http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-29

11-9/11 ความรุนแรงร่วมสมัย! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

11-9/11 ความรุนแรงร่วมสมัย!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 36


"การก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้าย
ทำลายกฎเกณฑ์เก่าของรัฐ ของการทูต และของการสงครามทิ้งทั้งหมด"
James Der Derian
"In Terrorism" (2002)



เหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ.2001) หรือที่เรียกแบบย่อว่า "9/11" เวียนมาครบรอบ 11 ปี และเมื่อพิจารณาควบคู่กับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า ปีที่ 11 ที่เริ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 นั้นเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง... 
อย่างไรก็ตาม สถานะเชิงอำนาจของมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐนั้น เป็นผลโดยตรงจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น ซึ่งการพังทลายของมหาอำนาจใหญ่อีกค่ายหนึ่งคือสหภาพโซเวียตรัสเซีย ได้เปิดโอกาสโดยตรงให้สหรัฐ กลายเป็น "มหาอำนาจเดี่ยว" ในเวทีโลก และทั้งความเป็นมหาอำนาจเช่นนี้ยังถูกตอกย้ำจากการมีขีดความสามารถทางทหารอย่างที่รัฐอื่นๆ ในเวทีโลกไม่มี 
แต่แล้วความเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐ ก็ถูกท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 

การโจมตีที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2544 เท่ากับทำลายทฤษฎีเดิมที่เป็นเสมือน "ข้อยกเว้นพิเศษ" หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า "Exceptionalism" 
กล่าวคือ สหรัฐมีลักษณะพิเศษที่จะไม่ติดเชื้อจาก "โรคก่อการร้าย" เช่นที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งก็คือคำตอบว่า สหรัฐจะไม่ถูกโจมตีจากการก่อการร้ายจากภายนอกนั่นเอง (ทฤษฎีนี้ถูกใช้อธิบายในยุคสงครามโลกที่สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ไม่เคยกระทบต่อตัวภาคพื้นทวีปของสหรัฐโดยตรง)

ใน 11 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่


1.สงครามใหม่

สงครามหลัง 9/11 ปรากฏรูปลักษณ์ใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น หรือที่นักทฤษฎีบางคนถึงกับเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า "สงครามใหม่" (The New Wars) ซึ่งสงครามชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ สงครามจึงไม่ใช่การสู้รบของกองทัพแห่งชาติของรัฐแต่ละฝ่ายที่เป็นศัตรูกันอีกต่อไป 
หากแต่สงครามใหม่กลับมีลักษณะของความเป็น "ภายใน"  
และขณะเดียวกันการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเป็น "สงครามเล็ก" หรือเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ใช้การรบแตกหักในทางทหารเป็นเครื่องมือตัดสิน
และที่สำคัญก็คือ ชัยชนะเป็นผลผลิตทางการเมืองมากกว่าการทหาร อันทำให้ชัยชนะในสนามรบกลายเป็นเพียงความเหนือกว่าทางทหารในระดับยุทธการ หรือบางทีก็เป็นเพียงระดับยุทธวิธีเท่านั้นเอง

ดังนั้น เมื่อสหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้าสู่สงครามในอัฟกานิสถานและในอิรัก จึงเป็นเสมือนการต่อสู้ของอำนาจแบบเก่าในทางทหาร ที่มีเทคโนโลยีสมรรถนะสูงเป็นองค์ประกอบหลักสู้กับกลุ่มคนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ครอบครองเทคโนโลยีทางทหารแบบที่สหรัฐมี หากแต่อาวุธสำคัญของพวกเขากลับเป็น "ความเชื่อและความศรัทธา" ที่ไม่อาจลบล้างได้ และพวกเขาพร้อมจะสู้จนตายกับศรัทธานี้ 
ปรากฏการณ์ของการต่อสู้เช่นนี้ยังเป็นปัญหาความขัดแย้งเชิงทัศนะระหว่าง "การต่อต้านการก่อการร้าย vs การก่อการร้าย" และความขัดแย้งนี้พร้อมที่จะขยายไปสู่พื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก และยิ่งเมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยของ "ความศรัทธา" แล้ว ความขัดแย้งชุดนี้ก็ง่ายที่จะขยายตัวออกไป จนแม้บางทีความเป็น "มหาอำนาจเดี่ยว" ของสหรัฐอเมริกาก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ 
และในทางตรงกันข้าม สงครามชุดนี้ยังอาจลดทอนความน่าเชื่อถือของพลังอำนาจทางทหารของสหรัฐได้ ไม่แตกต่างจากการที่กองทัพรัสเซียเคยประสบมาแล้วในเชชเนียร์ เป็นต้น


