http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-05

ที่มา ที่ไป, ถึงคราเยียวยาภาษาถิ่น โดย ศิลา โคมฉาย

.

ที่มา ที่ไป
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 67


การได้พบปะ ร่วมกิจกรรมกันเล็กๆ น้อยๆ ในกลุ่มเพื่อนยามสูงวัย 
มิตรสหายบางคนว่า เป็นการบำบัดสภาพจิตใจ 
ความเป็นจริงในชีวิต ดีดถ่างให้จำต้องห่างเหิน ต่างต้องอยู่กับตัวเอง ค่อยๆ เรียนรู้ความโดดเดี่ยว สัมผัสชีวิตเงียบเหงาตามปกติของคน
หลังจากผ่านช่วงวัยฉกรรจ์ คึกคัก รวดเร็ว เป็นกลุ่มก้อน ทันโลกทันกาลมาพักใหญ่
สภาพจิตอาจกดดัน หรืออย่างน้อยคงปั่นป่วนปรวนแปรอยู่บ้าง

การกลับไปสู่กลุ่ม รู้สึกตื่นตัว คึกคักกระฉับกระเฉง ตั้งแต่ยามได้รับนัดหมาย จนออกเดินทาง กระทั่งพบหน้าเห็นหนวด สัมผัสทักทายกัน
ครึกครื้น สดชื่นยินดี 
นั่งลงด้วยกัน แหย่เย้า ผลัดเปลี่ยนกันพรั่งพรูปลดปล่อยเรื่องราว เทออก จนอกใจโล่งโปร่ง เกิดพื้นที่มากพอให้ซึมซับรับพลังบางอย่างบรรจุลง
วันหยุดยาวช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าผมจะเข้าถึงความรู้สึกที่ว่านั่น...

และคงไม่ต่างจากศิลปินใหญ่เจ้าของนัดหมาย ที่ห้อรถจากประจวบคีรีขันธ์ ตีกลับเขาใหญ่ เพราะงานแสดงดนตรีที่รีสอร์ต ลึกเข้าไปแถบตีนแนวเทือกเขาตะนาวศรี ในวันที่กลุ่มเพื่อนออกเดินทาง 
เขาคุยเขื่องว่า จะใช้ชีวิตแบบเดินสายเล่นดนตรีต่อไปอีกสักราวสิบปี 
ถึงเวลานั้นคงหย่อนจากวัยเจ็ดสิบนิดหน่อย 
หรือกับคอนเสิร์ตใหญ่ประจำปี แสดงเดี่ยวของคนพูดเพลง มีแผนจัดที่โรงหนังสกาลา จะเตรียมเพลงไว้ร้องสัก 80 เพลง แสดง 2 รอบรอบละ 40 เพลงไม่ซ้ำกัน
ถ้อยคำและท่วงที แสดงการยืนห่างจากความเป็นคนแก่อีกยาวไกล ตามความเชื่อปกติร่วมกันของคนร่วมกลุ่ม แต่เมื่อนั่งลงปล่อยตัวปล่อยใจ ค่อยละเลียดดื่มกิน หลอมรวมเข้าเป็นส่วนในบรรยากาศเพื่อนเก่า หลายเรื่องสนทนากลับเป็นเรื่องเก่า
หรือขุดเจาะลงไปแล้วพบว่าตั้งอยู่บนฐานเก่า

เพื่อนศิลปินบอกกล่าวถึงสิ่งค้นพบใหม่ว่า เขาเป็นน้าหมู พงษ์เทพ เป็นตัวเป็นตนเช่นทุกวันนี้ได้เพราะ คนลัวะ คนภูเขาขุนน้ำน่าน ซึ่งได้พบและใช้ชีวิตอยู่ร่วมในวัยหนุ่ม  
บุคลิกลักษณะ วิถีชีวิต ศิลปะการร้องรำทำเพลง งามจนไฟสร้างสรรค์ในตัวเขาลุกโพลง  
ปลดปล่อยนกเขาไฟให้โบยบินระเริงไปเหนือทิวเทือกเขา




คนลัวะ กลุ่มคนภูเขาที่จัดว่ายากแค้นที่สุดในแถบนั้น หากเทียบกับม้ง หรือคนภูยวน  
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยชาวเขาระบุว่า ชนชาติลัวะหรือละว้า จัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เอเชียตอนใต้ (Austrosiatic) กระจายตัวอยู่ในภาคพื้นเอเชียตอนใต้มาช้านาน ตั้งแต่อินเดียตะวันออก จีนตอนใต้ พม่า จนถึงไทย ลาว เขมร และเวียดนาม 

ลัวะ เป็นประชากรดั้งเดิมของแหลมทอง พวกที่เคลื่อนย้ายตามลำน้ำสาละวิน กลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมชนชาติมอญ พวกที่มาตามลำน้ำโขงกลายเป็นเขมร และพวกที่ตกค้างอยู่ทางภาคเหนือไทย ลาว กลายเป็นลัวะ ขมุ และข่ากลุ่มต่างๆ

คำยกย่องยืนยันของเจ้าบ้าน ทำให้ผมคิดได้ถึงความพิเศษล้ำทางความคิด ของชาวป่าดงลึกลับไกลลิบบนเทือกเขาสูงทะลุฟ้า 
บันทึกไว้หลังปกหนังสือ รอยเท้าและทางเดิน ของ จันทนา ฟองทะเล 
จากเหตุการณ์ขณะดั้นด้นบุกป่าฝ่าดง ทำสงครามจรยุทธ์ 
เขาว่า...ครั้งหนึ่ง ผมเคยบอกเพื่อนชาวลัวะว่า วันใดถ้าหลงทางผมจะวิ่งลงไปหาถนน..เขาไม่เข้าใจ เพราะถนนบังคับเส้นทางไปอยู่เพียงสองทางเท่านั้น  
สำหรับเขาจะวิ่งขึ้นไปบนสันสูง 
เพราะบนสันสูงมีเส้นทางให้เลือกเป็นร้อยๆ เส้น ตรงนั้นจะมองเห็นฟ้า..ฟ้าจะบอกทิศ 
และเขาจะพบอิสรภาพ


เรื่องนี้ทำให้ผมคิดไปถึงคำเตือนตอกย้ำ ขณะใช้ชีวิตในเขตป่าเขาให้ตระหนักว่า ไม่ควรยึดติดในเส้นทางนัก เพราะมันลบเลือนเปลี่ยนแปลงได้ในทุกคราวที่ฝนลง ต้องรู้จักค้นหาและแม่นในทิศ  
แม่นทิศสามารถสร้างทางใหม่ๆ ได้เสมอ 
ผมจึงเข้าใจได้ว่า เครื่องดนตรีง่ายๆ ที่ชื่อคัลเปร๊ะ เล่นโน้ตได้จำกัด ขับลำเพลงซอ จ๊อย เล่าเรื่องชีวิต การผลิตแบบชาวป่า และวัฒนธรรมการดำรงอยู่ ลึกงามแฝงอยู่ในความเรียบง่าย เป็นแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ 
เกิดเพลง นกเขาไฟ ลิงทโมน หยดน้ำ ใบไม้ นกละเมอ...


การบ่งบอกถึงที่มา จากแรงส่งของคนเล็กๆ ชายขอบไกลลิบ เป็นคนทุกข์แทบไร้สิ้นซึ่งโอกาส ศิลปินไม่ได้ประกาศถึงที่ไปชัดเจน 
กล่าวเพียงว่า เขาเป็นมืออาชีพ มีความรับผิดชอบและมิตรภาพเป็นจุดแข็ง จะยังคงตระเวนเล่นดนตรี ตามการว่าจ้าง ซึ่งยังคงมีความเรียกร้องต้องการอยู่ไม่ขาด หาเงินเลี้ยงชีพ 
และจะทำงานไปอีกยาวนาน 
แต่จะมีเวลาร่วมกับแฟนเพลง กลุ่ม องค์กรจัดงานเพื่อสาธารณกุศลได้สม่ำเสมอ อย่างแผนในช่วงใกล้ รับสร้างห้องโสตทัศนศึกษาให้โรงเรียนเล็กๆ ในท้องถิ่น การหาทุนสำหรับผู้ป่วยเอดส์ 
ทั้งพร้อมเป็นกำลังของการขับเคลื่อนในปัญหาของผู้ด้อยโอกาส

ยามนี้ ผมเหมือนรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนของพลังใจ ที่ค่อยๆ ซึมเข้าเติมเต็ม...



