http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-11

ถ้าแพรวพราวขายซีดี แล้วน้าซีดีขับซีวิก? โดย จอห์น วิญญู

.

ถ้าแพรวพราวขายซีดี แล้วน้าซีดีขับซีวิก?
โดย จอห์น วิญญู spokedark.tv www.facebook.com/spokedarktv
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 79 


คดีน้องแพรวพราว (นามสมมติ) 9 ศพ เพิ่งพิจารณาเสร็จไปเมื่อวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดดราม่าสะเทือนอารมณ์กันไปอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษารอลงอาญา 3 ปี คุมประพฤติและห้ามขับรถจนกว่าจะอายุ 25 ปี 
แน่นอนครับ คำว่า "รอลงอาญา" หมายความว่า ไม่ต้องติดคุก 
เป็นต้นเหตุทำให้คนตาย 9 คน แล้วไม่ต้องติดคุกนี่ สังคมโดยรวมรู้สึก "ชะอุ๋ย" แน่นอน 
แม้ว่าการพิพากษาดังกล่าวจะตรงไปตรงมาและถ้าเดาะภาษาปะกิดคงต้องเรียกว่า By the book กันเลยทีเดียว 
กล่าวคือ เป็นคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน ไม่เคยต้องคดีมาก่อน ให้การ "เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี" และมีข้อบ่งชี้ได้อีกหลายอย่างที่เข้าเกณฑ์ให้ศาลตัดสินให้รอลงอาญา
แต่ด้วยลักษณะของคดีที่กรีดร้องให้เกิดดราม่าในสังคมอยู่แล้ว (สาวไฮโซนามสกุลดัง อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ขับรถแต่ก็ได้ขับรถเก๋งราคาแพง แถมเกิดอุบัติเหตุแล้วยังมีภาพเธอยืนพิงผนังโทลล์เวย์กดโทรศัพท์อีกต่างหาก---นี่มันละครหลังข่าวชัดๆ)  
แล้วดราม่าก็เกิดขึ้นจริงตามคาด


ด้วยเหตุนี้เมื่อมีภาพเปรียบเทียบแพรวพราว (นามสมมติ) กับคุณน้าคนเย็บผ้าที่ขายซีดีเก่าไม่กี่แผ่นโดนตำรวจจับจนศาลพิพากษาปรับ 1 แสนบาท แล้วไม่มีตังค์จ่ายค่าปรับเลยต้องติดคุก 500 วัน 
รูปภาพนี้เลยโดนแชร์ต่อกันและแสดงความคิดเห็นรุนแรงราวกับไฟป่าอินโดนีเซีย 

แม้ว่าข้อเท็จจริงของรูปภาพนี้จะผิด (คุณน้าเย็บผ้าแกไม่ได้โดนพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ความผิดมาตราที่แกถูกตัดสินว่าผิดนั้น มันไม่มีโทษจำคุก และอัตราโทษก็ห้ามปรับต่ำกว่า 1 แสนบาทอยู่แล้ว คือ ถ้าลงตัดสินว่าผิดแล้ว ยังไงก็ต้องสตาร์ตที่ 1 แสนบาทอ่ะจ้ะ)
แม้ว่าตรรกะของมันจะใช้ไม่ได้ (คนละคดี ผู้ต้องหาคนละประเภท อัตราโทษคนละอย่างโดยสิ้นเชิง) 
แม้วิธีเปรียบเทียบเพื่อสาธิตประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในกระบวนการยุติธรรมด้วยรูปดังกล่าวจะเจ๊งไม่เป็นท่า
(ใครที่ดราม่าหรือร่วมแชร์รูปภาพนี้พึงสังวรและแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองบ้างก็จะน่ารักไม่น้อย)


แต่!
หากเราลืมรูปนี้ไปเสีย แล้วถามตัวเองว่า ในฐานะราษฎรของประเทศนี้คนหนึ่ง เราให้เครดิตกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศเราในเรื่องความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายมากน้อยเพียงใด 
คำตอบก็คงมีอยู่ในใจวิญญูชนพอท้วมๆ อยู่แล้วนะครับ




ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในการได้รับการประกันตัว หลักทรัพย์ที่ต้องใช้ในการประกันตัว 
ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม (Justice Delayed is Justice Denied) ยันไปจนถึงเรื่องเบๆ พื้นๆ เกี่ยวกับการ "ปฏิบัติหน้าที่" ของท่าน "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" ที่จะ "เลือกปฏิบัติหน้าที่" ที่ไหน เมื่อไหร่ และกับใครบ้าง 
ถ้าเราพูดกันถึงจุดนี้ คดีน้าเย็บผ้าที่ขายซีดีเก่า 10 แผ่น ก็เป็นกรณีสาธิตประเด็นการ "เลือกปฏิบัติ" อย่างที่เรียกได้ว่า เอาสันมือปาดหน้ากันให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลยเถอะฮ้าาฟฟว์ ลวกเพี่ยยยย---

ถ้าจะเถียงว่าไม่ใช่แล้วมันจะเกิดคำถามหรือว่า ทำไมไปจับคนขายซีดีเก่า 10 แผ่น แทนที่จะไปจับรายใหญ่ๆ ที่มีให้เห็นอยู่เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง หรือถ้าจะกลัวข้อหา "ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" นัก ถ้าจับคนขาย 10 แผ่นแล้ว คนขายเป็นร้อยเป็นพันแผ่นที่มีให้เห็นกันเกลื่อนตามแหล่งช็อปปิ้งหลักทำไมไม่ยักโดน? 
หรือว่าคนขายแผ่นแท้น้อย (ปลอมมาก) รายใหญ่ๆ เค้ามีใบอนุญาตให้ขายกันหมด? และถ้าเช่นนั้น ทำไมเค้ามีใบอนุญาตให้ขายของผิดกฎหมาย??

แน่นอนครับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 นี่ เป็น พ.ร.บ.ที่มีปัญหามาก เรียกได้ว่า พวกที่ผ่านกฎหมายนี้มาไม่ทราบว่าท่านดื่มหรือดมอะไรอยู่จึงได้เห็นสมควรผ่านกฎหมายแบบนี้ออกมาได้ ไม่ทราบว่าท่านไม่มีจินตนาการแค่เบๆ พื้นๆ เลยหรือว่าการออกกฎหมายแบบไม่กำหนดขนาดของ "รายเล็ก", "รายใหญ่" และพวก "งานอดิเรก" 
แบบนี้มันจะสร้างรูโหว่อันใหญ่โตมโหระทึกขึ้นมาในการบังคับใช้กฎหมายขนาดไหน 
ท่านคิดไม่ออกหรือท่านไม่แคร์ ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ที่ทราบอย่างแน่นอนก็คือ ระบบยุติธรรมในประเทศของเราไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะมาเรียกร้องความไว้วางใจและเครดิตจากราษฎรมากนัก 
แน่นอนครับ คำว่า "ยุติธรรม" เป็นคำที่เป็นนามธรรมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ การนำเอาศีลธรรม หรือหลักศาสนามาปนกับกระบวนการยุติธรรมนั้นมักไม่เคยจบสวย สำหรับครอบครัวของผู้สูญเสียลูกหลาน ญาติพี่น้องอันเป็นที่รัก คำตัดสินของศาลอาจไม่รุนแรงเพียงพอที่จะเรียกว่า "ความยุติธรรม" ในความรู้สึก หลายคนที่หัวใจสลายไปแล้ว ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษรุนแรงถึงขั้นสูงสุดแค่ไหนก็ตาม เขาก็คงไม่เรียกสิ่งนั้นว่า "ความยุติธรรม" อยู่ดี    
เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไร ผู้กระทำความผิดก็ไม่อาจชดใช้ในสิ่งที่เขาสูญเสียไปได้



เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ครับ ที่ความ "ยุติธรรม" กับความรู้สึก ศีลธรรม และศาสนาจะกลายเป็นคนละเรื่องกันเมื่อสังคมขยายขึ้นจากแค่ครอบครัวหรือโคตรตระกูล แต่เรื่องที่น่าจะอำนวยความสงบสุขและความเข้าใจอันดีต่อกันของสังคมได้ก็คือ ความพยายามที่จะสร้างความเท่าเทียมเมื่อบุคคลต้องเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย 
แม้ว่าในความเป็นจริงของมนุษย์เราจะไม่มีวันหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่า 
คนมีสตางค์มากกว่าย่อมจะมีความสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางกฎหมายระดับท็อป 
คนมีสตางค์ย่อมซื้อบริการที่ดีกว่าและรับภาระทางการเงินอันเกี่ยวเนื่องกับการต่อสู้และการซื้ออิสรภาพชั่วคราวได้

ปัญหามันอยู่ที่ว่า ทำไมช่องว่างของการเข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณภาพและความสามารถทางการต่อรองกับระบบ ระหว่างคนรวยและคนจนมันถึงได้ต่างกันมากมาย 
มากจนสังคมโดยรวมยกมือยอมจำนนครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อเกิดคดีความระหว่างคนมีกับคนไม่มี ไม่ว่าจะเป็นคนมีเงินกับคนไม่มีเงิน หรือคนมีอำนาจกับคนไม่มีอำนาจ 
มันเป็นการยอมจำนนราวกับว่านี่คือเรื่องเดียวกันกับดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกและตกทางตะวันตก


ผมเชื่อว่าหลายคนไม่ได้อยากเห็นแพรวพราว (นามสมมติ) ติดคุกหรอกครับ 
แต่จะให้บอกว่านั่นคือการอำนวยความยุติธรรมเช่นเดียวกับน้าขายซีดีใช้แล้วสิบแผ่นต้องติดคุกใช้หนี้ เป็นเวลา 500 วันแล้วล่ะก็

ลำบากใจจะพูดจริงๆ ครับ



.