.
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม - ชุดดำและใจดำ โดย วงค์ ตาวัน
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง - กรณี พัน คำกอง ดุลพินิจ อภิสิทธิ์ สุเทพ กรณีคำสั่งศาล
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คนกรุงระทม
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
แทบไม่เชื่อเลยว่าแค่ฝนตก 1-2 ชั่วโมง ถนนหลักๆ ของกรุงเทพฯถูกน้ำท่วมขังหมด
การจราจรเป็นอัมพาตทั้งกรุง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้จะเห็นได้ว่าฝนตกช่วงเย็นๆ ทุกวัน
น้ำก็ท่วมขัง รถราก็ติดหนึบ
ยิ่งล่าสุดมีการเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมของญี่ปุ่นที่ถ่ายไว้ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา
เห็น แล้วน่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะบ่งบอกว่ามีร่องมรสุมกำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.ถึง 2 ต.ค.นี้
โดยเฉพาะกรุงเทพฯจะมีฝนตกหนักมากกว่าที่ผ่านมาถึง 10 เท่า !?
คนกรุงเตรียมใจขับรถลุยน้ำท่วมขังไปอีกอย่างน้อย 7 วัน
เตรียมตัวเผื่อเวลาในการเดินทางได้เลย
น้ำท่วมกรุงช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาก็มีความพยายามโยนบาปให้รัฐบาลว่าบริหารจัดการไม่ได้เรื่อง ทำน้ำท่วมกรุงอีก
ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว น้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ก็เพราะฝนตกหนัก
ไม่เกี่ยวกับน้ำเหนือ น้ำเขื่อน หรือฟลัดเวย์
ที่ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ ก็คือ กทม.
เป็นความบกพร่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าขาดประสิทธิภาพในการลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง
ทำให้น้ำฝนระบายไม่ทัน !?
หากจำกันได้น้ำท่วมใหญ่ปีก่อน กระสอบทราย-บิ๊กแบ๊กถูกขนมาวางเป็นปราการป้องกันน้ำ
ทรายจำนวนมหาศาลไหลลงท่อระบายน้ำและคูคลองทั่วกรุงเทพฯ
หากขาดประสิทธิภาพในการขุดลอกให้ท่อระบายน้ำ-คูคลอง ก็จะเป็นอย่างที่เห็น
คือฝนตกไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็ท่วมขัง
อุโมงค์ยักษ์ก็ช่วยอะไรไม่ได้
แทนที่จะเร่งแก้ปัญหา ผู้บริหาร กทม.กลับหยิบมาเป็นประเด็นตอบโต้กับรัฐบาล
ขยายให้เป็นประเด็นการเมืองซะงั้น
เป็นบรรยากาศความขัดแย้งที่เห็นจนชินตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปีก่อน
ฉะนั้น ยิ่งใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เข้าไปทุกที
คนกรุงเทพฯคงต้องมาทบทวน-ไตร่ตรองให้ดีว่าอยากได้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่แบบไหน !?
++
สมัครโมเดล
โดย มันฯ มือเสือ คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือจงใจ
กรณี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นประธานประชุม ครม. เมื่ออังคารที่ผ่านมา ในฐานะรักษาการนายกฯ ช่วงที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ระหว่างร่วมประชุมยูเอ็น ที่สหรัฐ
ด้วยการเดินทางไปตรวจน้ำท่วมที่ปราจีนบุรี
บางกระแส ข่าวบอกว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ โทร.มาสั่งการให้นายยงยุทธเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมเป็นการด่วน เพราะชาวปราจีนบุรีกำลังเดือดร้อนหนัก
แต่บางกระแสก็ว่านายยงยุทธไม่กล้าเสี่ยงนั่งเป็นประธานประชุม ครม. เพราะไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเองจากกรณีปัญหาที่ดินอัลไพน์
ที่มีความเห็นแตกออกเป็น 2 ทาง
คือถึงเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลอดจนปลัดกระทรวงมหาดไทยจะยืนยันว่า
นายยงยุทธอยู่ในข่ายได้รับอานิสงส์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินปี 2550 ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษมาก่อน จึงไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่งในปัจจุบัน
แต่ก็แน่นอนว่าจะต้องมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านและแนวร่วม ที่เห็นว่ากรณีนายยงยุทธไม่เข้าข่ายได้รับการล้างมลทิน
ก่อนจะมีมติเข้าชื่อส.ส. 50 คนเตรียมไว้เพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติความเป็นส.ส.และรัฐมนตรีของนายยงยุทธ
ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าเรื่องจะไปจบลงตรงไหน อย่างไร
แต่ตามเค้าโครงที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นการที่เรื่องผ่านมานาน 10 ปีแต่อยู่ดีๆ ป.ป.ช.ก็ลัดคิว หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาชี้มูลความผิด
ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะกระโดดรับลูกขยายผล เตรียมเก็บรวบรวมข้อมูลส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความเรื่องคุณสมบัติ
ขบวนการเดิมๆ นี้เองที่พรรคเพื่อไทยต้องไม่ประมาท
อย่าลืมว่านายสมัคร สุนทรเวช เพียงแค่ทำกับข้าวออกทีวีเท่านั้น
ก็ยังต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
++
ใจ...
