.
380 ปี...เปลี่ยนวิธี ชิงอำนาจ กำลังทหารไม่ชี้ขาดอีกต่อไป (1)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 20
เกือบครบรอบ 6 ปี ของการทำรัฐประหาร กันยายน 2549 จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนถามด้วยความหวั่นเกรงว่า ในเดือนหน้า หรือปีหน้าจะมีคนโง่ๆ ทำแบบนั้นอีกหรือไม่?
คำตอบคือ ขณะนี้ยังมีคนโง่ๆ ที่คิดแบบนั้นอยู่บางกลุ่ม แต่สภาพแวดล้อมทางสังคมไม่เปิดโอกาสให้ทำ เหมือนในอดีต
เรื่องนี้ต้องศึกษาอดีต วิเคราะห์ปัจจุบัน จึงจะคาดการณ์อนาคตได้
การใช้กำลังชิงอำนาจหรือรัฐประหาร
เป็นเรื่องปกติในระบบการเมืองยุคเก่า
สัตว์สังคมเช่นมนุษย์ พัฒนาอำนาจการปกครองได้ซับซ้อนกว่าสัตว์สังคมชนิดอื่น
การชิงกันเป็นชนชั้นนำ เกิดขึ้นมาแต่สมัยโบราณ ใช้กำลังเพื่อเอาชนะกันเป็นหลัก
หลายพันปีผ่านไป แม้มีการพัฒนาการเพื่อเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติ ด้วยระบอบประชาธิปไตยหรืออื่นๆ แต่ก็สามารถทำได้เพียงบางสังคม
สำหรับประเทศไทย เราหวังว่าอาจพัฒนาเปลี่ยนจากการชิงอำนาจด้วยการใช้กำลังไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบใช้ความเห็นคนส่วนใหญ่ตัดสิน
แต่ก็เป็นเพียงแค่ความหวัง เพราะอำนาจเป็นสิ่งเย้ายวนใจ ให้ผู้คนช่วงชิงและเข่นฆ่ากันไม่มีข้อยกเว้นแม้จะเป็นญาติมิตรหรือพี่น้องท้องเดียวกัน
ลองศึกษาจากประวัติศาสตร์ของเราในช่วง 130 ปี หลังของกรุงศรีอยุธยาดูก็ได้
ราชวงศ์ปราสาททอง...
เริ่มโดยรัฐประหาร
สืบทอดและจบด้วยการถูกรัฐประหาร
พ.ศ.2173 พระยาศรีสุริยวงศ์ (ออกญากลาโหม) รัฐประหารโค่นราชวงศ์สุโขทัยสำเร็จ (โค่นอย่างไรจะวิเคราะห์ทีหลัง) จึงสถาปนาราชวงศ์ปราสาททองขึ้น เป็นสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 5 หรือพระเจ้าปราสาททอง พระองค์ทรงกำจัดออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) ที่ร่วมกันทำรัฐประหาร สั่งประหารชีวิตออกญาพิษณุโลกซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือพระองค์ และสามารถครองราชย์ ได้นาน 25 ปี
พ.ศ.2198 สมเด็จเจ้าฟ้าชัยหรือสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 6 ราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ขึ้นครองราชย์ต่อ ได้ 9 เดือน ก็ถูกพระเจ้าอาคือพระศรีสุธรรมราชากับพระอนุชาต่างมารดาคือ พระนารายณ์ สมคบกันแย่งชิงราชสมบัติ จับเจ้าฟ้าชัยประหารชีวิต
พ.ศ.2199 สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ขึ้นครองราชย์ อยู่ในราชสมบัติไม่ถึง 3 เดือน ถูกพระนารายณ์ รัฐประหารและปลงพระชนม์ ปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ครองราชย์นานถึง 32 ปี แต่ตอนปลายรัชสมัยปรากฏว่าบรรดาข้าราชการในราชสำนักเกิดแตกแยกกัน มีฝ่ายของออกญาวิชาเยนทร์ ซึ่งมีทหารฝรั่งเศสเป็นกำลังสำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งมีพระเพทราชา เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นพระสหายของสมเด็จพระนารายณ์ตั้งแต่พระเยาว์วัย
