http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-22

วันเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง! รำลึก 6 ปีแห่งการรัฐประหาร โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

วันเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง! รำลึก 6 ปีแห่งการรัฐประหาร
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 35


"ผู้ที่กระทำความผิดแล้ว จะต้องแก้ไขอย่างเด็ดเดี่ยว
หากไม่แก้ไข ยิ่งปล่อยก็ยิ่งลึก ถึงที่สุดแล้วก็ยังคงต้องแก้ไขอยู่ดี ความสูญเสียเกียรติภูมิก็จะมากเกินไป
แก้ไขเร็วสักหน่อย เกียรติภูมิก็จะมีแต่จะสูงกว่าเก่า
"
รวมนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง
เล่ม 12



แม้อดีตของการเมืองไทยจะตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของระบอบทหารมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 และรัฐประหารตุลาคม 2501 ที่ทำให้ทหารมีอำนาจในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 
จนอาจกล่าวได้ว่า หากสำรวจดูจากประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ น่าจะเป็นผู้นำทหารที่มีอำนาจมากที่สุดเท่าที่เคยมีกันมาในการเมืองไทย 
ซึ่งการใช้อำนาจของผู้นำทหารท่านนี้มาพร้อมกับวาทกรรมที่ผู้นำของระบอบอำนาจนิยมชื่นชอบว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"

และปรากฏการณ์สำคัญหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ก็คือ การสร้างความเป็นสถาบันของอำนาจทหารในการเมือง กล่าวคืออำนาจเช่นนี้ถูกรองรับไว้ด้วยสถานะทางกฎหมาย
และเห็นชัดต่อมาในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ใช้การปกครองด้วยประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร (แต่สังคมไทยเรียกว่า "คณะปฏิวัติ") 
สภาพเช่นนี้ทำให้ระบอบการเมืองไทยเป็น "ระบอบทหาร" ในตัวเองอย่างชัดเจน จนแทบไม่มีใครคิดว่า แล้ววันหนึ่งระบอบนี้จะถูกโค่นล้มลงได้

เพราะหลังจากรัฐประหาร 2490 แล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยล้วนตกอยู่ในวังวน ที่การเปลี่ยนอำนาจเป็นเพียง "การเปลี่ยนมือ" ของผู้นำทหารในการถือครองอำนาจเท่านั้น  
แต่ผลจากการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2516 ทำให้ระบอบทหารของไทยซึ่งดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหารในปี 2490 เป็นอันสิ้นสุดลง
เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของฝ่ายประชาชน จนถือกันว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองไทยครั้งที่ 2 หลังจากเหตุการณ์ในปี 2475 ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้กองทัพถูกผลักออกไปจากการเมืองไทย หรือเป็นการถอนตัวของทหารออกจากการเมืองไทยด้วยการต่อสู้ของประชาชนเป็นครั้งแรก


หากแต่ด้วยความเป็นไปของการเมืองระหว่างประเทศภายในภูมิภาค ประกอบกับความหวาดกลัวทางการเมืองของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่เปลี่ยนจากการ "ผลักดัน" ให้ทหารออกไปจากการเมืองไทยในปี 2516 ก็หันกลับมาเป็นการ "ผลักกลับ" ให้ทหารเข้าสู่การเมืองไทยอีก
และตามมาด้วยการล้อมปราบครั้งใหญ่ในเมืองของการเมืองไทยในวันที่ 6 ตุลาคม 2519


การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังปี 2516 ของไทยล้มลุกคลุกคลานไม่แตกต่างจากยุคหลัง 2475 และอำนาจก็กลับไปอยู่ในมือกลุ่มผู้นำทหาร ซึ่งก็รวมถึงบรรดาชนชั้นนำบางส่วนด้วย 
แต่การกลับมาของทหารครั้งนี้ก็ถูกท้าทายจากสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้าน ที่ตัวแบบของรัฐบาลปีกขวาแบบเดิมไม่ช่วยแก้ปัญหา 

แม้จะมีการสร้างรูปลักษณ์ใหม่ด้วยการใช้ผู้นำพลเรือนฝ่ายขวาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนผู้นำทหารในปี 2519 ก็ตาม รัฐบาลขวาจัดซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำและผู้นำทหารปีกขวากลับทำให้สถานการณ์สงครามภายในทวีความรุนแรงขึ้น  
และรัฐบาลขวาจัดเช่นนี้กลายเป็นเงื่อนไขของสงครามในตัวเอง 
จนในที่สุดก็ต้องถูกยุบเลิกด้วยการยึดอำนาจของทหารในเดือนตุลาคม 2520

รัฐบาลทหารหลังจากปี 2520 พยายามใช้การเปิดระบบการเมืองให้เป็นเสรีนิยมมากขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของการลดความขัดแย้งภายในชาติ
ซึ่งหากมองย้อนกลับไปจากปี 2475 จนถึงปี 2520 ก็เห็นชัดเจนว่า การเมืองไทยมีพลวัตมากขึ้น และผู้นำทหารในยุคหลังปี 2520 ก็ยอมรับว่า การเมืองไทยต้องเป็นประชาธิปไตย 
แม้ประชาธิปไตยในทัศนะของพวกเขาในด้านหนึ่งจะเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในชาติก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการยอมรับแนวคิดในเรื่องประชาธิปไตยในการเมืองไทย แทนที่จะปักใจเชื่ออยู่กับเพียงเรื่องของระบอบอำนาจนิยม 
จนทำให้กองทัพเกิดการปรับตัวอย่างมาก แม้จะเป็นการปรับเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็ตาม

ดังจะเห็นได้จากรูปธรรมของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือ 65/2525 ที่นำเสนอแนวคิดให้กองทัพเป็นกลไกในการสร้างประชาธิปไตย 
และความเป็นประชาธิปไตยนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไทยเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ได้ในที่สุด



การปรับตัวหลังยุค 66/23 เช่นนี้ไม่ใช่หลักประกันเสมอไปว่า จะไม่มีผู้นำทหารที่ยึดแนวทางการรัฐประหารหลงเหลืออยู่ภายในกองทัพ
เพราะการปรับตัวดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการสร้างความเป็น "ทหารประชาธิปไตย" ในกองทัพแต่อย่างใด 
กล่าวคือ การปรับตัวดังกล่าวเกิดขึ้นในบริบทของการสร้างเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ และไม่มีการปฏิรูปการเมืองในกรอบของการจัดกองทัพ เพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างความเป็นทหารอาชีพ (professionalization) โดยหวังว่าจะเกิดความเป็น "อาชีพนิยม" ของทหารขึ้น

และที่สำคัญก็คือ รัฐบาลพลเรือนและประชาสังคมไทยที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงในปี 2516 นั้น ไม่มีกรอบที่ชัดเจนของการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร 
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเมืองไทยไม่คิดหาแนวทางในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ 
ตัวอย่างที่ชัดเจนจากปัญหาเช่นนี้ก็คือ การไม่มีเส้นแบ่งของอำนาจระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายทหารในการโยกย้ายกำลังพลในระดับสูงและระดับกลางในกองทัพ  
อย่างไรก็ตาม แม้สังคมการเมืองไทยจะมีพัฒนาการมากขึ้น แต่เมื่อเกิดความขัดแย้ง ผู้นำทหารก็หวนกลับสู่การยึดอำนาจอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2534  
แต่เป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่แตกต่างไปจากเดิม

หากย้อนกลับไปดูในรายละเอียด ผู้นำทหาร/รัฐบาลทหารไม่สามารถควบคุมการเมืองไทยได้เช่นในอดีต และแรงต่อต้านจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหม่เกิดขึ้นอีกในเดือนพฤษภาคม 2535 

แต่เราก็สูญเสียโอกาสสำคัญของการปฏิรูปการเมืองในกรอบการปฏิรูปกองทัพ อันส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ดังจะเห็นได้จากความเป็นจริงของกระบวนการเมืองไทย กล่าวคือไม่ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รัฐบาลพลเรือนและประชาสังคมก็ไม่ได้สร้างกรอบของการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่ชัดเจนขึ้น  
ในขณะเดียวกัน ผู้นำกองทัพก็กังวลอยู่กับปัญหาสำคัญว่า การเมืองพลเรือนที่เปลี่ยนไปนั้น จะลดทอนอำนาจทางการเมืองของผู้นำทหารหรือไม่ และจะกระทบต่อผลประโยชน์เชิงสถาบัน (corporate interest) ของกองทัพหรือไม่


ผลลัพธ์ของปรากฏการณ์เช่นนี้ก็คือ ไม่ว่าการเมืองไทยจะมีพลวัตอย่างไรก็ตาม โครงสร้างอำนาจและความคิดของผู้นำทหารดูจะถูกกระทบน้อยมาก 
พวกเขายังเชื่อแบบเดิมๆ ว่ารัฐประหารคือเครื่องมือของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการเมืองภาคพลเรือนเปลี่ยนไปในทิศทางที่พวกเขาไม่ต้องการแล้ว รัฐประหารเป็นกลไกที่จะควบคุมให้การเมืองกลับสู่ทิศทางที่ต้องการได้ 
หรือกล่าวในทางทฤษฎีการเมืองได้ว่า หากผู้นำกองทัพยอมให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย ผู้นำทหารก็คงให้เป็นในแบบ "ประชาธิปไตยชี้นำ" หรือ "Guided Democracy"
ความคิดทางการเมืองของผู้นำทหารเช่นนี้มีฐานสนับสนุนโดยตรงจากกลุ่มปีกขวา พร้อมๆ กับกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทย ที่ยังคงยึดมั่นต่ออำนาจทหารในการควบคุมการเมือง
ซึ่งทิศทางดังกล่าวปรากฏชัดเจนอีกครั้งเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ และก็จบลงด้วยรัฐประหารกันยายน 2549


หากถอยเวลากลับสู่อดีตได้จริง และถามว่าผู้นำทหารและชนชั้นนำจะยึดอำนาจในปี 2549 หรือไม่ 
คำตอบก็คงไม่แตกต่างจากความเป็นจริงว่า "ยึด" เพราะผลพวงจากทัศนะแบบประชาธิปไตยชี้นำ และผสมผสานด้วยความเชื่อว่าพลังอำนาจกองทัพเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการควบคุมระบบการเมือง 
และที่สำคัญก็คือเชื่อว่าอำนาจทหารจะสามารถใช้ในการจัดการทางการเมืองเพื่อให้ผลตอบแทนตามที่ต้องการได้นั้น ผู้นำทหารซึ่งก็รวมถึงชนชั้นนำด้วยจะคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากว่าหากเกิดปัญหาการเมืองเมื่อใด ก็ยึดเมื่อนั้น! 

ทัศนะทางการเมืองเช่นนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในหมู่ผู้นำทหารไทย และทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำไทยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง 
โดยพวกเขาเชื่อว่า กองทัพไม่ใช่เครื่องมือของรัฐบาล แต่เป็นกลไกในทางการเมืองของชนชั้นนำ และเป็นกลไกที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมทิศทางการเมืองให้เป็นไปตามต้องการในหลายครั้งหลายครา  
แต่หลังจากรัฐประหาร 2549 เครื่องมือและกลไกเช่นนี้ดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลวัตของการเมืองในภาคพลเรือนได้ขยับตัวออกไปจากอดีตอย่างมาก และแม้รัฐบาลพลเรือนจะไม่สามารถต้านการการยึดอำนาจของทหารได้ก็จริง แต่อำนาจของทหารในการเมืองก็ถูกท้าทาย 
จนเราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า หากเกิดการยึดอำนาจอีกครั้ง จะเกิดอะไรขึ้นในการเมืองไทย?



หากพิจารณาการเมืองไทยในบริบทของความเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก เราอาจจะตอบได้อย่างหยาบๆ ว่า รัฐประหารครั้งใหม่ในการเมืองไทยนั้น อาจจะกลายเป็นชนวนในแบบ "อาหรับสปริง" (Arab Spring) ได้ไม่ยากนัก ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะกลายเป็นปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการเมืองไทยด้วย 
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำทหารและชนชั้นนำอาจจะยังเชื่อมั่นในพลังอำนาจการเมืองของกองทัพ เพราะอย่างน้อยการล้อมปราบครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกในปี 2552 และ 2553 พร้อมๆ กับมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น ก็ไม่ได้เกิดผลแต่ประการใดกับผู้นำกองทัพทั้งสิ้น 
เช่นเดียวกับที่ก็ไม่เกิดผลใดๆ กับผู้นำทางการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดด้วย 

หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้นำกองทัพยังไม่มีบทเรียนจนต้องยอมรับความจำกัดของกองทัพในเวทีการเมือง แต่อย่างน้อยก็เห็นได้ว่า ชีวิตของผู้เกี่ยวข้องบางส่วนไม่ง่าย เพราะต้องไปให้การในศาล รวมทั้งการที่พลแม่นปืนทหารถูกออกหมายเรียกไปศาล เป็นต้น 
แต่บางทีพวกเขาก็เชื่อว่า หมายศาลจะไม่มีมาถึงผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้อง หรือบางทีเรื่องของการนำคดีล้อมปราบไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศยังอยู่ห่างไกล 

แต่ในความเป็นจริงก็คือ ชีวิตทางการเมืองของผู้นำทหารในปัจจุบันไม่ใช่การเมืองที่อยู่ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ผู้นำกองทัพไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีแต่ถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า 
จนน่าสนใจว่า พวกเขาจะปรับตัวกับพลวัตแห่งความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยอย่างไร  
อย่างน้อยบทพิสูจน์จากข้างบ้านที่ผู้นำทหารของพม่า ซึ่งมีอำนาจอย่างมากในระบอบการเมือง 
(และอาจจะมากกว่าไทย) ก็ยังต้องปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงรอบรัฐพม่า


แต่ในอีกด้านหนึ่งที่อาจจะน่าสนใจมากกว่าก็คือ หากผู้นำทหารเชื่อว่า พวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับตัวใดๆ ทั้งสิ้น แล้วสังคมการเมืองไทยที่มีพลวัตของความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นนั้น จะดำเนินการในประเด็นปัญหาเช่นนี้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมามีเรื่องราวหลายอย่าง แต่อย่างน้อยมีบางสิ่งบางอย่างบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าเป็น 6 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง 
แม้ผู้นำทหารจะมีอำนาจมากขึ้น แต่ก็เป็นอำนาจที่ตั้งอยู่บนความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง


เพราะไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่ผู้นำทหารต้องเผชิญกับความท้าทายทางการเมืองเช่นยุคปัจจุบัน!



.