http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-15

ดวงแก้วกลางพุง สตีฟ จ็อบส์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ดวงแก้วกลางพุง สตีฟ จ็อบส์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 28


กรณี สตีฟ จ็อบส์ กับวัดธรรมกายไม่น่าทำความแปลกใจให้คนที่ประกาศตนเป็นชาวพุทธไทยมากนัก เพราะเจ้าอาวาสวัดธรรมกายกระทำอย่างนี้เสมอมา เป็นการกระทำที่พระวินัยซึ่งคณะสงฆ์ไทยอ้างว่ายึดถือ นับเป็นอวดอุตตริมนุสสธรรม

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ด้วย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มหาเถรสมาคมควรลงทัณฑ์ (ตามสมควรแก่เหตุและพระวินัย) แก่เจ้าอาวาสรูปนี้เสียที เพราะปฏิบัติเช่นนี้เป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสิ่งที่เจ้าอาวาสพูดนั้น เป็นความเชื่อทางศาสนา จะผิดหรือถูกในความคิดทางศาสนาของคนอื่นอย่างไรก็ตาม ไม่ควรถูกลงโทษทัณฑ์ด้วยอำนาจรัฐ เพราะรัฐและศาสนาควรแยกออกจากกันให้เด็ดขาด
ผมเห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายอย่างละครึ่ง

ตราบเท่าที่เจ้าอาวาสวัดธรรมกายประกาศตนให้ผู้อื่นรู้เห็นทั่วไปว่า เป็นสมาชิกของคณะสงฆ์ไทยอันมีมหาเถรสมาคมเป็นผู้กำกับดูแล เจ้าอาวาสจะละเมิดพระวินัยที่คณะสงฆ์ไทยประกาศว่ายึดถือไม่ได้ มหาเถรสมาคมมีหน้าที่ต้องลงทัณฑ์หรือทำอื่นใดก็ตาม เพื่อรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ไทย
แต่ในขณะเดียวกัน มหาเถรสมาคมไม่ได้เป็นองค์กรที่คณะสงฆ์ไทยยินยอมพร้อมใจกันสถาปนาขึ้น หากเป็นองค์กรที่กฎหมายของรัฐสถาปนาขึ้น ตำแหน่งแหล่งที่ในมหาเถรก็มาจากการแต่งตั้งของรัฐ แม้แต่อำนาจที่ใช้ในการกำกับดูแลคณะสงฆ์ ก็เป็นอำนาจรัฐ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ดังนั้น หากให้มหาเถรเป็นผู้จัดการลงทัณฑ์เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการ 

(และก็อย่างที่รู้กันอยู่ว่า มหาเถรไม่ได้จัดการในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับวัดธรรมกาย เป็นการพิสูจน์ว่าถึงจะแยกอำนาจรัฐออกไปเสียจากมหาเถรก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย แต่มีโอกาสที่จะดีขึ้นด้วยซ้ำ)

แตกต่างจากรัฐฆราวาสแท้ๆ ทั้งหลายนะครับ เพราะคนที่จะจัดการการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย คือสังคม 
และนี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะพิจารณากันให้มากขึ้น นั่นก็คือมีปัจจัยในทางสังคมอะไรบ้าง ที่ทำให้แนวทางของวัดธรรมกายเป็นที่ถูกจริตของสังคมไทยปัจจุบัน


มีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร ส่วนหนึ่งเน้นความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของวัด อีกส่วนหนึ่งบรรยายกิจกรรมของวัดที่ทำให้ได้ลูกค้ามาก เช่นมีรถรับส่งไปจนถึงความโอ่อ่าของบริเวณวัด แต่ก็มักไม่ได้อธิบายว่า เหตุใดสังคมปัจจุบันจึงหลงใหลกับ "การตลาด" แบบนี้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมองด้านสังคมน้อย แต่มองวัดมาก 
ผมเชื่อว่า "การตลาด" อย่างเดียวอธิบายไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเก่งกาจด้านนี้อย่างไรก็ตาม หากไม่สอดคล้องกับปัจจัยทางสังคม ก็ย่อมขายสินค้าชิ้นนั้นไม่ได้อยู่ดี คนไม่ได้กินโค้กมากเพราะเห็นโฆษณาเต็มเมืองอย่างเดียว มีปัจจัยอะไรบางอย่างทางสังคมที่ช่วยเสริมให้คนเลือกกินโค้กแทนน้ำด้วย 
ผมพยายามคิดหาคำตอบ แต่ก็รู้ดีว่าคำตอบที่ได้มานั้นตื้นเขินเกินไป เพราะไม่ได้ลงไปศึกษาจริง แต่จะขอกล่าวถึงเพื่อให้เข้าใจโจทย์ของผมได้ดีขึ้นเท่านั้น


