http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-29

อำนาจกระจุกและอำนาจกระจาย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

อำนาจกระจุกและอำนาจกระจาย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 28  


สามก๊กนั้นเป็นวรรณกรรมอันน่าอัศจรรย์มากของไทยในต้นรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่ทำไมถึงถูกแปลเป็นภาษาไทย และทำไมถึงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง (อย่างน้อยในหมู่ชนชั้นนำ) กลายเป็นบทละคร ภาพสลักหิน (ซื้อมาจากจีน) และความเปรียบต่างๆ ในภาษาไทยอย่างแพร่หลาย 
สามก๊กและความนิยมจนแพร่หลายของสามก๊กสะท้อนความเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางการเมืองบางอย่างในสังคมไทยสมัยนั้น 

ทำไมผมจึงคิดเช่นนั้น ผมขออธิบายดังต่อไปนี้ครับ


ในบทความครั้งที่แล้ว ผมพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจของชวา ตามการศึกษาของ อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ซึ่งในหลายลักษณะของแนวคิดนั้น ก็เหมือนกับของไทย  
อำนาจในแนวคิดของชวา (และไทย) นั้นมีลักษณะกระจุก คือไม่แยกออกเป็นอำนาจหลากหลายชนิด (การเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม ฯลฯ) และด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ได้แยกผู้ถืออำนาจออกเป็นหลายฝ่าย แต่กระจุกอยู่กับคนเดียวหรือสถาบันเดียว

ที่ว่าทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดในอุดมคตินะครับ ไม่ได้หมายความว่าในความเป็นจริง ไม่มีการแก่งแย่งอำนาจด้านต่างๆ ระหว่างคนต่างกลุ่มในชวาหรือเมืองไทยโบราณเลย เพียงแต่ว่าหากการแก่งแย่งนั้นอยู่พ้นการควบคุมของอำนาจใหญ่จนเลยเถิดไป (เช่น จับอาวุธขึ้นรบกัน หรือพรรคพวกบริวารตีกันในขบวนแห่พระ-ตามพระราชพงศาวดาร ร.1) ก็แสดงว่าอำนาจกำลังเสื่อมเสียแล้ว จึงไม่มีลักษณะกระจุกอีกต่อไป เป็นอันตรายต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง 

อำนาจถูกกระจุกด้วยอิทธิฤทธิ์ของพลังจักรวาล ในชวาซึ่งได้อิทธิพลฮินดูมากกว่าไทย พลังดังกล่าวอาจเป็นพระศิวะ
ส่วนของไทยเป็นพลังแห่งกรรม 
ย้อนกลับไปดูวรรณคดีหลวงสมัยอยุธยา อำนาจย่อมกระจุกด้วยพลังแห่งกรรมทั้งนั้น พระสมุทโฆษตกทะเลเพราะพระขรรค์วิเศษหลุดมือ แต่ในที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจากเทวดา จนเหาะได้อีกครั้ง และกลับมามีอำนาจที่กระจุกอยู่ในมือตนเอง เป็นอันจบเรื่องจบราวกันไป 
พระเวสสันดร หรือพระราม ก็เหมือนกัน (ถ้ามองจากพลังแห่งกรรม แทนที่จะมองจากภารกิจของพระเจ้า) 
คนเหล่านี้ เมื่อได้อำนาจแล้วก็เป็นอำนาจที่กระจุกทั้งนั้น แม้แต่บริวารที่ส่งไปครองเมืองต่างๆ ก็ยังจงรักภักดีถวายหัวเหมือนเดิม ศัตรูที่ไม่จงรักภักดี (เช่น ชูชก) ก็ถูกพลังกรรมทำให้สิ้นชีวิตลง



แต่สามก๊กไม่ใช่นะครับ อำนาจกระจายมาตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้ว แม้ในที่สุด คนดีมีฝีมืออาจรวบรวมก๊กต่างๆ ให้มาอยู่ภายใต้อำนาจของตนได้หมด แต่นั่นเป็นตอนท้ายที่ไม่ใช่ท้องเรื่องหลักของวรรณกรรม 
ยิ่งกว่านั้น ตัวละครหลักๆ ทุกตัว ไม่มีใครสมบูรณ์เลยสักตัวเดียว ล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยในตัวเองทั้งนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือมีอำนาจจากคุณสมบัติบางอย่างของตัว แต่ก็เป็นอำนาจที่จำกัด 