พ.ศ.2231 ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนักอยู่ที่ลพบุรี พระเพทราชาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ 2 เดือนก่อนสมเด็จพระนารายณ์ เสด็จสวรรคต พระเพทราชาได้ยึดอำนาจโดยจับเจ้าฟ้าอภัยทศ องค์รัชทายาทปลงพระชนม์พร้อมด้วยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สมุหนายก ก็ถูกประหารชีวิตด้วย
จึงเป็นอันสิ้นสุดของราชวงศ์ปราสาททองที่อยู่ได้ 60 ปี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ชิงอำนาจกันตั้งแต่เปิดฉากจนลิเกเลิก
พระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ และสถาปนาราชวงศ์บ้านพลูหลวง (เกิดที่บ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณ) มีพระชนมายุได้ 56 พรรษาเมื่อขึ้นครองราชย์ จากนั้น ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2246 พระชนมายุได้ 71 พรรษา ครองราชย์ได้ 15 ปี
พ.ศ.2246 ขณะที่พระเพทราชาทรงประชวรหนัก หลวงสรศักดิ์ซึ่งได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ก็ได้ทำการยึดอำนาจ จับเจ้าฟ้าขวัญ ราชโอรสของพระเพทราชาประหารชีวิต ขณะมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา และปราบดาภิเษกเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ ครองราชย์ 5 ปี
ปี พ.ศ.2251 พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าเสือ ขึ้นครองราชย์ใน ภายหลังการสวรรคตของพระราชบิดา มีพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 โดยมีเจ้าฟ้าพร พระอนุชาเป็นวังหน้า
เมื่อเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เสด็จสวรรคต พ.ศ.2275 ครองราชย์ได้ 24 ปีปลายรัชสมัย มีการแย่งชิงราชสมบัติอย่างรุนแรง ระหว่างพระราชโอรส 2 พระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กับ เจ้าฟ้าพร ซึ่งชนะในที่สุดจึงได้ประหารชีวิตเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ และขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครองราชย์นานถึง 26 ปี
พ.ศ.2300 หนึ่งปีก่อนหน้าการเสด็จสวรรคต พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าฟ้าอุทุมพรให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท แต่หลังจากเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้สองเดือน ก็ยอมสละราชสมบัติและเสด็จออกผนวช (ขุนหลวงหาวัด) เพื่อไม่ให้มีปัญหากับเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีผู้พี่ซึ่งอยากขึ้นครองราชย์ และก็ได้เป็นพระเจ้าเอกทัศน์ในปี พ.ศ.2301 กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ที่ครองราชย์ได้ 9 ปี และสิ้นสุดราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่อยู่ได้ 80 ปี สิ้นสุดกรุงศรีอยุธยาที่เป็นศูนย์อำนาจมาถึง 417 ปีใน พ.ศ.2310
จากประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา จะพบว่าองค์กษัตริย์ที่เป็นประมุข กุมทั้งอำนาจการเมือง การทหาร เศรษฐกิจของชาติ เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง เรื่องใดก็ตาม จำเป็นต้องกระทบต่อองค์กษัตริย์ทุกครั้ง
