http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-30

“พลิกประวัติวัดปทุมฯ” เขตอภัยทาน6ศพ! โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

“พลิกประวัติวัดปทุมฯ” เขตอภัยทาน 6 ศพ !
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 76


มีวัดไม่มากนักที่ถูกประวัติศาสตร์จารึกไว้ในฐานะ "อารามเลือด" ซึ่งแน่นอนว่า "วัดปทุมวนาราม" (อย่าจำสับสนกับ "วัดปทุมคงคา" แถวสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีอายุเก่ากว่า สร้างตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1) ก็ไม่ประสงค์จะให้โลกจารจำชื่อวัดด้วยภาพลักษณ์เช่นนี้เท่าใดนัก
ขนาดว่าในสมัยอยุธยา ช่วงสงครามระหว่างกรุงศรีฯ กับหงสาวดีนั้น กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดสามวิหารถูกกระสุนปืนยิงหัก กองทัพพลันแตกตื่น เชื่อว่าเป็นอัปมงคลลางร้าย ถึงกับมีชาวสยามใจกล้าอาสาผูกคอตายที่ต้นโพธิ์นั้นเพื่อแก้เคล็ด
แต่ด้วยสถานการณ์พาไป เพราะทำเลที่ตั้งของวัดปทุมวนารามนั้นอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ของการชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้นายกฯ อภิสิทธิ์ยุบสภา จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
นำมาสู่วลีที่ชาวไทยพุทธสลดหดหู่ใจ "เขตอภัยทาน 6 ศพ!"


ภาพเหตุการณ์คืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ถูกนำมากรอฉายซ้ำใหม่รอบแล้วรอบเล่า เพื่อค้นหาความจริงที่ถูกความลวงบังบด เมื่อ คอป. กระทำการทรยศหักหลังต่อวิญญูชน ใส่ร้ายว่าคนบริสุทธิ์ทั้งหกตายเพราะชายชุดดำ ที่หาตัวตนไม่เจอ ยอมตาบอดแสร้งมองไม่เห็นทหารโหดเกือบครึ่งแสน พร้อมอาวุธครบมือที่ชำเราชีวิตผู้คนตามราชประสงค์ถึงสวนลุม-บ่อนไก่!!! 
น่าละอายใจ เสียจนคิดว่าถ้ายังหลงเหลือความเป็นคนอยู่บ้าง ก็น่าจะมีผู้สังเวยชีวิตเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ในฐานะที่กล้าฉีกสัตยาบันทิ้ง ด้วยการผูกคอตายที่ต้นโพธิ์หลังวิหารวัดปทุมฯ ไม่งั้นอับอายต่อทหารกรุงศรีฯ เปล่าๆ




จากวัดอรัญวาสี สายธรรมยุติกนิกาย 
สู่ที่พึ่งสุดท้ายท่ามตึกรามไฮโซ


ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเมื่อปีกลาย (19 พฤษภาคม 2554) คณะญาติผู้เสียชีวิตจึงถูกทางวัดปทุมฯ ปฏิเสธ ห้ามไม่ให้มีการจัดงานทำบุญรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองภายในวัดอย่างเด็ดขาด 
เหตุก็เพราะวัดปทุมวนาราม (ชื่อลำลองว่าวัดสระปทุม) เป็นวัดในสายธรรมยุติกนิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2400 หรือ 155 ปีมาแล้วโดยรัชกาลที่ 4 เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระราชชนนีของรัชกาลที่ 5)
คงไม่ต้องขยายความอะไรมากนักว่า กองทัพธรรมสายนี้ผูกพันใคร?


หลายคนไม่อยากเชื่อว่าวัดนี้เก่าแก่ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จริง น่าจะสร้างเมื่อหลัดๆ นี่กระมัง เหตุเพราะที่ตั้งช่างอยู่ไกลปืนเที่ยง ห่างจากพระบรมมหาราชวังเหลือประมาณ
แน่นอนทีเดียว การเลือกสถานที่สร้างวัดปทุมฯ ในทำเลห่างไกลชุมชนบางกอกซะขนาดนั้น ก็เพราะประสงค์จะให้เป็นวัด "อรัญวาสี" หรือวัดป่าสายวิปัสสนาธุระชั้นนอกสุดของราชธานี โดยมีวัดบรมนิวาสเป็นวัดอรัญวาสีชั้นใน ตามอย่างราชธานีสุโขทัย เมืองในอุดมคติของพระองค์ ที่มีวัดคามวาสีอยู่คู่กับอรัญวาสีอีกสองชั้นเสมอ 
จึงโปรดให้ขุดหนองน้ำขนาดใหญ่ปลูกดอกบัวสารพัดพันธุ์ทั้งไทย-เทศ แทนสัญลักษณ์ตามคติพุทธมหายาน ที่เชื่อว่าพระธยานิพุทธเจ้า "อมิตาภะ" ประทับอยู่กลางสระบัว อันเป็นดินแดนแห่งสุขาวดี

สระบัวแห่งนี้เชื่อมต่อคลองบางกะปิ คลองอรชร และคลองแสนแสบ น่าเสียดายยิ่ง ที่ถนนพระราม 1 (บำรุงเมือง) ได้ตัดผ่านและถมทับสภาพของวัดที่เคยมีน้ำล้อมรอบ จากวัดป่าชนบทวิเวกห่างไกลผู้คนมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้กลายเป็นวัดที่อยู่กลางแหนห้อมศูนย์การค้าไฮโซจอกแจกจอแจมากที่สุดในมหานคร
การสร้างพระอารามกลางน้ำนั้น แท้ก็เป็นการจำลองคตินิยมของวัดลังกาวงศ์สายรามัญนิกาย ที่เน้นพิธีอุปสมบทกลางแม่น้ำ เรียกว่าอุทกุกเขปสีมา ดังเช่นวัดตระพังเงิน วัดสระศรี ของสุโขทัย



ตอนที่ ศอฉ. สั่งล้อมปราบเข่นฆ่าประชาชนบริเวณสี่แยกราชประสงค์นั้น นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ประสานมายังพระธรรมธัชมุนี เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม เพื่อขอให้พื้นที่แห่งนี้เป็น "เขตอภัยทาน" สำหรับการเข้ามาพักพิงอาศัยแก่เด็ก สตรี และคนชรา 
ซึ่งถือว่าทางวัดได้มีเมตตาอย่างสูงแก่ผู้ร่วมชุมนุม แม้ปีรุ่งขึ้นจะปฏิเสธไม่อนุญาตให้ "เสื้อแดง" เข้ามาจัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตก็ตาม ซึ่งทุกคนก็เข้าใจดีว่าทางวัดย่อมเกิดความหวั่นไหวเกรงใจใบสั่งของเสื้ออีกสีหนึ่ง 
อย่างไรก็ดี มิอาจจินตนาการได้เลยว่า หากค่ำคืนนั้นปราศจากเสียซึ่งร่มเงาของวัดปทุมวนาราม จะมีผู้ถูกสังหารหมู่เพิ่มอีกกี่ศพ?


ศพที่เสียชีวิตในวัดปทุมฯ มีผู้เห็นเหตุการณ์กับตานับพัน และได้ให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังทั้งในที่ลับ-ที่แจ้งจนเป็นที่ประจักษ์ใจ แต่ไฉนในรายงานของ คอป. กลับชักแม่น้ำทั้งห้าเฉไปไฉมา โยนบาปไปให้ "ชายชุดดำ" ที่แฝงปลอมตัวมาเป็นฆาตกร  
ช่างกล้าพูดนะว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มทหารถือปืน เป็นเพียงผู้ลากเอาศพที่ถูกชายชุดดำยิง มาเก็บรวบรวมไว้ที่วัดเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย!??




พระเสริม พระแสน พระไส 
พระประธานจากลาวล้านช้าง


เชื่อว่าผู้ชุมนุมที่หนีตายมาหลบซ่อนภายในวัดปทุมฯ อยู่ในสภาวะอกสั่นขวัญแขวน คงไม่มีอารมณ์สุนทรีย์มากพอที่จะไปเดินนวยนาดชมศิลปะสถาปัตยกรรมอันวิจิตรตามเสนาสนะต่างๆ อย่างแน่นอน 
จึงพลาดโอกาสได้เห็นภาพจิตรกรรมในพระวิหารที่แสดงเรื่อง "ศรีธนญชัย" หรือ "เซียงเมี่ยง" ในภาษาลาว ซึ่งปรมาจารย์ด้านจิตรกรรมคือ "น. ณ ปากน้ำ" ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นภาพเขียนที่มีเนื้อหาแปลก  
ทำไมจึงไม่เลือกเขียนเรื่องพุทธประวัติ ชาดก ทศชาติ หรือปริศนาธรรม ตามขนบนิยม แต่กลับหยิบวรรณกรรมเบาสมองแต่ร้ายลึกมานำเสนอแทน คำตอบก็น่าจะเป็นเพราะว่าศรีธนญชัย คือนิทานยอดฮิตที่แพร่หลายในหมู่ไทย-ลาว  

ซึ่งเรื่องนี้มันโยงใยกับกลุ่มประชากรที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่แถบนั้นมาก่อนหน้าที่จะมีการสร้างวัดปทุมวนาราม พื้นที่ตำบลสระปทุม (ชื่อย่านเมื่อครั้งกระโน้น) ล้วนอัดแน่นด้วยครอบครัวคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากล้านช้างให้ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกบริเวณชานเมืองด้านทิศตะวันออก สองฟากคลองแสนแสบ  
และยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปริศนาที่ว่า ทำไมวัดนี้จึงมีพระพุทธรูปประธานสามองค์ที่ได้มาจากเมืองเวียงจัน? อันได้แก่ พระเสริม พระแสน (ทั้งสององค์ตั้งเป็นพระประธานคู่กันอยู่ในพระวิหาร) และพระไส (พระประธานในอุโบสถ) พระองค์นี้มักเขียนผิดเป็นพระใส หรือไสย-ไสยาสน์ แท้จริงแล้วภาษาลาวเรียกว่า "พระสายน์" ด้วยเชื่อว่ามีพุทธานุภาพด้านการประทานสายฝน

ช่วงที่สร้างวัดเสร็จใหม่ๆ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ว่า จะนำพระพุทธรูปทั้งสามองค์ที่รัชกาลที่ 3 ตีได้ตอนปราบกบฏเวียงจัน มาประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมฯ เนื่องจากอยู่ท่ามกลางชุมชนชาวลาว 
แต่กลับได้รับการทักท้วงจากอำมาตย์ทั้งหลายว่าไม่สมควร ตามความเชื่อที่ว่าหากประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญไว้ในที่แห่งเดียวกันแล้วจะเกิดอาถรรพณ์ ชิงบารมีกันเอง เรียกว่า "พุทธปักษ์" ต้องแยกให้อยู่องค์ละแห่ง ด้วยเกรงว่าเทพอารักษ์ของพระพุทธรูปแต่ละเองค์จะยกพวกตีกัน ดังเช่นกรณีที่ไทยต้องส่งพระบางกลับคืนลาวไปมิเช่นนั้นจะเป็นปรปักษ์ต่อพระแก้วมรกต 
อันที่จริงพระไสนั้นเคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์ไชย หนองคายอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่วังหน้าของรัชกาลที่ 3 คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ สั่งให้เผาทำลายเมืองเวียงจันแล้วย้ายพระพุทธปฏิมาข้ามโขงมาเพื่อเพิ่มความสำคัญให้แก่เมืองหนองคายแทนที่

ครั้นถึงยุคสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาในรัชกาลที่ 4 ได้อัญเชิญพระไสไปประดิษฐานที่วัดเขมาภิรตาราม แต่จนแล้วจนรอด ก็มีเหตุการณ์ให้รัชกาลที่ 4 ต้องนำพระไสมาที่วัดปทุมวนาราม 
เช่นเดียวกับพระเสริม เคยอยู่ที่หนองคายด้วยกัน สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ได้นำมาไว้ที่ท้องพระโรงวังหน้า แต่สุดท้ายรัชกาลที่ 4 ก็นำมาอยู่รวมดาวด้วยกันที่วัดปทุมวนารามอีกองค์ 
ส่วนพระแสนนั้น อัญเชิญมาจากถ้ำในแขวงมหาไชย ของเวียงจัน

