.
ลมฟ้าอากาศสุดขั้ว : ภัยแล้งและฝนตกหนักน้ำท่วม
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 38
ลมฟ้าอากาศมีผลต่อการดำเนินชีวิตมนุษย์อย่างสูง กระทั่งสามารถทำให้หลายอารยธรรมล่มสลายมาแล้ว
มีความพยายามที่จะเข้าใจถึงเหตุปัจจัย การพยากรณ์ ไปจนถึงการควบคุมลมฟ้าอากาศของมนุษย์มาแต่โบราณ
ตลอดห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ก็มีบันทึกเกี่ยวกับภาวะลมฟ้าอากาศรุนแรง (Severe Weather)
แต่วิชาอุตุนิยมวิทยาเพิ่งตั้งมั่นในราวปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง
ในศตวรรษที่ 21 มนุษย์ได้ตั้งสถานีตรวจอากาศทั่วโลก มีดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาและสิ่งแวดล้อมโลก มีทฤษฎีโกลาหลในการอธิบายความเป็นไปของลมฟ้าอากาศ
สามารถเข้าใจ พยากรณ์ และควบคุมลมฟ้าอากาศได้ในบางแห่งบางช่วง
แต่กลับพบว่าคนเราดูเหมือนต้องเผชิญกับวิกฤติลมฟ้าอากาศที่เรียกกันทางอุตุนิยมวิทยาว่า ลมฟ้าอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) มากขึ้น
ในทางอุตุนิยมวิทยามีการใช้ศัพท์ 2 ตัวที่มีความหมายคล้ายกัน คือคำว่า ลมฟ้าอากาศรุนแรง และลมฟ้าอากาศสุดขั้ว
ลมฟ้าอากาศรุนแรงนั้นเพ่งเล็งถึงปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่สามารถก่อความเสียหาย สร้างความปั่นป่วนต่อสังคมร้ายแรงและทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายถึงขั้นที่ทางการจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
ลมฟ้าอากาศรุนแรงนั้นมีหลายแบบ เช่น พายุลมแรงซึ่งก็มีหลายชนิด ลมทอร์นาโด พายุไซโคลน ไปจนถึงพายุฝุ่นพายุทราย และพายุไฟป่า
นอกจากนี้ ได้แก่ พายุลูกเห็บ สภาพฝนตกหนักและน้ำท่วมร้ายแรง ภาวะอากาศหนาวจัด และภาวะความร้อนจัดและความแห้งแล้ง ทั้งยังมีการจัดระดับความรุนแรง เพื่อให้ทางการและสาธารณชนรับมืออย่างเหมาะสม
ส่วนลมฟ้าอากาศสุดขั้วนั้น เพ่งเล็งที่ความผิดปกติและการผิดฤดูกาล แต่ก็มีความรุนแรงทำนองเดียวกับลมฟ้าอากาศรุนแรง
การจะทราบว่าเป็นลมฟ้าอากาศสุดขั้วหรือไม่จึงต้องนำมาเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ของลมฟ้าอากาศในที่นั้น โดยทั่วไปถือว่าลมฟ้าอากาศสุดขั้วเป็นสิ่งที่นานๆ เกิดครั้ง
นั่นคือไม่เกินร้อยละ 5 ของเวลาที่ศึกษา นั่นคือควรจะเกิดเกิน 20 ปีครั้งหนึ่ง
เช่น กรณีฝนตกหนักพิเศษเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2012 จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมร้ายแรงในรอบ 60 ปีก็เข้าข่ายว่าเป็นลมฟ้าอากาศรุนแรง
ตัวเลขร้อยละ 5 ของเวลาที่ใช้เปรียบเทียบนั้น เป็นการกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเกณฑ์ในการวัดเท่านั้น แต่ก็มีเหตุผล อยู่ที่ว่า หากมันเกิดบ่อยกว่านั้น มันก็จะกลายเป็นลมฟ้าอากาศประจำไป และมนุษย์ก็จะอยู่อาศัยในที่นั้นได้ลำบากมาก เนื่องจากยังไม่ทันฟื้นตัวจากหายนภัยนั้นดี ทรัพย์สินก็ถูกทำลายย่อยยับลงไปอีก
ถ้าประเทศไทยต้องเผชิญกับมหาภัยน้ำท่วมแบบในปี 2011 ในอัตรา 10 ปีครั้งหนึ่ง ก็ทำให้บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดความน่าอยู่ลงไปมาก
หรือไม่ก็ต้องใช้จ่ายเงินก้อนโตเพื่อทำให้มันน่าอยู่เหมือนเดิม
ลมฟ้าอากาศรุนแรงกับภาวะโลกร้อน
มีผู้เชื่อมโยงปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศสุดขั้วเข้ากับภาวะโลกร้อนอยู่หลายฝ่ายด้วยกัน ตั้งแต่นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม บริษัทประกันภัย ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจหรือห่วงใยในปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
นักเคลื่อนไหวนั้นดูจะเป็นข่าวเร็วกว่าใคร โดยชี้ว่าภาวะโลกร้อนทำให้พายุอย่างเฮอร์ริเคนและไต้ฝุ่นรวมไปถึงทอร์นาโดรุนแรงขึ้น เกิดบ่อยขึ้น ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความตื่นตัวในเรื่องภาวะโลกร้อน
ที่เคลื่อนไหวเร็วไม่แพ้กัน ได้แก่ บริษัทประกันภัย โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติที่รับประกันภัยต่อ ชี้ให้เห็นว่าภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้วหรือที่มีความรุนแรงนั้น ได้เกิดถี่ขั้นนับแต่ปี 1980 เป็นต้นมา โดยสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
การตื่นตัวนี้มีทั้งด้านเพื่อเรียกเงินค่าธรรมเนียมมากขึ้น และการให้เกิดความตระหนักทางสังคม ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายจากลมฟ้าอากาศสุดขั้วลง
ส่วนที่เป็นชุมชนนักวิทยาศาสตร์นั้นดูจะชักช้ากว่า เพราะว่าต้องการหลักฐานข้อมูล และตรรกะที่ฟังขึ้น และต้องใช้เวลานานจึงเป็นที่ยอมรับกันอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งคือสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย (Union of Concerned Scientists) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลมฟ้าอากาศสุดขั้วกับภาวะโลกร้อน โดยแบ่งภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้วออกเป็น 6 ประเภท และศึกษาความสัมพันธ์นี้ พบว่ามี 4 ประเภทที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน และ 2 ประเภทมีอย่างจำกัด ทั้งนี้โดยการศึกษาข้อมูลตั้งแต่ปี 1950
การค้นพบสรุปได้ดังนี้คือ ในส่วนที่มีหลักฐานชัดเจน
1. ภาวะแห้งแล้งในบ้างพื้นที่ มีความมั่นใจปานกลาง (ความเป็นไปได้ร้อยละ 50)
2. ภาวะฝนตกหนักในบางพื้นที่ (ความเป็นไปได้ ร้อยละ 66)
3. ภาวะน้ำท่วมชายฝั่งทะเล (ความเป็นไปได้ ร้อยละ 66)
4. ภาวะคลื่นความร้อน (แน่ใจมาก ร้อยละ 90) ในส่วนที่มีหลักฐานอย่างจำกัดนั้นพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อนกับพายุในเขตร้อนโดยรวมมีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ (ร้อยละ 10) แต่อาจทำให้ความเร็วลมพายุเขตร้อนสูงขึ้นได้ ส่วนผลต่อพายุทอร์นาโดน้อยมาก ใกล้ระดับศูนย์ (ดูบทความเรื่อง Extreme Weather and Climate Change ใน ucsusa.org, กรกฎาคม 2012)
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงกรณีภัยแล้งและน้ำท่วม
กรณีภัยแล้งในสหรัฐ
ฤดูร้อนปีนี้ในสหรัฐก็เริ่มต้นอย่างปกติ แต่แล้วก็กลายเป็นสิ่งผิดปกติไป เมื่ออุณหภูมิพุ่งสูงอย่างไม่หยุดยั้ง จนทำให้เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่สหรัฐมีอุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่เคยบันทึกมาในปี 1895 และสหรัฐเข้าสู่มหันตภัยแล้งเป็นประวัติการณ์ ครอบคลุมพื้นที่ 29 รัฐ ตั้งแต่ฝั่งตะวันตก ตะวันตกตอนกลาง และที่ราบใหญ่ (Great Plains) ที่อยู่ระหว่างแม่น้ำมิสซิสซิปปีและเทือกเขารอกกี้อันเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชสำคัญของสหรัฐ
ไร่ข้าวโพดในสหรัฐร้อยละ 50 เสียหาย ถึงเสียหายมาก ส่วนข้าวฟ่างเสียหายถึงเสียหายมากร้อยละ 39
สหรัฐเป็นผู้ปลูกข้าวโพดรายใหญ่สุดของโลกรายหนึ่ง คิดเป็นปริมาณการผลิตร้อยละ 38 ของโลก เป็นผู้ส่งออกข้าวโพดเกือบครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวสาลีได้รับผลจากความแล้งและความร้อนในออสเตรเลียและรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ ราคาข้าวสาลีและธัญพืชอื่นก็จะมีราคาสูงตามไปด้วย เพื่อนำมาใช้แทนข้าวโพด
พบว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตลาดชิคาโกตั้งแต่เดือนมิถุนายน ราคาข้าวโพดสูงขึ้นร้อยละ 61 ราคาถั่วเหลืองสูงขึ้นร้อยละ 20 และราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ต่อบุชเชล
ราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์และอาหารนมเนยอีก
เกษตรกรจำนวนหนึ่งได้ล้มวัวเพื่อหนีภัยแล้ง ทำให้เนื้อล้นตลาดชั่วคราว
แต่ในปี 2013 คาดหมายว่าราคาเนื้อและไก่จะถีบตัวสูงขึ้น สะท้อนราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น และฝูงสัตว์ที่ลดลง
ภาวะอากาศร้อนยังทำให้การผลิตนมลดลง เช่น ที่อิลลินอยส์ แม่โคที่ปกติให้นมวันละ 90 ปอนด์ ตอนนี้ลดลงแหลือเพียง 60 ปอนด์
คาดหมายว่า ในปี 2013 ภัยแล้งครั้งนี้จะทำให้ราคาอาหารในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นราวร้อยละ 4 เช่นเดียวกับการเพิ่มราคาในช่วงภัยแล้งเมื่อปี 1988
นอกจากนี้ ความร้อนและความแห้งแล้งสุดขั้วยังเกิดขึ้นในหลายแห่ง ได้แก่ ที่อเมริกาใต้ ซึ่งกระทบต่อผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลือง ตอนใต้ของยุโรปที่กระทบต่อผลผลิตข้าวสาลี ตอนใต้ของรัสเซียและยูเครน ที่กระทบการผลิตข้าวสาลี
ฤดูมรสุมที่มาช้าในบางส่วนของอินเดียและปากีสถานซึ่งกระทบการผลิตข้าว
เหล่านี้อาจส่งผลต่อเนื่องจนเกิดวิกฤติอาหารอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2008 ได้ (ดูบทความของ Rachel Cleetus ชื่อ Will the 2012 U.S. Drought and Other Extreme Weather Events Trigger Another Global Food Crisis? ใน ucsusa.org 090812)
ปัญหาวิกฤติอาหารที่กำลังรุมเร้า ทำให้ผู้นำในกลุ่ม 20 มีสหรัฐ บราซิล และจีน เป็นต้น ได้ร่วมกันทำประกาศเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติอาหาร โดยการลดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและห้ามการยกเลิกการส่งออกธัญพืช ซึ่งคงไม่สำเร็จง่าย
ภาวะฝนตกหนักน้ำท่วมและไฟดับ
ในปี 2012 ได้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ที่เป็นข่าว เช่น ที่ฟิลิปปินส์ เกิดน้ำท่วมหลายระลอก โดยเฉพาะกรุงมะนิลาในต้นเดือนสิงหาคมมีรายงานว่าน้ำท่วมถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด
คาดว่าในปีนี้จะมีพายุโซนร้อนพัดเข้าฟิลิปปินส์ราว 20 ลูก
กรณีน้ำท่วมภูมิภาคตะวันออกของรัสเซีย และกรณีน้ำท่วมใหญ่ที่เกาหลีเหนือ กลางเดือนสิงหาคม 2012 ทำให้ประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 169 คนทั่วประเทศ บ้านเรือนนับหมื่นหลังเสียหาย
พื้นที่การเกษตรที่เสียหายจากภัยแล้งในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนมาแล้ว ก็ถูกซ้ำเติมด้วยภัยน้ำท่วมอีก ได้แก่ข้าวโพด ข้าว และถั่วเหลือง (time.com 140812)
ในที่นี้จะยกกรณีฝนตกน้ำท่วมที่กรุงปักกิ่ง และในสหรัฐที่มีกรณีไฟดับมาร่วมด้วย
กรณีฝนตกหนักน้ำท่วมที่กรุงปักกิ่ง
ปักกิ่งตั้งอยู่ที่ส่วนชายทะเลทรายโกบี อยู่ห่างฝั่งทะเล และก็ไม่ได้ตั้งบนแม่น้ำสายใหญ่ ในระยะหลังมานี้สังเกตเห็นกรุงปักกิ่งถูกน้ำท้วมถี่ เมื่อปี 2011 เกิดพายุลมมรสุมฤดูร้อนกระหน่ำท่วมปักกิ่งในเดือนมิถุนายน