การดำรงฐานะของผู้กุมอำนาจรัฐที่จะอยู่ได้นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทั้งทางการเมืองและทางการทหาร เพราะช่วงเวลาในอดีตยุคนั้น สังคมของเรายังไม่มีใครรู้จักระบอบประชาธิปไตย การชิงอำนาจด้วยกำลังอาวุธจึงเป็นเรื่องปกติ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
การรัฐประหารยังเกิดขึ้นอีก
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อำนาจการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจจึงตกมาอยู่กับนักการเมืองทหารและข้าราชการอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ จากนั้นเป้าหมายการชิงอำนาจจึงเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้
แม้กระแสสังคมจะยึดถือว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี แต่ความเคยชินของผู้ถืออาวุธที่อยู่ใกล้กับอำนาจมาตลอดก็ยังทำให้เกิดการรัฐประหารอยู่บ่อยๆ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ลงมาเล่นในเกมแห่งอำนาจนี้ การใช้กำลังทหารทำรัฐประหารชิงอำนาจจึงเกิดขึ้นหลายครั้งหลัง 2475
แต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2549 ดูแล้วเป็นความตั้งใจ เป็นการดิ้นรนของกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องการรักษาอำนาจและอภิสิทธิ์ที่เคยมีอยู่เหนือคนอื่น ให้ดำรงไว้ต่อไป
แต่นั่นกลับเป็นการกระตุ้นให้คนชั้นล่างตื่นตัวอย่างมาก การรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ดูเผินๆ แล้วเหมือนเป็นการกำจัดคนคนหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับประชาชนที่ลงคะแนนเสียงนับสิบล้านคน พวกเขารู้สึกว่านี่คือการทำลายสิทธิ ทางเลือก และความคิดเห็นของพวกเขา
และลุกขึ้นต่อต้าน
พ.ศ.2551 ตุลาการภิวัฒน์...
นวัตกรรมในการยึดอำนาจแบบใหม่
เพราะกลุ่มอำนาจเก่าไม่สามารถหน้าทนที่จะรัฐประหาร 2 ครั้งซ้อนได้ ไม่มีคนชาติไหนยอมรับ เพราะรัฐประหารครั้งแรก 2549 บอกว่า ทักษิณและพวกเป็นคนเลว ไล่ทักษิณออกไป ให้เลือกตั้งใหม่คนก็ยังเลือกพวกทักษิณเข้ามาอีก
กลุ่มนี้จึงใช้วิธีบูรณาการ สารพัดอำนาจที่มีอยู่ มารัฐประหารกลุ่มทักษิณที่เหลืออยู่และยึดอำนาจแบบไม่ใช้ปืน แต่ใช้กฎหมายและอำนาจในกระบวนการยุติธรรมนำหน้า
นั่นคือ ตุลาการภิวัฒน์ในปี 2551
เป็นการยึดอำนาจที่ซับซ้อน เทียบได้กับการรัฐประหารแบบใช้อาวุธของพระเจ้าปราสาททอง ที่โค่นราชวงศ์สุโขทัยแห่งกรุงศรีอยุธยา 3 ดาบซ้อน
ทีมวิเคราะห์มองว่า ตุลาการภิวัฒน์ เป็นการรัฐประหารรูปแบบใหม่ที่มิได้ใช้อาวุธหรือทหารเป็นหลักมีความแตกต่างกับการรัฐประหารทั่วไป แต่มีความซับซ้อนที่เทียบได้หรือมากกว่าการรัฐประหารเลือด โค่นล้มราชวงศ์สุโขทัย
ลองวิเคราะห์เปรียบเทียบดู
ราชวงศ์สุโขทัยสิ้นสุดลงโดยรัฐประหารเลือดที่ซับซ้อน
พ.ศ.2171 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นโอรสของพระเอกาทศรถ ประชวรหนักพระยาศรีสุริยวงศ์ (ซึ่งไม่มีทางได้เป็นกษัตริย์) กับออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ) เลือกสนับสนุนพระเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าทรงธรรม พระชนมพรรษา 14 ให้ขึ้นครองราชสมบัติ โดยจับพระศรีศิลป์ พระปิตุลา ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชประหาร (สามารถกำจัดศัตรูที่เข้มแข็งที่สุดได้ ก่อน 1 คน)
และพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็รับตำแหน่งออกญากลาโหมกุมกำลังทหารไว้ในมือ
ส่วนพระเชษฐาธิราชได้ครองราชย์สมบัติ เพียง 1 ปี 7 เดือน ก็ถูกพระยาศรีสุริยวงศ์ ออกญากลาโหมทำรัฐประหาร (อ้างว่าจำเป็น มิฉะนั้น จะถูกประหารและก็สำเร็จโทษพระเชษฐาธิราชเสีย กำจัดขวากหนามคนที่ 2 ลงได้)
จากนั้นออกญากลาโหม ก็ตั้งพระอนุชาคือพระอาทิตยวงศ์ พระชนมพรรษา 10 ขึ้นเป็นกษัตริย์และตั้งตนเองเป็นผู้ปกครองและผู้สำเร็จราชการ เพียง 38 วัน ก็ยึดอำนาจไว้เองและให้ประหารพระอาทิตยวงศ์ ราชวงศ์สุโขทัยจึงสิ้นสุดลงอย่างนองเลือดในปีที่ 60
ออกญากลาโหมวางแผนสังหารคู่แข่งทางการเมือง 3 คนรวดได้เป็นกษัตริย์ชื่อ พระเจ้าปราสาททองตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์ปราสาททอง
ในหลวงรัชการที่ 5 ทรงวิจารณ์พระเจ้าปราสาททองว่า ฉลาดในทางอุบายมารยา ต้องการราชสมบัติ จึงวางแผนต่างๆ มาแต่ต้น
ถ้าเปรียบเทียบกับการรัฐประหารปี 2549 เป็นเพียงการยึดอำนาจธรรมดา แต่ตุลาการภิวัฒน์ในปี 2551 เป็นการยึดอำนาจที่ถูกวางแผนเพื่อแก้ปัญหาที่ทำค้างไว้ตั้งแต่ 2549 ด้วยกฎเกณฑ์ในสังคมยุคใหม่จึงไม่สามารถฆ่าคน 3 คน แล้วเปลี่ยนอำนาจได้
แต่จะต้องเริ่มกดดันด้วยมวลชน ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน หาเรื่องปลดนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช แค่เรื่องทำกับข้าวออกโทรทัศน์ ก็ปลด จากนั้นก็ปลดนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยุบพรรค โดยอำนาจตุลาการ แล้วยังต้องดึงพวกงูเห่าให้เปลี่ยนข้าง ใครไม่ยอมก็ใช้คนถืออาวุธขู่ ลากพามาตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ระดมสื่อช่วยเชียร์ จะเห็นว่าบูรณาการครบทุกด้านจริงๆ ไม่รู้อาจารย์สถาบันไหนสั่งสอน
ปี 2171 ความคิดยึดอำนาจของพระยาศรีสุริยวงศ์ โค่นราชวงศ์สุโขทัยไม่ใช่ของใหม่ แต่ซับซ้อนกว่าครั้งอื่นๆ และก็มีผู้เลียนแบบต่อมา แต่ตุลาการภิวัฒน์ ปี 2551 โดยการประยุกต์ใช้กฎหมายและอำนาจตุลาการเป็นของใหม่ไม่เคยมีในอดีตและในยุคปัจจุบันและกำลังมีผู้เลียนแบบต่อไป นี่จึงเป็นความแตกต่างในรอบเกือบ 400 ปี (พ.ศ.2551-พ.ศ.2171=380 ปี)
จากนี้ไปการต่อสู้ด้านหลักจึงไม่ใช่ระหว่างฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยแบบรัฐสภากับพวกใช้อาวุธยึดอำนาจ แต่จะสู้กับพวกที่ถือกฎหมายจนตัวเอียง
แต่จะต้องสู้กันอย่างไร? ทำไมกำลังทหารไม่ชี้ขาด? ติดตามตอนต่อไป
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
อ่านตอนจบ .. (2) 380 ปี..เปลี่ยนวิธี ชิงอำนาจ กำลังทหารไม่ชี้ขาดอีกต่อไป (จบ) โดย มุกดา สุวรรณชาติ
ได้ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/09/m380pwp2.html
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย