http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-25

กองทัพขยะลอยน้ำ...มันกำลังมา! โดย นกุล ว่องฐิติกุล

.

กองทัพขยะลอยน้ำ...มันกำลังมา!
โดย นกุล ว่องฐิติกุล คอลัมน์ จากญี่ปุ่น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 46


เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่หลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่ภาคตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมปีที่ผ่านมา ว่าจะมีขยะจำนวนมหาศาลลอยข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่ฝั่งทะเลด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ

และขณะนี้ปรากฏว่าปริมาณของขยะลอยน้ำที่กำลังทยอยเข้าสู่ฝั่งมีมากและมาถึงเร็วเกินกว่าความคาดหมาย 
จนการกำจัดทำลายขยะเหล่านี้กลายเป็นปัญหาหนักอกที่บรรดาเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาต้องเตรียมรับมือ

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นประเมินว่าขยะและซากปรักหักพังที่เกิดจากสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 16,000 คน และสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่สามจังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศคือ อิวาเตะ มิยางิ และฟุคุชิมา มีประมาณ 18.11 ล้านตัน รวมกับขยะที่ถูกกระแสน้ำพัดลงทะลอีกประมาณ 5 ล้านตันโดยประมาณ 
70% ของขยะในทะเลที่มีตั้งแต่ซากบ้านเรือน เครื่องเรือนข้าวของเครื่องใช้ ต้นไม้ ยานพาหนะและตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้า ฯลฯ จะจมลงสู่ก้นทะเลในเขตโตโฮกุนั่นเอง 
เหลืออีกประมาณ 1.5 ล้านตัน จะเป็นขยะลอยน้ำที่จะลอยข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกระยะทางหลายพันไมล์ไปตามกระแสคลื่นและลมเข้าสู่ชายฝั่งทะเลตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

จากการติดตามทางภาพถ่ายจากดาวเทียมร่วมกับการคำนวณความเร็วและทิศทางของกระแสน้ำและลม นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าขยะจำนวนมากจะเริ่มเข้าสู่แผ่นดินในฤดูใบไม้ร่วงประมาณเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป 
และจะไปสิ้นสุดในปี 2014 หรืออีกนานเกือบสามปีจากที่เดิมเคยประมาณว่าขยะลอยน้ำเหล่านี้จะเริ่มเข้าสู่ฝั่งในปี 2013-2014




ภูเขาของขยะลอยน้ำจำนวนมหาศาลรวมความยาวไม่น้อยกว่า 70 ไมล์นอกจากจะกลายเป็นปัญหากีดขวางเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วยังสร้างความวิตกกังวลต่อผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเลทั้งจากสารพิษเคมีภัณฑ์หรือแม้แต่บรรดาวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากโฟมและพลาสติกที่มีปิโตรเลียมเป็นสารตั้งต้นซึ่งมีคุณสมบัติสามารถดูดซึมสารมีพิษจากน้ำทะเล
เศษพลาสติกที่ปนเปื้อนสารพิษชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะถูกสะสมในร่างกายของนกและสัตว์ทะเลที่กินมันเข้าไปแล้วกระจายสู่สัตว์อื่นในห่วงโซ่อาหาร

แต่ยังถือเป็นโชคดีที่จากการตรวจขยะเหล่านี้แล้วไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเนื่องจากขยะนี้ถูกกวาดลงทะเลไปไกลแล้วก่อนที่จะเกิดการรั่วไหลของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟุคุชิมาไดอิจิหลังเกิดสึนามิแล้วหลายวัน 

ปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม 2011 เรือฝึกการเดินเรือสัญชาติรัสเซียชื่อ STS Pallada ได้รายงานการพบกับกองขยะลอยน้ำจำนวนมหาศาลที่มีตั้งแต่ซากเรือประมงขนาด 20 ฟุต ชิ้นส่วนบ้านเรือน ซากตู้เย็นเครื่องเรือนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ลอยอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้กับเกาะมิดเวย์ระหว่างเดินทางกลับจากการฝึกที่ฮอนโนลูลู  มลรัฐฮาวายสู่เมืองท่าวลาดิวอลสต๊อกของรัสเซีย 
ทำให้เกิดการตื่นตัวว่าขยะสึนามิกำลังเคลื่อนใกล้หมู่เกาะฮาวายแล้ว



ประมาณหนึ่งปีหลังเกิดภัยพิบัติ ขยะชิ้นใหญ่ๆ เริ่มทยอยขึ้นฝั่งทะเลด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เดือนมกราคม 2012 มีการพบทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่หลายทุ่นที่เชื่อว่าเป็นทุ่นจากฟาร์มเลี้ยงหอยในจังหวัดมิยางิบริเวณใกล้ชายฝั่งของรัฐอลาสก้าสหรัฐอเมริกา 
ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน มีการพบซากเรือประมงญี่ปุ่นขนาดยาว 164 ฟุต ชื่อ เรียว-อัน มารุ ซึ่งถูกสึนามิพัดจากอู่เรือในจังหวัดฮอกไกโดเข้ามหาสมุทรแปซิฟิกเข้าใกล้ชายฝั่งอลาสก้าและกองเรือยามฝั่งของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจจมมันลงสู่ก้นทะเลลึก 6,000 ฟุต ในอ่าวอลาสก้าด้วยกระสุนปืนใหญ่ในวันถัดมาด้วยเหตุผลของความปลอดภัยต่อการเดินเรือและตัดปัญหาเรื่องสิ่งแปลกปลอมและการขนย้ายหรือทำลายซากเรือ
อีกหลายวันต่อมาก็มีการพบรถจักรยานยนตร์ยี่ห้อฮาร์เลย์เดวิดสันที่บรรจุไว้ในลังขนาดใหญ่ที่เกาะเกรแฮมทางตะวันตกของแคนาดา การติดตามหาเจ้าของจากแผ่นป้ายทะเบียนพบว่ารถคันดังกล่าวเป็นของ นายอิคุโอะ โยโกยามะ จากจังหวัดมิยางิผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปสามคนในพิบัติภัยครั้งนั้น 

ขยะลอยน้ำที่เป็นปรากฏการณ์ช็อกผู้คนในเมืองนิวฟอร์ดมลรัฐโอเรกอนของสหรัฐอเมริกาก็คือส่วนหนึ่งของทุ่นจอดเรือสร้างจากโครงเหล็กปูทับด้วยคอนกรีตขนาดยักษ์จากท่าเรือประมงของเมืองมิซาวะจังหวัดอาโอโมริประเทศญี่ปุ่น ขนาดความสูง 7 ฟุต กว้าง 19 ฟุต และยาว 66 ฟุต ซึ่งลอยมาเกยหาด
ทางการรัฐโอเรกอนต้องระดมอาสาสมัครหลายสิบคนช่วยกันทำความสะอาดฆ่าเชื้อและสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมด้วยการพ่นไฟ และต้องจ่ายเงินถึง 84,000 ดอลลาร์ ให้ผู้รับเหมาจัดการรื้อถอนและนำออกไปจากหาด
รัฐโอเรกอนของสหรัฐอเมริกามีชายฝั่งทะเลยาวถึง 362 ไมล์ และมีมาตรการดูแลความสะอาดของชายหาดอย่างดีเยี่ยมโดยจะระดมอาสาสมัครนับพันๆ คน ร่วมกันทำความสะอาดชายหาดและฝั่งทะเลเป็นประจำปีละสองครั้ง
ขยะลอยน้ำที่เป็นผลพวงจากสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นปัญหาที่ทางการและชาวเมืองวิตกห่วงใยยิ่ง


ทางการรัฐวอชิงตันอีกหนึ่งรัฐทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของสหรัฐอเมริกาซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดรับขยะลอยน้ำอีกจุดหนึ่งได้มีการเตรียมงบประมาณพิเศษเพื่อการจัดการกับขยะลอยน้ำไว้ 100,000 ดอลลาร์ 
ในขณะเดียวกันที่รัฐแคลิฟอร์เนียและฮาวายก็มีการตื่นตัวเตรียมการในเรื่องนี้อย่างมาก ชาวบ้านในรัฐวอชิงตันคนหนึ่งบอกว่า ชายฝั่งทะเลของตนเป็นที่รองรับขยะที่ลอยน้ำมาจากประเทศญี่ปุ่น จีน และอีกหลายประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นประจำมาช้านานแล้ว 
เพียงแต่ว่านับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ปริมาณของขยะลอยน้ำได้เพิ่มมากขึ้นถึง 167 เท่า 
หน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดการกับขยะลอยน้ำไม่มีหลักการหรือมาตรการกำหนดไว้เป็นสากล ส่วนใหญ่แล้วประเทศผู้รับขยะจะเป็นผู้จัดการกับขยะเหล่านั้นด้วยตนเองและผู้ทำงานมักจะเป็นเหล่าอาสาสมัครที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย 
แต่ในกรณีของอภิมหาขยะที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติสึนามิเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่าจะมีน้ำหนักเท่ากับสามตึกเอ็มไพร์สเตตรวมกันและจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายในการกำจัดขนย้ายไม่ต่ำกว่า 200 ล้านดอลลาร์  
จึงเป็นกรณีใหม่ที่ทั้งประเทศผู้เป็นต้นทางและปลายทางของขยะต้องทำงานร่วมกัน

โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งผลกำไรทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันประชุมเพื่อวางแนวทางการทำงานเรื่องขยะลอยน้ำด้วยกันที่รัฐโอเรกอน 
องค์การบริหารทะเลและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA-National Oceanic and Atmospheric Administration) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในทะเลและบรรยากาศของประเทศได้จัดทำเอกสารแนะนำวิธีปฏิบัติแจกจ่ายแก่ประชาชนในแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศในการรับมือกับขยะลอยน้ำที่กำลังจะบุกประเทศโดยมีสาระสำคัญโดยสรุปว่า 

"เมื่อพบขยะลอยน้ำทีน่าสงสัย อย่าแตะต้อง อย่าเคลื่อนย้าย ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
มีการแถมทิ้งท้ายเป็นอารมณ์ขันเล็กๆ ว่า "ถ้าพบศพ (ซึ่งคงจะไม่มีเพราะมันคงเน่าเปื่อยไปหมดแล้ว) ให้แจ้ง 911".



.