http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-22

ศึกชิงผู้ว่าฯกทม. การชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ในขั้นยัน โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ศึกชิง ผู้ว่าฯ กทม. การชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ในขั้นยัน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 20


เดือนก่อนเขียนเรื่องการเลือกผู้ว่าฯ กทม. โดยคิดว่าจะเป็นตัวกำหนดการปรับปรุงแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะเหลือเวลาไม่ถึง 6 เดือนเท่านั้น แต่เพียงผ่านไปแค่ 1 เดือน ฝ่ายนำ ปชป. ก็ได้แสดงปฏิกิริยาอย่างชัดแจ้งว่า ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงและยังเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดว่าจะส่งใครลงรับเลือกตั้งในศึกชิงผู้ว่าฯ ครั้งนี้ 
แม้กรรมการยังไม่เป่านกหวีด แต่วันนี้ทุกฝ่ายเริ่มเดินเกมแล้ว ชาวบ้านอยากรู้ คนดูก็อยากตามให้ทัน 

ทีมวิเคราะห์จึงขอเสนอความคิดเห็นในขอบเขตของสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับเกมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะมาถึง


ความสำคัญของผู้ว่าฯ กทม. 
ในสถานการณ์การเมืองที่ยันกันอยู่

กทม. เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเพราะเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางอำนาจการเมือง เป็นศูนย์การเศรษฐกิจ มี ส.ส. ในพื้นที่ 33 คน ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จึงเปรียบเสมือนเป็นการชิงธงการเมืองในเมืองหลวง
มิใช่มีความหมายแค่การช่วงชิงอำนาจการบริหาร แม้อาจจะมีประชาชนบางส่วนอยากได้นักบริหารเมืองใหญ่มืออาชีพ โดยไม่อยากให้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะโดยโครงสร้างทั้งการเงินและอำนาจรัฐ จะต้องผูกพันและพึ่งพานักการเมืองระดับชาติโดยเฉพาะพรรครัฐบาล
การเป็นอิสระของผู้ว่าฯ กทม. จึงเป็นอิสระเพียงบางส่วน แต่อำนาจในตำแหน่งนี้ไม่ถูกรัฐประหาร อยู่ได้ครบ 4 ปี ถ้าไม่ทำความผิดร้ายแรง
ที่นี่ จึงสามารถยึดเป็นฐานที่มั่นใช้เพาะสร้างกำลังทางการเมืองขึ้นมาได้ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคยทำสำเร็จมาแล้ว

สำหรับ ปชป. กทม. คือเขตยุทธศาสตร์ที่ชี้เป็นชี้ตาย มีความหมายมาก เพราะเป็นฐานเสียงเดิมมานับแต่ตั้งพรรค สมัยก่อนเคยได้ ส.ส เกือบทั้งหมด ทั้งยังแผ่บารมีมากินพื้นที่ ในเขตปริมณฑลรอบ กทม. 4 จังหวัดคือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม 
ต่อมาเมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยน สภาพสังคมเปลี่ยน เมืองขยายใหญ่ขึ้น ผลการเลือกตั้งล่าสุดปี 2554 ปชป. ไม่สามารถชนะเลือกตั้งในเขตจังหวัดรอบ กทม. เลย แม้แต่ที่เดียว จาก 25 ที่ ในขณะที่เพื่อไทยได้ถึง 23 ที่ 
แต่ใน กทม. ปชป. ได้ ถึง 23 ที่ จาก 33 เพื่อไทยได้เพียง 10 ที่ 
ยุทธศาสตร์ของ ปชป. จึงต้องรักษาฐานที่มั่นเมืองหลวงไว้ให้ได้