โดย คาดเชือก คาถาพัน คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
จะเก็บเอาไว้เป็นความภาคภูมิใจ หรือจะเก็บไปพิจารณาทบทวนตัวเองก็แล้วแต่ว่าใจกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง หรือ คอป. จะเป็นอย่างไร
เพราะตั้งแต่แถลงรายงานการสอบสวนเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 มาร่วมสัปดาห์แล้ว
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ลดลง
ซ้ำบางส่วนยังหนักขึ้น แรงขึ้น และชี้ให้เห็นจุดอ่อนข้อด้อยของรายงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือไม่ได้วิจารณ์กันด้วยอคติชอบหรือชัง หรือสักแต่วิจารณ์
แต่วิจารณ์กันแบบแจกแจงทีละเม็ด แบบที่อ่านมาแล้วทั้งฉบับแล้วค่อยพูด อย่างที่กรรมการ คอป.ท่านท้าเอาไว้เสียด้วย
ประเด็นใหญ่ของผู้วิจารณ์ก็คือ"ความเอียง"ของรายงานฉบับดังกล่าว
ที่เลือกให้ความสำคัญกับจุดเล็กมากกว่าภาพรวม
ขยายภาพและบทบาทชายชุดดำให้ใหญ่โตน่ากลัว ทั้งที่มีหลักฐานประกอบเบาบางยิ่ง อาศัยแค่คำว่า "เชื่อว่า"
ก็ทำให้ความเชื่อส่วนตัวกลายเป็นความจริงขึ้น มาได้?
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็กดน้ำหนักและความสำคัญของการตัดสินใจของรัฐบาลที่สั่งการให้ทหารถืออาวุธจริง-กระสุนจริงเข้ามาในเมืองเพื่อปราบปรามประชาชนของตนเองลงไป
ไม่เจตนาอุ้มก็เหมือนอุ้ม
จะไม่ให้คนตั้งข้อสงสัย จะไม่ให้คนวิจารณ์ จะไม่ออกมาน้อมรับเลย ก็ใจจืดไปหน่อย
ประเภทตัดบทว่า บัดนี้หน้าที่ คอป.จบแล้ว มีรายงาน(ซึ่งก่อปัญหามหาศาลตามมา)แล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว
ก็เหมือน "ตีหัวเข้าบ้าน" นั่นแหละครับ
สำหรับญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ หรือผู้ได้รับบาดเจ็บพิการจาก "กระสุนจริง"
แผลเก่ายังไม่ทันหายแปลบข้างใน มีแผลใหม่เพิ่มขึ้นมาให้ปวดแสบปวดร้อนยิ่งกว่าเก่า
ใครที่มีส่วนร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ขึ้นมา
ถามว่าก่อนนอนเคยสวดมนต์บ้างไหมครับ?
++
จริงใจนำการเมือง
โดย จ่าบ้าน คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
สื่อมวลชนทุกประเภทต่างมีความเห็นต้องตรงกันว่า "รัฐบาลกับฝ่ายค้าน" ต่าง "ชื่นมื่น" เข้าหากันในการหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันอังคารก่อน
ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเห็นทางคลี่คลายมาตลอดเวลา หลังจากรัฐบาลตัดสินใจนำแนวทาง "การเมืองนำการทหาร" เพื่อเดินไปสู่การ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ตามแนวทางพระราชดำริ
เมื่อเริ่มแนวทางการเมืองนำการทหาร การเจรจาทั้งทางลับและทางแจ้งก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ผู้อำนวยการ ศอ.บต. ซึ่งเข้าพื้นที่หาผู้คนเพื่อสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงปัญหามาตลอด
(เชื่อว่า) การที่ผู้นำฝ่ายก่อความไม่สงบเข้าเจรจากับฝ่ายรัฐบาลตามหลักการ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" อันมีที่มาจากนโยบาย 66/23 เมื่อครั้งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดจากการดำเนินงานของ ศอ.บต. ที่มีพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เป็นผู้อำนวยการ
ยิ่งเมื่อผู้นำมุสลิมโลกเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อก่อนหน้านี้ ก็ยิ่งทำให้การคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การที่รัฐบาลส่งเทียบเชิญผู้นำฝ่ายค้านในสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดภาคใต้ของพรรคมาพบปะเพื่อหารือรับฟังข้อคิดเห็นและแนวทางร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน เพื่อหาช่องทางนำไปสู่สันติสุขให้กับพี่น้องสามจังหวัดภาคใต้และพี่น้องมุสลิมทั้งผองอย่างเป็นเอกภาพและยั่งยืน กับผู้นำรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่เป็นภารกิจอันทรงคุณค่าของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น
กรณีดังกล่าวยังจะทำให้ประชาชนไทยเห็นว่าการใช้ความจริงใจมานำแนวทางการเมือง ผลย่อมเกิดขึ้นในทิศทางที่ดีและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด
แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลกับฝ่ายค้านหันหน้าเข้าร่วมกันแก้ปัญหาของชาติ ซึ่งน่าจะดำเนินการต่อไปจนประสบผลสำเร็จในไม่ช้านี้ แต่ก็เป็นครั้งที่นักการเมืองควรนำไปเป็นกรณีศึกษาว่า ในทางการเมืองนั้นการจะแก้ปัญหาของชาติได้ทุกฝ่ายต้องใช้ความจริงใจต่อกัน
ไม่ใช่เอาแต่จะ "เล่นการเมือง" ตลอดเวลาอย่างที่ผ่านมา 80 ปี
++
สัปดาห์ของรอยต่อ
โดย จ่าบ้าน คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 03:47 น.
สัปดาห์สุดท้ายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มีเวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งถึงวันที่ 30 กันยายน เวลา 24.00 น. แม้ว่าเป็นวันอาทิตย์แต่งานในหน้าที่ ของตำรวจเป็นงาน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะงานของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ไม่ว่าเหตุเกิดที่ไหน ผู้บัญชา การตำรวจแห่งชาติต้องอยู่ที่นั่น เพราะหน้าที่โดยตรงของตำรวจคือ
พิทักษ์สันติราษฎร์ เพื่อ ให้ "ตำรวจอยู่ไหน ประชาอุ่นใจทั่วกัน"
ระหว่างนี้ อาจมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน จนถึงเที่ยงคืน โปรดอย่ามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นได้ไหม โดยเฉพาะเหตุอาชญากรรมร้ายแรง
การปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นับว่าพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีทีเดียว แทบไม่มีคำครหานินทาว่าร้ายแต่ อย่างใด
แม้ว่าการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานของตำรวจใต้บังคับบัญชาจะไม่ค่อยเรียบร้อยนักก็ตาม
แต่เป็นเรื่องของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติที่ต้องร่วมกันพิจารณาและรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นโดยเสียงเอกฉันท์ หรือเสียงข้างมากเพียงเสียงเดียวก็ตาม
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา และในขณะนี้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำหรือน้ำท่วม ปีนี้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอยู่ในความดูแลของพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกระจายไปทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นกองบังคับการตำรวจปราบปราม กองบังคับการตำรวจทางหลวง และกองบังคับการตำรวจน้ำ
ทุกกองบังคับการในกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งด่วนให้กองบังคับการจัดกำลังตำรวจในโครง การ "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" ลง พื้นที่ช่วยเหลือประชาชนเต็มพื้นที่
ส่วนในกรุงเทพมหานคร แม้กระแสน้ำยังไม่ลงมาถึง แต่ในหลายจังหวัดปริมณฑลเริ่ม มีน้ำหลากลงมาแล้ว หวังว่า พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล คงพร้อมรับมือแล้วเช่นกัน
หากตำรวจปฏิบัติหน้าที่เป็น "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" รอยต่อระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ก็จะราบรื่น
++
ไม่เป็นกลาง?
