.
เกษียร เตชะพีระ : ‘ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน: The Politics of Mediocrity’
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:50:08 น.
( ที่มา คอลัมน์กระแสทรรศน์ โดย เกษียร เตชะพีระ นสพ.มติชนรายวัน ประจำวันศุกร์ 28 ก.ย. 2555 )
".....ตนพูดกับคนทางไกล ในเมื่อจะขอไม่เห็นด้วยกับเรื่องวาระสามทำไมไม่ฟัง ไม่ด่า แต่ไม่ฟังตน เลยบอกว่าท่านครับตั้งแต่รู้จักกันมา วิเคราะห์การเมืองหลายเรื่อง มีเรื่องไหนบ้างไม่เป็นแบบที่ตนพูด แม้แต่เรื่องหลังสุด พ.ร.บ.ปรองดอง ตนค้านตั้งแต่นาทีแรกจนถึงนาทีสุดท้าย ว่าไม่ควรเร่งรีบ เอาเข้าไป แล้วเป็นอย่างไร พอพูดอย่างนี้ก็นิ่งไป ตนพูดอย่างนี้เขาจึงยอมฟัง มาหมัดสุดท้าย หมัด น็อก ที่ฟังตนแล้วนิ่ง คือทางการเมืองพรรคเพื่อไทยเดินมาถูกต้องโดยตลอด การเมืองเขาไม่เอาขุน ออกมาเล่นโดยไม่จำเป็น หมายถึงไม่เอานายกฯมาเสี่ยง ที่ผ่านมาเดินมาถูกโดยตลอด เอาเผือกร้อน ให้ตนอุ้มไว้มาให้ถูกต้องแล้ว วันนี้มาแย่งเผือกร้อนจากมือตนไปคิดอย่างไร...
"...พรุ่งนี้ว่างไหม 10.30 น. จะประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ท่านทักษิณจะสไกป์มา ซึ่งปรากฏว่าบรรยากาศคนละเรื่อง เพราะก่อนหน้านี้ตนโดนรุมกินโต๊ะ แต่วันนี้ ปรากฏคนทางไกลพูดแทนตนหมดเลย เอาเหตุผลที่ตนล้มล้างความคิดของพรรค ลบล้างกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมด ภาระหน้าที่ต่อไปคือไม่เห็นด้วยที่จะเอา พ.ร.บ.ปรองดองมาเข้าสภา ตนพูดเป็นหมื่นครั้งว่าท่านทนลำบากมา 5 ปี ลำบากอีก 3 เดือน 6 เดือนจะเป็นอะไร ฉะนั้น 1 ส.ค. ถอนออกไปและไปเสวนาหาทางออกทั่วประเทศไทย ใช้สื่อของรัฐ โหมประโคมความจริงวันนี้ แล้วประชาชนจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เรา ถึงเวลานั้น 3-6 เดือน เอา พ.ร.บ.ปรองดองกลับมา ไม่มีเหตุผลที่ต้องเอาขุนมาเสี่ยง ถ้าจะเป็นให้ฝ่ายเขาประกาศสงคราม เราอย่าไปประกาศสงคราม เรารักษาอำนาจรัฐบริหารรัฐ อำนาจอยู่ในมือ แล้วไปกระทืบๆ สุดท้ายเกลี้ยง"
คลิปเสียงสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา
เปิดใจกับแกนนำขอนแก่นในงานวันเกิด 27 มิ.ย.2555 ที่ จ.เพชรบูรณ์
http://news.mthai.com/headline-news/174694.html
"ขุนค้อนทิ้งทวนงบฯปี 55 พาทัวร์ยุโรป-ดูบอลแมนยูฯ-ลิเวอร์พูล"
sanook.com, 19 ก.ย.2555
http://news.sanook.com/1143289/
ข้อความทั้งสองที่ยกมาข้างต้นยึดกุมและสะท้อนแก่นแท้แห่งแนวทางการเมืองของรัฐบาล และแกนนำพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี
มันเป็นแนวทางที่เลือกวางน้ำหนักไว้ที่การรอมชอมประนีประนอมกับพลังอำนาจชนชั้นนำเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มากกว่าสนองตอบข้อเรียกร้องของฐานเสียงมวลชนคนเสื้อแดงให้ รุกคืบหักหาญปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเดิมที่เป็นมรดกตกค้างจากรัฐประหารของ คปค.
มันเป็นแนวทางที่หลีกเลี่ยงการปะทะเผชิญหน้าแบบแตกหัก หากมุ่งผ่อน-ถ่วง-ซื้อเวลาเพื่อรักษาและเสริมขยายฐานอำนาจรัฐฝ่ายบริหารในมือให้แข็งแกร่งมั่นคงพร้อมพรักเสียก่อน
มันเป็นแนวทางให้หัวหน้าฝ่ายบริหารลอยตัวเหนือความขัดแย้งและวิวาทะรายวันทางการเมือง แล้วมุ่งบริหารจัดการแก้ปัญหาของบ้านเมือง จัดสรรงบประมาณฯ วางคนในตำแหน่ง บริหารและกำกับดูแลกระทรวงทบวงกรมและรัฐวิสาหกิจที่เป็นกลไกยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อเตรียมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเปิดต่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเส้นทางคมนาคมของประเทศครั้งใหญ่รอบใหม่ ซึ่งจะเปิดพรมแดนด่านหน้าของทุนนิยมไทยไปเชื่อมต่อกับเขตลงทุนใหม่ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ สร้างโอกาสเศรษฐกิจในการผลิตมูลค่าเพิ่มตามอาณาบริเวณชั้นใน และพลิกโฉมสังคมไทยด้วยคลื่นความมั่งคั่งระลอกใหม่ที่จะบันดาลฐานเสียงสนับสนุนอันมั่นคงแก่พรรคไปอีกนับสิบปี สิบๆ ปี
เพื่อการใหญ่ดังกล่าวนี้ หากจะต้องวางหลักการสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ที่มวลชนคนเสื้อแดงได้เอาเลือดเนื้อและชีวิตเสียสละเข้าแลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา - วางมันไว้ข้างๆ หรือขึ้นหิ้งเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.ปรองดอง, การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกตกทอดของ คมช., การให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและนักโทษมโนธรรม, การรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็ต้องทำ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อผลทางปฏิบัติในการรักษาอำนาจรัฐในมือไว้ก่อนเหนืออื่นใด
แนวทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเป็น the politics of mediocrity หรือการเมืองแบบพอถูๆ ไถๆ เฮงๆ ซวยๆ เอาอำนาจรอดไปวันๆ เพื่อวันข้างหน้า มีการสนองตอบชดเชยค่าความเสียหายจากงบประมาณฯแก่มวลชนผู้ชุมนุมที่ถูกรัฐละเมิดสิทธิจนบาดเจ็บพิการล้มตายบ้าง พอหอมปากหอมคอ มีตุกติกใช้จ่ายเงินหลวงหว่านซื้อหาเสียงอุปถัมภ์เผื่อแผ่พรรคพวกบ้างพออุจาดตา ตามประสานักการเมืองจากการเลือกตั้ง
ซึ่งถึงอย่างไรประชาชนก็ชาชินกับระดับความดีและความสะอาดโดยสัมพัทธ์ที่พอคาดหวังได้จาก ฯพณฯ ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายแล้ว แต่ที่หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่มีทางทำแน่นอน คือยืนสู้ตายคาหลักการในวันนี้เคียงข้างกับมวลชน มิไยว่าหมอเหวง, คุณธิดา ถาวรเศรษฐ, คุณจาตุรนต์ ฉายแสง, หรือพันเอก ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย จะทวงถาม เรียกร้องรุกเร้าเอากับรัฐบาลอย่างไรก็ตาม
การตัดสินใจของรัฐบาลและแกนนำพรรคเพื่อไทยที่จะทำการเมืองแค่แบบพอถูไถไปวันๆ ขอรักษาอำนาจรัฐในมือไว้ก่อนนั้นกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วตั้งอยู่บนการคาดคำนวณเวลา 2 เวลา
คือเวลาความอยู่ยั้งยืนนานของระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยที่อุดหนุนค้ำจุนโดยนานาอารยประเทศอย่างหนึ่ง
กับเวลาความอยู่ยืดคงทนของเครือข่าย "อำมาตย์" หรือนัยหนึ่งบรรดาบุคลากรและสถาบัน อำนาจที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากในการเมืองไทยที่ย่อมมีอันเป็นไปตามหลักความเป็นอนิจจังของ สังคมอีกอย่างหนึ่ง
ว่าเวลาทั้งสองนี้ อย่างไหนจะยืนยาวกว่ากัน.....
และดูเหมือนว่าท่าทีของพลังการเมืองและราชการฝ่ายต่างๆ ในระยะผ่านของความขัดแย้ง เปลี่ยนแปลงก็พลิกแพลงโอนเอนไปตามผลการคาดคำนวณเวลาทั้งสองนี้เช่นกัน
ดังที่คอลัมน์หน้า 3 ของมติชนรายวันศุกร์ที่ 21 ก.ย.ศกนี้ วาดวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้เห็นเป็นฉากๆ ชัดๆ ว่า:
".....การขับเคลื่อนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเดินหน้า
"ไม่เพียงแต่เดินหน้าในเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ ในวงเงิน 3.4 แสนล้านบาท
"เป้าหมายคือ ไม่ให้เกิดมหาอุทกภัยอย่างที่เห็นเมื่อปลายปี 2554
"หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก ยังเป็นการตระเตรียมแผนแม่บทในการสร้างอนาคตประเทศไทยภายในวงเงินงบประมาณ 2.27 ล้านล้านบาท
"ภายใน 6-7 ปีข้างหน้า.....
".....2.27 ล้านล้านบาท ยังครอบคลุมไปยังโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เหนือถึงเชียงใหม่ ใต้ถึงหาดใหญ่ ตะวันตกถึงกาญจนบุรี ตะวันออกเฉียงเหนือทะลุนครราชสีมาไปยังหนองคาย.....
"ทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้แนวทางใหญ่อันงอกงามมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยน.)
"เท่ากับเป็นการสร้างประเทศไทย "ใหม่"
"เป็นการสร้างประเทศไทยใหม่บนพื้นฐานแห่งความมั่นใจว่าจะบริการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกัน ก็สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า และอินเดีย
"โดยวางประเทศไทยให้เป็น "ศูนย์กลาง".....
"สร้างอนาคตประเทศไทย "ใหม่"
"มาดขรึม รัฐบาลอยู่เหนือความขัดแย้ง ขับเคลื่อนประเทศ"
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348227749&grpid=03&catid=&subcatid=
หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สะดุดวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองเรื่องคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่และวิกฤตประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการประเทศเรื่องแก้ไขป้องกันน้ำท่วมและการคลังเสียก่อน ก็คงยากที่ฝ่ายค้านในและนอกสภาแบบ The Zombie Opposition ตอนนี้จะสกัดขัดขวางได้
แต่ถ้าถามว่าเราควรทนอยู่กับ The Politics of Mediocrity ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยแบบนี้หรือ? คำตอบคงขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยเรียนรู้อะไรในหลายปีที่ผ่านมา? และต้องการอะไรต่อไปข้างหน้า?
พูดอย่างรวบยอดความคิดจากประสบการณ์ อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยในหลายปีที่ผ่านมา เป็นสังคมที่ผู้คนจำนวนมากยอมฆ่าเพื่อสิ่งที่เชื่อและตายเพื่อสิ่งที่เชื่อ
ปัญหาของสังคมที่มีความเชื่อรุนแรงเข้มข้นขนาดนี้ อยู่ตรงหากไปพบภายหลังว่าสิ่งที่เชื่อเกิดผิดขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไร? คนที่ยอมฆ่าก็ฆ่าไปแล้ว และคนที่ยอมตายก็ตายไปแล้ว ไม่อาจเรียกฟื้นคืนชีวิตที่สูญเสียไปของผู้คนกลับมาได้
แล้วคนเหล่านั้นฆ่าและตายไปเพื่ออะไร? มันคุ้มกันไหม? เทียบกับการเรียนรู้ที่จะไม่เชื่ออย่างสุดโต่ง, เลิกเชื่อด้วยความเข้าใจ, และทะเลาะกันอย่างสันติ เผื่อว่าวันข้างหน้า สิ่งที่เชื่อเกิดผิดขึ้นมา ก็ยังจะมีชีวิตของเขาของเราอยู่ต่อไปทะเลาะกันรอบใหม่ได้
และการเมืองที่เหมาะสมคู่ควรกับสังคมที่ไม่ยอมฆ่าและไม่ยอมตายเพื่อสิ่งที่เชื่อก็อาจเป็น The Politics of Mediocrity แบบพอถูๆ ไถๆ เฮงๆ ซวยๆ เอาอำนาจรอดไปวันๆ ก็เป็นได้
ในที่สุด ปัญหาคงอยู่ที่ว่าในสังคมที่ไม่ยอมฆ่าและไม่ยอมตายเพื่อสิ่งที่เชื่อนี้ได้เพาะหน่ออ่อนแห่งวิกฤตซุกแฝงรอวันระเบิดไว้ในสังคมหรือไม่? และระหว่างเอาตัวรอด คิดการณ์ใหญ่ ทำมาหากินไปวันๆ นั้น สังคมได้ใช้โอกาสของการไม่มีการฆ่าไม่มีการตายในปัจจุบัน (ยกเว้นบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไปขุดค้นหาทางแก้ไขรากเหง้าหน่ออ่อนเพื่อตัดตอนวิกฤตแต่ต้นมือหรือไม่?
หรือปล่อยให้มันซึมลึกแผ่ขยายลุกลามจนอาจนำไปสู่วิกฤตและการฆ่าการตายครั้งใหญ่รอบใหม่ในอนาคต?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย