http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-08

สมัยใหม่ โดย คำ ผกา

.

สมัยใหม่
โดย คำ ผกา
http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 89


อาทิตย์นี้จะเขียนเรื่องข้อดีของการทำรัฐประหาร 
เชื่อไหมว่าหากไม่มีการรัฐประหารปี 2549 ฉันจะต้องเป็นหนึ่งในผู้เอาดอกกุหลาบไปไว้อาลัยเรือนแถวไม้ที่กำลังจะถูกรื้อที่อัมพวาแน่นอน
และหากไม่มีการรัฐประหารปี 2549 ฉันจะทำอะไรอีก ฉันจะเชื่ออย่างที่ ว. วชิรเมธี เขียนว่า "อย่างมงายในวิทยาศาสตร์" นั่นเป็นเพราะคนในเจเนอเรชั่นของฉันเติบโตมาในยุคของปลายของกระแสนิวเอจของสังคมไทย 


"นิวเอจ" เหล่านี้ทำอะไรบ้าง 
 พวกเขาอยากกลับไปหาภูมิปัญญาของท้องถิ่น รื้อฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฟื้นความเข้มแข็งของชุมชน 
 กลับไปค้นหาปัญญาญาณที่มีอยู่ในศาสนา ความเชื่อของท้องถิ่นที่ถูกกดทับด้วยวิธีคิดและองค์ความรู้ ระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ 
 รังเกียจชาตินิยมที่ไปทำลายความหลากหลายของความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ภาษา 
 ชิงชังทุนนิยมที่ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตชนบทหรือท้องถิ่นที่เคยพึ่งตนเองได้ให้ต้องตกเป็นทาสของ บริโภคนิยม จากที่เคยเพาะปลูกแบบไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาก็ต้องพึ่งปุ๋ย พึ่งยาฆ่าแมลงจากนายทุน จากที่เคยปลูกพืชผัก ข้าวหลากหลายก็หันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็ต้องใช้เงินซื้อ เช่น เลิกปลูกข้าวหันมาปลูกมันสำปะหลังก็ต้องใช้เงินซื้อข้าวกิน แทนที่จะปลูกข้าวกินเองได้เหมือนสมัยก่อน
 จากที่เคยรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยการใช้สมุนไพรก็ต้องหันมาพึ่งการแพทย์สมัยใหม่ ราคาแพง ชาวบ้านจึงแปรสภาพจาก มนุษย์ที่เคยอุดมไปด้วยปัญญา ความรู้ สมบูรณ์ ร่ำรวยไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม จึงถูกกัดกร่อนทำลายให้หมดศักดิ์ศรี แปรสภาพมาเป็น ชาวบ้านผู้ยากจน โง่เขลา และหมดปัญญาจะพึ่งตนเอง ทั้งเป็นเหยื่อนายทุนและนักการเมือง

กระแสนิวเอจยังเฝ้าประณามระบบการศึกษาของรัฐว่ามุ่งสร้างอำนาจครอบงำ อันมีความจริง แต่ทางออกของบรรดานิวเอจคือการออกไปสร้างโรงเรียนทางเลือก อันท้ายที่สุดก็มีแต่บุตรหลานของผู้มีทางเลือกเท่านั้นที่ได้เรียนโรงเรียนทางเลือก บรรดาบุตรหลานผู้ไม่มีทางเลือกจึงถูก "ครอบงำ" จากระบบการศึกษาต่อไป 
อนาคตข้างหน้า บุตรหลานผู้ไม่มีทางเลือกก็ต้องกลายเป็น "ขี้ข้า" ของบุตรหลานผู้มีทางเลือกต่อไปอย่างไม่มีที่สุด 


ไอดอลของชาวบ้านที่หลุดพ้นจากวังวนของการเป็นเหยื่อ "ความทันสมัย" มีหลายคน ที่มีชื่อเสียง เช่น ผู้ใหญ่วิบูลย์ ที่เลิกทำไร่มันสำปะหลัง หันมาทำไร่นาสวนผสม ปลูกผัก ทำนา เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาดุก เลิกใช้สารเคมี หันมาศึกษาเรื่องสมุนไพรเพื่อจะพึ่งตนเองได้ในเรื่องสุขภาพ จากนั้นก็หลุดพ้นจากความยากจน กอบกู้ศักดิ์ศรีคืนมาได้ 
หลังจากนั้น ก็ไม่ลืมที่จะยกย่องปรัชญาอันลึกซึ้งของพุทธศาสนา ว่าหากเดินตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ยากที่จะเป็นเหยื่อของทุนและความทันสมัย




ตัวฉัน "อิน" กับเรื่องราวเหล่านี้มาตั้งแต่อายุ 20 ถึงขั้นไปเยี่ยมชม "ไร่นาสวนผสม" หลายต่อหลายแห่ง แต่ทุกครั้งที่ไปก็มีคำถามเสมอว่า ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ชาวนาหรือชาวไร่หรือชาวบ้านทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนผู้ใหญ่วิบูลย์หรือไม่? 
เช่น อย่างน้อยผู้ใหญ่วิบูลย์มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือปราชญ์ชาวบ้านบางท่านเมื่อไปเยี่ยมชมไร่นาสวนผสมของท่านจริงๆ แรงงานที่ทำงานจริงในไร่คือ ภรรยา ลูกสะใภ้ ตัวปราชญ์ท่านก็นั่งๆ นอนๆ เล็กเชอร์ รับแขก เล่านิทานให้ "คนเมือง" อย่างเราฟังเท่านั้น 


มันช่างเป็นเรื่องยอกย้อนมาก ว่าในกระแสของ
- การฟื้นฟูประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
- การวิพากษ์ระบบการศึกษาที่ครอบงำพลเมืองทางอุดมการณ์ 
- การวิจารณ์การครอบงำของความรู้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ 
- กระแสการเรียกร้องให้ยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา รสนิยม เพศ
- การวิจารณ์เศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา 
- การวิพากษ์การแพทย์สมัยใหม่ 
- กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อต้านจีเอ็มโอ การใช้สารเคมีในการเกษตร การเกษตรพืชเชิงเดี่ยว 
- การเพรียกหาธรรมาภิบาล ต่อต้านคอร์รัปชั่น 
- การวิพากษ์ระบอบประชาธิปไตยและการพึ่งพิงกลไกลในระบบรัฐสภา อีกทั้งการสร้างความชอบธรรมให้กับการเมืองบนท้องถนน 
- กระแสการฟื้นฟูพุทธศาสนาในแนวทางของการกลับไปหา "พุทธที่แท้" หรือการกลับไปหา "คำสอน" ที่ไม่แปดเปื้อนความเชื่ออื่นๆ การกลับไปให้ความสำคัญของพุทธในฐานะที่เป็นปรัชญา เป็นเหตุเป็นผล (ซึ่งก็ยอกย้อนขัดแย้งกับกระแสการต่อต้านการใช้ระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์เพื่อไปสร้างความชอบธรรมให้คุณค่าของความเชื่อวิถีชาวบ้าน) หรือกระแสความนิยมในพุทธและพระสายปฏิบัติที่เคร่งครัด อันสอดคล้องกับแนวเชื่อที่ต้องการหันหลังให้กับ "ทุนนิยม" และ "บริโภคนิยม"
ฯลฯ
เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นในสังคม
กลับเป็นกลไกลต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยและสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารอย่างชวนให้พิศวงเป็นอย่างยิ่ง

และนี่คือคุณูปการของการรัฐประหาร 2549



เพราะหากไม่เกิดการรัฐประหารครั้งนั้น ปริศนานี้ก็คงไม่ได้รับการคลี่คลาย
และตัวฉันก็ได้อานิสงส์มาเต็มๆ นั่นคือ หายจากอาการมึนหัวจากกระแสการมองโลกแบบองค์รวม ไม่แยกส่วน ทุกอย่างต้องมองแบบเชิงซ้อน

ชาวบ้านต้องทำไร่นาสวนผสม มีไก่ มีผัก มีข้าวกิน ลูกเต้าไม่ต้องเรียนหนังสือมาก เรียนไปก็โดนรัฐล้างสมองเสียเปล่า สู้เรียนรู้วิธีทำคลอดแบบหมอตำแย พอกสมุนไพรรักษาโรค ปลูกผัก ปลูกข้าวปลอดสารพิษให้คนที่ส่งลูกเข้าโรงเรียนทางเลือกอย่างเราได้เลือกบริโภคดีกว่า

ที่ว่าหายจากมึนหัวเพราะปัญญาชนสายนิวเอจแห่แหนกันไปต้อนรับการรัฐประหารกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทำให้เราเริ่มเห็นเส้นสนกลในของปัญญาชนสายนิวเอจที่ภายหลังออกมาทำมาหากินกับ "ความดี" กันจนได้ดิบได้ดี
บ้างได้หากินกับภาษีบาปจนมีสถานีโทรทัศน์เพื่อการเทศนาประชาชนให้เป็นคนดี (แต่ไม่แยแสคนตาย)
บ้างได้สร้างสวนสาธารณะเพื่อการเจริญสติกันอย่างโอฬาริก 
บ้างได้ทำสถานที่สำหรับสร้างประสบการณ์นิพพานจำลอง ในขณะที่ท้องฟ้าจำลองกลับเงียบเหงา วังเวงราวกับแดนสนธยาป่าเถื่อน เพราะสังคมไทยมิพึงสนใจวิทยาศาสตร์ของดวงดาว จักรวาล เพราะเรามีภูมิปัญญาส่วนตัวอันลึกซึ้งอยู่แล้ว



ความสะเปะสะปะของปัญญาชนสายนิวเอจเริ่มปรากฏชัดขึ้นหลังการรัฐประหาร เช่น อธิบายว่า ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น การปกครองของสยามไม่ได้รวมศูนย์อำนาจ คือ กำลังจะบอกว่า คณะราษฎรนี่แย่จริงๆ เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ไม่สนใจการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น สู้สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ได้ สมัยนั้นยังไม่เป็นรัฐรวมศูนย์เท่ากับเมื่ออ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว

ไม่นับการเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่า กำเนิดของเทศบาลนั้นมีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แค่การใช้คำว่า "กระจายอำนาจ" หรือ "รวมศูนย์อำนาจ" กับระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง

โอ๊ยยย ตัวฉันก็โง่อยู่ตั้งนาน เพิ่งจะมาเก็ตว่า เราอยู่ในชุดคำอธิบายที่ว่า "อันความชั่วร้ายทุกประการในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่การเป็นรัฐรวมศูนย์, การครอบงำผ่านระบบการศึกษา, การคอร์รัปชั่น, เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมแต่ผูกขาด, การมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ แยกส่วน, การกดทับ ดูถูกองค์ความรู้ของชาวบ้าน, การสูญหายของการแพทย์แผนไทย, การทำลายความหลากหลายของภาษา ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น, ประวัติศาสตร์ฉบับชาตินิยม, นักการเมืองชั่ว, ความเป็นไทยที่ถูกกลืนกินจากตะวันตก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะ 2475"


เมื่อเป็นเช่นนั้นนักวิชาการและเอ็นจีโอสายนิวเอจจึงไปแต่งงานกับฝ่าย "ประเพณีนิยมทางการเมือง" กลายเป็นแนวร่วมของฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารต่อต้านประชาธิปไตย
ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องคุณค่าของโลกสมัยใหม่หลายประการ เช่น อยากมีพรรคการเมืองแบบพรรคกรีนของเยอรมนี, เรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิของสัตว์, ชื่นชม occupy wall street, สนับสนุน home school, ต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา ฯลฯ 
ภาพการต่อสู้ทางอุดมการณ์ของการเมืองไทยร่วมสมัยจึงน่าปวดศีรษะและลับ ล่อ ลวง พราง ยิ่งกว่าแผนการรัฐประหารด้วยตัวของมันเอง

เพราะกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อการเลือกตั้ง ต่อสู้ด้วยวาทกรรมที่ "ล้าสมัย" กรุ่นกลิ่นอายชาตินิยมยุคเริ่มต้นของศตวรรษที่ 19 ของเหล่าประเทศที่กำลังต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากเจ้าอาณานิคม ด้วยการพร่ำบ่นเรื่อง หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง คนเหมือนกัน ประชาชนคือชาติ ไม่มีการเลือกตั้งไม่มีประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ดุลอำนาจของนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ค่าแรงขั้นต่ำ บัตรเครดิตชาวนา แท็บเล็ตเด็ก ป.1 การกินดีอยู่ดีของประชาชน 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ

ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยพูดด้วยภาษาของปัญญาชน (ดูเหมือน) หลังสมัยใหม่ เช่น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การเมืองในชีวิตประจำวันสำคัญกว่าการเมืองในรัฐสภา อันตรายของเสรีนิยมใหม่ การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ปัญหาวัฒนธรรมการเมืองที่ซับซ้อนกว่าเรื่องการเลือกตั้ง ประชาธิปไตย 4 วินาทีในคูหาไม่ใช่ประชาธิปไตย การสร้างสมดุลของภูมิปัญญาท้องถิ่นกับโลกาภิวัตน์ การออกจากการครอบงำของวิทยาศาสตร์และการมองโลกแบบเป็นเส้นตรงทำให้ติดกับดักว่าด้วยความก้าวหน้า การฟื้นฟูศักดิ์ศรีของชนบท การพึ่งตนเอง การพัฒนาเริ่มจากจิตใจมิใช่วัตถุ ฯลฯ

การรัฐประหารปี 2549 ทำให้ฉันตาสว่างว่า สังคมไทยต้องกลับไปตั้งหลัก เริ่มต้นที่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของยุโรป หรือไม่
ต้องกลับไปตั้งต้นที่การเลิกกินหมาก ความหมดสมัยของฟันสีดำของคนไทย สวมเสื้อ หัดนั่งเก้าอี้
แล้วอย่างอื่นค่อยว่ากัน



.