http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-14

ตอบทุกคำถาม-พลังงาน, ลึกแต่ไม่ลับ 14ก.ย.55

.
คอลัมน์ ในประเทศ - "มหาดไทย" ห้ามเล่นเฟซบุ๊ก อย่าใช้โทรศัพท์หลวงคุยเรื่องส่วนตัว สะท้อนพฤติกรรม "ฟุ้ง" แบบไทยๆ
รายงานพิเศษ - วิ่ง สู้ ฟัด "เสถียร-สุกำพล" จาก สนามไชย ถึง ลอนดอน ศึกชิงศาล โผทหาร เป็นตัวประกัน จับตา ตท.13 ปึ้ก ตท.14 แรง
คอลัมน์ โล่เงิน - "บิ๊กอ๊อบ" วางมือ-ส่งไม้ "บิ๊กอู๋" ร่างนโยบายเคลื่อนทัพสีกากี มุ่งเน้น "ผู้นำ 4 ระดับ" หัวใจหลัก 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

“อารักษ์” ตอบทุกคำถาม ไขข้อข้องใจราคาพลังงาน
คอลัมน์ เศรษฐกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 22


นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ทิศทางนโยบายราคาพลังงาน ในโอกาสที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารงานครบ 1 ปี

: แนวโน้มราคาพลังงานนับจากนี้
แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ เพราะยังเป็นช่วงหน้าร้อน การใช้พลังงานจะลดลง แต่ผลจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาราคาปรับขึ้นบ้าง แต่หลังจากนี้ราคาพลังงานจะอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็คงจะลงได้ไม่นาน เพราะกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปี ทำให้ความต้องการใช้พลังงานมีมากขึ้น ทำให้ราคาต้องขยับตามไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์และอุปทาน

: จะรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร 
จะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือหลักในการรักษาเสถียรภาพ เมื่อตั้งมาแล้วก็ต้องใช้ประโยชน์ แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลจะบริหารกองทุนจนติดลบประมาณ 15,000 ล้านบาทแล้ว แต่เมื่อราคาพลังงานต้นทางที่ซื้อมาอยู่ในระดับสูง ขณะที่ต้องขายให้ประชาชนในระดับต่ำเพื่อให้ประชาชนรับได้ และไม่ให้กระทบกับต้นทุนการผลิตสินค้า ค่าครองชีพและเงินเฟ้อ ซึ่งก็เหมือนการประกันราคา
"กองทุนน้ำมันฯ ต้องทำหน้าที่เกื้อกูล ดังนั้น อยากให้ผู้ที่วิจารณ์มองในภาพกว้าง ไม่ใช่มองแค่เรื่องการติดลบแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ต้องดูด้วยว่ากระทรวงพลังงานยังทำประโยชน์หารายได้เข้าประเทศปีหนึ่งหลักแสนล้านบาท จากค่าภาคหลวง และภาษี"

: จะอุ้มน้ำมันดีเซลไปนานแค่ไหน 
จะดูแลไม่ให้ราคาเกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป เพราะเป็นน้ำมันที่มีการใช้มากที่สุด ขอยืนยันว่ายังไม่ขึ้นราคาในขณะนี้แน่นอน โดยปัจจุบันกองทุนเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 80 สตางค์ต่อลิตร ส่วนเงินที่นำมารักษาเสถียรภาพกองทุนน้ำมันในปัจจุบันคือ เก็บมาจากน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เป็นหลัก เพราะกลุ่มนี้ผู้ใช้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ไม่มีปัญหา 
แต่ในภาพรวมการที่เงินกองทุนไหลออกนั้น นอกจากจะเกิดจากการอุดหนุนราคาน้ำมันแล้ว ยังเกิดจากการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่จะตรึงราคาไปจนถึงสิ้นปีนี้ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม

: มีเป้าหมายที่จะตั้งทีมศึกษาราคาดีเซลหรือไม่ 
ที่ผ่านมาหลายฝ่ายพูดกันว่าราคาดีเซลที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 30 บาทต่อลิตร เพราะหากเกินกว่านั้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่เมื่อรับฟังข้อมูลจากหลายด้านแล้วบอกว่า 33 บาทต่อลิตรก็รับได้ รถขนส่งไม่เดือดร้อน ดังนั้น จึงต้องพิสูจน์ว่าระดับราคาไหนจึงจะเหมาะสม จึงต้องให้ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเข้ามาศึกษา เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ให้นักวิชาการศึกษาอยู่เช่นกัน

: แนวโน้มราคาเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 
น้ำมัน 2 ชนิดจะมีระยะห่างของราคามากขึ้น เห็นได้จากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) หลายครั้ง ที่ประชุม กบง. เลือกที่จะเก็บเงินเข้ากองทุนเฉพาะกลุ่มเบนซินอย่างเดียว เพราะต้องการให้ราคาแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซินมากขึ้น และแต่ละครั้งจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่รอข้อมูลของฝ่ายข้าราชการอย่างเดียว 
แต่ปัจจุบันมติ กบง. ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวโน้มราคาพลังงานของตลาดโลก
ซึ่งได้เชิญนักวิชาการด้านน้ำมันของ ปตท. มาช่วยวิเคราะห์ราคาและแนวโน้มให้ฟัง จึงมั่นใจว่ามติ กบง. ทุกครั้งได้พิจารณาอย่างรอบด้าน และดูแลผู้ใช้น้ำมันให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด



: นโยบายการสนับสนุนพลังงานทดแทน

รัฐบาลสนับสนุนพลังงานทดแทนแน่นอน เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ควรพึ่งฟอสซิลจากต่างชาติอย่างเดียว เพราะนับวันยิ่งเหลือน้อยลง ดังนั้น การทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซินก็เพื่อจูงใจประชาชนให้ใช้ ทั้งที่ต้นทุนแก๊สโซฮอล์มากกว่าเบนซิน และเมื่อประชาชนใช้ปริมาณมาก เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนถูกกว่าเบนซินแน่นอน
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการส่งออกพลังงานทดแทนด้วย โดยครึ่งปีแรกปีนี้มีการส่งออกเอทานอลสูงเป็นประวัติการณ์ คือ 168 ล้านลิตร ส่วนหนึ่งมาจากการที่กระทรวงพลังงานประสานกับกรมสรรพสามิตให้อนุญาตบริษัทผู้ผลิตเอทานอลใช้ถังเก็บเอทานอลเพื่อการส่งออกรวมกันได้ ทำให้ลดต้นทุนด้านการส่งออก นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล หรือ บี 100 ที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึง 50.5% เฉลี่ย 2.756 ล้านลิตรต่อวัน

: นโยบายยกเลิกเบนซิน 91
จากนี้ไปรัฐบาลจะต้องมีการสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะเลิกเมื่อไหร่ เพราะอะไรจึงต้องเลิก และต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และเมื่อประกาศแล้ว ผู้ขายก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย

: ความคืบหน้านโยบายปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี 
ปัจจุบันราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมจะมีการประกาศราคาทุกสิ้นเดือน โดยล่าสุดราคาเพดานอยู่ที่ 30.13 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสะท้อนต้นทุนหน้าโรงกลั่นแล้ว 
ส่วนราคาแอลพีจีภาคการขนส่งนั้นยืนยันว่า จะปรับขึ้นในวันที่ 16 กันยายนนี้แน่นอน โดยคาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับการปรับเมื่อครั้งล่าสุดที่ 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม เนื่องจากแนวโน้มราคาแอลพีจีในตลาดจะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนแอลพีจีภาคครัวเรือนจะยังตรึงราคาไปจนถึงสิ้นปีเพื่อดูว่าแนวโน้มราคาซื้อขายหลังสิ้นปีเป็นอย่างไร 
"เชื่อว่าคนจะเดือดร้อนจากการปรับขึ้นแอลพีจีครัวเรือนน้อยมาก เนื่องจากรากหญ้าจะใช้ถ่านไม่ใช่แอลพีจี แต่กลุ่มที่จะได้รับความเดือดร้อนคือ กลุ่มแม่ค้าขายอาหาร ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปดูแล ยอมรับว่าขณะนี้แนวทางการช่วยเหลือภาคครัวเรือนยังไม่ชัดเจน ต้องใช้วิธีโยนหินถามทาง เช่น ช่วยเหลือเฉพาะถังเล็ก เป็นต้น พอถามแบบนี้คนออกมาวิจารณ์เยอะมาก" 
"ส่วนการปรับโครงสร้างเอ็นจีวี ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน แต่จะพยายามให้สรุปภายในปีนี้"



: นโยบายดูแลค่าไฟผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ของรัฐบาล
รัฐบาลคุยกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตลอด เพราะต้องดูประชาชน ล่าสุดงวดกันยายน-ธันวาคม 2555 ปรับขึ้น 18 สตางค์ต่อหน่วย สาเหตุที่ปรับขึ้นเพราะต้นทุนเชื้อเพลิงย้อนหลัง 6 เดือนสูง


: บทสรุปพื้นที่ทับซ้อนไทย-เขมรจะชัดเจนเมื่อใด 
อยากให้จบเร็ว เพราะมีการเจรจากันมานานแล้ว ข้อมูลกระทรวงพลังงานยืนยันว่าจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ส่วนนี้ เพราะแหล่งปิโตรเลียมของไทยเหลือใช้อีกแค่เพียง 10 ปีเท่านั้น หากจะพึ่งพาพม่าอย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องเตรียมพลังงานทดแทน


: ไทยจะเดินหน้าตามตามแผนพีดีพีได้หรือไม่ 
ต้องเดินตามนั้น แต่ปีหน้าจะทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย (พีดีพี) ใหม่ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เป็นภาพของต้นทุนเชื้อเพลิง ความจำเป็นที่จะใช้กับไทย เพราะการใช้พลังงานต้องสมดุล สัดส่วนการใช้พลังงานตามทฤษฎี แต่ชนิดต้องใกล้เคียงกัน ดีสุดคือ 10 ประเภท ประเภทละ 10% แต่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ต้องบริหารและแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสม อย่างถ่านหิน นิวเคลียร์ต้องเกิดในไทยตามแผน
ซึ่งปีหน้าในพีดีพีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจขยับไปอีก หรืออาจใช้โอกาสที่ญี่ปุ่นจะกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ ทำความเข้าใจกับคนไทยว่าพลังงานลักษณะนี้ยังจำเป็นและใช้ได้อยู่ 
อย่างไรก็ตาม จะต้องแก้ไขเรื่องการประชาสัมพันธ์ การสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานกับประชาชน เพราะที่ผ่านมาประเมินแล้วล่าช้า อึดอัดมาก



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ  โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 8


ต้นสัปดาห์หน้า มีประเด็นการเมืองร้อนต้องลุ้นระทึกกันอีกยก กับคิว "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขาธิการพรรค และรองนายกรัฐมนตรี สวมบทศิลปินเดี่ยว ว่าด้วยปม "วุฒิสมาชิก" ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส.ส. และ หากสำเร็จแล้ว ต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หากลงเอยเช่นนี้ เจ้าตัวคงต้องอำลายุทธจักร 
จากปมเดิมมีอยู่ว่า ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดของ "สุเทพ" จากกรณี ที่มีหนังสือไปยังกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้ส่ง ส.ส.และคณะรวม 19 คน ไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม เหตุเกิดเมื่อปี 2551 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ 
ป.ป.ช. ชี้มูลว่า เข้าข่ายมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และ 266 ว่าด้วยการห้ามใช้อำนาจแทรกแซงส่วนราชการ
แม้ "สุเทพ" จะอ้างว่าได้ขอถอนเรื่องการการส่ง ส.ส. คืนแล้วในภายหลัง แต่ ป.ป.ช. ถือว่า "เป็นความผิดสำเร็จแล้ว" ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 274 กำหนดว่า ป.ป.ช. ต้องส่งข้อกล่าวหา และผลชี้มูลความผิด ให้วุฒิสมาชิกลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง พ่วงกับถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี 
โดย "กล้านรงค์ จันทิก" โฆษก ป.ป.ช. เดินทางไปแถลงต่อ "สภาสูง" ด้วยตัวเอง และ "ส.ว." ให้ผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง แถลงต่อที่ประชุมแล้ว กำหนดวันลงมติเพื่อชี้ชะตา "สุเทพ" กันแล้ว ในวันอังคารที่ 18 กันยายน

นับเป็นอีกหนึ่ง "วิบากกรรม" ของ "คุณสุเทพ" เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" หรือ "ดีเอสไอ" เชิญตัวไปสอบปากคำในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เกี่ยวกับเหตุการณ์ "กระชับพื้นที่" สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ "ม็อบเสื้อแดง" ในปี 2553 จนเกิดชนวนตายหมู่ 98 ศพ 
ผลการสอบของดีเอสไอผ่านไปแค่ยกสองยก ค่อนข้างจะดุเดือดเร้าใจ ดวลกันมาราธอน คราวละ 7-8 ชั่วโมง 
ใครตกที่นั่งเดียวกันนี้ ต่อให้จิตใจแกร่ง เสริมใยเหล็กขนาดไหน ย่อมเกิดอาการ "ฝ่อ" ได้ง่ายๆ เช่นเดียวกัน 
และ แม้ว่าขบวนการถอดถอน ที่ ป.ป.ช. ยื่นให้ "ส.ว." ลงมติชำระสะสาง ดูประหนึ่งว่า "เหยียบไม่เต็มคันเร่ง" ผ่อนปรนอยู่ในทีก็ตาม 
โอกาสที่ ส.ว. จะสอย "สุเทพ" ร่วงหล่นจากเก้าอี้ คงเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เสียงวุฒิสมาชิก 3 ใน 5 จากจำนวนที่มีอยู่ ยอดเต็มคงเหลือ 146 คน หักลบกลบหนี้ตามระบบสัมประสิทธิ์แล้ว สัดส่วนผู้มีมติถอดถอนต้อง 89 เสียงขึ้น ซึ่งถือว่า "ยาก"



ยิ่งย้อนเกล็ดไปดูกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอดีต ใช้ข้อบังคับในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ฉบับและมาตราเดียวกัน พบว่า
1. กรณี "นพดล ปัทมะ" เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ 2.กรณี "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
มติในการสอย เสียงออกมาสูสีใกล้เคียงกัน แม้ว่าจำนวนผู้เห็นด้วยกับการถอดถอนจะชนะ แต่ไม่เข้าเกณฑ์ คือไม่ถึง 3 ใน 5 
ทั้งๆ ที่ว่าองคาพยพ เงื่อนไข วันเวลา จังหวะของ "นพดล-สมชาย" ขณะดำรงตำแหน่ง และถูก ส.ว. ลงมติถอดถอนนั้น ดูจะง่ายดายกว่า "สุเทพ" เสียด้วยซ้ำ 
แต่ "สุเทพ" จะประมาทพลาดเผลอไม่ได้เป็นอันขาด

