http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-07

ฯเขื่อน(น้ำลาย)แตก!ฯ, ลึกแต่ไม่ลับ 7ก.ย.55

.
คอลัมน์ ในประเทศ - จัดขบวนทัพ "มหาดไทย" รับเทศกาล "แดง" ทั้งแผ่นดิน
รายงานพิเศษ - ร้อน ร้าว ลึก สงครามใต้ดิน ศึกกลาโหม "สุกำพล" ชน "เสถียร-ชาตรี" เกมนี้ไม่มีวันจบ
คอลัมน์ โล่เงิน - ศาลชี้ชะตาสลายม็อบคดีแรก "ธาริต" โยง 2,000 คดี พยายามฆ่า


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มหาอุทกภัย-การเมือง เขื่อน(น้ำลาย)แตก! ท่วมคลองกรุงเทพฯ
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 13


ทันทีที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ออกมากล่าวถึงการปล่อยน้ำเพื่อทดสอบระบบคูคลองในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 
จากเรื่องบริหารจัดการน้ำ ก็กลายเป็น"น้ำลาย"ทางการเมืองทันที
สาเหตุหนึ่ง เพราะถึงนายปลอดประสพ จะเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) แต่ก็เป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย
เหนือสิ่งอื่นใด น่าจะเป็นเพราะพื้นที่ทดสอบการปล่อยน้ำ คือกรุงเทพมหานคร 
ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การยึดครองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เพียงแต่มี ส.ส. อยู่จำนวนมาก แม้แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 
เมื่อครั้งประเทศไทยและกรุงเทพฯ ประสบกับมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 อยู่ในจังหวะรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียงไม่กี่วัน
ในตอนนั้นสังคมพยายามจะหาคำตอบว่า การบริหารจัดการผิดพลาดอันเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลใดต้องเป็นผู้รับผิดชอบ 
เนื่องจากต้นตอปัญหาเกิดขึ้นในช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลใหม่ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับรัฐบาลเก่า ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่คำตอบดังกล่าวดูเหมือนจะไร้ความหมาย เพราะไม่ว่าต้นเหตุปัญหาจะเกิดขึ้นในยุครัฐบาลใด แต่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ต้องรับผิดชอบต่อผลของมันอยู่ดี 
ในช่วงนั้นจึงได้เห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่โต้เถียง 
รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นมา มอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน 
แต่เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมมากถึง 65 จังหวัด ผู้ประสบภัยมีมากกว่า 4 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 13 ล้านคน ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยากลำบาก

เนื่องจากเป็นรัฐบาลมือใหม่ ยังไม่สามารถรวบรวมผู้มีความรู้ประสบการณ์จากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคนักวิชาการและภาคสังคม ให้เข้ามาร่วมกันทำงานได้ทันท่วงที ทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างสะเปะสะปะและไม่ทั่วถึง 
แต่ที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดสำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตอนนั้น 
คือการไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในเครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่า และพรรคการเมืองที่ยังทำใจยอมรับไม่ได้กับผลเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554


จากภาพใหญ่ของเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 
ส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ คือกระจกสะท้อนให้เห็นถึงการฉวยโอกาสนำความทุกข์ร้อนของประชาชนมาเป็นเกมการเมือง มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน 
บนพื้นฐานความคาดหวังว่า ด้วยขนาดของปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำ และจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ จะหวดกระหน่ำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้หลุดลอยไปกับสายน้ำโดยไม่ทันตั้งตัว  
แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาศัยการ"ดีแต่ทำ" เป็นเครื่องนำพารัฐบาลรอดพ้นจากวิกฤตครั้งใหญ่มาได้ แม้จะทุลักทุเลอยู่มากก็ตาม 
หลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ เมื่อรัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ก็ตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา 2 คณะ คือ 
คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) 
การแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ ได้รับเสียงสนับสนุนตอบรับจากสังคม เนื่องจากมีการระดมบุคคลที่มีชื่อเสียง อดีตข้าราชการ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เข้าร่วมเป็นกรรมการ 

กยน. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยังแต่งตั้ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นที่ปรึกษา 
กรรมการคนอื่นๆ อาทิ นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายกิจจา ผลภาษี นายสมิทธ ธรรมสโรช นายรอยล จิตดอน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายเสรี ศุภราทิตย์ เป็นต้น 
กระนั้นก็ตาม มีความพยายามอ้างว่า การตั้ง กยน. และ กยอ. แล้วระดมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นกรรมการ ก็เพราะประชาชนไม่มั่นใจในตัวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในการรับมือปัญหาที่อาจเกิดซ้ำรอยในอนาคต
ต่อมารัฐบาลยังกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ขึ้นมาอีก 2 คณะ กรรมการส่วนใหญ่รายชื่อทับซ้อนกับกรรมการ 2 คณะแรก 


กบอ. ที่เป็นเจ้าภาพการทดสอบปล่อยน้ำครั้งนี้ มีกรรมการ 18 คน นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธาน มีที่ปรึกษา 3 คน ประกอบด้วย นายกิจจา ผลภาษี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา และ นายวีระ วงศ์แสงนาค  
ในทางสังคม รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขป้องกันปัญหาอุทกภัยเป็น"วาระแห่งชาติ" ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป 
ขณะที่ในทางการเมือง รัฐบาลยิ่งลักษณ์และใครต่อใครหลายคนต่างรู้ดีว่า หากปีนี้เกิดน้ำท่วมอีกต่อให้ 10 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 
ก็อยู่ลำบากแน่นอน



แผนบริหารจัดการน้ำปีนี้ ถูกมองว่าคือการวางเดิมพันชี้ชะตารัฐบาล 
มหาอุทกภัยปี 2554 รัฐบาลได้รับการให้อภัยจากสังคม เนื่องจากเพิ่งเข้ามาบริหารงานได้ไม่นาน แต่สถานการณ์หลังจากทำงานมาครบ 1 ปี ย่อมแตกต่างออกไป  
ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทุ่มงบประมาณนับแสนล้านบาท ลงไปในการเดิมพันครั้งนี้  
ท่ามกลางสายตาจับจ้องมองจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่จ้องจับผิดทุกเม็ด ทั้งในแง่ประสิทธิภาพของแผนบริหารจัดการรวมถึงการทุจริต 
พลาดเมื่อไหร่ จบเห่เมื่อนั้น

นิทรรศการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ชื่อ" มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำ เพื่อประชาชน" ที่เพิ่งผ่านพ้นไป คือ 1 ในแผนการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของประชาชน 
ได้ผลในระดับน่าพอใจ 
เพื่อสร้างความมั่นใจมากขึ้น รัฐบาลโดย กบอ. จึงประกาศทำการทดสอบระบบการป้องกันน้ำท่วม โดยการปล่อยน้ำผ่านระบบคูคลองในกรุงเทพฯ วันที่ 5 และ 7 กันยายน 
จุดประสงค์เพื่อทดสอบว่าระบบมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวยืนยันว่า การทดสอบปล่อยน้ำครั้งนี้ไม่ได้เป็นความคิดของนายปลอดประสพ เพียงคนเดียว แต่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ดึงมาร่วมงาน 
เป็นการปล่อยน้ำผ่านคูคลองที่ขุดลอกแล้วเพียงร้อยละ 30 ของศักยภาพลำน้ำ และหากเห็นว่าการระบายเกินขีดความสามารถของคูคลอง ก็พร้อมหยุดทดสอบทันที 
"หากไม่ทดสอบก็เป็นห่วงว่าพอถึงเวลาฝนตกมากๆ อาจไม่ทราบถึงศักยภาพการระบายน้ำของคูคลอง จึงต้องค่อยๆ ทดสอบเพื่อเร่งปรับปรุงในจุดที่ยังไม่เรียบร้อย"

และไม่ว่านายปลอดประสพ หรือแม้แต่ นายรอยล จิตรดอน ในฐานะประธานศูนย์การทดสอบ จะยืนยันว่า 
การทดสอบครั้งนี้เป็นไปตามหลักวิชาการ มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วมแน่นอน 
แต่คำอธิบายด้วยเหตุผลทางวิชาการในเรื่องทดสอบการระบายน้ำ ก็เป็นอีหรอบเดียวกับกรณีศูนย์วิจัยก้อนเมฆขององค์การนาซ่า 
นั่นคือนำมาใช้ไม่ได้กับบางพรรคการเมือง
ต่อให้เป็นเรื่องที่ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์มากมายมหาศาลเพียงใด แต่ถ้าหากรัฐบาลเพื่อไทย ได้หน้า ก็ต้องคัดค้านหัวชนฝาไว้ก่อน 
ทั้งที่ผู้รู้ต่างสนับสนุน

การทดสอบครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การทดสอบระบบคูคลองเท่านั้น แต่ยังเป็นการทดสอบความเป็นนักการเมือง ว่าได้ยึดหลัก"ประชาชนต้องมาก่อน"จริงหรือไม่ 
ผลออกมาเป็นอย่างไร ผ่านวันที่ 5 ผ่านวันที่ 7 กันยายน 
แล้วประชาชนก็ประจักษ์ชัด



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ  โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 8


รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เข้ามาบริหารประเทศ เพิ่งแถลงโชว์ผลงานครบปีเศษไปเมื่อเดือนก่อน โชคดีในหลายๆ เด้ง 
หนึ่งนั้นคือ ได้จัดแถวบิ๊กๆ ข้าราชการติดต่อกัน 2 ครั้งซ้อน ฤดูกาลนี้ถือว่าเป็น "บิ๊กล็อต" เพราะ "หัวกะทิ" ระนาบปลัดกระทรวง พากันผลัดใบ พร้อมใจกันเกษียณถึง 8 คน 8 กระทรวงรวด และแต่ละกระทรวงได้ทยอยจัดแถว สร้างดุลอำนาจใหม่ไปทีละเปลาะสองเปลาะ 
วันที่ 30 กันยายน ต้องให้แล้วเสร็จ เพื่อเริ่มนับหนึ่งกับภารกิจใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม อันเป็นวันเริ่มต้นงบประมาณใหม่

คิวล่าสุด เป็นของกระทรวงมหาดไทย สลับสับเปลี่ยนกันอุตลุด และโผลงตัวตามคาดหมาย "สิงห์ดำ" ผงาดพรึบ "วิบูลย์ สงวนพงศ์" อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำร่องขึ้นแป้นปลัดกระทรวงคลองหลอด สืบต่อจาก "พระนาย สุวรรณรัฐ" ที่เกษียณ 
โดยดัน "ฉัตรชัย พรหมเลิศ" ผู้ว่าฯ มือดีจากลพบุรี ขึ้นเป็นอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย "ชวน ศิรินันท์พร" ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เป็นอธิบดีกรมการปกครอง "แก่นเพชร ช่วงรังษี" ผู้ว่าฯ อุดรธานี เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น "ขวัญชัย วงศ์นิติกร" รองปลัดฯ เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ "มณฑล สุดประเสริฐ" รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 
เท่ากับว่ากระทรวง "เกรดเอ" เหลือให้ลุ้นระทึกกันอยู่เฉพาะที่กระทรวงคมนาคมแห่งเดียว แล้วลุ้นกันว่า "ใคร" จะมานั่งเก้าอี้นวมตัวนี้ต่อจาก "ศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ" ที่จะเกษียณ

เซียนส่วนใหญ่ฟันธงว่า ให้เข้ากับยุคสมัย "ตำรวจครองเมือง" คนที่น่าจะเข้าป้ายเป็นปลัดคมนาคม หวยน่าจะออกที่ "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" แต่เสียงเชียร์ผู้หญิง "สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์" ลูกหม้อก็ดังกระหึ่มกระทรวงหูกวาง 
ขณะที่ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งปีนี้ดุเดือดเลือดท่วมจอ มีรายการเหยียบตาปลากันเล็กน้อย ระหว่างคนกันเองเครือข่ายของ "ทหารแตงโม" ด้วยกัน แต่คงไม่น่าจะมีอะไรพลิกล็อกถล่มทลาย
เพราะ "พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จับมือกันเหนียวหนึบกับผู้นำ 3 เหล่าทัพ + 1 ผบ.สส. ดันชื่อ "พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน" ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ข้ามห้วยมานั่งปลัด กห. นำเข้าถกในที่ประชุมคณะกรรมการสภากลาโหม
กลั่นกรองรวบยอดพร้อมกับรายชื่อโยกย้ายนายทหารในตำแหน่งอื่นๆ "บล็อกโหวต" ผ่านฉลุย



ถอดรหัส นำรายชื่อรัฐมนตรีว่าการ กับ ปลัดกระทรวง ทั้งคนเก่าและคนใหม่ มาตอกย้ำเป็นข้อมูลกันลืม ดังต่อไปนี้ 
เริ่มจาก
1. "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี คู่บารมีในทำเนียบคือ "ธงทอง จันทรางศุ" เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 
2. "พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มี "พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน" เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม 
3. "นายสุชาติ ธาราธำรงเวช "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ "น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์" เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
4. "นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน "ณคุณ สิทธิพงศ์ เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน 
๕. "นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี "โชติ ตราชู" เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
6. "นายชุมพล ศิลปอาชา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา "นายสุวัตร สิทธิหล่อ" เป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 
7. "นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม" ปลัดกระทรวงการคลัง 
8. "ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม" นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี" เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 
9. "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม "นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์" เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม 
10. "นางสุกุมล คุณปลื้ม" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม "นายสมชาย เสียงหลาย" เป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 
11. "นายบุญทรง เตริยาภิรมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "นางวัชรี วิมุตายนต์" เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ 
12. "นายธีระ วงศ์สมุทร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "นายชวลิต ชูขจร" เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
13. "นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มี "นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์" เป็นปลัดกระทรวงแรงงาน 
14. "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ หรือ ไอซีที "นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์" เป็นปลัดกระทรวงไอซีที  
15. "นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย "นายวิบูลย์ สงวนพงศ์" เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย 
16. "นายวิทยา บุรณศิริ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มี "นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์" เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข 
17. "นายสันติ พร้อมพัฒน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ "นายวิเชียร ชวลิต" เป็นปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ
18. "นายปลอดประสพ สุรัสวดี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ "นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ" เป็นปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ 
19. "นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีคมนาคม เหลือปลัดอีกเพียงหนึ่งเดียวที่ยังไม่ลงตัว ว่าหวยจะออกที่ใคร ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ระหว่าง "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" กับ "สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์" หรือม้ามืด

หลังวันที่ 1 ตุลาคม รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ฐานอำนาจจากขั้วราชการจะเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้น เพราะยังมีการจัดแถวระดับอธิบดีอีกมากมาย รวมแล้วเกือบ 100 ตำแหน่ง



+++

จัดขบวนทัพ "มหาดไทย" รับเทศกาล "แดง" ทั้งแผ่นดิน
คอลัมน์ ในประเทศ  ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 12


คลอดออกมาเป็นที่เรียบร้อย สำหรับโผโยกย้ายข้าราชการกระทรวง "มหาดไทย"
ที่เก้าอี้ใหญ่อย่าง "ปลัดกระทรวง" มาตกที่ "วิบูลย์ สงวนพงศ์" อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่มีความลงตัวทั้งมาจาก "สิงห์ดำ" การเมือง และคนจากแดนไกล 
โดย "วิบูลย์" เป็นผู้ที่ได้การสนับสนุนจาก "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เพราะผลงานเข้าตา แม้จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ในยุคที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ครองเมือง แต่ก็ยังสามารถอยู่ในพื้นที่ได้ และยังมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกย้ายมาเป็นรองปลัด และถูกแต่งตั้งให้เป็นอธิบดี ปภ. ในรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" 
และ "วิบูลย์" ยังได้รับแรงผลักดันจาก "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงกลุ่มสิงห์ดำในกระทรวง  
นอกจาก "วิบูลย์" แล้ว แทบทุกตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง ล้วนบินลัดฟ้าไปพบ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ที่ฮ่องกง พร้อมรับมอบนโยบาย และแนวทางการทำงานให้เป็นไปตามความปรารถนาของผู้มีอำนาจ  
ทั้ง "ชวน ศิรินันท์พร" ผู้ว่าฯ นครราชสีมา ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมการปกครอง 
"แก่นเพชร ช่วงรังษี" ผู้ว่าฯ อุดรธานี ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) 
"ฉัตรชัย พรหมเลิศ" ผู้ว่าฯ ลพบุรี ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 
และ "มณฑล สุดประเสริฐ" รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 
โดย "ชวน" ได้รับแรงผลักดันจาก ส.ส. และเสื้อแดงในพื้นที่โคราช และเป็นขวัญใจคนเสื้อแดง มาตั้งแต่เป็นพ่อเมืองอุบล ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ถูกเผาศาลากลางจังหวัด เมื่อปี 2553 จนถูกย้ายไปเป็นผู้ว่าฯ แพร่ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ และกลับมาเป็นผู้ว่าฯ โคราช ในรัฐบาลปัจจุบัน 
อีกทั้ง "ชวน" ยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นสิงห์ดำกับ "ภูมิธรรม เวชยชัย" ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย


เช่นเดียวกับ "แก่นเพชร" ที่มีดีกรีเป็นลูกเขย "พิศาล มูลศาสตรสาทร" ผู้ล่วงลับ แต่ได้ คุณหญิงมะลิ มูลศาสตรสาทร แม่ยายที่ออกแรงผลักดันสุดฤทธิ์ และยังได้รับแรงสนับสนุนสุดเหวี่ยง จาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ "แก่นเพชร" เองก็ยังมีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับ ส.ส. ในพื้นที่ จ.อุดรธานี  
นอกจากนี้ เมื่อครั้งการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี "แก่นเพชร" ยังทุ่มสุดกำลัง ดัน "วิเชียร ขาวขำ" คว่ำอดีตนายก อบจ.อุดรฯ อย่าง "หาญชัย ฑีฆธนานนท์" แห่งค่ายภูมิใจไทยได้สำเร็จ จนได้รับการปูนบำเน็จ ในการคุมงบฯ ท้องถิ่นหลายแสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นอีกกรมที่เป็นกรมใหญ่ ไม่ต่างจากกรมการปกครอง ที่คุมกำลังคน ตามที่เคยมีชื่ออยู่ในโผช่วงแรก 
ส่วนผู้ว่าฯ ฉิ่ง "ฉัตรชัย พรหมเลิศ" นอนมาตั้งแต่แรก เพราะเป็นหนึ่งในสิงห์ดำ ที่ถึงแม้จะเติบโตมาในสายปกครอง แต่ในท้ายที่สุดเข้าสู่สายงานบริหารในตำแหน่งรองอธิบดี ปภ. ที่มีบทบาทอยู่ไม่น้อย จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ ลพบุรี ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ 
ต่อเมื่อครั้งเกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ลพบุรี เป็นเมืองหนึ่งที่แช่น้ำนานหลายเดือน แต่ "ผู้ว่าฯ ฉิ่ง" ทำงานได้เข้าตานายกฯ และยังเหลืออายุราชการเกือบ 10 ปี 
เช่นกันกับ "มณฑล สุดประเสริฐ" ที่เพิ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นระดับ 10 ในตำแหน่งรองเลขาฯ ศอ.บต. เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ เป็นการปูทางจากลูกหม้อกรมโยธาฯ ในตำแหน่งรองอธิบดี ให้ขึ้นสู่ระดับ 10 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาฯ ตามที่วางตัวไว้ตั้งแต่ต้น



ในขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายตำแหน่ง ที่ไม่ได้อยู่ในอาการ "แฮปปี้" เหมือนคนที่ได้ตำแหน่งตามที่ฝัน 
อย่าง "ขวัญชัย วงศ์นิติกร" ซึ่งเป็น "สิงห์แดง" ที่ถูกย้ายจากรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน 
เพราะถึงแม้ว่าจะได้เป็นอธิบดี แต่ต้องไม่ลืมว่า "ขวัญชัย" เคยเป็นอธิบดีกรม สถ. ซึ่งถือเป็นกรมใหญ่ในกระทรวงมมหาดไทย ในขณะที่ พช. เป็นกรมที่เล็กที่สุด ซึ่งไม่สมน้ำสมเนื้อหากจะเทียบชั้นกัน และแม้ว่า "ขวัญชัย" จะมีสายป่านในระดับหนึ่ง ที่เมื่อครั้งเปลี่ยนรัฐบาลแล้วไม่กระเด็นไปเป็นผู้ว่าฯ เหมือนคนอื่น แต่ "ขวัญชัย" ยังติดภาพ ความเป็น "สิงห์แดง" ที่เจ้ากระทรวง ยังติดใจ  
เช่นเดียวกับ "ม.ล.ปนัดดา ดิศดุล" ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ที่ถูกย้ายมาเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่เนื่องจากเชียงใหม่ถือเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง ที่ "ม.ล.ปนัดดา" ไม่มีผลงานเข้าตาเจ้าถิ่นอย่างที่ควรจะเป็น จึงจำเป็นที่จะต้องย้ายออก เพื่อเปิดทางให้คนสายตรงของ "เจ๊แดง" เข้ามาทำหน้าที่แทน 
ไม่ต่างกับ "ประภาศ บุญยินดี" ที่ถูกย้ายจากอธิบดี พช. มาเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถึงแม้จะเป็นหนึ่งในสิงห์ดำ แต่ก็ต้องถูกย้ายในที่สุด เพราะไม่สนองตามนโยบายของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องของโอท็อป ที่รัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และถือเป็นผลงานเด่นของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย 
จน พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องส่งมือขวาอย่าง "ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์" มาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องโอท็อป ซึ่งสายตรงแดนใกล้ ต้องการให้มีการฟื้นฟูโอท็อป ระดับจังหวัด ให้เป็นศูนย์โอท็อป อย่างที่เคยเกิดขึ้น 
แต่อธิบดี พช. กลับเพิกเฉย ไม่สนใจ และมุ่งแต่การจัดโอท็อปในเมืองหลวง จนขัดใจกับ "ผดุง" เข้าเต็มๆ กระทั่งมีข่าวว่าจะถูกเตะไปเป็นผู้ว่าฯ แต่ลูกพี่ อย่าง "ยงยุทธ" ขอให้อยู่ในตำแหน่งรองปลัด เพื่อไม่ให้เป็นการเสียหน้า


สุดท้ายคนที่ต้องอกกลัดหนองที่สุดคงหนีไม่พ้น "ภาณุ อุทัยรัตน์" ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งถูกย้ายมาจาก เลขาฯ ศอ.บต. เพื่อหลีกทางให้ "พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง" คนใกล้ชิดรัฐบาล  
กว่า 10 เดือน ที่ "ภาณุ" ต้องนั่งตบยุงอยู่สำนักนายกฯ จนต้องตัดสินเลือกที่จะออกจากสภาวะขาลอย ไร้ตำแหน่ง ไร้บทบาท และจากคำแนะนำจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล ส่งสัญญาณไปยังนายกฯ 
"ภาณุ" จึงตัดสินใจเล่นบท หนุมานถวายตัว ยอมกลืนเลือดลดตำแหน่งจากระดับ 11 ซึ่งเทียบเท่ากับปลัดกระทรวงมาเป็นระดับ 10 ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ต้นสังกัดเดิมที่เคยอยู่และถูกจัดวางให้ช่วยดูแลเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ อย่างที่เคยรับผิดชอบมา แต่บทบาทอาจจะไม่เท่าเดิม แต่ด้วยวัยเพียง 55 ปี ยังถือว่า "ภาณุ" ยังมีเวลาที่จะกลับไปเติบโตได้เช่นเดิม 
อย่างไรก็ตาม การย้ายลดระดับ จาก 11 ไปเป็น 10 ถ้าเจ้าตัวไม่ยินยอม รับรองได้ว่าเรื่องนี้รัฐบาลรอดยาก แต่ครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ ที่เจ้าตัวมีหนังสือยินยอม "ผมคิดว่า ผมควรที่จะมีโอกาสได้ทำงาน ในขณะที่ตัวเองยังมีประโยชน์" คำกล่าวเพียงสั้นๆ ของภาณุ


งานนี้ถือเป็นการวางขุมกำลังใหม่ของกระทรวงมหาดไทยครั้งใหม่ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะสามารถลดปัญหาเกียร์ว่างอย่างที่ผ่านมา ได้หรือไม่
และต้องจับตาการโยกย้ายผู้ว่าฯ อีกครั้ง เพราะครั้งนี้แน่นอนว่าจะต้องมีการจัดขบวนทัพใหม่ อย่างน้อยที่จะเห็นได้ชัดตอนนี้ คือ อุดรธานี นครราชสีมา และเชียงใหม่ ล้วนเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง ที่ยังไร้พ่อเมือง 
ซึ่งแน่นอนว่าตำแหน่งเหล่านี้ คงจะต้องเป็นที่ถูกใจของคนเสื้อแดงแน่นอน



+++

ร้อน ร้าว ลึก สงครามใต้ดิน ศึกกลาโหม "สุกำพล" ชน "เสถียร-ชาตรี" เกมนี้ไม่มีวันจบ 
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 16 


ที่ว่ากันว่า สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร นั้น น่าจะใช้กับศึกสายเลือดทหาร ระหว่าง บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กับ บิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม และ บิ๊กกี๋ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหม ได้เป็นอย่างดี 
เพราะหลังจากที่ บิ๊กหน่อง พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เข้าขอขมาต่อ พล.อ.อ.สุกำพล ในวันรุ่งขึ้นหลังถูกเซ็นคำสั่งเชือด ก็ดูเหมือน พล.อ.อ.สุกำพล จะเป็นฝ่ายกำชัยชนะ เพราะ พล.อ.พิณภาษณ์ ยอมรับผิดที่ร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี และนำความลับในการหารือมาเปิดเผย แต่ก็อ้างว่า ถูก "ผู้ใหญ่" กดดัน   
อีกทั้งการที่ พล.อ.พิณภาษณ์ แยกวงออกมาเช่นนี้ แม้จะถูกมองว่า "ฝ่อ" จากฝ่าย พล.อ.เสถียร และ พล.อ.ชาตรี แต่สำหรับตัวเขาเองมองว่า เพื่อความถูกต้อง และเมื่อทำผิดก็ยอมรับผิดแบบลูกผู้ชายชาติทหาร เพราะเป็นเรื่องที่เขาไม่ได้อยากทำ แต่เพราะเป็นเพื่อนซี้ ตท.14 กับ พล.อ.ชาตรี แล้วตนเองก็ไม่ได้หวังตำแหน่งอะไร เพราะเกษียณ 2558 พร้อมเพื่อน 
แถมความดวงแรงของ พล.อ.อ.สุกำพล ยังอาจมีส่วนทำให้ พล.อ.ชาตรี ไม่มีแรงในการฟ้องร้อง เพราะลูกชายเพิ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ โดยมีการพูดกันว่า หลังจากที่เขารู้ข่าวเรื่องบิดา


แต่หลังจากที่ปิดปากเงียบไม่กี่วัน 3 กันยายน พล.อ.เสถียร และ พล.อ.ชาตรี ก็ไปยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาอำนาจของ รมว.กลาโหม ในการย้ายตนเองมาช่วยราชการสำนัก รมว.กลาโหม ตามคำสั่งกลาโหมที่ 188/55 เมื่อ 27 สิงหาคม 2555 และขอให้มีการสั่งทุเลา หรือคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ดำรงตำแหน่งปลัดกลาโหม ต่อไปได้ 
แม้ว่าเมื่อวันที่ถูกเด้งฟ้าผ่า พล.อ.เสถียร จะบอกว่า "ยอมรับสภาพ" ไม่พูดเรื่องการฟ้องร้อง แต่ทว่า เขาก็ได้ทำตามที่เขาประกาศต่อหน้า พล.อ.อ.สุกำพล วันที่มีวิวาทะกัน เมื่อ 17 สิงหาคม วันเกิด พล.อ.อ.สุกำพล ว่า หาก รมว.กลาโหม เปลี่ยนแปลงชื่อปลัดกลาโหมที่เสนอขึ้นมา "ผมจะฟ้อง" 
ที่สำคัญ เป็นการแยกกันฟ้องร้องเป็น 2 คดีต่างหาก ทั้งในส่วน พล.อ.เสถียร และ พล.อ.ชาตรี เพื่อที่จะทำให้ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องวุ่นวายมากขึ้น 
เป้าหมายของ พล.อ.เสถียร คือ ต้องการให้ศาลปกครองออกมาตรการในการทุเลาคำสั่งโยกย้าย และคำสั่งในการเด้งปลัดกลาโหม เอาไว้ก่อน เพื่อให้มีการสอบสวนและตรวจสอบ ที่จะส่งผลให้โผโยกย้ายทหารครั้งนี้มีปัญหา ต้องล่าช้าและไม่อาจเสร็จสิ้น และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ตามกำหนด 
และอย่าลืมว่า พล.อ.เสถียร ได้ทำเรื่องถึง ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ แล้ว เพื่อหวังว่า ป๋าเปรมจะช่วยกลั่นกรอง เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม ก่อนที่จะให้สำนักราชเลขาธิการ นำขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาด พล.อ.อ.สุกำพล คิดไว้แล้ว เพราะก่อนที่เขาจะลงนามย้ายยกพวง เขาก็ให้กรมพระธรรมนูญตรวจสอบเรื่องอำนาจตามกฎหมายไว้แล้ว ว่า รมว.กลาโหม มีอำนาจตาม พ.ร.บ.กลาโหม และรักษาการปลัดกลาโหม อย่าง บิ๊กอู๊ด พล.อ.วิทวัส รัชตะนันทน์ รองปลัดกลาโหม ก็มีอำนาจหน้าที่เต็ม ในฐานะปลัดกลาโหม 
แต่ดู พล.อ.อ.สุกำพล ไม่สะทกสะท้าน ไม่ใดๆ เพราะเขาเชื่อว่า ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการรับพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับวินัยอาญาทหาร แต่เขาก็ส่งหนังสือและนายทหารพระธรรมนูญชี้แจงแทน 
กระนั้น ก็มีข้อกังขาว่า คดีของ พล.อ .เสถียร และ พล.อ.ชาตรี นี้ แม้จะผิดวินัยทหาร แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ก็ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัย แต่อย่างใด ก่อนที่จะลงนามโยกย้าย



อย่างไรก็ตาม งานนี้ก็ดูเสมือนว่า พล.อ.อ.สุกำพล จะถือไพ่เหนือกว่า เพราะมี ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ สนับสนุน บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผช.ผบ.ทบ. เป็น ปลัดกลาโหม คนใหม่เหมือนกัน 
อีกทั้งเป็นการโชว์ความแข็งแกร่ง เด็ดขาดในฐานะ รมว.กลาโหม ที่กล้าลงนามโยกย้ายปลัดกลาโหมและพวก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ 
ที่สำคัญ เป็นการ "ย้อนศร" พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ด้วยการใช้อำนาจ ตามมาตรา 24 ในการสั่งย้าย ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.กลาโหม นี้ ตอนที่ร่างขึ้นมาในยุค บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการปฏิวัติ ก็เพื่อไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงการโยกย้ายทหาร 
เพราะก่อนหน้านี้ นอกจาก พล.อ.เสถียร ไปพบ พล.อ.สุรยุทธ์ มาแล้ว เพื่อร้องเรียนกรณี พล.อ.อ.สุกำพล แทรกแซงการโยกย้ายของตนเองแล้ว พล.อ.เสถียร ยังไปพบ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ อดีต รมว.กลาโหม ที่เป็นคนร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ในยุคนั้น ซึ่งเป็นเพื่อนรัก ตท.1 ของ พล.อ.สุรยุทธ์ แล้วอีกด้วย 

ท่ามกลางความกังขาของหลายฝ่ายว่า พล.อ.อ.สุกำพล มีอำนาจในการโยกย้ายในลักษณะนี้ได้หรือไม่ เพราะแม้แต่ บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ก็ยังเอ่ยปากเป็นห่วง รวมทั้งเรื่องอำนาจของ รักษาการปลัดกลาโหม ในการทำหน้าที่แทนปลัดกลาโหม ในคณะกรรมการพิจารณาโยกย้ายนายพล ตาม พ.ร.บ.กลาโหม  
"กรมพระธรรมนูญ ได้มีการพิจารณาและชี้ชัดแล้วว่า รมว.กลาโหม มีอำนาจในการโยกย้ายแบบนี้ได้ และ รักษาการปลัดกลาโหม ก็มีอำนาจหน้าที่แทนปลัดกลาโหม ทุกประการ" พล.อ.วิทวัส รักษาการปลัดกลาโหม กล่าว 
แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา การประชุมคณะกรรมการโยกย้ายนายพล ที่มีทั้ง ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. ที่ พล.อ.อ.สุกำพล เรียกประชุม เมื่อ 5 กันยายน จากที่เลื่อนมาจากเมื่อ 30 สิงหาคม นั้น จะไม่มีการ "โหวต" หรือลงคะแนนเสียง ในการเลือกปลัดกลาโหมคนใหม่ หรือหากจะโหวต พล.อ.วิทวัส ในฐานะรักษาการเลขาฯ คณะกรรมการ ก็จะไม่ต้องลงคะแนนเสียง เพื่อตัดปัญหาที่จะตามมา
นอกเสียงจาก พล.อ.อ.สุกำพล ต้องการมติ เพื่อมายืนยันความถูกต้องและการยอมรับในการแต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ จึงต้องให้โหวต เพื่อให้มีมติเป็นเอกฉันท์ เนื่องจาก ผบ.เหล่าทัพ ก็หนุนด้วย ซึ่งนั่นก็จะเป็นการโหวตตาม พ.ร.บ.กลาโหม ครั้งแรก



"ผมว่า ไม่ต้องโหวตหรอก เพราะทหารเราไม่มีการโหวต คุยกันได้" บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. กล่าว 
เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการโหวตใดๆ แต่ต้องมีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้ในรอบสุดท้ายก่อนที่จะจัดทำโผโยกย้ายให้เสร็จสิ้น เพราะการจะโหวต ก็แค่เพราะมีความขัดแย้ง มีความเห็นไม่ตรงกัน และคุยกันไม่ได้แบบพี่น้องเท่านั้น 
เพราะแม้แต่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ในที่สุดก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจของ พล.อ.อ.สุกำพล และเชื่อว่าศาลปกครองก็ไม่สามารถพิจารณาในเรื่องนี้ได้  
"โอ๋ เขาจำเป็นต้องทำ ผมเข้าใจ แล้วเขาก็เป็นคนแรง" บิ๊กอ๊อด กล่าว และไม่กล้าที่จะเสนอตัวเป็น "กาวใจ" ในการเจรจาระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล และ พล.อ.เสถียร  
ต้องยอมรับว่า ท่าทีของ พล.อ.อ.สุกำพล เปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่มีเรื่องนี้ แม้ว่าเขาจะยืนยันว่า "รอยร้าวในกลาโหม ได้ถูกซ้อมเรียบร้อยแล้ว" ก็ตาม แต่ในใจของเขารู้ดีว่า รอยร้าวนั้น จะยิ่งลึกไปอีกหรือไม่ 
แม้ว่า พล.อ.พิณภาษณ์ ได้มาขอขมาแล้ว และเขาก็ตั้งใจไปร่วมงานศพลูกชาย พล.อ.ชาตรี แล้วก็ตาม


แต่สัญญาณบางอย่าง ทำให้รู้กันว่า เรื่องนี้ไม่จบง่ายๆ เพราะไม่เช่นนั้น พล.อ.อ.สุกำพล ก็คงไม่สั่งเพิ่มทีม รปภ. ซึ่งเป็นหน่วยคอมมานโดจากทหารอากาศโยธิน (อย.) เพิ่ม ทั้งที่บ้าน ที่ กม.27 ย่านดอนเมือง และทีมติดตาม 
เนื่องจากเกรงก็ว่า จะมีการ "เล่นใต้ดิน" เพราะเขาเองก็รู้ดีว่า พล.อ.เสถียร นั้น ไม่ธรรมดา มีลูกน้องในวงการไม่น้อย รวมทั้ง คุณอู๊ด ณัฐณิชาช์ ภริยา ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นด้วยแล้ว ก็ไม่ธรรมดา 
แม้แต่การดูแล รปภ. รอบนอกและภายในกระทรวงกลาโหม ก็มีความเข้มงวดมากขึ้น ที่อาจเป็นการสะท้อนถึงสถานการณ์ที่ยังคุกรุ่น และรอยร้าวในกลาโหม ก็ยังร้าวลึก 
ยิ่งมีการจับตามองว่า พล.อ.วิทวัส รักษาการปลัดกลาโหม จะล้างบาง ล้างโผ โยกย้ายในส่วนของสำนักปลัดกลาโหม ที่ พล.อ.เสถียร จัดไว้ใหม่หมด ก็ย่อมทำให้มีทหารในสายอำนาจนี้ที่เสียประโยชน์ไม่พอใจ 
"ผมให้ความไม่ธรรม ไม่ต้องห่วง ผมไม่ใช่คนแบบนั้น" พล.อ.วิทวัส ออกตัว 
เพราะสำหรับเขาแล้ว การได้เป็นรักษาการปลัดกลาโหม แม้จะแค่ 35 วัน ก่อนเกษียณ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิด 
"คงเป็นเพราะผมทำบุญมากมั้ง" พล.อ.วิทวัส กล่าวติดตลก 
เพราะเขาเป็นคนที่ยึดคติเรื่อง บาปบุญคุณโทษ การทำกรรมดีกรรมชั่ว และอยากให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยความราบรื่น เขาจึงมาไหว้ศาลเจ้าพ่อหอกลอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกลาโหม เสมอๆ 
แต่แน่นอนว่า สายสัมพันธ์ฉันเพื่อน ตท.11 ของเขากับ พล.อ.เสถียร คงเป็นสิ่งที่ไม่ต้องพูดถึง ตั้งแต่เขาถูก พล.อ.เสถียร ชิงตัดหน้ามาเสียบเป็นปลัดกลาโหม ในการโยกย้ายปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ที่ทำให้ พล.อ.เสถียร ถูกข้อหาว่า "มาเพราะการเมือง" และเพราะมี "ภริยา" ช่วยผลักดัน



กรณีของ พล.อ.อ.สุกำพล กับ พล.อ.เสถียร นี้ กำลังถูกคาดหวังให้เป็นกรณีศึกษา เพราะหากศาลปกครองไม่รับฟ้อง และให้เป็นอำนาจของ รมว.กลาโหม ก็ทำให้น่าหวั่นเกรงว่า ต่อไป รมว.กลาโหม อาจจะสั่งย้ายนายพลได้ในลักษณะนี้อีก แม้แต่ ผบ.เหล่าทัพ 
ต้องยอมรับว่า เมื่อเกิดกรณีนี้ บรรดา ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. และ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ค่อนข้างลำบากใจ และไม่สบายใจ ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น 
"ผมไม่สบายใจเลย เพราะยังไงพี่น้องกัน น่าจะคุยกันได้" บิ๊กตู่ กล่าว 
เช่นเดียวกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ที่ก็ไม่อยากจะแสดงความเห็น ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา แต่แน่นอนว่า เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ในกองทัพ ย่อมไม่มีใครสบายใจ และอยากให้จบด้วยดี เพราะหากย้อนเวลาได้ ก็อยากให้คุยกัน 
เช่นเดียวกับ พล.อ.เสถียร ถ้าย้อนเวลาได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่ร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ไม่ร้องเรียนป๋าเปรม ไม่ฟ้องศาลปกครอง แต่เขาจะรอให้ "คาหนังคาเขา" คือต้องใจเย็น รอให้ พล.อ.อ.สุกำพล ล้วงลูกเปลี่ยนโผที่เขาส่งขึ้นไปเสียก่อน เพื่อที่จะผิดตาม พ.ร.บ.กลาโหม แต่นี่ พล.อ.เสถียร อาจรีบร้อน เพราะแค่ พล.อ.อ.สุกำพล สั่งการด้วยวาจาให้เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกลาโหม เขาก็แฉเลย 
ไม่ว่าจะเพราะการวางแผนไม่ดี ไม่รอบคอบ หรือกุนซือไม่ดี ก็ตาม แต่ พล.อ.เสถียร ก็เสียเปรียบและผิดพลาดในการเดินเกมนี้ จนในทีมลูกน้อง พล.อ.เสถียร วิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวผู้อยู่เบื้องหลังความผิดพลาดนี้


แต่สิ่งหนึ่งที่ฝ่าย พล.อ.เสถียร รู้สึกคือ งานนี้ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องการ "ตัดไม้ข่มนาม" เพื่อตัดอนาคตของ พล.อ.เสถียร ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดต รมว.กลาโหม ในอนาคตอยู่ด้วย นอกเหนือจากเป็นการสร้างความน่าเกรงขามให้กับตำแหน่ง รมว.กลาโหม 
แต่เขาก็พร้อมที่จะให้โอกาส พล.อ.เสถียร และ พล.อ.ชาตรี เข้ามาพบปะพูดคุยกันแบบพี่น้อง เช่นเดียวกับที่ พล.อ.พิณภาษณ์ เข้ามาขอโทษ แต่ทว่า ก็ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งใดๆ ได้ 
ทว่า พล.อ.อ.สุกำพล นั้นรู้ดีว่า คงไม่มีวันที่ พล.อ.เสถียร และ พล.อ.ชาตรี จะเข้ามาขอโทษ เพราะเมื่อเดินหน้าฟ้องศาลปกครองแล้ว แม้ศาลจะไม่รับฟ้อง ก็ต้องมีการต่อสู้กันในทางกฎหมายกันต่อไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าห่วง 
แต่ที่ห่วงก็คือ สงครามใต้ดิน และคลื่นใต้น้ำ ที่พร้อมจะปะทุและระเบิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะจะต้องหาแนวทางในการต่อสู้ใหม่ เพราะมีนายทหารที่เป็นลูกน้องใกล้ชิด พล.อ.เสถียร หลายคน ก็มีชื่ออยู่ใน "แบล็กลิสต์" ของฝ่าย พล.อ.อ.สุกำพล ในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิด จนบางคนต้องเก็บตัวเงียบ 
ด้วยเพราะรู้กันดีถึงพิษสงของ พล.อ.อ.สุกำพล เหยี่ยวอากาศ ผู้นี้แล้วว่า ไม่ธรรมดา เช่นกัน

งานนี้เลยต้องร้อนถึง "นายใหญ่" ที่ต้องหย่าศึก ด้วยการโทร.ทางไกลสายตรง ถึง พล.อ.เสถียร 11 โมงเช้า 4 กันยายน หลังที่ พล.อ.เสถียร ฟ้องศาลปกครอง เพื่อ "ขอให้จบ" เพราะถือเป็นพวกเดียวกันทั้งนั้น จนลือสะพัดว่า นายใหญ่รับปากจะชดเชยให้ พล.อ.เสถียร ในภายหลัง แต่ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร หรือหมายถึง เก้าอี้ใหญ่ใน ครม. หลังเกษียณ แต่เหมือน บิ๊กโอ๋ ยังคาใจ

แต่อย่างที่ว่า สงครามยังไม่จบ ก็อย่าเพิ่งนับศพทหาร



+++

ศาลชี้ชะตาสลายม็อบคดีแรก "ธาริต" โยง 2,000 คดี พยายามฆ่า
คอลัมน์ โล่เงิน  ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 99


คดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 98 ศพ กำลังจะได้รับความสนใจจากมวลชนอีกครั้ง 
เพราะวันที่ 17 กันยายนนี้ ศาลจะมีคำสั่งในสำนวนการไต่สวนสำนวนแรก ของ นายพัน คำกอง คนขับรถแท็กซี่ ซึ่งเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลา 00.05 น. บริเวณถนนราชปรารภ ใต้สะพานแอร์พอร์ตลิงค์ ว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ 
และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 98 ศพ ตั้งโต๊ะแถลงประมวลผลและความคืบหน้าคดี ว่า
"พบว่ามีการตายที่น่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 18 ศพ จึงได้ส่งผลการสอบสวนไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และทาง บช.น. ได้ร้องขอเพิ่มเติมอีก 9 ศพ รวมเป็น 27 ศพ ต่อมาพนักงานงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนแล้ว 19 ศพ ยังเหลืออีก 8 ศพ อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนต่อไป"

ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม ดีเอสไอส่งสำนวนไปยัง บช.น. อีก 3 ศพ และเตรียมส่งเพิ่มอีก 6 ศพ ดังนั้น ขณะนี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตำรวจ และพนักงานอัยการ เห็นว่ามีพยานหลักฐานสมควรน่าเชื่อว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งสิ้น 36 ศพ 
โดยคดีการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 9 ศพล่าสุด ที่คณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอมีความเห็นให้ส่งไปยัง บช.น. เพื่อส่งศาลไต่สวนการเสียชีวิต 
ประกอบด้วย 
1.นายพรสวรรค์ นาคะไชย 2.นายมานะ แสนประเสริฐศรี เสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลา 15.00 น. พบศพบริเวณปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 
3.จ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ เสียชีวิตวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 เวลา 01.00 น. บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม 
4.นายสมศักดิ์ ศิลารักษ์ 5.นายปิยะพงษ์ กิตติวงศ์ 6.นายประจวบ ศิลารักษ์ ทั้ง 3 ราย เสียชีวิตวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เวลา 16.50-17.00 น. บริเวณสวนลุมพินี
7.นายนรินทร์ ศรีชมพู เสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 11.10 น. บริเวณสวนลุมพินี
8.นายถวิล คำมูล และ 9.ชายไทยไม่ทราบชื่อ ทั้ง 2 รายเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. บริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

แม้ว่าคำสั่งศาลอาจจะออกมาได้ 2 แนวทาง แนวทางที่ 1. เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 2.พยานหลักฐานไม่เพียงพอชี้ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเมืองชี้ว่า หากศาลมีคำสั่งออกมาว่าการเสียชีวิตของ นายพัน คำกอง เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อุณหภูมิการเมืองจะทวีความร้อนแรงขึ้นทันที


ซึ่งในเรื่องนี้ "นายธาริต เพ็งดิษฐ์" อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ได้ให้ความเห็นถึงขั้นตอนและแนวทางการดำเนินคดีหลังจากนี้ อย่างน่าสนใจ
โดยนายธาริต บอกว่า หลังจากศาลมีคำสั่งไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง พนักงานสอบสวนที่ประกอบด้วย พนักงานอัยการ ดีเอสไอ และตำรวจ ตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลจะส่งคำสั่งกลับไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ส่งมายังพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีฆาตกรรม ซึ่งสำนวนคดีฆาตกรรมจะมีกฎหมายเกี่ยวข้องที่พนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณา ตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา 
"ถ้าคล้ายกับคดีวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะไปพันกับมาตราที่ระบุว่า กระทำภายใต้คำสั่งของใครหรือไม่ จะนำคำสั่งพร้อมสำนวนของศาล มาประกอบสำนวนคดีฆาตกรรม โดยคำสั่งของศาลจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ระบุตัวผู้กระทำผิดได้ และ ไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ แต่จะบอกได้เพียงว่าเป็นทหารหน่วยใด ประจำจุดใด"
อย่างไรก็ตาม นายธาริตตั้งข้อสังเกตว่า ในสำนวนการไต่สวนที่อัยการเสนอศาลไปแล้ว 19 สำนวนนั้น ณ ขณะนี้การไต่สวน ทางอัยการมีการระบุพยานบุคคล พยานวัตถุ และการเบิกความการไต่สวน โดยไม่มีการซักค้านของผู้ถูกกล่าวหา 
มีแต่เพียงพยานฝ่ายโจกท์ คือ อัยการ ขึ้นเบิกความเท่านั้น 
"ตรงนี้จะแตกต่างกับสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมทั่วไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยิงต้องมาขึ้นศาลเพื่อแก้ต่างว่าตัวเองไม่ได้กระทำ แต่คดีการไต่สวนการตายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 98 ศพ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารรายใดถูกระบุให้มาแก้ต่างหรือเข้าเบิกความเลย

ดังนั้น ศาลจะพิจารณาจากสำนวน พยานเอกสาร และพยานวัตถุ เป็นหลัก ซึ่งตามกฎหมาย น่าจะมีแนวทางออกมา 2 ทางคือ 1.เป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 2.ยังไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ 
"ถ้าศาลมีคำสั่งว่าเป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คำสั่งศาลจะมี 2 ลักษณะ คือ สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ที่ทำให้เสียชีวิตได้ และไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ แต่จะบอกได้เพียงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมหรือหน่วยใด ที่เข้าประจำจุดเกิดเหตุในห้วงเวลานั้นๆ เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้นำคำสั่งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารแต่ละหน่วยแนบไปในสำนวนที่ยื่นคำร้องขอศาลไต่สวนด้วย"
นายธาริตแจง

ทั้งนี้ นายธาริต บอกว่า หากศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น อาจระบุว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอว่าเป็นการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่นั่นไม่ได้หมายความคดีจะยุติ 
"หากศาลบอกว่ายังไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ ว่าการเสียชีวิตเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ จะรับสำนวนมาสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อหาว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต และถ้าในอนาคตมีหลักฐานเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนก็สามารถยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนได้อีกครั้ง" 
ทว่า นายธาริต บอกว่า คดีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่การตายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 98 ศพเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงคดีที่มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย ซึ่งต้องดำเนินคดีกับคนยิงหรือผู้ทำให้บาดเจ็บ ข้อหาพยายามฆ่าด้วย
"คำสั่งศาลจะชี้อนาคต ทำให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอสามารถวางแนวทางการดำเนินคดีฐานพยายามฆ่าได้ด้วย โดยใช้คำสั่งศาลเป็นแนวทางเชื่อมโยง ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณที่มีผู้เสียชีวิต มีใครบ้าง ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนแยกเป็นรายคดี"

เหล่านี้ เป็นกระบวนการดำเนินคดีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่เห็นเป็นรูปร่างและเริ่มเห็นแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์



.