อำนาจในสามก๊กนั้นกระจาย ไม่ใช่กระจายไปตามก๊กต่างๆ ซึ่งมีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกันเท่านั้น แต่แม้ในก๊กเดียวกัน อำนาจก็กระจาย ไม่ว่าจะเป็นตั๋งโต๊ะ ลิโป้ โจโฉ ซุนกวนหรือเล่าปี่ ล้วนมีศัตรูภายในที่มีอำนาจอยู่มาก จนกระทั่งเจ้านายต้อง "ต่อรอง" ด้วยวิธีต่างๆ มากกว่าขจัดออกไปอย่างง่ายๆ 
คนไทยที่เคยชินกับนิยายที่อำนาจกระจุกอยู่กับพระเอกคนเดียว นิยมชมชอบสามก๊กเพราะอะไร แค่อ่านหรือฟังรู้เรื่องก็น่าอัศจรรย์แล้วนะครับ เพราะแม้แต่จะหา "พระเอก" ในเรื่องสามก๊ก โดยอาศัยมาตรฐาน "พระเอก" แบบไทย ก็หาไม่เจอด้วยซ้ำ



ผมไม่ทราบหรอกครับว่า เรื่องสามก๊กเริ่มรู้เริ่มเล่ากันในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่ผมไม่เชื่อหรอกครับว่า จู่ๆ เจ้าพระยาพระคลัง จะมานั่งแปลสามก๊ก โดยไม่มีฐานความนิยมในสังคมมาก่อนเลย ฉะนั้น หากจะมีหลักฐานว่าคนไทยในปลายอยุธยาก็รู้เรื่องสามก๊กอยู่บ้าง ผมก็ไม่แปลกใจอะไร 
อาจเป็นได้ว่าเค้าของความคิดเรื่องอำนาจกระจาย ปรากฏในวรรณคดีไทยอีกเรื่องหนึ่งคือขุนช้างขุนแผน แม้เรื่องนี้ถูกใช้สำหรับขับเสภามาแต่ปลายอยุธยา แต่เรารู้โครงเรื่องและตัวอย่างเสภาจากอยุธยาน้อยมาก ขุนช้างขุนแผนฉบับที่เรารู้จักทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ถูกชำระแล้วหรือยังไม่ถูกชำระ ล้วนเป็นงานสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น  

ด้วยเหตุที่ขุนแผนเป็นพระเอก จึงต้องบรรยายความเก่งกล้าสามารถของขุนแผนไว้มากมาย จนดูเหมือนอำนาจจะกระจุกอยู่กับพระเอก แต่ในเนื้อเรื่องอำนาจของขุนแผนกลับถูกจำกัดลงด้วยอำนาจอื่น เช่น อำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน อำนาจของความสัมพันธ์ทางสังคมอื่นๆ รวมทั้งความหวงแหนนางวันทองด้วย แม้แต่ความเลวของขุนช้างก็ยังสามารถจำกัดอำนาจของขุนแผนลงได้  
แต่บางคนอาจเห็นว่า ถึงอย่างไรขุนแผนก็ไม่ใช่เจ้าแผ่นดิน ฉะนั้น อำนาจย่อมไม่กระจุกอยู่กับสามัญชนอยู่แล้ว นั่นก็เป็นได้ครับ เพราะเรื่องราชาธิราชก็มี "พระเอก" เป็นทหารเอก ที่อำนาจไม่ได้กระจุกอยู่กับเขาเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องสามก๊ก, ขุนช้างขุนแผน และราชาธิราช ก็เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งที่ล้วนเป็นเรื่องที่อำนาจในท้องเรื่องต่างเป็นเรื่องของอำนาจที่กระจายออกไปจากจุดเดียวทั้งนั้น 
วรรณกรรมเหล่านี้ จึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สำคัญในสังคมไทยสมัยนั้นด้วย อุดมคติของชนชั้นนำว่า อำนาจต้องกระจุกกำลังสลายลง หรืออย่างน้อยเริ่มถูกปรับเปลี่ยน  
ทั้งหมดนี้มีปัจจัยทางสังคมอะไรหนุนหลังให้เกิดการปรับเปลี่ยน ผมตอบไม่ได้ ยกเว้นแต่มีข้อเดาด้านการเมือง



นับจากความมั่งคั่งที่อยุธยาได้รับใน "ยุคแห่งการค้า" (คริสต์ศตวรรษที่ 16-17) ที่ทำให้อยุธยาขยายอำนาจ สร้างระบบราชการที่ใหญ่ขึ้น ลักษณะของ "รัฐราชสมบัติ" คือพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของทรัพย์และอำนาจทุกอย่างในรัฐแต่ผู้เดียว คลอนคลายลง เช่นแม้อำนาจของเจ้าเมืองที่ใกล้พระนครอ่อนลง แต่อำนาจของขุนนางส่วนกลางกลับแก่กล้าขึ้น จนพระเจ้าแผ่นดินต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา  
ตกถึงปลายอยุธยา ขุนนางส่วนกลางมีอำนาจมากพอจะสั่งสมอำนาจนั้นไว้ในตระกูลสืบเนื่องกันได้ กลายเป็นอำนาจปลูกฝัง (ในท้องถิ่นหรือในตำแหน่งราชการ) ที่พระเจ้าแผ่นดินไม่สามารถมองข้ามได้ และก็เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ชนชั้นสูง "ความเป็นจริง" ที่ประจักษ์แก่ผู้คนขัดแย้งกับทฤษฎีอำนาจกระจุกอย่างเห็นได้ชัด  
และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า การกระจายอำนาจไปในหมู่ขุนนางในสมัยต้นราชวงศ์จักรี ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างคึกคัก ว่ากันที่จริงแล้ว พระมหากษัตริย์ใน 4 รัชกาลแรกของราชวงศ์นี้ ต้อง "ต่อรอง-negotiate" อำนาจกับขุนนางทุกพระองค์ 
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4 อำนาจของขุนนางซึ่งเคยมีหลายกลุ่มเกี่ยงแย่งกันอยู่ ขุนนางตระกูลเดียวช่วงชิงไว้ได้มากที่สุด จึงคุกคามความมั่นคงของราชวงศ์อย่างยิ่ง   

ผมคิดว่า "ความเป็นจริง" เช่นนี้ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ไม่คิดจะชิงราชสมบัติ ก็อยู่ๆ จะเลื่อนขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่อำนาจกระจุกอยู่กับตัวน้อยกว่าทำไมล่ะครับ ฉะนั้น หากไม่มีการปฏิรูปของ ร.5 ระบอบกษัตริย์ของไทยก็คงเปลี่ยนไป (ตัวท่านก็เป็นคนหนึ่งที่นิยมชมชอบนิยายจีนอย่างมาก ล้วนเป็นเรื่องของอำนาจที่กระจายทั้งนั้น)  
บางคนคิดว่าเมืองไทยอาจเกิดระบอบ "โชกุน" ขึ้นในเมืองไทย แต่ผมคิดว่าเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายนัก เพราะถึงแม้ตระกูลบุนนาคจะมีอำนาจมาก แต่ก็ไม่มากถึงกับจะสร้างระบอบนี้ขึ้นได้  
อย่าลืมว่าอำนาจที่ได้มานั้นไม่ได้มาจากการทำศึกกับศัตรู จึงเป็นอำนาจที่ไม่เด็ดขาดเท่าโตกุงาวาของญี่ปุ่น


เมื่ออำนาจเลื่อนมาอยู่ในกลุ่มขุนนาง แต่ไม่มีกลุ่มใดที่ยึดอำนาจได้เด็ดขาด อำนาจต้องนำมาแบ่งปันกัน ตามสัดส่วนน้อยมากแล้วแต่กำลังต่อรองของตน สถานการณ์เช่นนี้ หากไม่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ก็นำไปสู่การสร้างเวทีต่อรองอำนาจ ไม่ได้หมายถึงรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยนะครับ แต่อาจจะเป็นสภาขุนนาง ซึ่งเป็นสถาบันที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของรัฐที่อำนาจกระจาย แต่ไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะความพยายามที่จะรักษาอำนาจให้กระจุกสืบมาเป็นเวลานาน  
แน่นอนว่า ในสภาขุนนาง (ทุกแห่ง) อำนาจไม่ได้กระจายไปยังสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน แต่มีบางกลุ่มบางตระกูลที่ได้ส่วนแบ่งของอำนาจสูงกว่าคนอื่น และกลุ่มนี้แหละที่จะคอยกำกับมติของสภาขุนนาง แม้ไม่เด็ดขาดแต่ก็มักเป็นมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของฝ่ายตนได้มาก

ดังนั้นสิ่งที่น่าจะเกิดหลัง ร.4 มากกว่า คือสภาขุนนางหรือ Hlutdaw ซึ่งเป็นสถาบันที่เกิดในพม่ามานานแล้ว อันที่จริงสมเด็จเจ้าพระยาท่านก็อาศัยการประชุม Hlutdaw เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การตัดสินใจของท่าน ไม่ว่าจะชี้เอาใครมาสืบราชสมบัติต่อจาก ร.4 (เป็นผู้เยาว์ที่ในช่วงนั้นสุขภาพกำลังย่ำแย่ ชนิดที่ผู้คนไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่) หรือเตรียมเจ้านายในโอวาทของท่านไว้สืบต่อในตำแหน่งวังหน้าด้วย 
ที่ประชุมขุนนาง (ซึ่งแม้ยังไม่เป็นสถาบันอย่างชัดเจนเท่าพม่า) กลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจในการเมืองไทยสืบมา สิ่งที่ต้องทำก็คือครอบงำสภาขุนนางให้ได้ แม้แต่ ร.5 เองก็ทรงตั้ง Hlutdaw ชื่อเคาน์ซิลออฟสเตตภายใต้การครอบงำของพระองค์เป็นเครื่องมือในการสถาปนาอำนาจของราชบัลลังก์เหมือนกัน

แต่พัฒนาการทางการเมืองในแนวนี้มายุติลงด้วยการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สำเร็จ อำนาจที่เริ่มกระจายถูกนำมากระจุกไว้ภายใต้ราชบัลลังก์ วรรณกรรมที่สร้างขึ้นนับจากนั้น หันมาสู่การเมืองแบบอำนาจกระจุก ไม่ว่าจะเป็นนิทราชาคริต, พระร่วง, มาจนถึงสี่แผ่นดิน

แนวคิดทางการเมืองของไทยหันกลับไปสู่ "รัฐราชสมบัติ" ใหม่อีกครั้งหนึ่ง การเรียงรายพระนามของกษัตริย์หรือรายชื่อของนายกรัฐมนตรี ก็กลายเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ไปได้ 
เพราะแนวคิดอำนาจกระจุกกลายเป็นตัวแบบการปกครอง ที่สั่งสอนอบรมสืบทอดกันมาในแบบเรียนจากชั้นประถมถึงมหาวิทยาลัย ส่งผ่านละครทีวี, หนังไทย, งานวรรณกรรม และศิลปะทุกแขนง จนทำให้คนไทยปัจจุบันเชื่อว่า ระเบียบของสังคมนั้นดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่ออำนาจถูกกระจุกไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง (ซึ่งควรเป็น "คนดี", คนมีเกียรติยศสูงสุด และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป)

อาจพูดได้ว่า ความแตกต่างด้านจินตนาการทางการเมืองของเสื้อเหลืองและแดง ก็คือฝ่ายหนึ่งคิดถึงอำนาจที่ต้องมีธรรมชาติกระจุก ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคิดถึงอำนาจที่ต้องมีธรรมชาติกระจาย



.