2.สงครามอารยธรรม

สงครามและความขัดแย้งชุดใหม่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม ในความหมายอย่างแคบก็คือปัจจัยของความเชื่อและความศรัทธา ผลกระทบของปัจจัยนี้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในเวลาปัจจุบัน คลิปภาพยนตร์สั้นเรื่อง "The Innocence of Muslims" ได้จุดชนวนของความขัดแย้ง จนกลายเป็นการประท้วงต่อต้านสหรัฐ ด้วยความรุนแรงในหลายจุดของโลก 
ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นคำตอบอย่างดีว่า การบริหารจัดการความมั่นคงในบริบทของความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น จะต้องตระหนักถึงความสำคัญและความละเอียดอ่อนของปัจจัยนี้ 
และไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดทางทฤษฎีของ แซมมวล ฮันติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่นำเสนอเรื่องของ "สงครามระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilization) แต่อย่างน้อยการเปิดประเด็นของฮันติงตันก็เป็นการเตือนใจให้เราตระหนักเสมอว่า ประเด็นทางด้านวัฒนธรรมเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจะละเลยในการทำความเข้าใจไม่ได้ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน

ประจักษ์พยานของความรุนแรงในการต่อต้านสหรัฐ ที่กำลังขยายตัวในโลกมุสลิม แม้จะเกิดจากปัญหาภาพยนตร์สั้น แต่ก็เกิดขึ้นในกรอบเวลาครบรอบ 11 ปีของเหตุการณ์ 9/11 
ฉะนั้น นักความมั่นคงในอนาคตจะต้องเรียนรู้เรื่องความละเอียดอ่อนของปัจจัยด้านวัฒนธรรมด้วย


3.สงครามตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ

อำนาจและบทบาทของรัฐในยุคหลัง 9/11 มีสภาพที่ถดถอยลง ซึ่งก็คือรัฐในยุคโลกาภิวัตน์อ่อนแอลง หรือที่นักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์กล่าวโดยเปรียบเทียบว่า นับตั้งแต่การกำเนิดของรัฐในปี พ.ศ.2191 (ค.ศ.1648) จนถึงปัจจุบันนั้นอยู่ในภาวะ "ถดถอย" และในสภาวะเช่นนี้ก็เห็นได้ชัดเจนถึงการขยายบทบาทของ "ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ" ซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของรัฐในเวทีโลกปัจจุบัน 
ในทางทฤษฎีเรากล่าวเสมอว่า รัฐเป็นผู้ผูกขาดปัจจัย 2 ประการของความเป็นอำนาจรัฐก็คือ รัฐผูกขาดความภักดีของคนในรัฐ และรัฐผูกขาดการเป็นผู้ถือครองเครื่องมือของความรุนแรง (ซึ่งก็คือ รัฐเป็นเจ้าของกองทัพ)

แต่ในสภาวะร่วมสมัย เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐไม่ใช่ผู้ผูกขาดปัจจัยทั้งสองแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในความหมายของขบวนการทางการเมืองอาจจะสร้างความเป็นเจ้าของปัจจัยทั้งสองได้ไม่แตกต่างจากรัฐ ดังจะเห็นได้ว่า ในวันนี้มีขบวนการทางการเมืองที่สามารถครอบครองเครื่องมือของความรุนแรงแข่งขันกับรัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการก่อการร้าย ขบวนการของกลุ่มก่อความไม่สงบ แม้กระทั่งขบวนของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น 
ความเป็นคู่แข่งขันของรัฐที่เห็นได้จากการขยายบทบาทและอำนาจของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเช่นนี้ ยังเห็นได้ชัดเจนจากปรากฏการณ์สำคัญที่ตัวแสดงดังกล่าวได้กลายเป็นคู่สงครามกับรัฐ เพราะคู่สงครามในอดีตของรัฐจะเป็นรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่สงครามในปัจจุบันจะเป็นสงครามระหว่างรัฐกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐนั่นเอง!


4.สงครามอสมมาตร

ดังได้กล่าวในข้างต้นแล้วว่า ความเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐนั้น รับรู้ได้จากการที่กองทัพอเมริกันครอบครองอาวุธสมรรถนะสูงในรูปแบบต่างๆ จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีกองทัพของชาติใดชนะกองทัพสหรัฐ ในสนามรบของสงครามตามแบบได้ 
ผลจากการมีขีดความสามารถเช่นนี้ ทำให้การต่อสู้กับอำนาจและอิทธิพลของโลกตะวันตกต้องต่อสู้ด้วยความเป็น "อสมมาตร" ซึ่งความเป็นอสมมาตรเช่นนี้ทำให้คู่ต่อสู้ของโลกตะวันตกใช้วิธีการที่ไม่มีขีดจำกัด  
และขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ รองรับ อันทำให้เกิดยุทธวิธีใหม่ๆ ขึ้นในสงครามอสมมาตร

ตัวแบบจากกรณีการสังหารทูตอเมริกันในลิเบียสะท้อนให้เห็นถึงความใหม่อย่างชัดเจน พวกเขาไม่จำเป็นต้องอาศัยรถระเบิดหรือระเบิดพลีชีพในการทำลายสถานทูตและชีวิตของนักการทูตอเมริกัน  
แต่พวกเขาสามารถใช้เงื่อนไขของความไม่พอใจของประชาชนในพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเหตุ และแฝงตัวเข้ามาพร้อมกับหน่วยติดอาวุธขนาดเล็ก ที่จะฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวในการก่อการร้าย 
ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยาก เพราะเรามักจะป้องกันความรุนแรงในลักษณะของรถระเบิด หรือระเบิดพลีชีพ 
บางทีเราอาจจะต้องยอมรับว่า การก่อการร้ายจาก 11 กันยายน 2544 จนถึงปัจจุบันมีนวัตกรรมของรูปแบบใหม่ๆ จนเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและศึกษามากขึ้นในอนาคต


5.สงครามเมือง

ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่เป็นสัญญาณของความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมาก็คือ เมืองเป็นเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงมากขึ้น  
ซึ่งก็อาจจะสอดรับกับปรากฏการณ์ในโลกสมัยใหม่ที่ความเป็นเมือง (urbanization) มีความหมายรวมถึงระบบต่างๆ ที่องค์ประกอบของความเป็นเมืองสมัยใหม่ เช่น ระบบโครงสร้างที่มีความสำคัญยิ่ง (Critical Infrastructure) และยังรวมถึงระบบขนส่งในรูปแบบต่างๆ อาคารที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมือง เช่น ศูนย์การค้า เป็นต้น ดังนั้น เมืองสมัยใหม่จึงเป็น "ความเปราะบาง" อย่างยิ่ง 
โครงสร้างเหล่านี้ล้วนเป็นเป้าหมายที่เปราะบาง หรือเป็น "soft target" เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีระบบของการป้องกันตัวเอง อันกลายเป็นจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุกระทำการโจมตีต่อเป้าหมายเหล่านี้ได้ง่าย  
ดังคำกล่าวของบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ว่า "การโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไม่ได้พิสูจน์อะไรมากไปกว่า การที่สำนักงาน โรงงาน เครือข่ายการขนส่งและการติดต่อสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานของเราล้วนแต่เปราะบางอย่างมากจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่มีความเชี่ยวชาญ" 
คำกล่าวเช่นนี้ก็คือการตอกย้ำถึงปรากฏการณ์ของความเป็น "สงครามเมือง" ให้เห็นชัดขึ้น  

สภาพเช่นนี้ทำให้ "ความมั่นคงเมือง" เป็นประเด็นสำคัญของการบริหารจัดการความมั่นคงในโลกร่วมสมัย เพราะเห็นได้ชัดว่าความรุนแรงในยุคปัจจุบันล้วนแต่เกิดในพื้นที่ที่เป็นเมืองเป็นสำคัญ


6.ผู้นำตาย สงครามไม่ตาย

อาจจะต้องยอมรับว่าความสำเร็จที่สำคัญของรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาก็คือ ในที่สุดแล้วสหรัฐ ก็สามารถสังหาร อุสซามะห์ บิน ลาดิน ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่ถือกันว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทโดยตรงในการก่อเหตุรุนแรงในวันที่ 11 กันยายน 2544  
แต่การจบชีวิตของ บิน ลาดิน ก็ไม่ใช่คำตอบที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของการก่อการร้ายแต่อย่างใด  
ประเด็นเช่นนี้อาจจะใกล้เคียงกับกรณีการจับกุมอดีตประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งในที่สุดแล้วก็ถูกประหารชีวิต โดยหวังว่าการตายของเขาจะทำให้การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านกองทัพสหรัฐจะสิ้นสุดลง หรืออย่างน้อยก็ส่งผลให้การใช้ความรุนแรงนั้นอ่อนแอลง

แต่ก็ไม่เป็นความจริง เพราะหลังจากการเสียชีวิตของซัดดัม ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอิรัก 
สิ่งที่เราจะต้องยอมรับก็คือ สงครามตลอดรวมถึงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้แก่การก่อการร้ายด้วยนั้น ล้วนแต่มีรากฐานของความคิดและ/หรืออุดมการณ์ทางการเมืองรองรับทั้งสิ้น เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง มิใช่ความรุนแรงที่เกิดโดยปราศจากรากฐานทางการเมืองแต่อย่างใด  
ฉะนั้น ถ้าเปรียบขบวนการเมืองเช่นนี้เป็นเสมือน "งูพันหัว" ที่เมื่อหัวใดหัวหนึ่งที่ถูกตัดทิ้งอาจจะไม่มีความหมายเท่าใดนัก เพราะแม้จะเสียหัวบางส่วนไป แต่ขบวนจริงๆ ก็ยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้   
สงครามใหม่ไม่จบสิ้นไปพร้อมกับการจากไปของผู้นำ


ประเด็นสำคัญที่ตระหนักอย่างมากในอีกส่วนหนึ่งก็คือ สงครามในโลกปัจจุบันเป็น "สงครามความคิด" หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ สงครามความคิดระหว่างโลกเสรีนิยมตะวันตกกับโลกมุสลิมจารีตนิยม

และปรากฏการณ์เช่นนี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปในทศวรรษที่ 2 ของโลกหลัง 9/11 อย่างแน่นอน!



.