++

ถึงคราเยียวยาภาษาถิ่น
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 67


ช่วงไม่กี่ปีหลัง ผมมักได้เห็นความกังวลของผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้รับผิดชอบงาน ในแวดวงการศึกษา วัฒนธรรม ปรากฏในงานสัมมนา เสวนาทางวิชาการ หลายครั้งหลายครา 
กลัวภาษาถิ่นของคนไทยสูญหาย 
แม้จะมีความพยายามผลักดัน ให้ผู้คนใช้ภาษาของแหล่งกำเนิดตน ขั้นยกย่องเชิดชูเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ในวันภาษาไทยแห่งชาติ 
คืออู้กำเมืองถึงกลิ่นถึงรสน้ำปู๋ เว้าลาวจนได้กลิ่นปลาแดกกระจาย แหลงกันแล้วต้องเตรียมหลบฟ้าหลบฝน เพราะสำเนียงเป็นสายล่อฟ้า
ใครรอบรู้ และใช้ได้ดีจะมีรางวัล 
เหมือนตัวตลก ตัวประกอบ แต่ไหนแต่ไรมา ถูกมองคุณค่าแล้ว เลยยกขึ้นหิ้ง


แต่ดูเหมือนสถานการณ์ไม่ได้กระเตื้องนัก 
เคยมีความกังวลของกระทรวงวัฒนธรรมว่า ประเทศไทยซึ่งแสนร่ำรวยภาษาถิ่น นับรวมกันแล้ว มีถึงราว 50 ภาษา กำลังจะสูญหายในระยะใกล้ราว 10 ภาษาเป็นอย่างน้อย 

เป็นความสูญเสียทางวัฒนธรรมของประเทศชาติ 
เร็วๆ นี้ในงานเสวนาทางวิชาการ "รู้ รัก ภาษาไทย (สัญจรภาคใต้)" ที่นครศรีธรรมราช ข่าวคราวที่รายงานผ่านหนังสือพิมพ์ ยังคงยืนยันถึงภาวะวิกฤติของภาษาถิ่น  
ระดมครู อาจารย์ ปราชญ์ท้องถิ่น นักวิชาการท้องถิ่น นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงประชาชนมาร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็น ดูเหมือนจะเห็นปัญหาเกิดกับเด็ก 
คนรุ่นใหม่ไม่ใส่ใจที่จะพูดภาษาถิ่นของตนเอง ไม่เข้าใจหลักในการใช้ ความหมาย จนเกิดความผิดเพี้ยน

เนื่องจากสถานศึกษาบางแห่งไม่ให้เด็กพูดภาษาถิ่น รวมทั้งไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาถิ่น 
จากจุดนี้ รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ประธานคณะกรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการ ภาษาไทยถิ่นภาคใต้ เห็นความจำเป็นในการจัดทำหลักสูตร เพื่อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ 

ให้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมไปยันมหาวิทยาลัยเสียเลย 
ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ก่อนเด็กจะเมินภาษาถิ่นแบบไม่ดูดำดูดี


อันที่จริงในกระแสวิตกกังวลดังกล่าว ผมจำได้ว่า เคยมีความคิดเห็นหลากหลายมุมมอง จากผู้รู้ ผู้สนใจศึกษาค้นคว้า ถูกนำเสนอออกสู่สาธารณะแทรกอยู่ด้วยเสมอ  
หลายมุมน่าจะเป็นประโยชน์ให้นำมาใคร่ครวญ 
อย่างเช่นการชี้ว่า วิกฤติที่เกิดกับภาษาถิ่น เป็นเพราะวัฒนธรรมเมืองจากส่วนกลาง แพร่กระจายลงสู่ชนบท มีพลังอำนาจมากพอ สามารถเปลี่ยนแปลง กระทั่งกลืนกินวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยสิ้นเชิง  
พื้นฐานเศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต ความคิด ภูมิปัญญา ความเชื่อถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว วัฒนธรรมส่วนกลาง ทำลายลักษณะเฉพาะปลีกย่อย ขัดเกลาอัตลักษณ์ท้องถิ่นจนไม่เหลือดอกลาย 
ต้องขึ้นต่อ พึ่งพาเป็นบริวาร 

ที่สำคัญต้องควักกระเป๋าจับจ่ายซื้อหามาบริโภค  
ภาษามิได้เป็นเพียงถ้อยคำลอยๆ แต่อยู่ในวิถีชีวิตและแบบฉบับการดำเนินชีวิต 
หากส่วนนี้ล่มสลาย ภาษาก็มิอาจดำรงอยู่ได้ 


ยิ่งสังคมเปลี่ยนแปลงไป ชุมชนอ่อนแอลง ครอบครัวที่เคยรวมกันผูกพันแน่นเหนียว แตกออกกระจัดกระจายเป็นครอบครัวเดี่ยว ผู้คนอพยพเคลื่อนย้ายพลัดจากถิ่น แสวงหาโอกาสที่ดีกว่า พวกเขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในต่างบ้านต่างเมือง เอาตัวรอดให้ได้กลางสภาพการดำรงอยู่แบบปัจเจก วัฒนธรรมดั้งเดิมไม่อาจถ่ายทอดซึมซับ ไม่อาจรับช่วง ไม่เห็นประโยชน์ที่จะแบกรับไว้  
ของเก่าที่ต้องสูญหายไปกับยุคสมัย มักเป็นเพราะความไม่เข้าใจ ไม่มีความต้องการ และไม่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตผู้คนปัจจุบัน 
วิกฤติภาษาถิ่นที่ว่า จึงลึกละเอียด และมีเหตุอันเกี่ยวเนื่องไปไกล เกินกว่าจะมองเอาแค่ผู้คนยุคใหม่มองไม่เห็นคุณค่า 

การจัดทำหลักสูตร จัดการเรียนการสอน เป็นการแก้ปัญหาอย่างแน่นอน 
แต่คงมีงานต้องทำกันมากกว่านั้น




การเยียวยาภาษาถิ่น น่าจะมุ่งให้ความสำคัญกับการเติมพลังท้องถิ่น ได้สำแดงตัวตนอย่างชัดเจนโดดเด่น และมีความภาคภูมิ 
ตัวอย่างชุมชน บ้าน ย่านตลาด กระทั่งเมืองเล็กๆ สงบงาม มีวิถีชีวิตวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์เฉพาะของตัว ไม่ว่าตรงชายชายคลองลุ่มน้ำภาคกลาง ชุมชนเกษตรภาคใต้ ถึงเมืองในหุบเขาภาคเหนือ แหล่งที่ซึ่งผู้คนโดยทั่วไปต่างยอมรับ นิยมชมชื่น กระหายใคร่ได้ไปเยี่ยมเยือน สัมผัสซึมซับเอาความงาม ความมีเอกลักษณ์พิเศษชวนตื่นตาตื่นใจ  
แล้วจากลาอย่างอิ่มเอมใจ ประทับใจ ทั้งเกิดความเคารพนับถือตั้งต่อผู้คนและสถานที่  
สิ่งนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจ

คนท้องถิ่นที่ได้รับความเคารพ ยกย่องชื่นชม ย่อมกล้าที่จะเปิดเผยความเป็นตัวของตัวเองอย่างผ่าเผยและองอาจ ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกาย และการใช้ภาษา  
พร้อมจะรักษาไว้เพราะมองเห็นความสำคัญ 
จักมีใครอื่นใดเล่า รักษาภาษาถิ่นได้เท่าท้องถิ่น




.