.
กระดุม ทีละเม็ด
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 16:02:33 น.
ไม่ได้รู้สึกเป็น ปฏิปักษ์ กับรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ถึงขนาดต้อง "ฉีกทิ้ง"
พยายามอ่าน "สิ่ง" ที่อยู่ในรายงานนั้น
แม้ยังไม่ทั้งหมด แต่ที่ผ่านตา มีหลายเรื่องสะดุดความรู้สึก
และอยากให้ "คนเสื้อแดง" สะดุดด้วย
เช่นเรื่องของเสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่ คอป.พยายามชี้ว่า "คนชุดดำที่มีอาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่มีความเกี่ยวพันกับ พล.ต.ขัตติยะ"
การพยายามขับเน้นความสัมพันธ์ตรงนั้นไม่ใช่สิ่งทำให้สะดุดใจ
แต่ไปสะดุดใจ เรื่องความตายของเสธ.แดง มากกว่า
รายงานของ คอป.ระบุว่า
"มีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรอง และด้านความมั่นคง และนายทหารชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่ง เห็นว่าการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล มีความเป็นไปได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการการปิดล้อมและกระชับพื้นที่ชุมนุม"
ข้อความนี้ทำให้คิดเป็นอื่นใดไม่ได้
นอกจาก คอป.กำลังอยากจะบอกอ้อมๆ ว่ามี "ใบสั่ง" กำจัด เสธ.แดง ใช่หรือไม่
และทำให้เกิดคำถามว่า ผู้มีอำนาจสั่ง "ปิดล้อมและกระชับพื้นที่" มีเป้าหมาย "ลอบสังหารบุคคล" ด้วยหรือ
ว่าที่จริง หากเสธ.แดงอยู่เบื้องหลังคนเสื้อดำ และทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ก็สมควรที่จะจับกุม ดำเนินคดี "ตามขั้นตอน" ให้ถึงที่สุด
แต่ก็ไม่ควรมีใคร หรือหน่วยงานไหน พิพากษาเอง แล้วลงมือประหารเอง ไม่ใช่หรือ
นี่คือ สิ่งที่สะดุดใจ
และอยากให้ช่วยกันคลี่คลาย และค่อยๆ หาคำตอบ แบบ "กลัดกระดุมทีละเม็ด-ละเม็ด"
คือ ทำเป็นขั้นเป็นตอน รัดกุม แบบคดีของ "พัน คำกอง" ที่ขณะนี้กำลังเป็น โมเดลสำคัญ ที่ได้ช่วยไขปริศนาในเบื้องต้นไปแล้วว่า เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต และกำลังนำไปสู่การตั้งคดี "ฆาตกรรม" เพื่อสืบหาว่าใครทำ และใครสั่งการ
อ่านคำสั่งศาล กรณี "พัน คำกอง" เราได้เห็นการหักล้างกันในแง่พยานหลักฐานจากทั้งผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา อย่างค่อนข้างเท่าเทียม
แม้จะมีการกล่าวหาเรื่องตั้งธงล่วงหน้า แต่ดูจากคำสั่งศาล
จะเห็นว่า ศาลให้น้ำหนักในเรื่องพยานหลักฐานมาก
ใครจะตั้งธงมาอย่างไรก็ตาม แต่หากขาดเสียซึ่งพยานหลักฐาน อันน่าเชื่อถือ ก็ยากจะทำให้ศาลเชื่อได้
คดีของ "พัน คำกอง" เหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก ที่เข้ารังดุมถูกต้อง
กระดุมเม็ดต่อๆ ไปก็ไม่น่าจะบิดเบี้ยวเป็นอื่นได้
จึงเป็นความคาดหวังว่า นี่จะเป็น "ประวัติศาสตร์ครั้งแรก" ที่ความรุนแรงทางการเมืองของไทย อาจจะถูกพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม ว่าใครควรจะรับผิดชอบบ้าง
ซึ่งแน่นอน สำหรับผู้สั่งการ ก็คงพยายามต่อสู้ว่าไม่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐไปฆ่าใคร
ส่วนจะฟังขึ้นหรือไม่ก็คงต้องรอดูการ "หักล้าง" กันในศาลต่อไป
คงจะเข้มข้นเร้าใจยิ่ง
และอาจจะเร้าใจมากกว่านั้น หากคิดไกลเพิ่มขึ้นว่า ถ้าเรื่องเสธ.แดง "ตาย" ที่ คอป.ทิ้งเบาะแสเอาไว้ มีการตั้งคดีอย่างรัดกุม กลัดกระดุมให้ถูกต้อง ทีละเม็ด ละเม็ด อย่างคดี "พัน คำกอง"
ปริศนาการตายของเสธ.แดงที่ว่า มีความเป็นไปได้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการการปิดล้อมและกระชับพื้นที่ชุมนุมก็อาจมีคำตอบอันแสนเร้าใจได้
++
ความคิดคนเปลี่ยนไม่ได้
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:45:04 น.
