http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-18

หนุ่มเมืองจันท์: สุดยอดการ์ตูน

.

สุดยอดการ์ตูน 
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 24 


ขอเล่าเรื่องคนใกล้ตัวหน่อยครับ
เป็นเรื่องของ พี่อรุณ วัชระสวัสดิ์ สุดยอดการ์ตูนนิสต์ของเมืองไทย


วันก่อน ผม "อู" สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร และ "ตุ๋ม" สมปรารถนา คล้ายวิเชียร เชิญพี่อรุณมาประเดิมช่วงสัมภาษณ์พิเศษใน "มติชนสุดสัปดาห์" ออนทีวี 
รายการนี้ออกอากาศทาง "เวิร์คพอยท์ทีวี" เวลา 19.00-20.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 
แม้จะคุ้นเคยกันมานาน แต่เชื่อไหมครับว่าเราทั้งหมดไม่เคยคุยกับพี่อรุณอย่างจริงจังเลย 

พี่อรุณเป็นคนคุยสนุก 
มีอารมณ์ขัน และคมคำมากมาย
การคุยในคืนนั้นจึงสนุกสนานมาก 
ถามพี่อรุณง่ายๆ เรื่องวิธีคิด หรือแก๊กในการวาดการ์ตูนมาจากไหน
ลองฟังคารมพี่อรุณดูนะครับ

เขาเปรียบเทียบว่าประสบการณ์การวาดการ์ตูนของเขาเหมือนกับโลก 
โลกที่มีอายุประมาณ 40 ปี 
ข่าวสารต่างๆ เหมือนกับ "ก้อนเมฆ" 
ลอยมาเจอกับโลก  
ก้อนเมฆ 2 ก้อนเกิดประจุไฟฟ้าขึ้นมา 
เป็นปฏิกิริยา "ฟ้าแลบ"
นั่นคือ "แก๊ก"


และบางครั้งจะเกิดประจุไฟฟ้าอย่างแรงลงมาสู่โลก 
ประมาณ "ฟ้าผ่า" 
นี่ก็ "แก๊ก" แต่เป็น "แก๊ก" ที่แรงมาก 
พี่อรุณบอกว่าแก๊กระดับนี้พอวาดเป็นการ์ตูนแล้วจะทั้งขำและเจ็บ  
ตัวอย่างเช่น ตอนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาเป็นรัฐบาล 

พี่อรุณวาดรูปทำเนียบรัฐบาล ที่มีสนามเด็กเล่นอยู่ข้างๆ   
มีเสียงดังออกมาจากทำเนียบว่า "คุณปูครับ ตรงนี้จะเก็บไว้หรือทุบทิ้งครับ
ล้อเล่นกับคำวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์และคนสนิท



พี่อรุณอธิบายว่าการเขียนการ์ตูนนั้น เนื่องจากใช้แค่ภาพกับตัวอักษรไม่มากนัก 
ดังนั้น ประเด็นที่เขียนต้องมีกระแสอยู่แล้ว 
เขียนปั๊บ คนรู้เรื่องเลย
นี่คือ การ์ตูนการเมือง



แต่ที่ผมชอบที่สุด คือ การ์ตูนชิ้นหนึ่งในมติชนรายวัน 
พี่อรุณวาดเล่นเรื่องบัณฑิตชายของธรรมศาสตร์ใส่ชุดผู้หญิงรับปริญญา ซึ่งเป็นข่าวฮือฮามาก 
เขาวาดรูปบัณฑิตชายแต่งหญิง 
แล้วเขียนประโยคสั้นๆ ซึ่งเป็นคำพูดของ "นีล อาร์มสตรอง" 
"ก้าวเล็กๆ ของผู้ชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ"


แต่พี่อรุณเด็ดขาดกว่านั้น 
แทนที่จะเขียนว่า "...เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ" ตรงๆ 
พี่อรุณกลับทำให้คำว่า "ของมนุษยชาติ" เลือนหายไปในความมืด  
ให้คนอ่านจินตนาการไปเอง
สุดยอดดด...


คืนนั้น ผมก็ถามถึงเบื้องหลังความคิดของการ์ตูนชิ้นนี้ 
พี่อรุณเล่าว่าตอนแรกกะเล่นแรงเป็นภาพ "บัณฑิตชาย" ใส่ชุดผู้หญิงแล้วยืนอยู่หน้าโถปัสสาวะ 
แต่ตอนหลังปรับโทนลง 

ส่วนคำที่เลือนหายไปนั้น มีเบื้องหลังครับ  
เดิมพี่อรุณตั้งใจเขียนตรงๆ ไปเลย 
แต่พอเข้าเฟซบุ๊ก เห็นคำวิพากษ์วิจารณ์ 2 ด้าน 
ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย 
พี่อรุณก็เลยใช้ "ความมืด" ช่วยเป็น "ทางสายกลาง"
ให้จินตนาการเติมคำกันเองในความมืด

จะเห็นด้วยก็ได้ 
หรือไม่เห็นด้วยก็ได้ 
เก๋าจริงๆ

อีกคำถามหนึ่ง ถามว่าการ์ตูนที่ดีควรจะมีตัวอักษรหรือเส้นประมาณไหน 
เยอะ หรือน้อย 
พี่อรุณออกตัวก่อนว่าเป็นความเห็นและรสนิยมส่วนตัว 
คนอื่นไม่รู้ แต่เขาชอบการ์ตูนที่มีเส้นและตัวอักษรน้อยๆ

"เป้าหมายในชีวิตของผม การ์ตูนชิ้นสุดท้ายจะมีแค่จุด แต่คนดูเข้าใจ" 
ที่เด็ดกว่านั้นก็คือ ไม่มีจุด และไม่มีกรอบ 
เป็นกระดาษขาวที่ว่างเปล่า
แต่คนดูเห็นภาพแล้วตีความว่าประเทศนี้เวิ้งว้างจริงนะ 
ดูเสร็จก็ชมว่า "ค้ม-คม"

ทุกคนดูและเข้าใจ
นี่คือ การ์ตูนในฝันของ "อรุณ วัชระสวัสดิ์"


พี่อรุณเป็นมนุษย์สุขนิยม 
ถ้าอ่านข่าวแค่ 2 ข่าว แล้วเกิดปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าในสมอง 
เขาจะเลิกอ่านหนังสือพิมพ์เลย 
...พอแล้ว

แล้วสิ่งหนึ่งที่เขาเพิ่งค้นพบก็คือ ถ้าตั้งใจคิดแก๊กล่วงหน้า 7 วัน
ก็เครียด 7 วัน 
ถ้าคิดล่วงหน้า 1 วัน 
ก็เครียด 1 วัน 
ดังนั้น เขาจึงคิดล่วงหน้าให้น้อยที่สุด 
เพื่อลดความเครียด 
เป็นเหตุผลที่เท่-มว้าก
ขออนุญาตพี่อรุณนำไปใช้บ้าง 

คือ ปฏิบัติแบบนี้มานานแล้ว แต่หาเหตุผลเพราะๆ ไม่ได้เลย
ขออนุญาตนำไปอ้างอิงเป็นเหตุผลครับ 
จะอ้างชื่อพี่อรุณด้วยเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ 



พี่อรุณบอกนอกรอบว่าความเครียดของเขามีอยู่เรื่องเดียว
คือ การจินตนาการว่าจะเขียนการ์ตูนชิ้นนี้ให้ใครอ่าน 
เป็นหลักการที่ถูกต้องนะครับ 
เวลาทำงาน เราต้องนึกถึงหน้า "ผู้รับ" ให้ออก 
เพราะแต่ละคนรสนิยมแตกต่างกัน

ปัญหาของพี่อรุณ คือ ใบหน้าบุคคลที่เขานึกถึงนั้น แต่ละคนไม่ธรรมดา 
เขียนในเครือเนชั่น ก็นึกถึงหน้า "สุทธิชัย หยุ่น" 
เขียนในมติชนรายวันและมติชนสุดสัปดาห์ก็นึกถึงหน้าคน 2 คน 
"สุจิตต์ วงษ์เทศ" และ "ขรรค์ชัย บุนปาน"

พี่อรุณบ่นว่า "แต่ละคนฉลาดๆ ทั้งนั้น"
การ์ตูนที่เขียนจึงต้องคิดแล้วคิดอีก 

นี่คือ "ความทุกข์" เรื่องเดียวของพี่อรุณ



.