ยิ่งเหลียวหลังไปดูผลการลงมติเลือกตั้งประธานวุฒิสภา แทน "พล.อ.ธีรเดช มีเพียร" ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ และปรากฏว่า "มวยรองบ่อน" ตลอดกาล "นิคม ไวยรัชพานิช" ส.ว.ฉะเชิงเทรา พลิกฝุ่นตลบเป็นฝ่ายชนะ "พิเชต สุนทรพิพิธ" ส.ว.สรรหาเต็งหนึ่ง ไปด้วยคะแนน 77 ต่อ 69 เสียง
"นิคม" พลิกแฟ้มให้ ส.ว.สายเลือกตั้ง ซึ่งไม่เคยกำชัยได้นั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภามาก่อนเลย เพราะทั้ง "ประสพสุข บุญเดช" และ "พล.อ.ธีรเดช มีเพียร" ที่ผงาดขึ้นเป็นหมายเลข 1 สภาสูง ล้วนมาจาก "สายสรรหา"
การที่ "นิคม" เบียดแทรกขึ้นมานั่งจ่าฝูงบนเก้าอี้ประธาน ส.ว. เหนือ "พิเชต" มีการวิพากษ์วิจารณ์ออกไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่า "สายเลือกตั้ง" เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นขึ้น บางกระแสก็ว่า "สายแต่งตั้ง" แตกคอกันเอง จนขาดเอกภาพ 
เหนืออื่นใดคือ เครือข่าย "เพื่อไทย" ที่มีอยู่ในสภาสูง ทั้งจาก "สรรหา-เลือกตั้ง" เทคะแนนเสียงให้ 
เมื่อนำ 77 เสียงที่ผลักดัน "นิคม" ขึ้นเป็นกระบี่มือหนึ่ง มาต่อจิ๊กซอว์คำนวณถึงเกมถอดถอน "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

หากสถานการณ์เกิดพลิกผัน ได้สัดส่วนเพิ่มเติมอีก 12 เสียง ผนวกหน้าตัก 77 เสียงที่เลือก "นิคม" เท่ากับว่าการสอย "สุเทพ" สัมฤทธิผล แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม 
พูดถึงกลุ่ม ส.ว. ที่มีความเป็นปึกแผ่นและพลังมากสุด ต้องยกเครดิตให้ "กลุ่ม 40 ส.ว." ที่รวมตัวจาก ส.ว.สรรหาและเลือกตั้ง 
หาก "กลุ่ม 40 ส.ว."ยังรวมพลังเทเสียงให้ "สุเทพ" ก็ย่อมอยู่รอดปลอดภัย แต่หากเกิดมีการแตกแถวไป 4-5 คน ย่อมจะเผชิญกับสถานการณ์อันตราย 
และทุกบริบทย่อมมีความเป็นไปได้ เพราะในจำนวน "กลุ่ม 40 ส.ว."ก็มีบางส่วนขบเหลี่ยม เหยียบตาปลากันอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์..."เกลียดทักษิณแต่ไม่เอาสุเทพ"
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงมติเพื่อถอดถอน และเว้นวรรค "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ในวันที่ 18 กันยายน ไม่น่าจะสำเร็จ เสียงคงไม่ถึง 3 ใน 5

แต่ดังที่บอก "อย่าประมาท" เพราะ "ความประมาทเป็นบ่อเกิดของความตาย"
การเมืองมันลูกกลมๆ เกมปิดเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน



+++

"มหาดไทย" ห้ามเล่นเฟซบุ๊ก อย่าใช้โทรศัพท์หลวงคุยเรื่องส่วนตัว สะท้อนพฤติกรรม "ฟุ้ง" แบบไทยๆ
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 11


ต้นกันยายน "ประชา เตรัตน์" รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ สั่งห้ามข้าราชการเล่นเฟซบุ๊กระหว่างเวลางาน 
เหตุผลไม่ซับซ้อน ง่ายๆ ก็คือ "การใช้งานดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ ทำให้สิ้นเปลืองช่องสัญญาณ" 
ข้อมูลที่น่าสนใจและน่าตกใจ คือ การใช้งานของระบบอินเตอร์เน็ตในรอบ 8 เดือน ของปี 2555 โดเมนที่มีจำนวนการเรียกใช้มากที่สุด 10 อันดับแรก เป็นการใช้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียง จากเว็บไซต์ของต่างประเทศในลักษณะออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์โซเชี่ยล มีเดีย ยอดฮิตนั่นเอง 
การใช้ เฟซบุ๊ก ของข้าราชการมหาดไทย ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ ทำให้สิ้นเปลืองช่องสัญญาณจำนวนมาก 
ผลเสียหาย คือ ทำให้การประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม ไม่ว่าจะระหว่างทำเนียบรัฐบาลมากระทรวง และกระทรวงไปจังหวัด หรือ ทำเนียบรัฐบาลไปจังหวัด เกิดปัญหาภาพหรือเสียงขัดข้อง การสื่อสารสะดุด เพราะข้อมูลเครือข่ายงานด้านการใช้ช่องสัญญาณหนาแน่นมาก 
เช่น ข้าราชการเปิดใช้อินเตอร์เน็ต 100 เครื่อง มีการเปิดหน้าจอเฟซบุ๊กหรือดาวน์โหลดภาพและเสียงผ่านเว็บไซต์ยูทูบถึง 80 เครื่อง ทำให้การใช้งานอีก 20 เครื่อง ในการสืบค้นข้อมูลทางราชการ เป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งหนังสือสั่งการระบบสารบรรณ ไม่สามารถเรียกขึ้นมาใช้งานได้ทันที 
คำสั่งดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการในการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต โดยระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ ที่ให้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียง เช่น เฟซบุ๊ก ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานบางเว็บไซต์ และงดการใช้งานเว็บออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป ในช่วงระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น.


จากคำสั่งห้ามเล่นเฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศ มาตรการห้ามข้าราชการใช้โทรศัพท์ของหน่วยงานคุยเรื่องส่วนตัวตามมาติดๆ 

เหตุครั้งนี้ก็คือ มีการเบิกจ่ายค่าโทรศัพท์พื้นฐานประจำสถานที่ของราชการสำนักปลัดฯ ในแต่ละเดือนมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ขอให้หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดควบคุมการใช้โทรศัพท์ของทางราชการ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมดังนี้
1. การใช้โทรศัพท์ทางไกลในประเทศหรือโทรทางไกลต่างประเทศ จะต้องเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติงานของทางราชการ โดยให้ลงสมุดคุมงานระบุด้วยว่า โทรไปที่ใด หมายเลขใด ภารกิจใด และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นรายเดือน
2. กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้โทรศัพท์เพื่อโทรทางไกลในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อติดต่อกิจธุระส่วนตัว ผู้ใช้จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระพร้อมกัน 
3. การดำเนินการตามข้อ 1. และข้อ 2. จะต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าหน่วยงานและจะต้องจัดให้มีทะเบียนควบคุมการใช้โทรศัพท์แต่ละประเภทตามที่กระทรวงการคลังกำหนด


บางที พฤติกรรมของ "คนมหาดไทย" ในการใช้สื่อยุคใหม่ อาจเป็นภาพสะท้อนคนไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ลองมาดูผลสำรวจและข้อมูลบางชุด ที่ยืนยันว่าคนไทยใช้เฟซบุ๊ก ติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในแง่คุณค่าของการใช้งาน ยังน่าสงสัย? 
จากเว็บไซต์ CheckFacebook.com เผยผลสำรวจการใช้งานเว็บไซต์เครือข่ายสังคมยอดฮิตของโลกอย่างเฟซบุ๊ก พบว่าไต้หวันเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานเฟซบุ๊กเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก อัตราการเติบโตอยู่ที่ 38.63% เพิ่มขึ้น 484,000 ราย  
อันดับ 2 เป็นเวียดนาม 15.75% เพิ่มขึ้น 90,740 ราย และอันดับ 3 คือ ประเทศไทย 14.86% เพิ่มขึ้น 133,740 ราย

เฟซบุ๊กกำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มนักท่องเน็ตเมืองไทย ถ้าจะว่ากันด้วยสถิติของผู้ใช้ Facebook เรียงตามประเทศแล้ว อเมริกาเป็นประเทศอันดับแรก ที่มีผู้เล่น Facebook ราวๆ 157 ล้านคน ตามมาด้วยบราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 16 มีผู้ใช้ Facebook 14 ล้านคน  
แต่ถ้าถามว่า ประเทศใดที่ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก องค์กร เวิลด์ไวด์เว็บ ฟาวเดชัน ทำการสำรวจประเทศที่ได้ชื่อว่าใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก พบประเทศสวีเดนครองอันดับ 1 ขณะที่สหรัฐ ตามมาเป็นอันดับ 2 
จากการสำรวจ 61 ประเทศทั่วโลกโดยเกณฑ์การชี้วัดแบ่งเป็น 7 ด้าน เช่น โครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านการสื่อสารและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เนื้อหาที่ปรากฏบนเว็บไซต์ และผลกระทบที่อินเตอร์เน็ตมีต่อสังคมเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

ประเทศสิงคโปร์ จัดเป็นประเทศที่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศไอร์แลนด์ ถือเป็นประเทศที่สามารถทำกำไรจากเว็บไซต์ได้สูงที่สุด โดยอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารมีผลต่อบัญชีการส่งออกสูงถึงร้อยละ 15 ของจีดีพี ในช่วงปี 2550 ถึง 2553  
แต่ผลสำรวจชุดนี้ ไม่ปรากฏว่าประเทศไทย ติดอันดับในการใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด



ก่อนหน้านี้ "นนท์ อิงคทานนท์" ผู้จัดการทั่วไป สายงานบริการบรอดแบนด์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ว่า แม้อินเตอร์เน็ตเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเกิดพนักงานใช้ในเรื่องส่วนตัวมากเกินไปก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานเท่าไรนัก 
"พนักงานก็ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานก็จะไปแย่งพื้นที่ช่องสัญญาณของระบบอินเตอร์เน็ตได้ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนมากกว่า ระบบสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง" นนท์ กล่าว 
ขณะที่ "เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง" คอลัมนิสต์ "โลกหมุนเร็ว" ในมติชนสุดสัปดาห์ เคยสะท้อนพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีคนไทย ว่า ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุด และงี่เง่ามากที่สุด...เป็นที่รู้กันไปทั่วโลก 

อาจเป็นเพราะ มาตรฐาน "ข้าราชการ" แบบไทยๆ ไม่เหมือน สวีเดน ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ หรือสหรัฐ จึงทำให้ต้องสั่งห้ามใช้เฟซบุ๊กและโทรศัพท์หลวงเพื่อเรื่องส่วนตัว



+++

วิ่ง สู้ ฟัด "เสถียร-สุกำพล" จาก สนามไชย ถึง ลอนดอน ศึกชิงศาล โผทหาร เป็นตัวประกัน จับตา ตท.13 ปึ้ก ตท.14 แรง
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674  หน้า 14


เห็นทีสงครามสนามไชย จะยังไม่จบง่ายๆ เสียแล้ว... 
บรรยากาศในกลาโหมกำลังเต็มไปด้วยความอึมครึม การแบ่งข้างแบ่งฝั่ง หวาดระแวง หวาดหวั่น พร้อมใบปลิวบัตรสนเท่ห์ ที่ปลิวว่อนกลาโหม
เมื่อฝ่ายหนึ่งฟ้องศาลปกครอง อีกฝ่ายหนึ่ง ก็แฉขบวนการที่ลากยาวไปถึงนายทหารลูกน้อง จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนการทุจริต เพื่อดิสเครดิตกัน 
ที่หนักกว่านั้นคือ เกิดความแตกแยก หวาดระแวงกันเอง ว่า ใครจะเป็นไส้ศึก เป็นสายลับ สายข่าวของอีกฝ่ายหนึ่ง จนทำให้นายทหารอากาศในสำนักปลัดกลาโหม อยู่อย่างลำบาก เพราะถูกสงสัยว่าจะคาบข่าวไปบอกฝ่าย รมว.กลาโหม 
ทหารอากาศบางนาย ถูกส่งตัวกลับสังกัดเดิมเลยทีเดียว


แม้ว่า บิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม ที่ถูก บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 มาตรา 24 ย้ายไปช่วยราชการสำนัก รมว.กลาโหม จะมั่นใจว่า ศาลปกครอง จะรับพิจารณาคดี และให้ทุเลาคำสั่งโยกย้าย คุ้มครองฉุกเฉิน เพื่อกลับไปทำหน้าที่ปลัดกลาโหม และทวงคืนอำนาจในการจัดโผทหารต่อ จนหวั่นกันว่า โผทหารจะต้องรื้อกันใหม่ และล่าช้า ก็ตาม
แต่รอแล้วรอเล่า ศาลปกครอง ที่มีองค์คณะ 3 ท่าน ก็ยังไม่มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการว่าตัดสินว่าอย่างไร ทั้งๆ ที่ทนายความฝ่าย พล.อ.เสถียร กระซิบนักข่าวว่า ศาลรับฟ้องและคุ้มครองแน่ แต่ก็คงมีแรงกดดันศาลจากหลายทาง 

ด้วยเพราะมั่นใจในเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นฟ้อง แย้งว่า ไม่ใช่คดีวินัยทหาร เนื่องจากในคำสั่ง 383/55 นั้น ไม่ได้ระบุว่า พล.อ.เสถียร ได้ทำความผิดวินัย แต่ระบุแค่ว่า "เพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงกลาโหม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย" 
รวมทั้งมีบันทึกการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายพล ที่มี พล.อ.อ.สุกำพล รมว.กลาโหม บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. และ พล.อ.เสถียร ปลัดกลาโหม เมื่อ 17 สิงหาคม 2555 ไว้ด้วย 
ไม้เด็ดก็คือ มีเทปบันทึกเสียง คำสั่งการของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่แทรกแซงการโยกย้ายของสำนักปลัดกลาโหม ด้วยการสั่งให้ พล.อ.เสถียร เสนอชื่อ บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผช.ผบ.ทบ. เป็นปลัดกลาโหม จนเป็นที่มาของ "วิวาทะแห่งศักดิ์ศรี" ระหว่าง พล.อ.เสถียร กับ พล.อ.อ.สุกำพล อันนำมาซึ่งการที่ พล.อ.เสถียร ทำหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี และองคมนตรี 
เพราะวิวาทะนี้ ที่ทำให้ พล.อ.เสถียร ต้องสบถกับลูกน้องแจงเหตุที่ทำให้เขาต้องดับเครื่องชนว่า "คนอย่างพี่มีศักดิ์ศรี เป็นนักรบ จะมาให้ใครมาพูดแบบนี้ไม่ได้ แล้วจะยึดหลักการที่ถูกต้อง ตายเป็นตาย"

แต่ฝ่ายนายทหารพระธรรมนูญของ พล.อ.อ.สุกำพล ยื่นแย้งว่า บันทึกการประชุมเป็นเท็จ เพราะไม่ได้มีการลงนามรับรองจากประธานที่ประชุมคือ รมว.กลาโหม เพราะตามหลักการแล้ว บันทึกการประชุมจะต้องให้มีการลงนาม 
อีกทั้งการแอบบันทึกเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหรือที่ประชุม ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และพบว่า มีการตัดต่อเสียงบางส่วนบางตอน เพื่อมาใช้ประโยชน์เท่านั้น และถือว่า จงใจที่จะอัดเสียง มีการวางแผนมาแล้ว พร้อมทั้งแย้งว่า สิ่งที่ พล.อ.อ.สุกำพล พูดนั้น เป็นแค่ "ข้อหารือ" ไม่ใช่ "การสั่งการ" 
ที่สำคัญ ฝ่าย พล.อ.อ.สุกำพล พบว่า เอกสารในการยื่นคำร้องของ พล.อ.เสถียร พบว่า ลายเซ็นในบางจุด ไม่ใช่ลายเซ็นของ พล.อ.เสถียร หรือเรียกว่าลายเซ็นปลอม ไม่ว่าจะมีใครเซ็นแทน หรือเป็นการรีบเร่งในการยื่นฟ้องก็ตาม แต่ก็ถือว่าจงใจยื่นเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาล ซึ่งถือว่ามีความผิดร้ายแรง 
นี่เองที่ทำให้ พล.อ.อ.สุกำพล มั่นใจว่า ศาลจะต้องตรวจสอบเรื่องหลักฐานเท็จ และอาจยกคำร้อง หรือให้คำร้องเป็นโมฆะ



ไม่แค่นั้น ยังมีการนำคำสั่งในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยของ พล.อ.เสถียร และ บิ๊กกี๋ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหม และ บิ๊กหน่อง พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา มาแสดงต่อศาลด้วย 
เพราะก่อนที่ พล.อ.อ.สุกำพล จะลงนามในคำสั่งให้มาช่วยราชการนั้น ทาง บิ๊กกุ้ง พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน เลขานุการ รมว.กลาโหม ได้ทำหนังสือตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ก่อนแล้ว จากนั้นในวันที่ 27 สิงหาคม จึงมีคำสั่งย้ายให้มาช่วยราชการ และคำสั่งมอบหมายงานให้รับผิดชอบ ดังนั้น ศาลปกครองจึงไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับวินัยทหาร 
โดยคำสั่งเหล่านี้ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ในเบื้องแรก เพราะเป็นเรื่องภายใน แต่ได้มีการนำมาเป็นหลักฐานต่อศาลปกครองครบหมดทุกคำสั่งแล้ว 

ความผิดอีกกระทงของ พล.อ.เสถียร คือ การทำหนังสือจากกลาโหม โดยไม่ได้มี รมว.กลาโหม เจ้ากระทรวงลงนามไปถึงนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี ถือว่าผิดขั้นตอน เพราะไม่ว่าหนังสือใดๆ จะต้องให้ รมว.กลาโหม ลงนามก่อน ซึ่งอาจเพราะลืมหรือจงใจข้ามขั้นตอน
"พล.อ.อ.สุกำพล ท่านใจดี ยังไว้หน้า ท่านสั่งตอนร่างคำสั่งว่า อย่าไปเขียนแรง ต้องให้เกียรติ เพราะ พล.อ.เสถียร เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เลยไม่ได้ระบุในคำสั่งว่า ได้กระทำความผิดวินัยทหาร ซึ่งผลสอบสวนคือ ผิด เพราะแค่กล่าวอาฆาตมาดร้ายผู้บังคับบัญชาก็ผิดวินัยแล้ว แต่นี่เอาความลับทางราชการ ความลับการแต่งตั้งโยกย้าย ออกมาเปิดเผยก่อนที่จะมีโปรดเกล้าฯ ลงมา ถือว่าผิด และยังทำให้เกิดความแตกแยกภายใน และสร้างความเสียหายอย่างมิบังควร" บิ๊กอู๊ด พล.อ.วิทวัส รัชตะนันทน์ รองปลัดกลาโหม และรักษาการปลัดกลาโหม เผย

ไม่แค่นั้น พล.อ.อ.สุกำพล ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมกันด้วย โดยให้ 4 จอมพล ของ 4 เหล่าทัพ เป็นคณะกรรมการ โดยมี พล.อ.อ.สุปรีชา กมลาศน์ฯ ประธานที่ปรึกษา บก.กองทัพไทย เพื่อน ตท.10 ของ พล.อ.อ.สุกำพล เป็นประธาน ร่วมด้วย บิ๊กเล็ก พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ประธานที่ปรึกษา ทบ. เพื่อน ตท.11 ของ พล.อ.เสถียร พล.อ.ทนงศักดิ์ และ พล.อ.วิทวัส มี บิ๊กหมวย พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ (ตท.12) ประธานที่ปรึกษา ทร. และ บิ๊กใหญ่ พล.อ.อ.พิธพร กลิ่นเฟื่อง ประธานที่ปรึกษา ทอ. เพื่อน ตท.10 ของบิ๊กโอ๋ ด้วย 
"แต่คณะกรรมการนี้ ได้หยุดดำเนินการไว้ก่อน เมื่อ พล.อ.เสถียร ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะไม่อาจเรียก พล.อ.เสถียร มาสอบสวนได้ และเรียกก็คงไม่มา" พล.อ.วิทวัส แจง