หลังจากเป็นประเด็นให้ฝ่ายค้านโจมตีมาเป็นระยะๆ ว่าเกิดเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ทำไมนายกฯหญิงยิ่งลักษณ์ไม่ลงไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ ล่าสุดก็เลยลงไปปรากฏตัวที่นราธิวาสเสีย 1 วัน พร้อมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งด้านความมั่นคง ยุติธรรม การศึกษา และการพัฒนา
เมื่อฝ่ายค้านจี้ให้ลงพื้นที่ ด้วยเป้าหมายทางการเมือง
การลงพื้นที่แค่วันเดียว ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบโต้เป้าหมายของฝ่ายค้าน
แต่ย่อมมีประโยชน์อื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น การสนองด้านงบประมาณที่ยังขาดแคลน การเห็นประเด็นปัญหาที่เป็นข้อติดขัด
อย่างน้อยมีรัฐมนตรีร่วมคณะไปด้วยถึง 6-7 คน คงได้รับรู้และได้ร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์คนละไม้คนละมือ
มองในด้านตอบโต้เป้าหมายการเมืองของฝ่ายค้าน อย่างน้อยต่อไปเมื่ออภิปรายในสภา จะได้เลิกพูดเรื่องนายกฯไม่ลงพื้นที่อีก
แต่อีกนั่นแหละ ฝ่ายค้านชุดนี้เขาเก่งกาจ ดังนั้นย่อมต้องมีประเด็นโจมตีแทน
เช่น ทำไมลงไปแค่วันเดียวแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ทำไมไปแค่จังหวัดเดียว ในเมื่อเหตุเกิดถึง 3-4 จังหวัด
หรือเมื่อตอนที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกฯลงไปภาคใต้นั้น มีการชี้แจงไปแล้วว่า ระดับวีไอพีลงไปพื้นที่ จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่ ต้องระดมกันมาดูแลอารักขา
ครั้นเมื่อนายกฯเดินทางลงไปเมื่อวันวาน เราก็ได้เห็นการป้องกันด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ 500-600 นาย
เห็นแบบนี้แล้ว ฝ่ายจ้องโจมตีก็ต้องหยิบไปใช้อีกแน่ๆ
จะว่าไปแล้ว การเดินทางลงไปหรือไม่ของนายกฯ ไม่ได้มีผลอะไรนัก เพราะที่นายกฯวางเอาไว้และถือว่าดีแล้ว เห็นจะเป็นการวางตัวบุคคลในการทำงานที่เหมาะสม
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต.
เป็น 2 คีย์แมนที่กำลังทำให้คำว่า "การเมืองนำการทหาร" ไม่ใช่เรื่องพูดลอยๆ เพียงแต่การทำงานในเชิงลึกนั้น ต้องรอเวลาการสะสมปริมาณก่อนแปรเป็นคุณภาพใหม่ในอนาคต
ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การเน้นเข้าหาผู้นำศาสนา เพื่อให้เข้ามาร่วมสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐล้มเหลวมาโดยตลอด
เมื่อคนส่วนใหญ่ใน 3-4 จังหวัดใต้เป็นมุสลิม ใครจะเป็นที่ยอมรับได้ดีกว่าผู้นำศาสนา
ขณะเดียวกัน มาตรการชดเชยเยียวยาถือเป็นผลงานชิ้นใหญ่ ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นการยอมรับความผิดของรัฐ
ภาพที่ นางคอรีเยาะ หะหลี ประธานกลุ่มสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุกรือเซะ เข้าโผกอดนายกฯหญิง เป็นภาพที่ทรงความหมาย
เพื่อแสดงความขอบคุณ เพราะการเยียวยา ถือว่าช่วยล้างมลทินให้กับผู้เสียชีวิตในกรือเซะ
ภาพนี้จะมีผลตามมามากมาย
ไม่เท่านั้น หากลองค้นแนวนโยบายของ สมช.ล่าสุด ไปจนถึงการพูดจาของผู้นำ ศอ.บต.ชุดนี้
จะพบถ้อยคำสำคัญคือ การยอมรับว่าความคิดคนนั้นเปลี่ยนไม่ได้
และมีแต่จะต้องเปิดพื้นที่สันติภาพ เพื่อให้คนคิดต่างสามารถแสดงออกอย่างสันติวิธี นั่นแหละจะดับไฟใต้ได้อย่างแท้จริง
ไม่ใช่หนทางใช้อำนาจไปขู่บังคับให้เขายอมสยบหรือเพื่อให้เปลี่ยนความคิด
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย