http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-19

ON THE ROAD “ไร้จุดหมาย” โดย นพมาส แววหงส์

.

ON THE ROAD “ไร้จุดหมาย”
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 87 


กำกับการแสดง Walter Salles
นำแสดง Sam Riley
Garrett Hedlund 
Kristen Stewart 
Kirsten Dunst 
Viggo Mortensen 
Amy Adam 
Steve Buscemi



On the Road สร้างจากนวนิยายของ แจ็ก เครูแอก ซึ่งเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับคนในรุ่นอายุที่เรียกว่า Beat generation ในช่วงปลายศตวรรษ 1940 
สงครามโลกครั้งที่สองส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ในแวดวงปรัชญา ศิลปะและวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะที่มองโลกเปลี่ยนไปจากเดิม
ปรัชญาและวรรณกรรมอัตถภวนิยม (existentialism) ก็เป็นผลจากทัศนะที่มองไม่เห็นความต่อเนื่องเชื่อมโยงของโลกที่สมเหตุสมผล ทัศนะที่มองชีวิตว่าล่องลอยอยู่อย่างไร้จุดหมาย ส่งผลให้เกิดวรรณกรรมประเภทแอบเสิร์ด อย่างเช่น Waiting for Godot ของ แซมวล เบคเก็ตต์ เป็นต้น

Beat generation เป็นกลุ่มนักเขียนภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่แสวงหาตัวตนและใช้ชีวิตอยู่กับการทดลองเสพยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์นอกแบบแผนประเพณี ความสนใจในศาสนาของโลกตะวันออก การปฏิเสธวัตถุนิยม การหลงใหลในวิธีการแสดงออกอย่างโลดโผนและการใช้ชีวิตนอกกรอบประเพณี 
อัลเลน กินสเบิร์ก วิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ และ แจ็ก เครูแอก เป็นนักเขียนคนสำคัญสำหรับคนรุ่น "บีต" ซึ่งต่อมาจะได้ชื่อว่าพวกบีตนิก (beatniks) และกลายเป็นพวกฮิปปี้ในช่วงศตวรรษ 1750 และ 1960 ที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีแบบ Flower generation นอกกรอบสังคม

จากนวนิยายที่เขียนใน ค.ศ.1947 ที่ถือเป็นหนังสือที่ให้นิยามชัดเจนแก่วิถีชีวิตของคนรุ่นบีต หนังที่มีชื่อเดียวกับนิยายนี้ได้ผู้กำกับฯ ชื่อดังชาวบราซิเลียนที่ฝากฝีมือไว้จากหนังเรื่อง Central Station, The Motorcycle Diaries และเรื่องย่อยๆ ตอนหนึ่งใน Paris Je T"aime
และนอกจาก คริสเตน สจ็วต นางเอกยอดนิยมในชุด Twilight Saga ขวัญใจทั้งในและนอกจอของพระเอกหนุ่ม โรเบิร์ต แพตตินสัน (ซึ่งจากข่าวฉาวโฉ่เมื่อไม่นานมานี้ ไม่รู้จะยังคงสัมพันธ์รักกันไปได้ตลอดรอดฝั่งแค่ไหน) แล้ว ยังมีนักแสดงชั้นแนวหน้าหลายคน ที่โผล่หน้ามาร่วมเล่นกันคนละฉากสองฉาก อย่างเช่น เคอร์สเตน ดันสต์ วิกโก มอร์เทนเซน เอมี แอดัมส์ และ สตีฟ บูเชมี  
ดุจจะเป็นการประกาศให้รู้ว่านี่ไม่ใช่โปรเจ็กต์หนังนอกกระแสแบบกระจอกๆ นะ เพราะสามารถดึงเอานักแสดงชั้นนำมาร่วมเล่นได้มากมายหลายคนทีเดียว


หนังเป็นเรื่องของ ซัล พาราไดซ์ (แซม ไรลีย์) ที่พ่อเพิ่งตายไป และปรารถนาจะเป็นนักเขียน เขาตัดสินใจเดินทางท่องไปทั่วอเมริกาด้วยการโบกรถไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสวงหาประสบการณ์และตัวตนของเขาเอง 
เพื่อนฝูงของเขาล้วนล่องลอยอย่างไร้จุดหมายอยู่ในโลกที่ดูเหมือนจะไร้จุดหมาย ไม่ทำงานทำการ ไม่มีความรับผิดชอบ ใช้ชีวิตอิสระแบบไม่ยอมมีพันธะผูกพัน ท่องไปทั่วจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง ใช้ชีวิตอยู่กับการเสพยา ดนตรีแจ๊ซ และเซ็กซ์ที่เปลี่ยนรูปแบบไปกับการหารสชาติแปลกใหม่ 
เพื่อนคนที่มีอิทธิพลต่อซัลมากที่สุดคือ ดีน มอริอาตี (แกร์เร็ตต์ เฮ็ดลันด์) ซึ่งเป็นหนุ่มนักรักที่มีความสัมพันธ์กับสาวมากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกัน และยังพร้อมที่จะทดลองกับเซ็กซ์ทุกรูปแบบ เพื่อความแปลกใหม่ รวมทั้งเซ็กซ์หมู่ เซ็กซ์กับคนแปลกหน้า และคนเพศเดียวกัน

ดีนใช้ชีวิตอยู่กับแมรีลู (คริสเตน สจ็วต) ที่พร้อมจะตามเขาไปทุกหนทุกแห่ง ขณะที่ดีนก็พร้อมจะทิ้งแมรีลูไปหาคามีล (เคอร์สเตน ดันสต์) ผู้มีหลักแหล่งบ้านช่องให้เขาพึ่งพิงได้ทุกเมื่อ 
ดีน มอริอาตีกลายเป็นเพื่อนรักที่สุดของซัล และแม้ว่าดีนจะลงหลักปักฐานกับคามีลจนมีลูกมีเต้าด้วยกันแล้ว เขาก็ยังพร้อมจะหลบหนีจากชีวิตอันจำเจในครอบครัวออกเที่ยวสุดสวิงกับเพื่อนรักโดยไร้ความรับผิดชอบ 
ท้ายที่สุด เมื่อซัลชวนดีนลงใต้สู่ความแปลกใหม่ในประเทศเม็กซิโก ซัลก็ได้พบว่าดีนไม่พร้อมจะร่วมหัวจมท้ายกับใครเลย เพราะเมื่อซัลป่วยหนักด้วยโรคบิด ดีนก็พร้อมจะทิ้งเขาไว้ตามลำพัง 
นี่คือ ดีน มอริอาตี ที่เขาเห็น ซึ่งหนังลงจบด้วยประโยคเดียวกันถึงสองครั้ง เป็นการตอกย้ำความเป็นคนในแบบของกลุ่มพวกบีท เจนเนอเรชั่น ที่ปรารถนาความเป็นอิสระด้วยการใช้ชีวิตที่ล่องลอยอยู่โดยปราศจากความหมาย



หนังที่สะท้อนเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตที่ล่องลอยไร้จุดหมายนี้ ไม่ได้พาคนดูไปสู่อะไรนอกจากชีวิตที่ปราศจากแก่นสาร และพยายามแสวงหาความหมายจากโลกที่ดูจะไร้ความหมายนี้ 
การใช้ชีวิตของคนพวกนี้ไม่มีอะไรมากนอกไปจากการเสพสุรายาเมา ยาเสพติด เซ็กซ์ดนตรีแจ๊ซ การขับรถเร็วจนถูกตำรวจไล่ตามจับ การโบกรถไปกับคนแปลกหน้า และการลักเล็กขโมยน้อย เพื่อการประทังชีวิตไปวันๆ 
ด้วยข้ออ้างที่ว่านโยบายของประธานาธิบดีทรูแมนคือให้ผู้คนประหยัดการกินการใช้ ดังนั้น การประหยัดของพวกเขาก็คือการไม่ใช้เงินของตัว แต่อยู่ไปวันๆ ด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น

ในแง่ของฝีมือการกำกับและการแสดงนั้น เรียกได้ว่าแทบไม่มีที่ติ แต่ด้วยเนื้อหาของชีวิตที่ไร้แก่นสารนี้ ทำให้หนังออกจะน่าเบื่อเพราะวนเวียนซ้ำซากอยู่กับชีวิตที่ไร้จุดหมายเหล่านี้ 
ความน่าสนใจของหนังน่าจะอยู่ที่ความเป็น beat generation

จึงไม่ใช่หนังสำหรับคนดูทั่วไปนะคะ นอกจากผู้ที่ต้องการศึกษาและเข้าใจปรากฏการณ์ของคนรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้



.