่วนผู้ปราบกบฏจะได้รับความดีความชอบ ทหารจึงไม่ใช่คู่ต่อสู้และไม่อาจชี้ขาดชัยชนะในสถานการณ์นี้ แต่การชิงอำนาจโดยตุลาการภิวัฒน์ คือการสู้กับกรรมการ จึงต้องมีขั้นตอนการต่อสู้ที่อาศัยกฎหมาย

ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะเดินไปได้ จะพัฒนาและก้าวข้ามตุลาการภิวัฒน์ เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เสียที 
ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาแบบปฏิรูปให้ได้ การชิงอำนาจแบบใช้ดาบฟาดฟันกันเมื่อ 380 ปีที่แล้วจะได้ไม่ย้อนกลับมา เพราะอาวุธยุคใหม่น่ากลัวกว่า...ตายมากกว่า แค่ความรุนแรงในปี 2553 ที่ผ่านมาก็นับว่าหนักแล้ว

จนบัดนี้...ความจริงเพื่อความยุติธรรมเพิ่งปรากฏเป็นเพียงแค่หนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้น


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

หนังสือ...ความจริงเพื่อความยุติธรรม... หนาถึง 1,400 หน้ารวบรวมข้อมูลได้ละเอียดพอสมควร แม้ไม่สามารถบรรยายความเจ็บปวดและความทุกข์ยากของเหยื่อและญาติได้ทั้งหมดแต่เชื่อว่าเล่มนี้จะให้ข้อมูลที่แม่นตรง มากกว่าเล่มอื่นๆ โดยเฉพาะของ กสม. ปกแข็งมีแค่ 500 เล่ม จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.)








.