แต่ใน 33 เขต มีถึง 18 เขต ที่คะแนนสูสีกัน การกุมอำนาจบริหารท้องถิ่น กทม. อาจมีผลต่อชัยชนะเหล่านั้น และถ้าปล่อยให้ผลแห่งชัยชนะพลิกกลับ จะมีผลร้ายแรงมาก เพราะคนที่ได้คะแนนสูสีคือฝ่ายตรงข้าม ถ้าพลิก 15 เขต จำนวน ส.ส. จะทิ้งกันแบบไปกลับ เท่ากับ 30 คน
การพ่ายแพ้ที่ภาคกลางในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ของ ปชป. ทำให้ต้องเทน้ำหนักการต่อสู้มาไว้ที่ ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. ในต้นปี 2556 แบบไม่มีทางเลือก



วิเคราะห์การเดินเกมของกลุ่มต่างๆ 
ก่อนการแข่งขัน 


1. กลุ่ม ปชป. ปัจจุบันมีทั้ง ส.ส., ส.ก., ส.ข. จำนวนหลายร้อยคน นอกจากนั้น ยังมีหัวคะแนนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ อีกนับพัน ในวันนี้ฝ่ายนำพรรคยังลังเลว่าจะส่ง คุณชายสุขุมพันธุ์ บริพัตร หรือไม่ และแสดงท่าทีเปิดเผยอย่างไม่เกรงใจ เพราะต้องการแสดงอำนาจให้รู้ว่า ไผเป็นไผ (ขนาดผู้อาวุโสยังไม่กล้าขัดใจ) 
อีกเหตุผลหนึ่งคือ ยังไม่มั่นใจว่าคะแนนเสียงของผู้ว่าฯ คนปัจจุบันจะสามารถนำชัยชนะมาได้จริง เพราะฐานเสียงผู้ว่าฯ ทีมงานและเสบียงกรัง ถึงแม้มีพร้อมกว่ากลุ่มอื่น แต่ในสายตาฝ่ายนำ ผู้ว่าฯ ปัจจุบัน คือ "คุณชายหมู" ที่มีจุดอ่อนให้โจมตีมากพอสมควร ถ้าชาว กทม. อยากเปลี่ยนผู้ว่าฯ เป็นคนใหม่ จนกลายเป็นกระแสจะเป็นปัญหาที่แก้ยากมาก โดยเฉพาะถ้ามีคู่ต่อสู้ที่เป็นบุคคลที่โดดเด่นกว่าไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มอิสระ ก็อาจสามารถเอาชนะ คุณชายหมูได้ 

คณะนำใน ปชป.จึงลังเลและมองหาคนหนุ่มคนใหม่ที่จะทำให้คน กทม. เชื่อว่ามีความสามารถ ทำได้จริง ไม่เพียงแค่พูดเก่ง 
แนวโน้มล่าสุด ปชป. อาจส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน หรือ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง

2. กลุ่มผู้ว่าฯ กทม. ปัจจุบันโดยการสนับสนุนของคณะที่ปรึกษา ผู้ร่วมงานและเส้นสายบางส่วนในพรรค ปชป. แสดงตัวชัดเจนว่าส่งคุณชายสุขุมพันธุ์ลงแน่นอน เพื่อเป็นการบีบมิให้ฝ่ายนำ ปชป. ส่งคนอื่น (เพราะกลัวเสียงแตก) คุณชายสุขุมพันธุ์ยังหวังฐานคะแนนจากพรรค ปชป. แต่ถ้า ปชป. ไม่ยอมส่ง พวกเขาก็จะสู้แบบอิสระ 
สถานการณ์ ณ วันนี้ถือว่าได้เปรียบ เป็นตัวเต็งที่ประกาศว่าลงสู้แน่นอน มีประสบการณ์ มีความสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน สำหรับผู้สนับสนุน ก็ไม่มีเวทีอื่นให้เลือกเล่น ถ้าคุณชายสุขุมพันธุ์ชนะ ทั้งทีมรองผู้ว่าฯ ที่ปรึกษาก็ยังได้ร่วมอยู่ในอำนาจต่อไปอีก 4 ปี และอาจใช้เป็นที่มั่น สนับสนุนการชิงอำนาจในพรรคได้ 
แต่ถึงแม้ว่าแพ้ก็ไม่ขาดทุน จะมีเงินทอนเหลือมากน้อยก็อยู่ที่ฝีมือ ปัญหาของคุณชายสุขุมพันธุ์จะเกิดขึ้น ถ้า ปชป. เกิดสามารถหาคนเก่งที่ดีเด่นกว่ามาลง