ประการแรก ผมคิดว่าเราไม่ควรปฏิเสธว่า การแสดงอภินิหารต่างๆ นั้นไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในพุทธศาสนาไทยมาตั้งแต่โบราณแล้ว จะเป็นอภินิหารในทางโลกหรือในทางธรรมก็ตาม พระภิกษุไทยมักแสดงให้ดู หรืออย่างน้อยก็อ้างว่าตัวมีความสามารถอยู่เสมอ 
ประวัติของพระอาจารย์มั่นที่เขียนกันในรุ่นแรกๆ นั้นเน้นอภินิหารมาก แต่เป็นอภินิหารในทางธรรม เช่น เสือหรือช้างป่าหลีกทางให้ท่านเดิน เพราะแรงเมตตาภาวนาของท่าน 
หลวงพ่อโบสถ์น้อยวัดอมรินทร์ (พระพุทธรูป) ท่านโบกหัตถ์ปัดลูกระเบิดสมัยสงครามได้ เป็นต้น 
จึงไม่น่าประหลาดอะไรที่เจ้าอาวาสวัดธรรมกายจะมีอภินิหาร เช่น นำผู้ศรัทธาไปเฝ้าพระนิพพานได้ เป็นต้น

ที่น่าสนใจกว่าก็คืออภินิหารเหล่านี้ตอบรับจริตของสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร 
แน่นอนว่า คนไทยปัจจุบันคงไม่ปรารถนาอภินิหารประเภทช้างป่าถอยให้เดินผ่านอีกแล้ว เพราะช้างป่าในปัจจุบันเป็นแค่ "วิว" ให้เราชมเท่านั้น ไม่มีเหตุที่เรากับช้างป่าจะมาเดินร่วมทางกันอีก
แต่ทำไมอภินิหารประเภทได้ตักบาตรพระนิพพาน หรือได้เห็นดวงแก้วเหนือสะดือจึงมีเสน่ห์แก่คนไทยจำนวนมากในปัจจุบัน


ประการต่อมา เรามักเชื่อกันว่า คนไทยโบราณมีศรัทธาต่อปรมัตถธรรมของพระพุทธศาสนา ข้อนี้อาจจะจริงในแวดวงปัญญาชนและคนชั้นสูง แต่ผมไม่แน่ใจว่าจริง แม้แต่วรรณกรรมที่อธิบายปรมัตถธรรม (อย่างงานของท่านพุทธทาส) ก็ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรนะครับ จริงอยู่ งานเช่นไตรภูมิพระร่วงอาจถูกตีความให้ซ่อนนัยะของปรมัตถธรรมได้ (ดังเช่นการตีความของพระพรหมมุนี) แต่คนเขียนตั้งใจจะให้มีนัยะเช่นนั้นหรือ? 
คนไทยโบราณส่วนใหญ่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาแบบไหนกันแน่ ได้บวชเรียน, สวดมนต์, ทำบุญ, กราบไหว้เจดีย์สถานสำคัญในท้องถิ่น, ร่วมงานบุญประเพณี ฯลฯ เพื่ออะไรกันแน่ ที่เห็นได้ชัดก็คือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองในชาตินี้แน่ แต่เพื่อเป้าหมายทางศาสนามากน้อยเพียงไร นี่สิครับที่ไม่แน่ แต่มักอธิบายกันว่าสองอย่างนี้แยกออกจากกันไม่ได้ แยกไม่ได้ในระดับสังคม แต่ในระดับปัจเจกบุคคลล่ะครับ แยกได้หรือไม่ 
เช่นเดียวกับเรื่องอภินิหาร ศรัทธาประเภทนี้ (อย่างน้อยก็ในมิติทางสังคม) ไร้ความหมายในปัจจุบันไปเสียแล้ว

ในศาสนาอื่นๆ หลายศาสนา เมื่อสังคมเปลี่ยนก็มีนักปราชญ์ตีความศรัทธาเสียใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในเมืองไทยนักปราชญ์รุ่น ร.4 - 5 ให้พุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ตะวันตก และสามารถใช้เป็นพื้นฐานของอารยธรรมแผนใหม่ได้ การตีความเหล่านั้นอาจมุ่งประโยชน์ทางการเมืองซึ่งหมดความจำเป็นในปัจจุบันไปแล้ว
ศาสนาทุกศาสนาดำรงอยู่ได้ ก็เพราะการตีความให้เข้ากับยุคสมัย (จึงจะเป็นอกาลิโกได้จริง) ในสังคมไทยปัจจุบัน ก็ใช่ว่าจะไร้นักปราชญ์ทำอย่างนั้น ซึ่งทำให้ศรัทธาต่อศาสนามีนัยะสำคัญต่อชีวิตของคนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษา แต่ก็มีสำนักอื่นๆ ที่มุ่งไปยังคนชั้นกลางระดับต่ำกว่านั้นด้วย เช่น สันติอโศกเป็นต้น เราจะมองธรรมกายทำนองเดียวกันได้หรือไม่
มีอะไรในชีวิตของคนชั้นกลางระดับล่าง ที่ตอบรับกับศรัทธาใหม่ที่ธรรมกายตีความ ทำให้ชีวิตของเขามีความหมายมากขึ้น เรื่องนี้จะศึกษาได้ไม่ใช่ไปทำงานภาคสนามในวัดอย่างเดียว แต่ต้องตามเหล่าอุบาสกอุบาสิกาของธรรมกายกลับบ้าน ไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเขาเมื่อรับคำสอนหรือศรัทธาใหม่ของธรรมกาย

คนในสังคมปัจจุบันมีสำนึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนน้อย แต่มีสำนึกความเป็นปัจเจกบุคคลของตนสูงกว่ามาก ฉะนั้น จึง "ต่างคนต่างอยู่" ในด้านหนึ่งก็ชอบ เพราะไม่อยากให้ใครแม้แต่ญาติผู้ใหญ่ เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตของตน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็รู้สึกโดดเดี่ยว หาความมั่นคงในชีวิตได้ยาก เพราะรู้ว่าเป็นตัวคนเดียว ถึงยามวิกฤตแล้วก็ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร
"การตลาด" (หากจะเรียกว่าการตลาด) ของวัดธรรมกายช่วยขจัดปัดเป่าความโดดเดี่ยวเช่นนี้ได้อย่างไร ผมได้อ่านงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงการสร้างชุมชนแบบใหม่ขึ้นในหมู่สมาชิกวัด มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีความรู้สึกเป็นปึกแผ่นร่วมกัน

เรื่องชุมชนนี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ผมสังเกตว่าศาสนาต่างๆ ในโลกสมัยใหม่ล้วนพยายามสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา ชาวคริสต์คนหนึ่งในสหรัฐเคยบอกผมว่า ที่เธอไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์นั้น ไม่ได้ตั้งใจไปฟังเทศน์เท่ากับได้ไปพบปะพูดคุยกับสมาชิกร่วมโบสถ์เดียวกัน แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลในละแวกบ้านของตัว รวมทั้งแลกเปลี่ยนสูตรอาหารกันด้วย 
ลัทธิมูนถึงกับจับคู่สาวกให้แต่งงานกันไปเลย ทั้งๆ ที่บางคู่ก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน นี่แหละครับคือความเป็นปึกแผ่น (solidarity) อย่างถึงกึ๋นเลย



เราจะก่นโจมตีด้านพระธรรมวินัยของวัดธรรมกายนั้นได้ โดยเฉพาะคนที่เชื่อว่า พระธรรมวินัยที่ถูกต้องจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้ด้านการจัดองค์กรของธรรมกายไว้ด้วย แม้ไม่ต้องการทำการตลาด แต่ต้องพิจารณาว่าจะปรับการจัดองค์กรนั้นอย่างไร จึงจะสามารถเกื้อกูลต่อมหาชนด้วยพระธรรมวินัยที่ตัวเชื่อว่าถูกต้องด้วย ทั้งนี้โดยไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตย (คือไม่ใช่ให้เจ้าอาวาสนะจ๊ะอยู่คนเดียว)
ผมแน่ใจว่า กรณี สตีฟ จ็อบส์ จะไม่ใช่กรณีสุดท้ายของธรรมกาย เดี๋ยวก็จะมีธรรมเทศนาแปลกๆ ออกมาอีก
และชาวพุทธในสายปัญญาชนก็จะออกมาประณามต่อต้านกันอีก โดยมหาเถรไม่ได้ทำอะไร นอกจากทำตาปริบๆ (เพราะอะไรก็รู้ๆ กันอยู่)


ฉะนั้น น่าจะถึงเวลาเสียที ที่คนไทยทั้งหมดจะหันมาพิจารณากันอีกทีว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราควรแยกศาสนาออกจากรัฐให้เด็ดขาดเสียที

เริ่มต้นด้วยการยุบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติลงเสียก่อนดีไหมครับ? 



.