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
ยังเป็นกระแสวิจารณ์ต่อเนื่องในสังคมถึงกรณีรายงานสรุป คอป.ที่ถูกมองว่าโยนบาปให้ชายชุดดำเป็นต้นเหตุของความรุนแรง
สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลก่อนในการปราบปรามม็อบแดง
เป็นการรับรองคำสั่งยิงของ ศอฉ.
ในกรณีของชายชุดดำยังมี การโยงใยถึง"เสธ.แดง"พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล จนถูกวิจารณ์หนัก
เพราะเสธ.แดงเป็น "ผู้ถูกกระทำ" ถูกสไนเปอร์ลอบยิงเสียชีวิต
แต่กลับกลายเป็น "ผู้ถูกกล่าวหา" ตามที่คอป.ระบุว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชายชุดดำ
เป็นการกล่าวหาที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาชี้แจง
จึงเป็นหน้าที่ของ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต้องตอบโต้ คอป.แทนคนที่ตายไปแล้ว
"ที่ระบุว่าชายชุดดำมีความใกล้ชิดกับคุณพ่อนั้นขอให้ระบุออกมาให้ชัด ขอให้คอป.เอาหลักฐานมาแสดง อย่ากล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีตัวบุคคลหรือเอกสารอ้างอิง"
ส.ส.เดียร์ยังโพสต์ในทวิตเตอร์เปิดโปงภาพหลักฐาน "ชายชุดดำ" ถืออาวุธสงครามยืนปะปนอยู่ในกลุ่มทหาร และภาพทหารที่ปลอมตัวเป็นคนเสื้อแดง
โดยตั้งข้อสงสัยว่าทำไม คอป.ถึงไม่ตรวจสอบบุคคลเหล่านี้เลยทั้งที่มีหลักฐานชัดเจน
นอกจากรายงานการศึกษาที่ไม่ครบถ้วนแล้ว คอป.ยังโดนติติงเรื่องความไม่เป็นกลาง
ล่าสุดยังมีการเปิดโปงคณะอนุกรรมการทั้ง 5 คณะ
มีกรรมการอย่างน้อย 2 คนเป็นเสื้อเหลือง เป็นกลุ่มต่อต้านทักษิณ
เคยเป็นหัวหน้าการ์ดบางม็อบ !?
แต่กลับมีหน้าที่ศึกษาประเด็นความรุนแรง โดยเฉพาะการปะทะที่อนุสรณ์สถานดอนเมืองและสถานีดาวเทียมไทยคม เหตุการณ์ปะทะที่คอกวัว 10 เม.ย. และคดี 6 ศพที่วัดปทุมฯ
คอป.ให้คนที่ยืนอยู่ตรงข้ามคนเสื้อแดง มาตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายม็อบแดง
ยิ่งตอกย้ำความไม่เป็นกลาง
จึงเป็นเรื่องยากมากๆ ที่คนเสื้อแดงจะเชื่อถือรายงานคอป.ชุดนี้
+++
ชุดดำและใจดำ
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
ในข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 03:49 น.
การเปิดภาพทหารหน่วยซุ่มยิง ที่กระจายอยู่บน ตึกสูงต่างๆ ในกทม. ช่วงเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งข่าวสดนำมาตีพิมพ์บนหน้า 1 เมื่อไม่กี่วันก่อน หลายคนไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้มาก่อน
เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า รัฐบาลในขณะนั้น รักประชาชนอย่างไรกันแน่ ยอมรับในสิทธิการชุมนุมทางการเมืองแน่หรือ!?
บ้างก็ว่าจัดหนักยิ่งกว่ารัฐบาลทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 17 พฤษภาคม 2535 เสียอีก
มิน่า ผู้ก่อการร้ายหนังสติ๊ก ก่อการร้ายบั้งไฟ ก่อการร้ายขวดน้ำมัน ตายกันเกลื่อน
ทั้งน่าสงสัยว่า คนสั่งการเป็นใคร มีสิทธิอะไรที่ทำกับประชาชนคนไทยด้วยกันขนาดนี้
แต่ภาพแบบนี้ไม่ปรากฏในรายงานของคอป.
มีแต่ภาพชายชุดดำมัวๆ เพราะสนใจแต่การค้นหาชุดดำ!
แล้วเอาเข้าจริงๆ มีพยานหลักฐานไหม ก็แค่ยืนยันตาม "ความเชื่อ" ว่ามีชายชุดดำจริง มีการต่อสู้กับทหารจริง
ทั้งดูจากภาพที่ปรากฏ อาจจะมีแค่ 2-3 คนด้วยซ้ำ
คอป.สนใจคนไม่กี่คนกับอาวุธไม่กี่กระบอก!