3. กลุ่มเพื่อไทยมีความจำเป็นต้องส่งผู้สมัครลงในนามพรรคเช่นกัน เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 แม้จะแพ้ ปชป. ไปหลายเขต แต่มีความแตกต่างทางตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1 แสนเศษๆ คือ ปชป. ได้ 1.30 ล้านเสียง เพื่อไทยได้ 1.15 ล้านเสียง ในเขตที่แพ้ชนะกันแบบสูสี มีถึง 18 เขต แต่ก็ไม่ง่ายที่จะพลิกคะแนนเป็นฝ่ายขึ้นมาชนะ ไม่ว่าเพื่อไทยจะส่งใครก็เป็นรองคนจาก ปชป. จะต้องวิ่งไล่ตั้งแต่เริ่มการแข่งขันและหาโอกาสพลิกเอาชนะในตอนท้าย เพราะฐานเสียงน้อยกว่า 
ดังนั้น ผู้ที่ลงสมัครต้องมีทั้งความสด และความสามารถ มีจุดอ่อนให้โจมตีน้อย บุคลิกได้ นโยบายดี จึงจะมีโอกาสพลิกชนะในสมรภูมินี้ 

จนถึงวันนี้เพื่อไทยอาจมีทั้งตัวหลอกและตัวจริงโดยไม่ตั้งใจ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะส่งใคร ตามข่าวคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข หรืออาจเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมปัจจุบัน 
กองเชียร์ที่อยู่ในจังหวัดรอบ กทม. หลายล้านคนเดินทางเข้าออก ทำงานทุกวันไม่มีสิทธิลงคะแนน แม้แต่คนที่อยู่ใน กทม. แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ใน กทม. ก็จะทำได้แค่เชียร์ ดังนั้น เสียงดีแต่คะแนนอาจไม่ดีเพราะคนที่คุม กทม. ปัจจุบันอยู่คือคุณชายสุขุมพันธุ์

4. กลุ่มอิสระ เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส จากกลุ่มพลังกรุงเทพ ใช้ยุทธวิธีแนะนำตัวก่อน เพื่อให้คนรู้จัก แต่ในช่วงเปิดรับสมัคร จะมีอีกหลายคนแห่มาลงสมัคร ครั้งนี้อาจไม่มีคนดีเด่น แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นแค่ตัวประกอบที่ไม่มีบทพูด


ประชาชนมีวิธีเลือกอย่างไร?

คน กทม. ทั่วไปเลือกผู้ว่าฯ หลายครั้งที่ผ่านมา พิจารณาทั้งค่ายสังกัดและคุณสมบัติส่วนตัว ดังนั้น ผู้สมัครอิสระก็มีโอกาสชนะผู้สมัครจากพรรคการเมืองได้ 
แต่ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันทำให้ชาว กทม. บางส่วนตั้งใจว่าจะเทน้ำหนักไปให้ความสามารถของบุคคลถึง 70% ให้ความสำคัญกับพรรคที่สังกัดเพียง 30% คนกลุ่มแรกนี้พร้อมจะเลือกคนที่ชอบไม่ว่าจะมาจากพรรคใดหรือมาจากกลุ่มอิสระ 


คนกลุ่มที่สองเลือกที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบ ทั้ง ปชป. และเพื่อไทย คะแนนเสียงของคนกลุ่มนี้แม้จะไม่ชอบผู้สมัครของพรรคตนเองก็จะไม่ไปเทข้ามให้อีกฝ่ายหนึ่ง อย่างมากก็หันไปเลือกผู้สมัครอิสระ 
ถ้าสภาพคะแนนเสียงของสองพรรคใหญ่ใกล้เคียงกัน คะแนนของชาว กทม. ที่อยู่ตรงกลางพลิกเข้าข้างฝ่ายไหนก็จะทำให้ชนะได้

ดังนั้น ตัวบุคคลที่ลงสมัครจึงมีความหมายอย่างยิ่ง ในการแข่งขันครั้งนี้ ทำให้สองพรรคใหญ่ไม่แน่ใจ คัดแล้วคัดอีก



ทีมวิเคราะห์มองสถานการณ์ 
ก่อนปรากฏโฉมหน้าคู่แข่งตัวจริง


ฝ่ายนำของ ปชป. คืออภิสิทธิ์ไม่มีทางบีบบังคับคุณชายสุขุมพันธุ์ได้เลย เพราะตัวเองเปื้อนทั้งโคลนและเลือด ในขณะที่สุขุมพันธุ์มีรอยเปื้อนเพียงเล็กน้อย คุณชายจะไม่มีทางให้อภิสิทธิ์มาประคองให้ตัวเองเปื้อนเลือดไปด้วย 
คุณชายสุขุมพันธุ์ได้เปรียบกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ในช่วงต้นอาจออกตัวและนำก่อน แต่ในช่วงกลางและช่วงปลาย มีโอกาสที่โดนกระแทกจุดอ่อน จนแรงตกและแพ้ได้ ส่วนคนของเพื่อไทยยังไงก็ไม่มีโอกาสนำในช่วงแรก ต้องหวังพลิกชนะในช่วงท้ายเท่านั้น

ผู้แข่งขันจากเพื่อไทย ยังไม่จำเป็นต้องปรากฏขึ้นตอนนี้อย่างชัดเจน แม้จะโผล่ขึ้นมาทีหลังแต่ก็สามารถวิ่งตามได้ทันถ้าฝีเท้าดีแต่ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอใคร ถ้าเป็นคนดีมีฝีมือ มีจุดอ่อนน้อยและเสนอนโยบายที่ดี ก็มีโอกาสสู้ได้ นี่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติของการเมืองแบบนี้และไม่ใช่เรื่องเสียหาย ออกตัวช้านิด ก็ปลอดภัยจากการถูกโจมตี  
เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นยุทธศาสตร์ แต่ไม่ใช่เรื่องด่วนของเดือนนี้ วันนี้ที่ทั้งสองพรรคต้องลุ้นคือเรื่องน้ำท่วม เพราะจะทำให้ลำบากทั้งคู่ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

เรื่องด่วน ของ ปชป. คือจะปรับหัวขบวนอย่างไร (ถ้าไม่ทำก็จะเป็น เล้าหมู)
เรื่องด่วนของเพื่อไทย คือปรับปรุงการบริหารงานให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบาย เช่น เรื่องข้าว และการบริหารจัดการน้ำ เรื่องการเมืองคือการแก้รัฐธรรมนูญ และนักโทษการเมือง
เรื่องด่วน ของฝ่ายความมั่นคง คือ แชร์ลูกโซ่ ผรท. (ผกค. ปลอม) ตอนนี้มีคนไปหลอกเอาเงินชาวบ้าน คนละ 3,000-10,000 บาท โดยหวังจะได้เงิน 225,000 คนถูกหลอกมีจำนวนมากถึง สี่ห้าหมื่นคนแล้ว มีเจ้าหน้าที่รู้เห็นด้วย ปล่อยนานไปเรื่องใหญ่จะตามมา




เรื่องผลสรุปเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ของ คอป. เอาไว้ครบรอบ 36 ปี 6 ตุลาคม ทีมวิเคราะห์จะสรุปเปรียบเทียบให้ศึกษากัน และคงไม่รอผลสรุปของ กรรมการสิทธิฯ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะสรุปอย่างไร จะได้เห็นว่าเป็นฝีมือใคร

แต่อยากจะเตือนกรรมการทุกชุดว่า ถ้าข้อสรุป ถูกบิดเบือนก็ต้องถือเป็นความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

งานนี้ไม่จบเหมือนเก่าแน่นอน ไม่มีใครลอยนวล อาจจะช้าหรือเร็ว แต่ห่างกันไม่กี่ปี



.