http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-11

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(23) (24): การเมืองกรุยทางฯ, จุดเสื่อม“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (23) การเมืองกรุยทาง “นิวเคลียร์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 37 


จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทิศทางการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเติบโตควบขนานกับเศรษฐกิจนั้น มาจากวิกฤตการณ์ "น้ำมัน" เมื่อปี 2518 เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังรุ่งเรือง และรัฐบาลของ นายคาคูเอะ ทานากะ สนับสนุนนโยบายพลังงานนิวเคลียร์อย่างเต็มเหนี่ยว
นายทานากะเป็นนักการเมืองที่มาจากบ้านนอก อยู่ในภูเขาของจังหวัดนิอิกาตะ ฤดูหนาวหนาวจัด หิมะตกหนักมาก 
ครอบครัวทานากะประสบปัญหากิจการค้าล้มละลาย นายทานากะต้องออกจากโรงเรียนในชั้นประถมกลางคัน ไปเป็นลูกจ้างของบริษัทก่อสร้างแล้วพลิกผันตัวเองกลายเป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างใหญ่โตที่สุดระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมีเส้นสายแนบแน่นกับกองทัพญี่ปุ่น 
นายทานากะร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของแดนอาทิตย์อุทัย แต่หลงกลิ่นอายการเมือง จึงกระโดดมาชิงเก้าอี้ ส.ส. เมื่อปี 2490 ได้รับคะแนนนิยมอย่างมากและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือแอลดีพี ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง จนไต่เต้าเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

นายกฯ ทานากะ ปั้นฝันให้บ้านเกิดของตัวเองมีความเจริญเท่าเทียมกับโตเกียว 
นโยบายที่โด่งดังมากคือการปรับโฉมใหม่เกาะญี่ปุ่น 
ตามแผนมีโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมหัวเมืองต่างๆ กับเขตชนบทห่างไกลทั่วเกาะญี่ปุ่น 
เส้นทางคมนาคมนี้หมายรวมถึง ทางรถไฟความเร็วสูง ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ 
ทานากะมองว่า ที่ไหนมีถนนหนทาง มีรถไฟแล่นผ่าน ที่นั่นก็จะเจริญมั่งคั่ง เพราะโรงงาน ธุรกิจการค้าแห่ตาม


ในปี 2497 สภาไดเอตรับรองกฎหมายว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเพื่อนำไปเป็นเงินกองทุนก่อสร้างโครงข่ายถนน 
ภายใต้ระบบดังกล่าว รัฐบาลออกมาตรการบังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องตรวจสอบสภาพและมาตรฐานความปลอดภัยปีละ 2 ครั้ง 
เงินที่ได้จากมาตรการดังกล่าวนำเข้ามาใช้ก่อสร้างถนนหนทาง รถความเร็วสูงและโรงไฟฟ้าทั่วเกาะ 
นโยบายนี้ยังดึงแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เข้าไปพ่วงด้วย 
ทานากะออกกฎหมายอีกฉบับว่าด้วยภาษีเก็บจากอัตราค่ากระแสไฟฟ้าในเขตเมือง เขตอุตสาหกรรม นำไปช่วยเหลือสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่นั้นๆ 
"เราจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่นี่ ที่ซึ่งสร้างไม่ได้ในกรุงโตเกียว และเราจะส่งเงินจากโตเกียวมาให้" นายกฯ ทานากะ เคยประกาศไว้อย่างนั้น



ศาสตราจารย์เออิจิ โอกูมะ นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาเคโอ สรุปภาพการจัดการบริหารของ "ทานากะ" ในรูปแบบดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างของญี่ปุ่นโตอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ  
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นในพื้นที่ต่างๆ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ขณะเดียวกัน บริษัทที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าหยิบยื่นเงินเหล่านั้นนำไปช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของการศึกษา สนับสนุนโครงการผู้สูงอายุ การรักษาพยาบาล 
พื้นที่ใดใช้กระแสไฟฟ้ามากๆ เงินก็ยิ่งไหลเข้ากระเป๋ารัฐบาลท้องถิ่นและนำไปสนับสนุนประชาชนในพื้นที่มากเป็นลำดับ

โรงไฟฟ้าเองก็มีนโยบายสนับสนุนคนในพื้นที่ให้มีงานทำ ตั้งแต่เริ่มแรกของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 
นี่เป็นแผนอันแยบยลที่ช่วยสกัดประชาชนซึ่งเห็นแย้งกับโรงไฟฟ้า 
ม็อบในพื้นที่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจึงแทบไม่ปรากฏให้เห็น


รัฐบาลทานากะยังสนับสนุนอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ให้กระจายไปตั้งโรงงานในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่ อย่างเช่น โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตเครื่องไฟฟ้า ในขณะนั้นอยู่ในยุคบูมสุดๆ 
เขตโทโฮกุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ เป็นหนึ่งในแผนดังกล่าว รัฐบาลตั้งใจดึงคนในท้องถิ่นให้กระจุกอยู่ในพื้นที่ ไม่ต้องวิ่งเข้าเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ 
เขตโทโฮกุถือเป็นพื้นที่การเกษตร ป่าไม้และประมงที่มีความสำคัญมากตั้งแต่สมัยโชกุนครองอำนาจ แต่เมื่อเศรษฐกิจบูม คนหนุ่มสาวแห่เข้าไปหางานในเมืองใหญ่ๆ ทำให้ที่นั่นแรงงานหายไปมาก



สภาพเช่นนี้เหมือนกับเมืองไทยยุคปัจจุบัน นักการเมืองอย่างนายทานากะก็เป็นเหมือนนักการเมืองบ้านเรา ซึ่งเน้นดึงทรัพยากรจาก'ส่วนกลาง'เข้าไปเกื้อหนุนในเขตเลือกตั้งเพื่อเรียกคะแนนนิยม  
แถมระบบอุปถัมภ์เพื่อนพ้องน้องพี่ หรือการคอร์รัปชั่นก็เลียนแบบเหมือนกันเปี๊ยบ 
ปี 2519 "ทานากะ" เจอข้อหารับเงินสินบนจากบริษัทล็อกฮีดของสหรัฐ มูลค่า 500 ล้านเยน ศาลสั่งจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น แต่เมื่อถึงชั้นฎีกา อดีตนายกฯ แนวประชานิยมของญี่ปุ่นเสียชีวิตก่อนจะตัดสินคดี 
แต่กระนั้น ประชาชนที่อยู่ในบ้านเกิดของทานากะ ยังชื่นชมผลงานและเทเสียงให้ลูกสาวที่ลงเลือกตั้ง ส.ส. จนคว้าชัยชนะอย่างล้นหลาม



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (24) จุดเสื่อม “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 39


โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์คือสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองของสังคมอุตสาหกรรม แต่ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดอุบัติเหตุบ่อยซ้ำซาก จะตีความหมายได้ว่า ในสังคมนั้นๆ กำลังเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ได้หรือไม่? 
นี่เป็นคำถามที่ต้องตามพิสูจน์กัน 
ประเทศญี่ปุ่น มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ทั้งสิ้น 54 โรง แต่เปิดเดินเครื่องใช้งานจริง 50 โรง  
เมื่อโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิด ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ และคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งตะวันออกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เหลืออยู่ทั้งหมดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและรื้อระบบบำรุงรักษากันใหม่

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลนายโยชิฮิโกะ โนดะ สั่งเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์เตาที่สามของโรงไฟฟ้าโออิ ในจังหวัดฟูกุย เป็นแห่งแรก เพราะนายโนดะไม่สามารถต้านทานแรงบีบจากกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมได้อีกต่อไป 
กลุ่มนักธุรกิจอุตสาหกรรมอ้างความต้องการใช้พลังงานมีเพิ่มสูงมาก ถ้ารัฐบาลยังไม่เปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเกิดผลกระทบกับสังคมญี่ปุ่นมาก  
การผลิตสินค้าชะงักงัน ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะไฟฟ้าไม่พอใช้ 
ในช่วงเดือนกรกฎาคม ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนและมีวันหยุดยาว ความต้องการไฟฟ้าพุ่งสูง เนื่องจากบ้านเรือน อพาร์ตเมนต์ ห้างสรรพสินค้า ต้องเปิดแอร์คอนดิชั่นทำความเย็นเพิ่ม  
การเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโออิ เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก 
แต่นายโนดะเลือกยืนเคียงข้างกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม



ศาสตราจารย์เออิจิ โอกูมะ นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคโอ ฉายภาพของสังคมอุตสาหกรรมและพลังขับเคลื่อนของกลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นให้เห็นชัดระหว่างไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเล่ย์ สหรัฐอเมริกา  
"โอกูมะ" เรียกญี่ปุ่นในยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจว่า สังคมอุตสาหกรรมสไตล์ญี่ปุ่น เริ่มขึ้นระหว่างทศวรรษ 1970 หรือราว 40 ปีที่แล้ว เป็นผลพวงจากอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจที่พุ่งชนิดก้าวกระโดด ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา  
สังคมญี่ปุ่นที่เคยอยู่อย่างเรียบง่ายเป็นธรรมชาติ กลายเป็นสังคมที่แข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย 
โรงงานอุตสาหกรรมแข่งกันผลิตสินค้า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม  
น้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ ปรากฏให้เห็นในสังคมญี่ปุ่นมาค่อนครึ่งศตวรรษ 
แต่เวลานั้น ไม่มีใครให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ทุกคนหันไปมองตัวเลขส่งออก ผลกำไร การขยายฐานผลิต และจีดีพีที่พุ่งสูงลิ่ว

ตลอดช่วงเศรษฐกิจบูม ระหว่างปี 2503-2516 จีดีพีของญี่ปุ่นโตเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันระหว่างปี 2516 และ 2522 เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน แต่ญี่ปุ่นหดตัวเฉลี่ยเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 
แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ชาวโลกยกให้เป็นอันดับหนึ่ง 
อัตราการว่างงานของญี่ปุ่นในเวลานั้นต่ำมาก ผู้คนมีเงินทองอู้ฟู่เพราะรายได้ดี สินค้าที่ขายในประเทศขายดิบขายดี จนผู้บริโภคซื้อจนเต็มบ้าน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอำนวยความสะดวก จนไม่รู้จะซื้ออะไรอีก 

ตลาดในประเทศญี่ปุ่นหยุดโต บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมจึงหันไปเล็งตลาดส่งออก แต่เนื่องจากค่าแรงในประเทศแพง ประกอบกับสถานการณ์โลกเปลี่ยน สงครามเย็นระหว่างฝ่ายสหรัฐกับรัสเซียและจีนสิ้นสุดลง สถานการณ์อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นเปลี่ยนตามไปด้วย
โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่พากันย้ายออกนอกประเทศ ไปตั้งในเกาหลีใต้ จีน และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์รวมทั้งประเทศไทย
ส่วนโรงงานที่ยังอยู่ในญี่ปุ่น หันไปเน้นการผลิตในระบบอัตโนมัติ ใช้เทคโนโลยีระดับไฮเทคเข้าไปช่วยเพื่อลดต้นทุนแรงงาน


ศาสตราจารย์โอกูมะ บอกว่า ญี่ปุ่นถึงจุดเปลี่ยนเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น เศรษฐกิจเริ่มต้นเข้าสู่ยุคถดถอย 
อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเพราะการปรับเปลี่ยนระบบการผลิต โรงงานบางแห่งพลิกกลยุทธ์ใช้แรงงานหญิงที่ทำงานสบายๆ กับเครื่องอัตโนมัติ ที่ค่าแรงถูกกว่าแรงงานชาย 
ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นย้ายไปอยู่ในต่างประเทศ ทำให้อัตราการจ้างงานลดลงไปถึง 32 เปอร์เซ็นต์ 
เมื่อมาถึงปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง โลกป่วน เศรษฐกิจญี่ปุ่นสะดุดแทบหัวคะมำ เพราะการส่งออกไม่ดี ตลาดในประเทศฝืดเคือง
ผลที่ตามมาก็คือความต้องการใช้พลังงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนในอดีตระหว่างเศรษฐกิจดีๆ อีกต่อไป 
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โครงการขยายการก่อสร้างใหม่ๆ ต้องพับแผนตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง
อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่นที่เคยฉายแววรุ่งโรจน์ ก็กลับวูบแทบดับสนิท



อุบัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าโตไกมูระ หรือมอนจู ทำให้ประชาชนเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นกับมาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 
ชาวญี่ปุ่นรู้สึกว่า เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับคนในรัฐบาลญี่ปุ่น พยายามปกปิดข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าโตไกมูระ ซึ่งมียูเรเนียมรั่วออกมามากถึง 15,000 เท่าของระดับปกติ แต่ข้อมูลเหล่านี้ ถูกเก็บเป็นความลับกว่าจะเปิดออกมาใช้เวลาเกือบสี่เดือน 

เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ความไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นจุดที่ทำให้ทิศทางเติบโตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเสื่อมถอยลงอย่างมาก 
เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ระเบิด ผู้คนที่รวมตัวอยู่หน้ารัฐสภาของญี่ปุ่นเป็นจำนวนนับแสนคนในทุกครั้งที่มีการจัดชุมนุมประท้วงต่อต้านนิวเคลียร์ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ "โอกูมะ" นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคโอ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

หรือนี่เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมญี่ปุ่นอีกระดับหนึ่ง?



.