http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-15

บ๊ายบายกะลา โดย คำ ผกา

.

บ๊ายบายกะลา
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 89


น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวระหว่างการหารือต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายแจกแท็บเล็ต ป.1 ให้กับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลังจากมีการยืนยันจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ว่ามีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้ารั่ว ประกอบกับ พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง และนายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ให้ความเห็นไว้ว่าแท็บเล็ตไม่ได้เพิ่มเติมกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชน จึงต้องการให้รัฐบาลพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ
พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลออกมาชี้แจงให้ชัดว่าเมื่อแท็บเล็ตตามโครงการของรัฐบาลหมด อายุการใช้งานแล้วจะมีการดำเนินการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากเหล่านี้ อย่างไร รวมทั้งการป้องกันอันตรายเกี่ยวกับสารพิษที่จะมาออกมาจากแท็บเล็ตให้กับเด็ก นักเรียนด้วย เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มักจะมีสารพิษและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย 
นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จากการเดินทางไปดูงานที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางพบปัญหาการใช้แท็บเล็ตซึ่งยังไม่มีการแก้ไข อาทิ จ.ตาก ไม่มีคนนำแท็บแล็ตออกมาใช้ไว้เพราะกลัวว่าจะระเบิด หรือในกรณีเครื่องเสียยังไม่มีกระบวนการดูแลรับผิดชอบ อีกทั้งยังหาปลั๊กไฟสำหรับเสียบแท็บเล็ตไม่ได้โดยในห้องเรียนของบางโรงเรียน ต้องเดินสายไฟใหม่ จึงขอฝากไปยังรัฐบาลทบทวนการสั่งซื้อแท็บเล็ตที่ตั้งหลักไว้ 8 แสนเครื่อง ว่าไม่ควรจัดซื้อให้ครบทั้งหมดเพราะจะมีปัญหาตามมาอีกมาก 
http://m.posttoday.com/articlestory.php?id=176041



อ่านข่าวข้างบนนี้แล้วใหรู้สึกน่าเอ็นดู๊ น่าเอ็นดู จะเล่าให้ฟังเฉยๆ ไม่คัดลอกต้นฉบับมาให้ดูก็เกรงว่าจะนึกภาพไม่ออกว่ามันน่าเอ็นดูขนาดไหน เหตุผลที่กระทรวงศึกษาฯ พึงยกเลิกนโยบายเด็กหนึ่งคนแท็บเล็ตหนึ่งเครื่องมีตั้งแต่กระแสไฟฟ้ารั่ว, เกรงจะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์, คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันตราย, โรงเรียนไม่มีสายไฟ ฯลฯ
พิโธ่พิถัง กาละมังรั่ว เข้าใจนะว่าอยากมีผลงาน "คัดค้าน" การทำงานของรัฐบาล แต่จะค้านทั้งที ทำหน้าที่ ส.ว. ที่มีคุณภาพทั้งที มิควรสำแดงศักยภาพที่บอกยี่ห้อว่ามาจากประเทศที่ใช้ "กะลา" เป็นวัสดุหลักในการมุงหลังคาที่อยู่อาศัย

ลองใช้สมองอย่างระมัดระวัง ถ้าเรากลัวเรื่องกระแสไฟฟ้ารั่ว ประเทศกะลา เอ๊ยประเทศไทย คงต้องไม่ยอมเปิดรับการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดตั้งแต่แรก
ถ้าเราห่วงเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ เราต้องออกกฎหมายห้ามประชากรทุกเพศทุกวัยใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสิ้นเชิง
หรือ ส.ว. เหล่านี้จะโมดิฟายใช้หลักเกณฑ์ของระบบศักดินามากำหนดการถือครองอิเล็กทรอนิกส์แทนการถือครองที่นา เช่น "ข้าราชการชั้นเจ้าพระยามีสิทธิ์ถือครองคอมพิวเตอร์ แล็บท็อป หรือแท็บเล็ตได้ไม่อั้น ข้าราชการชั้น หลวง หรือ ขุน ถือครองได้ไม่เกินคนละ 3 เครื่อง ไพร่และทาส พึงถือครองกระดานชนวน ทั้งนี้ เพื่อมิให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมากเกินไป อีกทั้งป้องกันคนโง่มิให้ถือครองอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับสติปัญญาของตนประหนึ่งคำโบราณกล่าวว่า ไก่ได้พลอย ลิงได้แก้ว"

ส่วนเหตุผลเรื่องโรงเรียนไม่มีปลั๊กไฟ เป็นภาระให้โรงเรียนต้องเดินสายไฟใหม่-อพิโถ-การเดินสายไฟใหม่นี่เป็นเรื่องอลังการดาวล้านดวง ยากมากเลยใช่ไหมนี่???? เดินสายไฟนะ ไม่ใช่ไปดาวอังคาร หรือหากจะใช้ตรรกะนี้ สมมุติว่าเราจะหุงข้าวแล้วไม่มีฟืน ทางออกของเราคือ "เราควรเลิกกินข้าวเพราะการหุงข้าวต้องใช้ฟืน ต่อไปนี้มนุษย์พึงกินมะละกอแทนข้าวเพราะสุกโดยไม่ต้องหุงต้ม"
ถ้าคิดได้แค่นี้ โลกมนุษย์คงกินและอยู่เหมือนในยุคหินแน่ๆ


ทีนี้ถ้าจะบอกว่า แท็บเล็ต ไม่ช่วยเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ได้โปรด มีงานศึกษาวิจัยมารองรับ มิเช่นนั้นจะได้ชื่อว่าพูดจาเลื่อนลอย ภาษาไพร่ว่า พูดพล่อยๆ ก่อนจะพูด ก่อนจะขัดขวางโครงการ ไปตั้งทีมวิจัย ค้นคว้า หาข้อมูล ตัวเลขมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า การที่เด็กได้ครอบครองแท็บเล็ตนั้นมันทำให้เด็กเสียผู้เสียคนไปอย่างไร โง่ลงกี่เท่า มือไม้เป็นง่อยไปเพราะไม่ได้ใช้ดินสอปากกา 
หรือที่นักการศึกษาบางคนออกมาโอดครวญถึงความละเมียดละไมละเอียดอ่อนของการคัดลายมือ การประจงตวัดลายเส้นลายสือ ฉันก็อยากจะบอกว่า คนพูดก็เลิกพิมพ์ เลิกใช้คอมพิวเตอร์ไป ประจงตวัด คัดลายมือ ของตนไปเถอะ จะให้ลูกหลานของตนกลับไปใช้กระดานชนวนรับรองกระทรวงไอซีทีไม่เอาตำรวจไปจับ-มันเป็นรสนิยมของคุณ 
คุณอยากทำก็ไม่มีใครว่า 
แต่ถ้าคนอื่นเขาไม่อยากละเมียดแต่อยากฉลาด รวดเร็ว อยากให้ลูกเล่นเกมฝึกทักษะคณิตศาสตร์ วาดรูป ก็เป็นสิทธิของเขา
เข้าใจไหม?



ว่าแล้วเรามาทำความรู้จักโครงการ OLPC หรือ One laptop Per Child กันดีกว่า ว่ามันไม่ใช่โครงการที่เพิ่งจะมีขึ้นที่กะลาแลนด์แดนอัศจรรย์ มิใช่จุติทิพย์ของพรรคเพื่อไทยที่วันๆ คิดแต่หาความนิยมใส่ตัว (คำถามคือ มันผิดตรงไหนที่พรรคการเมืองจะหาความนิยมใส่ตัว ไม่งั้นจะตั้งพรรคการเมืองมาทำไส้อั่วอะไรเล่า)

OLPC เป็นมูลนิธิที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กร เช่น e bay, google ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา ก่อตั้งขึ้นมาโดย Nicholas Negroponte โปรเฟสเซอร์จาก MIT เป็นผู้ก่อตั้ง Media Lab ที่ MIT เป็นผู้มีคุณูปการต่อโลกของการสื่อสารและทำให้ Electronics Newspaper เป็นที่รู้จักครั้งแรกในโลก
โครงการ OLPC ของ Nicholas Negroponte นั้นเริ่มจากการที่เขาเชื่อว่า ธรรมชาติของเด็กนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะเรียนรู้ (Children are engineered to learn) เขาตั้งเป้าไว้ว่าจะประดิษฐ์แล็บท็อปที่ราคาไม่เกิน 100 เหรียญดอลลาร์ โดยแล็บท็อปนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นอุปกรณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก มีโปรแกรมที่เรียกว่า Entertaing Intercation ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แล็บท็อปนี้ช่วยให้เด็กได้เรียนหนังสือได้โดยไม่จำเป็นต้องมีครู!!! 

ประชากรกะลาแลนด์อย่าเพิ่งกรี๊ด เรื่องการเรียนหนังสือโดยไม่ครูว่า "อร้ายยยย รับไม่ได้ เด็กไม่มีครูเหมือนเรือไม่มีหางเสือ สักแต่รู้หนังสือจะไม่มีคุณธรรม ไม่มีสำนึกในบุญคุณของใคร จิตใจหยาบช้าป่าเถื่อน"
เปล่า-โครงการนี้ไม่ได้มีขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า คนเราไม่จำเป็นต้องมีครู (อันที่จริงควรจะเปลี่ยนคำว่า ครู เป็นนักการศึกษา หรือ educater จะเปิดจินตนาการล้างภาพความเป็นครูแบบโบราณสั่งสอนแค่ศีลธรรม คุณธรรม ทวงบุญคุณลูกศิษย์ทุกวันแบบครูโบราณออกไป ทั้งชวนให้ตระหนักว่าการเป็นครูก็ต้องไม่หยุด educate ตนเองเช่นกัน)
แต่โครงการนี้มีขึ้นด้วยตระหนักว่า ในอีกหลายแห่งหลายประเทศในโลกนี้ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ครู" เข้าไปถึง เช่น ในหลายๆ ชุมชนในเอธิโอเปีย หรือมีครูไม่เพียงพอ หรือมีครูแต่ไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างพอเพียง

โครงการ OLPC อย่างน้อยๆ จะทำให้เด็กๆ สามารถเรียนการ "อ่านหนังสือ" ออกได้ด้วยตนเอง!!! 
ถามว่าแล้วหมู่บ้านเล็กๆ ในเอธิโอเปีย จะเดินสายไฟอย่างไร??? (คำถามของ ส.ว. ด้วย) คำถามนี้ Nicholas Negroponte คงไม่ต้องตอบเอง แต่ฉันตอบแทนให้ว่าก็ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไง ไม่มีสัญญาณ Wifi ระบบ sneakernet แบบบ้านๆ ก็เพียงพอที่จะสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้

โครงนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นครั้งแรกในปี 2006 ใน World Economics Forum ที่ Davos สวิตเซอร์แลนด์ UNDP หรือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติว่าจะทำงานร่วมกับ OLPC เพื่อส่งผ่านเทคโนโลยีการศึกษานี้ไปยังเด็กๆ ที่ขาดโอกาสการศึกษาทั่วโลกเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของพลเมืองโลก 
ทีนี้คงพอจะเข้าใจว่าทำไม ยูเนสโกถึงปลื้มปริ่มกับโครงการ One Tablet Per Child ของรัฐบาลไทยชุดนี้นักหนา


โครงการนี้ดำเนินการไปหลายสิบประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในแอฟริกา ประเทศแถบแคริบเบียน อินเดีย เนปาล ในหมู่บ้านที่ไกลที่สุด ล้าหลังที่สุด จะไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการ "ก้าวทันโลก" อีกต่อไป 
โครงการนี้ไม่ได้ทำขึ้นมาขายฝัน เลื่อนลอย กล่าวคำพล่อยๆ แต่ได้มีการศึกษาวิจัยทางมนุษยวิทยาควบคู่กันไปด้วย เพื่อปรับปรุงโปรแกรมการเรียนรู้ที่อยู่ในแล็บท็อป และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ application ต่างๆ ที่ออกแบบมาให้เด็กใช้

การทดลองที่เอธิโอเปีย พบว่า เมื่อนำแล็บท็อปไปให้เด็ก พวกเขาสามารรถเปิดใช้ ทดลองใช้งาน application ต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะ application เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้บนฐานของการทำความเข้าใจสัญชาตญาณการโต้ตอบของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องมีคู่มือการใช้งาน แค่เดินตามสัญชาตญาณของตนเอง สัญชาตญาณนั้นก็พาเราไปกดปุ่มนั้น คลิกปุ่มนี้เพื่อการเริ่มต้นได้เอง 
ผลการทดลองยังบอกอีกว่าภายใน 2 วัน เด็กๆ เริ่มท่องพยัญชนะแข่งกันกับเพื่อนๆ และ มี application ถูกเปิดใช้ถึง 57 applications ต่อ 1 วัน
โครงการนี้ได้กระจายแล็บท็อปสำหรับเด็กไปแล้วทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 1.84 ล้านเครื่อง


ถ้าหากเป็นห่วงเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทางแก้มิใช่สกัดไม่ให้โครงการนี้เกิด ประเทศที่รักในการพัฒนาสติปัญญาของตนและผู้อื่น อย่างสแกนดิเนเวีย เสนอโครงการรีไซเคิล คอมพิวเตอร์ ซึ่งก็มีคนทำแล้วเยอะแยะไปหมด เช่น ถอดเอาอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องที่เลิกใช้แล้ว หรือเสียแล้วมารวมกันจากนั้น นำอุปกรณ์มือสองเหล่านี้มาประกอบเป็นแล็บท็อปราคาประหยัดสำหรับเด็กใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์สริมทักษะการเรียนการสอน เป็นต้น
สิ่งที่สังคมต้องการ และสิ่งที่โครงการนี้ต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์คือ "เนื้อหา" และคุณภาพของ application ที่อยู่ใน tablet ต่างหากว่ามัน "เจ๋ง" พอที่จะช่วยในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างเต็มศักยภาพหรือไม่

มี applcation ล้างสมองเด็กมากเกินความจำเป็นหรือเปล่า? 
รัฐจะส่งเสริมทีมนักวิจัยเพื่อการสร้างโปรแกรมสำหรับการศึกษาที่ให้คนไทยได้ออกจากกะลาโดยเร็วได้อย่างไร? 

อย่าไปห่วงการอนาจารที่มากับหนังโป๊ให้มากนัก เพราะการล้างสมองหรือการยัดเยียดความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบผิดๆ นั้นก็ถือเป็น pornography หรือภาพอนาจารอย่างหนึ่งเช่นกัน  


อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่ออย่างที่ Nicholas Negropnte พูด เขาบอกว่า
" If a child can learn to read, he or she can read to learn"
"ถ้าเด็กสามารถเรียนเพื่อจะอ่าน พวกเขาและพวกเธอก็สามารถอ่านเพื่อจะเรียน"

เสียดายที่บางสังคมเต็มไปด้วยคนอ่านได้แต่เรียนไม่เป็น



.