http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-29

เขียนประวัติศาสตร์ โดย คำ ผกา

.

เขียนประวัติศาสตร์
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 89


"นายสมชาย หอมละออ กล่าวว่า รายงานความจริงนี้จะนำไปสู่ความปรองดอง เพราะสังคมมีความจริงกันคนละชุด ขึ้นอยู่กับชุดความจริงและมูลเหตุจูงใจของแต่ละคนแต่ละฝ่าย ดังนั้น รายงาน คอป. จะทำให้เกิดข้อเท็จจริงที่เข้าใจตรงกันไม่มากก็น้อย โดยการทำงานที่ผ่านมาเป็นการทำงานด้วยจิตอาสาและใช้ข้อเท็จจริงตามหลักวิทยาศาสตร์"
http://www.prachatai.com/journal/2012/09/42697


"ในรายงาน คอป. นอกจากการระบุอย่างเลื่อนลอยว่าพบคนชุดดำที่นี่บ้าง ที่นั่นบ้าง และบางที่ก็ระบุว่ามีการยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน ถ้ามีจริง ก็ควรยกเป็นกรณีตัวอย่างโดยละเอียดสักกรณีหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าคนชุดดำมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นใคร มีการจัดระดมพล และฝึกฝนกันอย่างไร งบสนับสนุนมาจากไหน ฯลฯ 
สรุปว่าการปฏิบัติงานของ คอป. คุ้มเงินของรัฐมาก เพราะช่วยสร้างทฤษฎีที่สนับสนุนการใช้กองกำลังเพื่อปราบปรามการชุมนุมของประชาชนได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องอาศัยการออก พ.ร.บ. เพื่อมาควบคุมหรือจำกัดสิทธิในการชุมนุมแต่อย่างใด และเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยพยานหลักฐานที่แย่มากๆ (flimsy) และข้อมูลส่วนใหญ่เป็นของรัฐ เรียกว่าถ้าเอาพยานหลักฐานที่ คอป. กล่าวอ้างไปใช้ในศาลที่เป็นอิสระ ผมสงสัยว่าศาลจะรับพิจารณาหรือไม่" 
รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.: "ใบอนุญาตให้ฆ่า" พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ 
http://prachatai.com/journal/2012/09/42698



ชื่อเต็มของ คอป. คือ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ" คุณสมชาย หอมละออ บอกว่า สังคมแตกแยกไม่ปรองดอง เพราะมี "ความจริง" หลายชุด-ฟังอย่างนี้มีเรื่องที่คนโง่ๆ อย่างฉันต้องเอามานอนคิดหลายคืน
เวลาเราพูดว่า "ความจริงมีหลายชุด" นี่ฟังดูดีนะ ฟังดูเป็นคนฉลาด อ่านหนังสือปรัชญา ฟังดูเป็นใจกว้าง รู้เท่าทันโลก 
นักเรียนที่เรียนประวัติศาสตร์จะซึ้งใจกับเรื่อง "ความจริงหลายชุด" นี้มากที่สุด เพราะวิชาแรกที่สำคัญมากที่นักเรียนประวัติศาสตร์ทุกคนต้องเรียนคือวิชา "ประวัติศาสตร์นิพนธ์" อันแปลไทยเป็นไทยได้ว่า วิชาว่าด้วยการ "แต่ง" เรื่องราวในอดีต

เราเรียนวิชาการ "แต่ง" เรื่องราวในอดีตเพราะเราตระหนักว่าในอดีตมีเหตุการณ์นับล้านๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ "ใคร" เลือกเหตุการณ์ไหนมา "ร้อยเรียง" กันจนเป็น "เรื่อง" เรื่องหนึ่ง กลายเป็น "ชุดเหตุการณ์" หนึ่งอย่างไร และชุดเหตุการณ์ไหน ได้รับการยกระดับให้เป็น "ประวัติศาสตร์" 
ดังนั้น นักเรียนประวัติศาสตร์จึงทำสองอย่างคือ ศึกษาวิธีเขียนประวัติศาสตร์ของผู้อื่นในอดีตเพื่อทำความเข้าใจสังคมที่เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ในแต่ละห้วงเวลา 
สอง นักเรียนประวัติศาสตร์ก็ "แต่ง" ชุดของอดีตของตนเองขึ้นมาในฐานะที่เป็นแบบฝึกหัดของการ "เขียน" อดีตด้วยในเวลาเดียวกัน


และในการเรียน "ประวัติศาสตร์เช่นนี้" ก็ทำให้เรารู้ว่า "ประวัติศาสตร์" จำนวนมากไม่ได้จำกัดอยู่แค่การ "แต่งอดีต" ด้วยวิธีการเลือกและเรียงข้อเท็จจริงในอดีตเพื่อสร้าง "ความจริง" ขึ้นมาหนึ่งชุด แต่เป็นการ "แต่ง" เรื่อง "เท็จ" มาผสมปนเปกับเรื่อง "จริง" หรือแม้กระทั่งเรื่อง "เท็จ" ล้วนๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย 
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคำอยู่สามคำที่น่าสนใจคือ "ข้อเท็จจริง", "ชุดความจริง" และการสถาปนา "ความจริง"



การเลือกเรียงร้อยข้อเท็จจริง และการเลือกเรียงลำดับเวลาของเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริง ก่อให้เกิด ชุดความจริงหนึ่งชุด ท่ามกลางชุดความจริงหลายๆ ชุด ชุดไหนจะได้รับการสถาปนาให้กลายเป็น "ความจริง" ของสังคมนั้นเป็นเรื่องของ "อำนาจ"

นี่คือจุดที่อาจก่อให้เกิด "ความขัดแย้ง" หากมีการปะทะกันของ "อำนาจ" ที่ต้องการให้ ชุดของจริงของฝ่ายตนได้รับการสถาปนาให้กลายเป็น "ความจริง" ของสังคม 
ในสังคมประชาธิปไตยที่ไม่กลัว "ความจริง" และมีหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจะไม่มีความหวาดกลัวต่อความขัดแย้งของการต่อสู้กันของความจริงหลายๆ ชุด ยิ่งขัดแย้งมากยิ่งดี ประชาชนยิ่งได้กำไรจากการได้เห็นชุดความจริงมากชุดที่สุดออกมาปะทะ โต้ตอบกันที่แจ้ง ใครมีหลักฐานมากกว่า ใครพบหลักฐานใหม่ หรือบางเรื่องการพิสูจน์ หรือสถาปนาความจริงก็มีอันสิ้นสุดไปชั่วคราวด้วยจำนนต่อหลักฐาน เพราะยังไม่มีหลักฐานใหม่มาหักล้าง เช่น เรื่องท้าวสุรนารีมีจริงหรือไม่?

ทีนี้ "อดีต" บางอย่างมันเกี่ยวพันกับความสูญเสียในปัจจุบันที่ยังพอจะสืบสาวราวเรื่องกลับไปได้ เช่น การบุกนานกิงของญี่ปุ่น เมื่อปรากฏหลักฐานว่าโหดร้าย และอาชญากรรมเช่นนั้นจริง ก็ต้องมีการขอโทษ สำนึกผิด ชดใช้ ชดเชย หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี ก็ต้องมีการขึ้นศาล ลงโทษ และยอมรับว่ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น "จริง" 
การจะได้ซึ่งความจริงที่ไม่ได้หมายถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์ แต่คือ "ความจริง" ของเหตุการณ์เพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรม และเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไปในภายภาคหน้าเพื่อเป็นประสบการณ์ของการรับมือกับความขัดแย้งอย่างเป็นอารยะ

ชุดทำงานแบบ คอป. จึงสำคัญมากต่อ "สันติภาพ" ของสังคม
(เลี่ยนคำว่าปรองดองที่เหลวแหลกเละเทะเลื่อนเปื้อน)


หน้าที่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงคือการสืบหาข้อเท็จจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รอบด้านที่สุดเท่าที่จะรอบด้านได้และเป็นภววิสัย (ไม่ใช่เป็นกลาง) นั่นคือไม่ต้องใส่ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะหรือการติดสินชั่วดีผิดถูก นั่นคือแสดงหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างที่เป็น-เท่านั้น
หน้าที่ของ คอป. ไม่ใช่เรื่องของการมาบอกว่า ความจริงมีหลายชุด แต่เดี๋ยวผมจะสร้างขึ้นมาให้อีกชุดหนึ่งและชุดนี้แหละเป็นชุด "สถาปนา" เป็นกลางที่สุด เป็นธรรมที่สุด
ถามว่าทำไมเป็นกลาง ทำไมเป็นธรรม คำตอบคือ ก็อ้าว พวกผมมาทำด้วยจิตอาสานี่คร้าบบบ (หกสิบกว่าล้านบาท) มาด้วยความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองนี่คร้าบ แถมยังมีความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยคร้าบ (นาทีนี้นึกถึงคำพูดของ ว.วชิรเมธี ที่บอกว่า อย่างมงายในวิทยาศาสตร์ ฮ่าๆๆ)


อันที่จริงเราตั้งคำถามกันตั้งแต่ที่มาของคณะกรรมการอิสระฯ ว่า กระบวนการสรรหากรรมการนั้นจะทำให้เกิดความไว้วางใจต่อคู่ความขัดแย้งทุกฝ่ายในสังคมได้หรือไม่?
คอป. พูดถึงหลักธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย และอื่นๆ แต่ไม่เคยกล่าวถึงกระบวนการสรรหาของคณะกรรมการของตนว่ามีความเป็นประชาธิปไตยตามหลักการที่อ้างถึงตลอดเวลาราวกับคำว่าอาเมน สาธุ ของผู้เคร่งศาสนาแต่ปาก 
แต่กระบวนการสรรหาคนมาเป็นกรรมการก็เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งแล้ว เพราะบางท่านเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากการรัฐประหาร 
อนุกรรมการบางท่านมีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่ความขัดแย้งชัดเจน แต่สังคมก็อดทน รอคอยให้พวกท่านทำงาน มิด่วนตัดสินว่า กระบวนการสรรหาคณะกรรมการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะนำมาสู่การเสนอรายงานที่มีความอัตวิสัยมากเกินไป 
เพราะประเดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกชายชุดดำ เอ๊ย ตัวจุดประกายความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม  
ท้ายที่สุด เมื่อเปิดรายงานของ คอป. ออกมา เราจึงพบรายงานฉบับหนึ่งที่ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นภววิสัย แต่ประกอบได้ด้วย "ชุดความจริง" ชุดหนึ่ง ก่อนจะตบท้ายด้วย "ข้อเสนอแนะ" ที่สวยหรู ดูดี มีหลักการ มีปัจฉิมโอวาทของผู้เจริญแล้ว เข้าถึงแล้วซึ่งอารยธรรมสั่งสอนแก่คนเถื่อนคนป่า พวกมีวัตถุ "เทียมอาวุธ" อยู่ในมือที่เป็นลูกน้องของพวกนักการเมืองขี้ฉ้อ สันดานโกง ไม่รักชาติ เห็นแก่ตัว ไม่เสียสละ


ในรายงาน คอป. มีส่วนที่ยืนยันถึงวิถีกระสุนในแนวราบอันมาจากฝั่งทหาร แต่กลับไม่ได้รับความสำคัญเพราะการนำเสนอมุ่งเน้นไปที่การปรากฏตัวของชายชุดดำ อันนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า รัฐจำเป็นต้องใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
ในขณะที่ คอป. เป็นห่วงการนำเสนอของสื่อที่ไม่ moderate คือ สื่อเลือกข้าง คอป. เองกลับเลือกนำเสนอ ขับเน้น ข้อมูลที่ไกลจากคำว่า moderate อย่างมาก อันทำให้สื่อแสน moderate ที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อสาธารณะ รักความเป็นธรรมอย่างพอเพียงได้เล่นข่าวตีภาพเรื่องชายชุดดำอย่างไม่พอเพียงไปได้หลายเพลา 
ไม่นับทัศนอคติของคณะกรรมการที่บ้างก็อ้างอย่างผิดๆ ว่า ปรีดี พนมยงค์ เลือกจะไม่กลับเมืองไทยเพราะเสียสละ-อันเป็นทั้งอคติและฉันทาคติที่ไร้เดียงสาอย่างยิ่ง 
ไม่นับข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่มีความพยายามจะกลับเมืองไทย เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนว่า ปรีดี มีความพยายามจะกลับแต่ไม่สำเร็จ

แต่นั้นยังไม่สำคัญเท่ากับ มุมมองของการอธิบายปัญหาความขัดแย้งของสังคมจาก "ตัวบุคล" 
มันมีด้วยหรือในโลกนี้ที่ปัญหาปัญหาหนึ่งจะเกิดจากบุคคลหนึ่งคน ไม่มีปัจจัยอื่นๆ ในเชิงโครงสร้างเข้ามาเกี่ยวข้อง? ทฤษฎีมหาบุรุษและโมฆบุรุษนั้นเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมไม่ได้ 
เช่น ฉันจะไม่มีวันบอกว่า คอป. ทำงานล้มเหลว เพราะ คณิต หรือ สมชาย ไม่เก่ง ไม่ยุติธรรม ฯลฯ แต่ อย่างน้อยที่สุดเราต้องอธิบายความความล้มเหลวของ คอป. อาจเกิดจากการกระบวนการสรรหาคณะกรรมการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขาดการมีส่วนร่วมของคู่ขัดแย้ง


ความจริงเพื่อความยุติธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของ "ชุดความจริง" แต่เป็นเรื่องของการแสดงข้อเท็จจริงในปริมาณที่มากที่สุด รอบด้านที่สุด โดยปราศจากการตีความและการตัดสิน-เพราะนั่นเป็นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

แต่รายงานของ คอป.ไม่ใช่การแสดงข้อเท็จจริง แต่เป็นการนำเสนอ "ชุดความจริง" ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตมันจะกลายเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่แปลว่า การ "แต่ง" อดีตด้วยการผสม "ข้อเท็จจริง" ร้อยเรียงเลือกสรรจนได้เรื่องเล่าขึ้นมาหนึ่งเรื่อง เราเรียกงานเขียนแบบนี้ว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์



.