แต่ในเดือนกรกฎาคม 2012 พายุฝนตกหนักทำลายสถิติในรอบกว่า 60 ปี และทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 70 คน โบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ราว 160 แห่งได้รับความเสียหาย
มีการบรรยายภาพน้ำฝนที่หลากมาอย่างรวดเร็วว่าคล้ายคลื่นสึนามิ รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ผู้ว่าและรองผู้ว่าการนครปักกิ่งลาออกจากตำแหน่ง
คงจะมีการยกเครื่องระบบระบายน้ำกรุงปักกิ่งขนานใหญ่
กรณีพายุฝนรุนแรงและไฟดับที่สหรัฐ
กรณีพายุฝนรุนแรงและไฟดับเกิดขึ้นในบริเวณภาคตะวันออกตอนเหนือของสหรัฐ 2 ปีต่อเนื่องกันคล้ายกรณีกรุงปักกิ่ง ดังนี้คือ
ในปลายเดือนสิงหาคม 2011 เกิดพายุเฮอร์ริเคนไอรีน ถล่มภาคตะวันออกของสหรัฐไล่ขึ้นมาจากตอนใต้ไปยังตอนบน ตั้งแต่ฟลอริดา คาโรไลนาเหนือ เวอร์จิเนีย คอนเนกติกัต และเมน เฮอร์ริเคนไอรีนนี้ความจริงไม่ได้รุนแรงอยู่ในระดับที่ 1 เมื่อขึ้นฝั่งก็กลายเป็นพายุโซนร้อนธรรมดา แต่ว่านำฝนมามากเข้าถล่มรัฐสำคัญอย่างแมสซาชูเซตส์ นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย รวมทั้งกรุงวอชิงตัน ทำให้ผู้คนเสียชีวิตถึง 56 คน
ทรัพย์สินเสียหายสูงถึง 15.6 พันล้านดอลลาร์ (วิกิพีเดีย)
และที่น่าจับตาคือยังทำให้ไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง กระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 7 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ และต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะกู้สภาพเดิมได้ (ดูบทความชื่อ Hurricane Irene Power Outages: Electricity Blackouts Affect 4 Million Homes And Business ใน huffingtonpost.com, 280811)
สำหรับในปี 2012 ได้เกิดพายุฝนรุนแรงหลายลูกถล่มบริเวณใกล้เคียงกับที่เคยเผชิญพายุไอรีน พายุฝนนี้เริ่มต้นจากพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาในตอนกลางรัฐไอโอวา แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่รัฐอิลลินอยส์ พัฒนาเป็นระบบใหญ่ขึ้นแต่ก็ไม่รุนแรง
แต่แล้วฉับพลันก็แปรเป็นลมพายุฝนรุนแรงในปลายเดือนมิถุนายน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสความร้อน พายุฝนรุนแรงนี้พัดสู่มหาสมุทรแอตแลนติก และเพิ่มขนาดขึ้นเป็นพายุหลายลูก ก่อความเสียหายในหลายรัฐ ได้แก่ โอไฮโอ เวอร์จิเนียตะวันตก เพนซิลเวเนีย เวอร์จิเนีย กรุงวอชิงตัน แมรี่แลนด์ และนิวเจอร์ซี ผู้คนเสียชีวิต 22 คน และมากกว่า 3.8 ล้านคนไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้
ในกรุงเทพฯ กล่าวกันว่า "ฝนตก รถติด" ในสหรัฐเกิดปรากฏการณ์ "ฝนตกหนัก ไฟดับ" จนกระทั่งมีบางรัฐเช่นนิวยอร์ก ทำหนังสือคู่มือเล่มเล็กสำหรับประชาชนถือเป็นแนวปฏิบัติในยามลมฟ้าอากาศสุดขั้ว น้ำท่วม ไฟดับ และอาจต้องอพยพจากบ้านเรือน
อนึ่ง กรณีฝนตกหนัก ไฟดับในสหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจของโลก น่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยแก่ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่จะต้องคิดอ่านหาทางปรับปรุงระบบตาข่ายพลังงานของตนอย่างไรดี
ปรากฏการณ์ไฟฟ้าดับบริเวณกว้างมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไป และอาจกลายเป็นวิกฤติระดับโลกได้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย