http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-02

สุรพศ: ความคิดเสรีนิยมกับเสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา

.

ความคิดเสรีนิยมกับเสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/08/42361 . . Wed, 2012-08-29 20:05


สุรพศ ทวีศักดิ์

เทศนา “สตีฟ จ็อบส์ ฉบับธรรมกาย” กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโซเชียลมีเดียอย่างน่าสนใจ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ประเด็นผิดวินัยสงฆ์หรือไม่เท่านั้น ยังมีประเด็นสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ ประเด็น “การอ้างอิงแนวคิดเสรีนิยมกับศาสนา” ขอยกตัวอย่างการถกเถียงตามภาพข้างล่างนี้ที่ผมแชร์มาแลกเปลี่ยนความเห็นในเฟซบุ๊กของผมเอง (ขออภัยท่านเจ้าของความเห็นที่จะอ้างถึงต่อไปนี้ บทความนี้ไม่ใช่เพื่อโต้แย้งเป็นการส่วนตัว แต่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นสาธารณะ)

ข้อความประกอบภาพบรรยายว่า (ผมตัดส่วนที่อ้างอิงออกแต่คงเนื้อหาตามเดิม)

จากกรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้เทศน์เรื่องสตีฟ จ๊อบส์ ตายแล้วไปไหนและท่านเจ้าอาวาสอธิบายว่าจ๊อบส์ ณ ขณะนี้ได้เกิดใหม่เป็น “เทพบุตรภุมมเทวาระดับกลางสายวิทยาธรกึ่งยักษ์” ซึ่งถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างมาก และถูกมองว่า “โหน” คนดังมาโปรโมตวัด/สำนัก ของตนเอง 
Admin เห็นว่าสำนัก/บุคคล ทางศาสนาที่ใช้การตลาดหรือการโหนคนดัง (จะเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ ก็ตาม) เป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่ดาษดื่นในปัจจุบัน ดังเช่นกรณี ท่าน ว.วชิรเมธีก็เคยให้สัมภาษณ์แบบ “เจาะธรรมผ่านสตีฟ จ๊อบส์” ในงานเปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับสตีฟ จ๊อบส์ (ซึ่งการเชิญคนมีชื่อเสียงมาวันเปิดงานเป็นหนึ่งใน Event ทางการตลาดของสำนักพิมพ์) 
Admin เห็นว่าการตลาดของสำนัก/บุคคล ทางศาสนา เป็นสิทธิ์เสรีภาพที่จะกระทำได้ โดยเราควรปล่อยให้ “สาธุชน” สาธารณะเป็นผู้ตัดสินกันเองด้วยศรัทธาไม่ควรดึงอำนาจรัฐหรือมาตรการทางกฎหมายใดๆ มาบังคับหรือนิยามว่าความเชื่อแบบใดผิดหรือถูก และหากเราจะต่อต้าน “การตลาดของศาสนา” จากกรณีของธรรมกายแล้ว เช่นนั้นแล้ว การตลาดทางศาสนาของสำนักอื่นๆ ที่อาจจะไม่โด่งดังและอื้อฉาวเท่ากับกรณีธรรมกายเล่า เราจะต้องจัดการธรรมกายเล่า เราจะต้องจัดการในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดหรือไม่


จากภาพและข้อความข้างบนนี้ ผมแสดงความเห็นไปว่า
....