นี่เป็นเหตุผลที่ พล.อ.อ.สุกำพล ได้ไปชี้แจงให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและเพื่อน ตท.10 รับทราบถึงเซฟเฮ้าส์ ที่เป็นอพาร์ตเมนต์ ที่ลอนดอน เมื่อ 8-9 กันยายนที่ผ่านมา 
และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจทูลเกล้าฯ โผทหาร หลังจากที่ พล.อ.อ.สุกำพล กลับมาเมื่อ 10 กันยายน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่กล้าแตะ เพราะรอคำสั่งศาลปกครองเสียก่อน 
แต่เมื่อมีข่าววงใน ถึงแนวโน้มการตัดสินของศาลปกครอง ที่คงต้องดูเรื่องผลกระทบที่จะตามมา ทั้งข้อดีข้อเสียแล้ว เพราะหากรับฟ้อง อีกหน่อยทหารก็จะฟ้อง "นาย" กันนัว และส่งผลต่อโผทหาร แต่หากไม่รับฟ้องก็เท่ากับยืนยันอำนาจ รมว.กลาโหม ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.กลาโหม ต้องการป้องกันการเมืองแทรกโยกย้ายทหาร 
รวมทั้งได้รับคำยืนยัน เรื่องความถูกต้องของการประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับนายพล ครั้งที่ 2 เมื่อ 5 กันยายน นั้น เป็นการประชุมสีขาว ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ และไม่มีผลย้อนหลัง หากศาลปกครองรับฟ้องคดีหรือ ให้ทุเลาคำสั่งย้าย 
"ไม่ว่าคำสั่งศาลปกครองออกมาอย่างไร จะไม่มีผลต่อบัญชีรายชื่อโยกย้ายทหาร เพราะที่ประชุมซึ่งมีทั้ง รมว.กลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. มีมติร่วมกันว่า ไม่ต้องให้ พล.อ.เสถียร และผมเอง เข้าร่วมประชุม และองค์ประชุมครบ 2 ใน 3" พล.อ.วิทวัส กล่าว
อีกทั้งในการประชุมบอร์ด เมื่อ 5 กันยายน ก็ได้มีการรับรองบันทึกและผลการประชุม เมื่อ 17 สิงหาคม ที่ระบุว่า ผบ.เหล่าทัพซึ่งเป็นคณะกรรมการ ก็เห็นด้วยกับ "ข้อหารือ" ของ รมว.กลาโหม ในตำแหน่งปลัดกลาโหมคนใหม่

"พล.อ.อ.สุกำพล ท่านต้องทำ ต้องเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะปกครองกันไม่ได้ และจะเสียหาย ไม่ใช่ว่าผมอยากจะรักษาการปลัดกลาโหม นะ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมก็รักษาการมาหลายครั้ง ในเวลาที่ พล.อ.เสถียร ไม่อยู่ ไปต่างประเทศ" พล.อ.วิทวัส กล่าว 
"แล้วเมื่อผมรักษาการปลัดกลาโหม ตั้งแต่ 27 สิงหาคม ก็ไม่ต้องห่วงว่าผมจะล้างบาง หรือกลั่นแกล้งลูกน้อง พล.อ.เสถียร เพราะก็ลูกน้องผมเหมือนกัน ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2533 ผมรู้จักทุกคนดี ทุกคนเรียก พี่อู๊ดๆ ผมมีคุณธรรม จริยธรรม และคุณธรรมพอ" บิ๊กอู๊ด กล่าว


เหล่านี้ จึงทำให้ฝ่าย พล.อ.อ.สุกำพล รู้สึกว่าได้เปรียบ โดยเฉพาะเมื่อบินไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ลอนดอนมาด้วยแล้ว ก็ยิ่งโล่งใจ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ พล.อ.เสถียร ทำไป ทั้งๆ ที่เขาได้ขอร้องให้หยุดไปแล้ว 
"นี่มันพวก "พพม." พังเพราะเมีย" ประโยคสั้นๆ จากปากนายใหญ่ที่ลอนดอน ที่เขาไม่อยากตำหนิอะไรมาก เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน 
รวมทั้งบางประโยคของบรรดาหลังบ้าน ที่ฟันธงว่า หลังเกษียณ พล.อ.เสถียร จะมาเป็น รมว.กลาโหม จึงจะดัน พล.อ.ชาตรี มาเป็นปลัดกลาโหม เพื่อทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพราะมั่นใจว่า เคลียร์ได้ แม้จะเป็น ตท.14 รุ่นน้อง ผบ.เหล่าทัพ ไม่เหมาะไปยืนหัวแถว หรือมีอายุราชการถึงปี 2558 ไม่จำเป็นต้องรอ ก็ตาม ก็ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่ายหน้า 
ที่มากกว่านั้น การไปลอนดอนครั้งนี้ ไม่ใช่ไปพักผ่อนส่วนตัว คลายเครียดหลังจัดโผทหาร หรือศึกกลาโหม เท่านั้น แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องการไปเช็กเรตติ้งในสายตาเพื่อนแม้ว และทดสอบความมั่นคงของเก้าอี้ รมว.กลาโหม ของเขาเองด้วย
แต่ศึกครั้งนี้ แม้จะทำให้ภาพ พล.อ.อ.สุกำพล น่าเกรงขามมากขึ้น เด็ดขาดมากขึ้น แต่ก็เห็นชัดว่า เขาพยายามสงบปากสงบคำ ให้สัมภาษณ์น้อยลง และไม่มีรอยยิ้มชื่นหรือเสียงหัวเราะร่าให้ได้ยินเช่นเดิมอีกแล้ว เพราะเขาก็ไม่รู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะรออยู่เบื้องหน้า เพราะ พล.อ.เสถียร คงไม่หยุด แล้วเขาเองก็หยุดไม่ได้ 
แต่ต้องรอดูว่า จะมีปฏิกิริยาและความเคลื่อนไหวใด ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ และทำเนียบองคมนตรี ต่อกรณีนี้หรือไม่ เมื่อนายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ โผทหารไปแล้ว



แต่ไปๆ มาๆ ทริปด่วนลอนดอนครั้งนี้ กลับทำให้นายทหารดาวรุ่งในกลาโหม อย่าง บิ๊กหม่อม พล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ฯ และ บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผน ที่ได้ขยับขึ้น รองปลัดกลาโหม ทั้งคู่ ตกเป็นเป้าในการถูกโจมตี 
ด้วยเพราะเป็นมือไม้ของ พล.อ.อ.สุกำพล ในการทำงานต่างๆ ในกลาโหม เพราะ พล.อ.ประสบชัย ก็ถือเป็นดาวรุ่งของ ตท.13 ที่มีผลงานจากการหาหลักฐานการหลีกเลี่ยงทหารของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วน พล.อ.นิพัทธ์ ก็เป็นดาวรุ่งของ ตท.14 ที่ทำงานด้านการต่างประเทศ ชายแดน และอเมริกา ที่ถูกวางตัวไว้เป็นปลัดกลาโหมกันในอนาคตอันใกล้ เพราะมีอายุราชการถึงปี 2558 และ 2559 
นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไม พล.อ.ชาตรี จึงไม่อาจร้องเพลงรอ ให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกลาโหม 1 ปี แล้วรอเป็นต่อ เพราะรู้ว่า พล.อ.นิพัทธ์ เพื่อน ตท.14 ของเขาเอง ขยับขึ้นมาจ่อแล้ว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เขาเกษียณ 2558 เรียกว่า ต่อคิวกันเป็นก็ได้ 
แต่เรื่องของอำนาจไม่เข้าใครออกใคร ไม่มีสัญญิงสัญญา ไม่มีอะไรแน่นอน พล.อ.ชาตรี จึงต้องสู้
จนทำให้เก้าอี้ปลัดกลาโหม ไม่เพียงสร้างตำนานร้าวของเพื่อนรัก ใน ตท.11 ระหว่าง พล.อ.เสถียร ที่ข้ามจากประธานที่ปรึกษา บก.ทัพไทย มาเป็นปลัดกลาโหม ตัดหน้า พล.อ.วิทวัส ลูกหม้อ เมื่อปีที่แล้ว จนมาถึงกรณี พล.อ.ทนงศักดิ์ ในครั้งนี้แล้ว ยังทำให้เกิดรอยร้าวใน ตท.14 ทั้ง พล.อ.ชาตรี พล.อ.พิณภาษณ์ กับ พล.อ.นิพัทธ์ อีกด้วย


ตท.14 เป็นรุ่นที่มาแรงและน่าจับตามอง เพราะจากการจัดทัพครั้งนี้ กำลังคุมสายงานสำคัญ โดยเฉพาะความมั่นคงและการวางแผนต่างๆ
นอกจาก พล.อ.นิพัทธ์ ขึ้นครองอัตราจอมพล เป็นรองปลัดกลาโหม แล้ว ยังมีการดัน พล.ต.ไพชยนต์ ค้าธัญเจริญ รอง ผอ.สนผ. เพื่อน ตท.14 ขึ้นเป็น ผอ.สนผ. แทน โดยที่ ทบ. มี บิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนใจนาทีสุดท้าย ให้มาเป็น เสนาธิการทหารบก เพื่อที่จะให้เป็นเลขาธิการ กอ.รมน. เพื่อเตรียมทำงานสำคัญ เพื่อเตรียมเป็น ผบ.ทบ. คนต่อไป และมี บิ๊กโบ้ พล.ท.อักษรา เกิดผล ขยับเป็น รอง เสธ.ทบ. ทำงานด้านยุทธการและงาน กอ.รมน. ช่วยกันอีกด้วย  
พล.อ.นิพัทธ์ กับ พล.ท.อุดมเดช ถือเป็นเพื่อนรักเพื่อนเลิฟกัน ที่จะทำให้การทำงานประสานงาน ทีมเวิร์ก และอาจจะขึ้นคุมกองทัพพร้อมกัน ยิ่งเมื่อเล็งไปจะเห็น บิ๊กแมว พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร น้องรักของ พ.ต.ท.ทักษิณ เตรียมตัวที่จะเป็น เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพราะทางกองทัพเองก็อยากให้เลขาฯ สมช. เป็นทหารมากกว่าตำรวจ

แต่รุ่นที่ไม่อาจมองข้ามคือ ตท.13 ที่แน่นปึ้กเป็นเอกภาพ เพราะ บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ พร้อมด้วยเพื่อนที่ขยับมาเป็นห้าเสืออากาศ ทั้ง บิ๊กเพิ่ม พล.อ.อ.เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์ ที่ขึ้น รอง ผบ.ทอ. บิ๊กแป๊ะ พล.อ.ท.อารยะ งามประมวญ รอง เสธ.ทอ. ที่ขึ้นเป็น เสธ.ทอ. และฝ่ายตำรวจก็มี บิ๊กอู๋ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น ว่าที่ ผบ.ตร.
ส่วนในห้าเสือ ทบ. มี บิ๊กอ๋อย พล.ท.จิระเดช โมกขะสมิต รอง เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. แต่ก็ไม่อาจลุ้นเป็น ผบ.ทบ. เพราะเกษียณ 2557 พร้อม พล.อ.ประยุทธ์ 
ส่วน บิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ขยับจาก เสธ.ทบ. เป็น ผช.ผบ.ทบ. แม้ว่าจะเกษียณ 2558 แต่ก็คงไม่อาจสู้ พล.ท.อุดมเดช ที่โตมาในสายคอมแมนด์ ที่ขยับเป็น เสธ.ทบ. และจ่อเป็น ผบ.ทบ. ได้ 
ส่วนที่ ทร. นอกจากจะมี บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ เป็น ผบ.ทร. อยู่แล้ว ก็คาดกันว่า ผบ.ทร. คนต่อไป ในกันยายน 2556 ก็จะยังคงเป็น ตท.13 เนื่องจากยังเหลืออายุราชการอีกหลายปี  
โดยเฉพาะทั้ง 3 คนที่ขึ้นมาอยู่ในห้าฉลาม ทั้ง บิ๊กต้อม พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ที่คาดจะขยับครองอัตราจอมพล ประธานที่ปรึกษา ทร. บิ๊กต้อม พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม ผช.ผบ.ทร. และโดยเฉพาะ บิ๊กเข้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รอง ผบ.ทร. แม้ว่าจะมี ตท.15 ที่พยายามแทรกขึ้นมา ทั้ง บิ๊กจุ๊ พล.ร.ท.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ และ บิ๊กตัน พล.ร.ท.ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ ที่มีอายุราชการถึงปี 2558 ก็ตาม

แต่ที่แน่ๆ แม้แต่นายทหารรุ่นหลัง อย่าง ตท.28 ก็ยังถูกลากดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับศึกสายเลือด และการจัดทัพต่างๆ ในคราวนี้ด้วย 
แต่ใครๆ ก็รู้ว่า สงครามนี้ไม่มีวันจบ และต้องติดตามตอนต่อไปด้วยใจระทึกพลัน



+++

"บิ๊กอ๊อบ" วางมือ-ส่งไม้ "บิ๊กอู๋" ร่างนโยบายเคลื่อนทัพสีกากี มุ่งเน้น "ผู้นำ 4 ระดับ" หัวใจหลัก 
คอลัมน์ โล่เงิน  ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 99


นับแต่ย่างก้าวเข้าเดือนกันยายน มีการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนความ "ชัดเจน" ในรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายประการ ภายหลังการแต่งตั้งระดับนายพลตำรวจ ตั้งแต่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) จนถึง ผู้บังคับการ (ผบก.) วาระประจำปี 2555 เรียบร้อยลงตัว ซึ่งน่ายินดีตรงที่การแต่งตั้งวาระประจำปีครั้งนี้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎว่าด้วยการแต่งตั้งฯกำหนดไว้
ความชัดเจนเรื่องที่หนึ่ง คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนปัจจุบัน คล้าย "วางมือ" จากการทำหน้าที่ ผบ.ตร. ในทางพฤตินัยแล้ว ออกไปทุ่มเทงานปราบปรามยาเสพติด ตามล่าขบวนการค้ายานรก "เล่นบทบู๊" ซึ่งเป็น "บทถนัด" ทิ้งทวนในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนวันเกษียณอายุราชการ พร้อม "ยื่นบท" ผบ.ตร. ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ ผบ.ตร. คนต่อไป รับไปซ้อมแบบซิมูเลเตอร์ เสมือนจริง ก่อนรับส่งมอบตำแหน่ง อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 นี้  

อีกความชัดเจน คือ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. อดีต แคนดิเดต ผบ.ตร. ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าจะโยกไปนั่งกินตำแหน่งใหญ่นอกหน่วย ชัดเจนว่า ยังไม่โยกย้ายไปไหนและโชว์สปิริต เลือกปิดจ๊อบชีวิตตำรวจ บนตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ต่อไป 
ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. เครดิตดีในรัฐบาล "นายกฯ ปู" ได้รับเลือกเป็นกรณีพิเศษ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ เลขาธิการ ป.ป.ส. ควบเก้าอี้ รอง ผบ.ตร. สานงานต่อจาก พล.ต.อ.อดุลย์ ที่หมดสัญญา 1 ปี บนตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส. ในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดย พล.ต.อ.อดุลย์ จะมานั่งเป็น ผบ.ตร. ตัวจริงเต็มตัว
ทั้งนี้ เป็นการเข้าไปสานงานต่อสัญญา 1 ปี ที่ดูคล้ายเดินตามรอย "เส้นทางโค้งสุดท้ายสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร." ของ พล.ต.อ.อดุลย์ อย่างกับสะกดรอยตาม 
แต่จะเป็นการเดินตามรอยที่ทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ตามอย่าง พล.ต.อ.อดุลย์ หรือไม่ ยังเป็นเรื่องอนาคต ที่ลืมไม่ได้เลยว่าการจะเป็น ผบ.ตร. นั้นมีองค์ประกอบและปัจจัยมากกว่าเส้นทางเดิน

กระนั้น การมานั่งเก้าอี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. ของ พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่ใช่เพียงแค่ "บทบาท" เมื่อมานั่งเก้าอี้เท่านั้น แต่กลายเป็น "บริบท" ของการเข้าครองเก้าอี้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการปรากฏชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ รับตำแหน่ง เบอร์ 1 ป.ป.ส. ต่อจาก พล.ต.อ.อดุลย์ นำมาสู่ภาวะ ตะลึงงันของคนในรั้ว ป.ป.ส. เมื่อตำแหน่งใหญ่กลายเป็นเก้าอี้ "ถูกสัมปทาน" โดยคนนอก เป็นภาวะและบรรยากาศที่ต่างกับตอนมีชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ เป็นเลขาธิการ ป.ป.ส. เมื่อปีก่อน 
เป็นความชัดเจนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เกี่ยวโยงไปยังหน่วยข้างเคียง!!


โฟกัสการ "วางมือ" ของ "บิ๊กอ๊อบ" พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา เห็นการขับเคลื่อนบทบาทผู้นำทัพตำรวจ โดย "บิ๊กอู๋" พล.ต.อ.อดุลย์ ค่อนข้างชัดเจน แม้จะเป็นการเล่นบทแบบยั้งมือ ใส่ไม่เต็มสูบ เพราะ "สไตล์บิ๊กอู๋" จะให้เกียรติ และหลีกเลี่ยงการ "ออฟไซด์" เสมอ แต่ระยะนี้หลายภารกิจที่ต้องใช้การบังคับบัญชาจากระดับ ตร. "บิ๊กอ๊อบ" มักจะมอบหมาย "บิ๊กอู๋" เกือบจะเบ็ดเสร็จ
สำหรับ พล.ต.อ.อดุลย์ นั้น เมื่อได้รับเลือกเป็น ผบ.ตร. และมีสัญญาณ "ชัวร์" จึงเดินหน้าจัดทำร่างนโยบาย และแผนขับเคลื่อนนโยบาย ฉบับ ผบ.ตร. คนที่ 9 ทันที ซึ่งร่างนโยบาย ผบ.ตร.อดุลย์ ประกอบด้วย "นโยบายทั่วไป 9 ข้อ นโยบายเน้นหนัก 10 ข้อ โดยกำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จ 5 ข้อ" 
"หัวใจหลักของแนวนโยบายของผม จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา คือการปฏิบัติงานใดๆ การขับเคลื่อนต้องมีเจ้าภาพ มีผู้นำที่ดี งานจึงสำเร็จ ซึ่งในงาน ตร. ผมกำหนดผู้นำ 4 ระดับ คือ ระดับ ตร. นั่นคือผมที่จะเป็น ผบ.ตร. ระดับกองบัญชาการ คือผู้บัญชาการหน่วย เน้นที่ผู้บัญชาการพื้นที่ ระดับต่อมาคือผู้บังคับการ และลงมาถึงระดับหัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้กำกับการ ผมเน้นว่าผู้นำในยุคนี้ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกด้าน ต้องพร้อมรับผิดชอบทั้งความสำเร็จและล้มเหลว" พล.ต.อ.อดุลย์ เผยถึงหัวใจการขับเคลื่อนทัพตำรวจ ฉบับ ผบ.ตร. คนที่ 9 
หากใครเคยอ่านหนังสือคู่มือ "ผู้นำหน่วยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า" ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ จัดทำขึ้น สมัยนั่งบัญชาการทัพดับไฟใต้ เป็น ผบ.ศปก.ตร.สน. อธิบายเรื่อง "ผู้นำ" ไว้ชัดเจน 
และน่าจะบ่งบอกถึงลักษณะ "ผู้นำ" ในใจ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้!?



ในหัวข้อ "คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้นำหน่วย" ในตำราของ พล.ต.อ.อดุลย์ บอกไว้ถึงการนำหน่วยรบ จะต้องมีเครื่องหมายบอกคุณธรรม 6 ประการ 1.มีสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด 2.มีความเที่ยงธรรม 3.มีความเมตตา 4.มีความกล้าหาญ 5.มีความเข้มงวดเด็ดขาด และ 6.มีความพร้อม (รบ) 
"ตำราบิ๊กอู๋" พูดถึงปัจจัยในการปกครองบังคับบัญชาคนไว้ว่า ผู้นำ ต้องมีความรู้เหนือกว่าเขา ต้องมีความอดทนดีกว่าเขา จะบ่นว่าทำงานหนักกว่า เหนื่อยกว่าคนอื่นไม่ได้ ต้องมีความสามารถในการทำงานยอดเยี่ยมกว่าเขา ต้องคิดถึงความคุ้มค่าของเงินเดือน คือเงินเดือนมากก็ต้องทำงานมากกว่าคนอื่นที่เงินเดือนน้อยกว่า 
ผู้นำในสเป๊ก "บิ๊กอู๋" เขียนไว้ว่า ต้องรอบรู้ทุกอย่าง ต้องรอบรู้ในงานฝ่ายอำนวยการของหน่วย ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความคิดและการปฏิบัติแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะที่ผู้นำหน่วยเมื่ออยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ก็ต้องเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีด้วย

ในหัวข้อที่ว่าผู้นำหน่วยพึงหลีกเลี่ยงในเรื่องอะไรบ้าง ตำราของ "บิ๊กอู๋" เขียนไว้ 23 ข้อ อาทิ "พูดจาข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะขังหรือปลดออกจากราชการตลอดเวลา ปฏิเสธความผิดพลาดของตนเสมอ(ตนไม่เคยผิด) โยนความผิดให้ผู้อื่น ตัดสินใจช้า ไม่เด็ดขาด ไม่ทันเวลา ขาดความรับผิดชอบ แสดงให้ความเห็นลำเอียง ให้ความสำคัญกับตนเองมากเกินไป ไม่สนับสนุนหรือต่อสู้เพื่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างจริงใจ" 
เหล่านี้เป็นตัวอย่าง "ข้อห้าม" ของผู้นำในตำราของ ว่าที่ ผบ.ตร.อดุลย์ ที่น่าจะสะท้อนถึง ข้อห้าม "ผู้นำ" และ "หลัก" การบังคับบัญชา ในยุค ผบ.ตร.อดุลย์ !!

อย่างไรก็ตาม การออกสตาร์ตขับเคลื่อน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เวอร์ชั่น ซ้อมใหญ่ ที่ "พล.ต.อ.อดุลย์" ประกาศกร้าวออกหน้าเป็นแม่ทัพขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนใต้ และยาเสพติดด้วยตนเอง "นั่งหัวโต๊ะ" เอง นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับ "ผบ.ตร."

ทำให้ทุกก้าวย่างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติของ พล.ต.อ.อดุลย์ นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป น่าจับตายิ่ง!!



.