เหล่าอำมาตย์ไม่รู้จะทัดทานเรื่อง "พุทธปักษ์" อย่างไร อีกทั้งมองว่าวัดปทุมฯ เป็นถึงพระอารามหลวง แต่กลับมายกย่องเชิดชูเอาพระพุทธรูปจาก "กบฏเมืองลาว" เป็นพระประธาน จึงได้เพ็ดทูลตามตรงไปเลยว่า พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ได้มาจากเมืองเชลย ย่อมถือเป็นเสนียดจัญไรแก่บ้านเมือง เห็นควรให้ฝ่ายวังหน้าดูแลเช่นเดิมเหมาะสมดีแล้ว หากยังดันทุรังนำมาบูชาในสายวังหลวง อาจเกิดอาเพศแผ่นดิน ฝนฟ้าไม่ตก ข้าวยากหมากแพง ขึ้นมาได้  
แม้กระนั้นรัชกาลที่ 4 ก็ยังยืนยันพระราชปณิธานหนักแน่นว่า พระพุทธปฏิมาสาม "ส" จากล้านช้างจักต้องประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ณ วัดปทุมวนารามเท่านั้น จะไม่ยกให้ "วังหน้า" แยกไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ อีกแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวลาวในละแวกทุ่งปทุมวัน-คลองแสนแสบผู้พลัดที่นาคาที่อยู่เกิดขวัญกำลังใจ ได้กราบไหว้บูชาบ้าง 
ข้อขัดแย้งของวัดปทุมฯ จึงมีอยู่ตั้งแต่แรกสร้างว่า วัดอยู่ในฐานะอรัญวาสี สายธรรมยุติ ซึ่งยากจะให้ชาวบ้านเข้าถึง แต่กลับมีพระพุทธรูปโบราณถึงสามองค์ที่ได้มาจากชายขอบ แม้จะเป็นพระพุทธปฏิมาในระดับชั้น "วังหน้า" มิใช่ "วังหลวง" แต่กลับเป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดปรานมากเป็นพิเศษ เห็นได้จากวันฉลองพระอารามทรงเสด็จประพาสทางชลมารคมาประทับแรมถึง 5 คืน  
ท่ามกลางการทักท้วงของขุนนางอย่างต่อเนื่องอีกหลายระลอกว่า
"ระวังจะเกิดเหตุร้าย "กาลกิณี" มีผู้คนล้มตายในวัดนี้เข้าสักวัน!"


เหตุการณ์สังหารหมู่ "เขตอภัยทาน 6 ศพ" ณ วัดปทุมวนาราม คงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอาถรรพณ์พระพุทธรูปจากล้านช้างที่เหล่าอำมาตย์ตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ 
หากแต่เกิดจากอาถรรพณ์แห่ง "คนดีของพ่อ คนหล่อของป๋า" ผู้ใจดำ สั่งยิงคนไม่มีทางสู้ รู้ทั้งรู้ว่าคนที่วิ่งหลบในวัดปทุมฯ นั้นส่วนใหญ่ มีแต่เด็ก คนแก่ แม้กระทั่งพยาบาลอาสาอย่างน้องเกด
แล้ววิบัติซ้ำด้วยความจริงอันอัปยศของ คอป. ที่เล่นลิ้นยิ่งกว่าศรีธนญชัย ถ่มถุยกระหน่ำซ้ำเติม เสมือนเป็นการออกใบอนุญาตฆ่า


พระเสริม พระแสน พระไส พระพุทธปฏิมาพลัดถิ่น ร่ำไห้อีกเป็นคำรบสอง หลังจากครั้งแรกที่กัดฟันทนคนสยามเผาเวียงจันแล้วยัดเยียดข้อหา "กบฏ" ให้ เมื่อถูกกระชากร่างพรากมาเป็นตัวประกันอยู่คลองแสนแสบ ยังต้องทนเห็นคนตายถูกประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอีกหรือนี่?



.