(บังเอิญเพิ่งเจอ) ประเด็นธรรมกายไม่ใช่แค่เสรีภาพในเรื่องทำการตลาดทางศาสนา คือผมเห็นด้วยว่า เราสามารถอ้างแนวคิดเสรีนิยมในกรณีทำการตลาดทางศาสนา เสรีภาพที่จะเชื่อของประชาชน การแยกนิกาย ศาสนาต้องเป็นอิสระจากรัฐ ฯลฯ 
แต่เราไม่สามารถอ้างแนวคิดเสรีนิยมคัดค้านการใช้วินัยสงฆ์ตรวจสอบการกระทำของพระได้ เช่นถ้าวินัยสงฆ์บัญญัติว่า "ภิกษุดื่มเหล้าต้องอาบัติปาจิตตีย์" เมื่อพบว่ามีพระ ก.ดื่มเหล้าแล้วชาวพุทธอ้างวินัยข้อนี้มาตรวจสอบ ใครจะไปอ้างเสรีนิยมว่าใช้วินัยสงฆ์เอาผิดไม่ได้เพราะการดื่มเหล้าเป็นเสรีภาพ ตราบใดที่พระดื่มเหล้าไม่ไปตีหัวคนอื่นก็ไม่ผิดเป็นต้น นักเสรีนิยมจะไปอ้างแบบนี้ไม่ได้

และมีผู้มาแสดงความเห็นว่า
Rittichai Chuwong ; ถ้าแบบนั้น ก็อ้างเสรีภาพ ละเมิด112 ไม่ได้ ครับ

ประเด็นคือศาสนามีสิทธิ์ออกบัญญัติอะไรก็ได้ แต่ถ้าหากเอามาใช้ต้องไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตย ถ้าคิดว่าหลักประชาธิปไตย และเรื่องเสรีภาพใหญ่กว่า นะครับ ต่อให้มีบัญญัติเขียนไว้ก่อนหรือหลังกฎหมายหลักของสังคมก็ตาม กฎบัญญัติที่ยึดหลักความเชื่อและยอมรับแค่คนบางกลุ่ม หรือใช้ภายในกลุ่มของตัวเองก็ตาม มันต้องไม่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนกับหลักประชาธิปไตยด้วย ถ้าวันหนึ่งถ้าจะอ้างกฏความเชื่อของตน แบบนี้ ถ้ามีการออกกฎให้ลงโทษด้วยการเฆี่ยน ตัดมือ ตัดคอ ก็อ้างลงโทษได้ สิครับ หรือถ้าใช้ตรรกะเดียวกัน การที่ครอบครัวจะ ออกกฏภายในครอบครัว ตี ขังลูกก็ย่อมได้ ถ้าลูกทำผิดกฏของครอบครัว โดยไม่สนกฎหมายแห่งรัฐ 
ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่ ไม่ควรมีบัญญัติแห่งความเชื่อใดเลยในโลก ที่จะอ้างบัญญัติของตนเองเพื่อละเมิดสิทธิของพลเมือง


ต้องขอบคุณท่านผู้นี้ที่เข้ามาโต้แย้งผมหลายวัน แต่บางทีผมก็งงๆ ว่า เขากำลังโต้ “ประเด็น” ผม หรือกำลังเสนอ “ประเด็นใหม่”  อย่างกรณีนี้ผมพูดถึง “วินัยสงฆ์” ซึ่งจากที่เถียงกันมาหลายวันก็เป็นที่เข้าใจกันว่าผมพูดถึงวินัยสงฆ์เถรวาท 227 ข้อ ที่เป็นพุทธบัญญัติมาแต่สมัยพุทธกาล
ผมไม่ได้บอกว่า “ศาสนามีสิทธิ์ออกบัญญัติอะไรก็ได้...” หรือกำลังเห็นชอบกับ “การอ้างบัญญัติใดๆ ทางศาสนาเพื่อละเมิดสิทธิพลเมือง” อะไรทำนองนั้น  

แต่ประเด็นของผมคือ ผมยืนยันทั้งหลักเสรีนิยมและหลักการของพุทธศาสนา และพยายามแยกแยะให้เห็นว่า เราไม่อาจอ้างแนวคิดเสรีนิยมเพื่อละเมิดเสรีภาพที่แต่ละศาสนาจะปฏิบัติตามหลักการของตนได้ ถ้าการปฏิบัตินั้นๆ ไม่ได้อ้างอิงอำนาจรัฐ (หรืออำนาจเถื่อนใดๆ) ไปจำกัดเสรีภาพคนอื่น
เช่น ผมยกตัวอย่างวินัยสงฆ์บัญญัติว่า "ภิกษุดื่มเหล้าต้องอาบัติปาจิตตีย์" เมื่อพบว่ามีพระ ก.ดื่มเหล้าแล้วชาวพุทธอ้างวินัยข้อนี้มาตรวจสอบ ใครจะไปอ้างเสรีนิยมว่าใช้วินัยสงฆ์เอาผิดไม่ได้เพราะการดื่มเหล้าเป็นเสรีภาพ ตราบใดที่พระดื่มเหล้าไม่ไปตีหัวคนอื่นก็ไม่ผิดเป็นต้น นักเสรีนิยมจะไปอ้างแบบนี้ไม่ได้" ซึ่งผมมีเหตุผลดังนี้ คือ
ประเด็นที่ 1 วินัยสงฆ์ตามตัวอย่างนี้ไม่ได้ขัดหลักเสรีภาพ หรือพูดให้ตรงที่สุดคือเป็นวินัยสงฆ์ที่พุทธศาสนาเถรวาทให้ “เสรีภาพ” เอาไว้แล้วกว่าสองพันห้าร้อยปีก่อนที่จะมีแนวคิดเสรีนิยมเกิดขึ้นในโลกนี้ เสรีภาพที่ว่านี้คือ ปัจเจกแต่ละคนรู้ล่วงหน้าว่ามีวินัยสงฆ์เถรวาทข้อนี้อยู่ก่อนแล้ว (หรือรู้ว่ามีวินัย 227 ข้อ) จึงสมัครใจมาบวช เมื่อบวชมาแล้วหากเขาเห็นว่าวินัยข้อนี้ (หรือทั้ง 227 ข้อ) ไม่เข้าท่า หรือเขาปฏิบัติไม่ได้ ไม่อยากปฏิบัติตาม พุทธศาสนาก็ให้เสรีภาพที่เขาจะสึกออกมา แต่ถ้าเขาเป็นพระอยู่เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างเสรีภาพว่าดื่มเหล้าไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (หรืออวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนไม่ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ) เปรียบเทียบง่ายๆ คือเมื่อเราสมัครใจเข้าทำงานในหน่วยงานหนึ่ง ต่อมาเราเห็นว่าเราไม่อยากปฏิบัติตามกฎของหน่วยงานนั้น เราก็ลาออกก็เท่านั้นเอง ไม่ใช่ไปอ้างเสรีภาพที่จะทำผิดกฎ ฉะนั้น หากการมีอยู่ของวินัยสงฆ์ 227 ข้อที่เปิดเสรีภาพให้ปัจเจกบุคคลเลือกได้ดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักเสรีนิยม การมีอยู่ของกฎกติกาขององค์กรต่างๆ ในทำนองเดียวกันก็ต้องละเมิดด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่ 2 สมาชิกขององค์กรหนึ่งๆ ย่อมมีเสรีภาพอ้างอิงกติกาขององค์กรตนเองในการวิจารณ์ ตรวจสอบกันและกันได้ ในกรณีนี้คือชาวพุทธเถรวาทมีเสรีภาพที่จะอ้างอิงวินัยสงฆ์ 227 ข้อ ตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ เอาผิดกับการกระทำของพระภิกษุรูปใดๆ ก็ได้ ตั้งแต่พระธรรมดาจนถึงพระสังฆราช
เช่น วินัยสงฆ์บัญญัติว่า “ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนต้องอาบัติปาราชิก ถ้ามีในตนต้องอาบัติปาจิตตีย์” ชาวพุทธไม่ว่าพระหรือฆราวาสสามารถอ้างอิงวินัยข้อนี้ในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ เรียกร้องหรือดำเนินการเอาผิด (ทางวินัยสงฆ์ ไม่ใช่ทางกฎหมาย) กับพระรูปใดๆ ก็ได้ที่กระทำ หรือมีพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการละเมิดวินัยข้อดังกล่าว
ดังที่ชาวบ้านล้อมจับพระที่นอนกับสีกาในกุฏิแล้วให้คณะสงฆ์ตัดสินให้สึกไป หรือจับพระเมาเหล้าให้สึกไปก็อ้างอิงวินัยข้อนั้นๆ ในการดำเนินการ เรื่องเช่นนี้ดำเนินการกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ไม่เกี่ยวกับว่าพุทธศาสนาจะอยู่ในสังคมเผด็จการหรือสังคมประชาธิปไตย หากต้องอ้างว่าเสรีภาพหรือประชาธิปไตยเป็นหลักการที่ใหญ่กว่าวินัยสงฆ์ การดำเนินการตามวินัยสงฆ์ (ที่ไม่ได้อ้างอิงกฎหมายใดๆ) ต้องรอให้หลักเสรีนิยมเกิดก่อนกระมังพุทธศาสนาจึงจะเกิดขึ้นในโลกได้ หรือว่าพุทธศาสนาต้องเข้ามาสังกัดเสรีนิยมสมัยใหม่ก่อนกระมังจึงจะเป็นศาสนาที่ดีได้ และมีความชอบธรรมที่จะปฏิบัติตาม “หลักการของตนเอง” ได้

อีกประเด็นคือ ถ้าเราอ้างหลักเสรีนิยมว่า “พุทธศาสนาต้องเป็นอิสระจากรัฐ” ก็หมายความว่า คณะสงฆ์ต้องไม่ปกครองกันเองด้วยหลักกฎหมาย หรือไม่ให้รัฐออกกฎหมายใดๆ ที่อาจเอื้อประโยชน์แก่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเนื่องจาก “รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา” และศาสนาใดๆ ก็ไม่อาจอ้างหลักศาสนาของตนมาบัญญัติกฎหมายบังคับให้คนในทุกศาสนาต้องปฏิบัติตาม (เช่นจะมีกฎหมายห้ามขายเหล้าวันพระไม่ได้เป็นต้น) แต่โดยหลักเสรีนิยมนั้น ต้องเคารพเสรีภาพที่แต่ละศาสนาจะปฏิบัติตามความเชื่อ หรือหลักการทางศาสนาของตน เช่นเมื่อไม่ให้คณะสงฆ์ปกครองกันด้วยกฎหมายของรัฐแล้ว ก็ต้องเคารพการที่คณะสงฆ์จะปกครองตนเองด้วยหลักวินัยสงฆ์ด้วย 
ฉะนั้น เมื่อมีการอ้างวินัยสงฆ์ (ไม่ใช่อ้างกฎหมาย) ในการตรวจสอบเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่มีนักเสรีนิยมที่ไหนในโลกหรอกครับที่จะไปอ้างหลักเสรีนิยมละเมิดเสรีภาพที่สังคมพุทธเขาจะใช้หลักการของเขาตรวจสอบกันเอง (ยกเว้นว่าจะมีการอ้างอิงอำนาจรัฐ หรือใช้อำนาจเถื่อนอื่นใดๆ ไปละเมิดเสรีภาพของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) 
หรือพูดให้เห็นภาพการแยกศาสนาเป็นอิสระจากรัฐก็คือ สังคมการเมืองทางโลกปกครองกันด้วยหลักกฎหมาย สังคมการเมืองของสงฆ์ก็ต้องปกครองกันด้วยหลักธรรมวินัย จะไม่มีการอ้างหลักกฎหมายและหลักธรรมวินัยไปก้าวก่ายกันในนามหรือผ่านกระบวนการใช้อำนาจรัฐ ด้วยเหตุนี้ เมื่อคุณยืนยันให้คณะสงฆ์เป็นอิสระจากรัฐ คุณย่อมต้องเคารพเสรีภาพที่คณะสงฆ์จะปกครองกันเองด้วยหลักธรรมวินัยด้วย คุณจึงไม่มีเหตุผลที่จะอ้างหลักเสรีนิยมไปแทรกแซงการตรวจสอบกันด้วยหลักพระธรรมวินัยภายในสังคมสงฆ์ 
เช่น คุณไม่มีสิทธ์ที่จะไปอ้างว่าวินัยสงฆ์ห้ามพระมีเมีย ห้ามกินข้าวเย็น ห้ามดื่มเหล้าฯลฯ ว่านั่นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยข้ออ้างที่ว่า “เสรีภาพใหญ่สุด” อะไรทำนองนั้น


อย่างไรก็ตาม กรณีธรรมกายนั้นมีความซับซ้อนมากอยู่ ในแง่การตีความคำสอนของพุทธศาสนา เช่น ตีความว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เรื่องนี้เป็นเสรีภาพในการตีความคำสอน แต่การแสดงออกว่ามี “ญาณวิเศษ” รู้ชีวิตหลังความตายของบุคคลต่างๆ นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อวินัยสงฆ์ที่เป็นพุทธบัญญัติไม่ใช่เป็นประเด็นเรื่องการตีความคำสอน การอ้าง “เจตนาดี” ว่าต้องการสอน “กฎแห่งกรรม” ก็ยังหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามได้ว่า ใครก็ตามที่อ้าง “สถานะพิเศษ” เหนือมนุษย์ของตนเอง เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าเขาอ้างด้วยเจตนาดีอันบริสุทธิ์เพื่อคนอื่นๆ เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ใดๆ ของตัวเขาเอง เหตุผลในการบัญญัติวินัยห้ามอวดอุตริของพุทธะนั้นก็เพื่อป้องกันการอ้างสถานะพิเศษเหนือมนุษย์เพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของตนเอง หรือพูดอีกอย่างคือแม้แต่คนที่ไม่ใช่พระจะพูดอะไรๆ ก็ต้องเคารพเพื่อนมนุษย์จึงควรมี “จริยธรรมขั้นต่ำสุด” ศีลข้อไม่มุสา หรือในมรรคมีองค์ 8 มีสัมมาวาจาให้พูดความจริง มีประโยชน์ (ความเท็จแม้ได้ประโยชน์ก็ไม่ควรพูด) เป็นต้น

หรือกรณีที่มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรรับผิดชอบไต่สวนตาม “กรอบวินัยสงฆ์” (ไม่ใช่กฎหมาย) ก็เพราะธรรมกายเป็นพระเถรวาท ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้ระบบการปกครองมหาเถรสมาคม เช่นเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาสได้รับ “สมณศักดิ์” การศึกษานักธรรม บาลีภายในวัดธรรมกายก็เป็นการศึกษาในหลักสูตรและภายใต้อำนาจกำกับดูแลของคณะสงฆ์เป็นต้น เมื่อธรรมกายใช้สิทธิ์รับส่วนที่เป็นประโยชน์ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธการตรวจสอบตามกรอบวินัยสงฆ์โดยองค์กรมหาเถรสมาคม

แต่กระนั้น ปัญหาของพุทธศาสนาในบ้านเราก็ยังสลับซับซ้อนมาก สามารถตั้งคำถามได้หลายทาง คำถามจากจุดยืนเสรีนิยมนั้น ว่าโดยหลักการแล้วพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ การทำให้คณะสงฆ์เป็นอิสระจากรัฐไม่ได้สอดคล้องเฉพาะหลักการเสรีนิยมเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับหลักการพุทธศาสนาแบบพุทธกาลอย่างมีนัยสำคัญด้วย  
นอกจากนี้พุทธศาสนายังยอมรับเสรีภาพที่จะเชื่อ จะสอน จะแยกนิกาย ไม่ถือว่าการแยกนิกายเป็นความผิดทางกฎหมาย แต่เมื่อเป็นนิกายเดียวกันก็ต้องปฏิบัติตามธรรมวินัยเดียวกันอย่างที่เรียกว่าต้องมีความเห็นร่วมกัน มีอุดมการณ์เดียวกัน เสมอภาคภายใต้หลักธรรมวินัยเดียวกัน ที่พูดเป็นศัพท์ทางพุทธว่ามี “ทิฐิสามัญญตา” และ “สีลสามัญญตา” อันเป็นหัวใจสำคัญในการปกครองตนเองด้วยธรรมวินัยซึ่งนักเสรีนิยมก็ต้องเคารพ (แม้ว่าข้อเท็จจริงอาจไม่ได้เป็นไปตามหลักการนี้ แต่ชาวพุทธเถรวาทก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องการปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักการนี้ เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงสังคมการเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนก็มีสิทธิเรียกร้องให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เป็นต้น) 
ขณะเดียวกัน หากพระสงฆ์หรือชาวพุทธกลุ่มใดเห็นว่า ตนไม่อาจปฏิบัติตามวินัยสงฆ์เถรวาทได้ ก็มีเสรีภาพจะแยกนิกายออกไป หรือแยกกลุ่มออกไปเหมือนสันติอโศก เป็นต้น หรือในญี่ปุ่นก็มีหลายนิกายบางนิกายพระมีเมียได้ ดื่มเหล้าได้ แต่ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองไม่บิณฑบาต บางนิกายพระมีเมียไม่ได้ แต่ต่างนิกายก็จะไม่ก้าวก่ายกัน นี่เป็นเสรีภาพที่พุทธศาสนาไม่ห้ามอยู่แล้ว ในอนาคตพุทธศาสนาในไทยอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมยอมรับหรือไม่


ผมขอทิ้งท้ายด้วยมุมมองที่สะท้อนความซับซ้อนของปัญหาอีกมุมหนึ่งให้ช่วยกันคิดต่อ ดังข้างล่างนี้

Vichak Panich ; ผมว่า dilemma ของธรรมกาย อยู่ตรงที่ ไม่รู้ว่าธรรมกาย ดำรงตนอยู่ในสถานะไหนในสังคมไทย เป็นพุทธ? ไม่เป็นพุทธ? เป็นเถรวาท? ไม่ใช่เถรวาท? เป็นลัทธินิกาย? หรือไม่ใช่? อยู่ภายใต้คณะสงฆ์? หรือไม่อยู่? การดำรงอยู่ของธรรมกาย เหมาะเหม็งกับภาวะความสับสนทางศรัทธา และความสับสนในโครงสร้างเศรษฐกิจ/การเมืองพอดิบพอดี ผลคือการลอยตัวอยู่ได้อย่างเมาๆ ไม่มีใครกล้าแตะ หรือไม่รู้จะใช้กระบวนการไหนในการแตะ

พุทธศาสนาไทยในโลกสมัยใหม่ สับสนอย่างรุนแรง เพราะไม่เคยเรียนรู้ที่จะสัมพันธ์กับสังคมที่กว้างและหลากหลายขนาดนี้ การปรับตัวของพระเถรวาทสมัยใหม่แทนที่จะเคร่งครัดในธรรมวินัยซึ่งแสดงออกถึงความเรียบง่ายเป็นรากฐานและเปิดกว้างทางความคิด กลับตรงกันข้าม คือ แปร่งในธรรมวินัย (พยายาม cool ว่างั้น) แต่ความคิดคับแคบอย่างกะล่อน เพื่อสัมพันธ์กับ "ตลาด" ที่กว้างขึ้นในนามการเผยแผ่ศาสนา จึงเป็นลักษณะขยายอาณาเขตของตัวตน มากกว่าขยายอาณาเขตของใจ

ผมมองว่า dilemma ของศาสนาในบ้านเราตอนนี้ จะไม่สามารถแก้ได้ด้วยศาสนาเอง แต่จะแก้ได้ ด้วยการผ่านการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และสังคมโลกวิสัยเต็มตัว พูดง่ายๆ คือ ต้องทำให้ความศักดิ์สิทธิ์พังทลายไปให้ได้ก่อน



.