แต่ไม่สนใจการส่งกองกำลังรัฐนับหมื่น ถือปืนจริงกระสุนจริงลงสู่ท้องถนน แล้วยิงไปกว่าแสนนัด เพื่อจัดการกับการชุมนุมประท้วงตามระบอบประชาธิปไตย
เน้นย้ำตัวเลขว่าชุดดำฆ่าไป 9 ศพ แล้วอีก 80 กว่าศพเล่า ไม่ค่อยให้น้ำหนักสักเท่าไร!?
ยัดเยียดว่าเสธ.แดงเกี่ยวพันกับชุดดำ แล้วที่เสธ.แดงถูกยิงตายอย่างอุกอาจขนาดนั้น ไม่มีการค้นหาคำตอบว่าถูกใครฆ่า
หรือว่าเพราะอีก 80 กว่าศพ และเสธ.แดงเป็นพวกทักษิณเลยไม่เป็นไร
คอป.ไม่เข้าใจว่าอะไรมาก่อนหลังระหว่าง "เหตุ" ที่นำมาสู่ "ผล"
ถ้า ศอฉ.ไม่ส่งทหารถือปืนเข้าไปปราบม็อบ จะเกิดสถานการณ์บานปลายหรือไม่!?!
ชายชุดดำถ้ามีจริง ก็เป็นเรื่องที่มาทีหลัง เป็นผลที่ตามมา
อย่าสับสน พลิกเอาผลมาเป็นตัวตั้งเพื่อกลบเกลื่อนเหตุ
เหมือนกับที่พูดเสียหรูหราว่าทักษิณควรเสียสละอย่างรัฐบุรุษปรีดี
แปลว่าดีใจและชื่นชมที่คนอย่างปรีดีไม่ได้กลับประเทศไทยอย่างนั้นหรือ
ใจจืดใจดำกับคนที่ต้องไปตายในต่างแดน!
+++
กรณี พัน คำกอง ดุลพินิจ อภิสิทธิ์ สุเทพ กรณีคำสั่งศาล
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง ในข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 14:30 น.
ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป้าหมายใหญ่มิได้อยู่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกต่อไปแล้ว
นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2555 เป็นต้นมา เป้าก็แปรเปลี่ยน
แปรเปลี่ยนจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี มาเป็น นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
แม้จะมีการแตะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็เพียงแผ่วเบา
ยิ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาเปิดเผยหนังสือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน กับ ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยิ่งทำให้เห็นความเป็นจริง
ความเป็นจริงที่แตกต่างระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เรื่องนี้ต้องฟัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
เมื่อมีคนตายเกิดขึ้น 98 ศพ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและมีความเห็นว่า ไม่รู้ว่าใครทำให้ตาย ไม่มีพยาน หลักฐาน
จึงส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ แสดงความเห็นมาว่าใน 98 ศพมี 13 ศพที่เห็นว่าน่าจะเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปชันสูตรพลิกศพใหม่
และทำหนังสือราชการ 2 ฉบับลงวันที่ 16 กับ 23 พฤศจิกายน 2553 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ เป็นประธาน ชันสูตรพลิกศพใหม่และทำรายงานกลับไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่
และเรื่องก็จบตรงนั้น
นั่นเป็นยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เมื่อมาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554
เรื่องดำเนินไปตรงกันข้าม
ที่เป็นตรงกันข้ามนั้นเพราะว่าในการรื้อฟื้นคดีใหม่ เจ้าพนักงานการสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ดำเนินการสอบสวนและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ
ปรากฏว่ามี 36 ศพที่ระบุว่าตายเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ
และที่สำคัญเป็นอย่างมากเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ศาลอาญาได้วินิจฉัยและออกคำสั่งเป็นคดีแรก ระบุว่า นายพัน คำกอง ซึ่งตายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เพราะเจ้าหน้าที่รัฐ
ยืนยันโดยคำสั่งศาล
ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะยึดบรรทัดฐานในแบบใด
แต่กรณีของ นายพัน คำกอง ได้รับคำยืนยันมาแล้วโดยคำสั่งศาลอาญาที่ดำเนินการไต่สวนสรุปได้ว่า เป็นการตายเพราะปืนของเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งของ ศอฉ.
ยังมีอีก 35 คดีกำลังรอการไต่สวนอยู่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย