.
วิกฤติขยะ : หนักหนาไม่แพ้เรื่องภาวะโลกร้อน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 38
เมืองกับขยะเป็นของคู่กัน เมืองทั้งหลายมีปัญหาขยะตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว ซึ่งบางแห่งมีการจดบันทึกไว้ เช่น ที่นครกรีกโบราณ กรุงโรมเก่าได้ชื่อว่ามีระบบกำจัดขยะและของเสียดีมาก แต่ตามย่านสลัมก็มีปัญหาขยะรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้คนสมัยก่อนมีความอดทนอยู่ร่วมกับขยะได้ดี
ทัศนะของผู้คนต่อขยะที่เปลี่ยนเป็นทางลบมากขึ้น น่าจะเกิดจากการที่เมืองขยายตัว มีผู้อยู่อาศัยแออัด กับทั้งขยะก็มากขึ้นตามอุตสาหกรรมที่เติบโต
นอกจากนี้ ยังน่าจะเกิดจากความหวาดกลัวเชื้อโรค โดยมีกรณีกาฬโรคระบาดตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ถึง 16 โดยหนักที่สุดในศตวรรษที่ 14 ทำให้ประชากรในยุโรปลดลงเกือบครึ่ง
โรคระบาดใหญ่นี้สืบสาวไปก็น่าจะเนื่องจากขยะ การสุขาภิบาลที่ย่ำแย่ เสริมด้วยภาวะวิกฤติอาหาร รวมทั้งการติดต่อค้าขายและสงคราม เกิดหนูที่มีเชื้อระบาดมาจากทางเอเชีย ตามเมืองในยุโรปที่มีขยะมากก็เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของหนูเหล่านี้ การถูกกัดโดยหมัดหนูที่มีเชื้อทำให้ชาวยุโรปที่ขาดภูมิคุ้มกันล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง
เมื่อมีการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องเห็นแบคทีเรียในปลายศตวรรษที่ 17 ทำให้ทฤษฎีว่าโรคเกิดจากเชื้อโรคมีหลักฐานมั่นคงขึ้น ผู้คนจึงเกิดรังเกียจขยะที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค
ทุกวันนี้ขยะมหาศาลตามเมืองใหญ่ ได้กลายเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ที่ปรับตัวอยู่ในเมืองจำนวนมาก ได้แก่ หนูและแมลงสาบ เป็นต้น
ว่ากันว่า ประชากรหนูในกรุงนิวยอร์กมีมากกว่าประชากรมนุษย์หลายเท่าตัว
ในระยะหลังยังเกิดปรากฏการณ์สัตว์ป่าบุกเมืองและไร่นาในประเทศตะวันตกมากขึ้น
สัตว์ที่หิวโหยและถูกทำลายแหล่งทำกินของมัน ได้ปรับตัวเข้ากับเมือง พบสัตว์หลายชนิดตั้งแต่หมูป่า กวาง แรคคูน สุนัขจิ้งจอก ได้บุกรุกเข้ามาตามเมืองในสหรัฐหลายแห่ง
นอกจากนี้ ที่ฝังกลบขยะจำนวนไม่น้อย ไม่มีเพียงผู้คนมาคุ้ยหาเพื่อเก็บรวบรวมขยะบางชนิดไปขาย ยังปรากฏนกกาต่างๆ ใช้เป็นที่ทำมาหากิน
ปัญหาขยะจึงเป็นเหมือนเรื่องอื่นๆ คือเป็นทั้งวิกฤติและโอกาส
ในปัจจุบันเนื่องด้วยเหตุปัจจัยบางอย่างผู้คนมีทัศนะต่อขยะดีขึ้นบ้าง ทั้งนี้ เนื่องจากกระแสเรื่องการใช้ซ้ำและการเวียนใช้ขยะใหม่ได้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าขยะก็มีประโยชน์ และบางทีกล่าวถึงขั้นว่าเป็นขุมทรัพย์
แต่ในทางจัดการแล้ว ดูเหมือนว่าขยะนับวันจะเพิ่มพูนและไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้
กลายเป็นมหันตภัยจากความเจริญขึ้น
วิกฤติขยะกับธนาคารโลก
ผู้เป็นเจ้าภาพเรื่องวิกฤติขยะที่คาดไม่ถึงได้แก่ธนาคารโลก
โดยตั้งแต่ปี 1999 ธนาคารโลกได้ออกเอกสารการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาขยะในเอเชียซึ่งเป็นเขตที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ จีนและอินเดียเป็นต้น
จากนั้นก็ได้ศึกษาต่อยอดยอด ขยายวงรวมประเทศทั่วโลกและทุกภูมิภาค และได้ออกเอกสารฉบับที่ 2 ซึ่งเหมือนเป็นการอัพเดตฉบับแรก ใช้ชื่อรายงานว่า "โอโหขยะ" (What a Waste : A Global Review of Solid Waste Management, 2012)
จากความสนใจเช่นนี้ สะท้อนว่าว่าธนาคารโลกได้เห็นว่าขยะเป็นปัญหาใหญ่มาก
แดน ฮอร์นเวก นักเขียนร่วมของรายงานนี้เตือนว่า ปัญหาขยะเป็นภัยเงียบที่โตขึ้นทุกวัน การท้าทายของกองขยะในเขตเทศบาลจะใหญ่หลวงในระดับเทียบเท่าปัญหาโลกร้อน ถ้าหากไม่มากกว่า รายงานนี้ควรจะได้ปลุกให้นักกำหนดนโยบายทั่วโลกได้ตื่นขึ้น
ธนาคารโลกมีอะไรต้องมาเกี่ยวข้องกับปัญหาขยะถึงปานนี้ คำตอบหนึ่งคงเป็นว่าธนาคารพร้อมที่จะปล่อยเงินกู้ในโครงการทำนองนี้แล้ว เพราะได้ทำการศึกษามาอย่างดีทั้งโลก โดยที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีความยากลำบากในการรับมือกับปัญหาขยะ เพราะว่าต้องใช้เงินมาก และเทคโนโลยีก็ต้องทันสมัยพอสมควร
อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่ารายงานขององค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาระดับโลก มักจะแสดงความห่วงใยเป็นพิเศษกับประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนมีเทคโนโลยีต่ำ
และก็กล่าวว่าประเทศพัฒนาแล้วจะสามารถแก้ปัญหาเอาตัวรอดได้อย่างสบาย เพราะมั่งคั่งกว่ามีความรู้มากกว่า
แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนี้ไปทั้งหมด
และบางอย่างเป็นตรงกันข้าม
เช่น ในกรณีอาหารที่มีแนวโน้มว่าจะแพงขึ้นเนื่องเกิดภัยแล้งขึ้นหลายแห่ง ก็กล่าวกันว่าประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเผชิญกับปัญหาหนักหน่วง ทั้งที่ประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วก็ต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายคล้ายกัน
เช่น ในสหรัฐมีประชากรกว่า 46 ล้านคน ที่ยากจนไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหาร (เฉพาะกรุงนิวยอร์กมี 1.8 ล้านคน) ต้องเข้าโครงการฟูด แสตมป์รับเงินสงเคราะห์จากรัฐบาล (foxnews.com 210512)
ถ้าหากอาหารราคาแพงขึ้น ประชาชนจำนวนนี้ย่อมต้องอดอยากขึ้นไม่มากก็น้อย
หรือมักกล่าวกันว่าภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง แต่ข้อเท็จจริงกลายเป็นว่าบริเวณขั้วโลกเหนือไวต่อภาวะโลกร้อนสูงกว่าภูมิภาคอื่น น้ำแข็งที่นั่นกำลังละลายอย่างรวดเร็ว
ส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้นส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ในเขตร้อน
สถานการณ์และแนวโน้มวิกฤติขยะ
วิกฤติขยะกล่าวโดยทั่วไปมีแนวโน้มเลวร้ายลง เนื่องจากประชากรเมืองเพิ่มขึ้น และก็มีการบริโภคต่อหัวมากขึ้นด้วย
รายงานของธนาคารโลกกล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีประชากรเมือง 2.9 พันล้านคน โดยแต่ละคนสร้างขยะขึ้น 0.64 กิโลกรัมต่อวัน (รวมปีหนึ่งประชากรเมืองผลิตขยะราว 0.68 พันล้านตัน) แต่ในปัจจุบันประมาณว่ามีประชากรเมืองราว 3 พันล้านคน เพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก แต่ได้สร้างขยะคนละ 1.2 ก.ก.ต่อวัน (รวมปีหนึ่งราว 1.3 พันล้านตัน)
ดังนั้น อัตราการเพิ่มขยะจึงสูงกว่าการเป็นเมืองเสียอีก
คาดหมายว่าในปี 2025 หรือราว 10 กว่าปีข้างหน้า จะมีประชากรเมืองถึง 4.3 พันล้านคน ผลิตขยะคนละ 1.42 ก.ก. ต่อวัน รวมเป็นขยะทั้งสิ้น 2.2 พันล้านตันต่อปี ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ทั้งต้องใช้เทคโนโลยีสูงพอสมควร กับความร่วมมือจากชาวเมือง จึงจะสามารถจัดการขยะกองใหญ่นี้ได้
โดยคาดหมายว่าค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจะเพิ่มจากปีละ 205.4 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน เป็น 375.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025
ภูมิภาคที่มีการผลิตขยะเพิ่มอย่างรวดเร็วได้แก่ จีน ประเทศในเอเชียตะวันออก และหลายประเทศในยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง
เหตุปัจจัยของวิกฤติขยะ
เหตุปัจจัยของวิกฤติขยะที่เป็นพื้นฐานนั้น เนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่มีฐานการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมาก และวิถีชีวิตแบบผู้บริโภค การใช้ทรัพยากรมากสามารถดูได้จากการใช้พื้นดินในโลก
มีการศึกษารายงานว่าในปัจจุบันมนุษย์ได้ใช้แผ่นดินบนโลกนี้ไปถึงร้อยละ 43 เพื่อการเกษตร การสร้างเมือง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีถนนและท่าเรือ เป็นต้น
พื้นที่การเกษตรยังขยายตัวไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตัวเมือง ประมาณว่าถ้าหากการใช้แผ่นดินสูงถึงร้อยละ 50 แล้ว ระบบนิเวศโลกก็น่าจะย่อยยับจนเยียวยาไม่ได้ ในด้านการบริโภคมากขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งทางปริมาณและคุณภาพ โดยอาศัยการตลาดเพื่อกระตุ้นการบริโภค รวมทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จนกลายเป็นที่มาของขยะสำคัญในเมืองประเทศพัฒนาแล้ว
เหตุปัจจัยต่อมา ได้แก่ การเป็นเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ การเป็นเมืองมีข้อดีหลายประการ เช่น ก่อให้เกิดประสิทธิภาพจากการได้เปรียบทางขนาด กระตุ้นให้มีความคิดริเริ่มเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โอกาสทางการงานและยกมาตรฐานการครองชีพ ประโยชน์ของเมืองเหล่านี้ได้ดึงดูดผู้คนจำนวนมากเข้ามาเป็นชาวเมือง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การอยู่กันอย่างแออัดและความเร่งรีบในเมือง ก่อแรงกดดันให้เกิดความเครียด กระตุ้นการบริโภค และสร้างขยะขึ้นเป็นอันมากจนยากที่จะกำจัดให้หมด
การจัดการขยะ
มนุษย์น่าจะสร้างขยะมากขึ้นเมื่อเริ่มมีการเกษตรราว 1 หมื่นปีมาแล้ว ฉะนั้น จึงคุ้นเคยกับเรื่องขยะและการจัดการมานาน การจัดการขยะในปัจจุบันโดยพื้นฐานก็ไม่ต่างกับวิธีการในอดีต เพียงแต่ว่าเมื่อมีขยะมากก็ต้องทำเป็นเรื่องใหญ่โต เกิดความซับซ้อนขึ้นทุกที
ซึ่งด้านหนึ่งสะท้อนถึงการคิดค้นพัฒนาอันหลักแหลม
ในอีกด้านหนึ่งแสดงถึงการดิ้นรนอย่างสิ้นหวังในการจัดการขยะที่เพิ่มพูนขึ้นทุกที
จะกล่าวถึงจัดการขยะแบบดั้งเดิมกับแบบทันสมัยควบคู่กันไปดังนี้
1. การจัดการขยะที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดได้แก่การโยนทิ้งไป ในชีวิตธรรมชาติ ขยะเหล่านี้จะถูกกำจัดไปเอง โดยการกระทำของลมฝน แบคทีเรีย หนอน นก สัตว์กินซาก ถึงปัจจุบันก็ยังมีผู้คนจำนวนมากปฏิบัติเช่นนั้น แต่ชีวิตในเมือง โดยเฉพาะที่เป็นเมืองใหญ่ ผู้คนหนาแน่น ทางการจะไม่ยินยอม เช่น จับปรับผู้กระทำเช่นนั้น และสร้างคุณค่าขึ้นว่าเป็นการจัดการขยะที่ไร้วัฒนธรรมไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง รายงานของธนาคารโลกระบุด้วยความกังวลว่ามีหลายเมืองไม่มีแม้บริการเก็บขยะ คือปล่อยให้ทิ้งขยะตามใจชอบ
2. กวาดขยะเป็นกอง หรือเก็บไปทิ้งเป็นกองขยะใหญ่ อันนี้เป็นความฟุ่มเฟือยขึ้นมาอีกขั้น ต้องใช้กำลังผู้คนจำนวนมากในการกวาดและเก็บขยะ นำมากองไว้ ซึ่งก็ใช้ได้ผลดีเมื่อปริมาณขยะไม่มาก แต่เมื่อมีขยะล้นหลาม เกิดเป็นกองภูเขาขยะขึ้น ก่อมลพิษทั้งทางกลิ่น การปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และอื่นๆ สำหรับในปัจจุบันถือว่าเป็นแหล่งสร้างก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
3. การฝังกลบ เป็นวิธีที่ดีขึ้น มีการนำขยะไปทิ้งในที่ต่ำหรือเป็นหลุมใหญ่ นำขยะมาทิ้งเป็นแนวราบ ทำให้จัดการได้ดีขึ้น แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในข้อที่ 2 ได้
4. แต่ในที่สุดที่ฝังกลบก็เริ่มเต็ม และหาสถานที่ใหม่ก็ยาก เช่น ในเขตเทศบาลใดที่หมดที่ว่าง หรือที่มีก็ราคาสูงมาก ก็จำต้องไปหาที่ว่างในเขตอื่น ซึ่งก็มักถูกชาวบ้านในที่นั้นต่อต้านขัดขวาง เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นที่ขยายตัวไปทั่ว และแก้ไขไม่ได้ง่าย จำต้องมีการคิดริเริ่มใหม่หลายประการ เช่น
ก) การเผา การเผาสามารถกำจัดขยะได้ถึงราวร้อยละ 90 และก็มีการคิดสร้างโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะอีก
ข) การใช้ซ้ำและการเวียนใช้ขยะบางอย่างเช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ เหล่านี้ก็ช่วยลดปริมาณขยะลงได้มาก
ค) ให้ผู้ผลิตรับผิดชอบ เช่น ในเยอรมนีให้บริษัทรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ของตน ว่าจะต้องมาเก็บบรรจุภัณฑ์นี้ไปใช้ซ้ำหรือเวียนใช้ใหม่
ง) สร้างโรงงานแยกขยะ เพื่อที่จะนำบางส่วนไปเวียนใช้ใหม่ หรือฟื้นฟูใช้ใหม่ เหล่านี้จะเห็นได้ว่าต้องใช้เงินและเทคโนโลยีค่อนข้างสูง มีแต่ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงสามารถจัดการได้ครบถ้วนอย่างดี (แต่คนในประเทศกำลังพัฒนาก็สร้างขยะต่อหัวน้อยกว่ามาก)
5. ถึงอย่างนั้นก็พบว่า การจัดการข้างต้นก็ยังไม่พอเพียงต่อการรับมือกับขยะที่มากและบางส่วนเป็นพิษสูงได้ ธนาคารโลกจึงได้เสนอวิธีจัดการขยะแบบบูรณาการขึ้น โดยนำ 3 ส่วน ได้แก่
ก) ผู้มีส่วนได้เสีย เช่นเทศบาล เอ็นจีโอ ผู้ใช้บริการและภาคส่วนต่างๆ
ข) องค์ประกอบของขยะและการจัดการ เช่น การผลิตและการแยกขยะ การเก็บ การขนส่ง การปรับสภาพและการกำจัด
ค) มุมมองด้านต่างๆ เช่น ทางสิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎหมาย การเงินหรือเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม เทคนิคและสมรรถนะ เพื่อให้มีการจัดการขยะอย่างยั่งยืน พิจารณาดูความซับซ้อนเช่นนี้แล้ว
ต่อไปก็อาจถึงขั้นต้องตั้งกระทรวงกำจัดขยะขึ้น
วิกฤติขยะแม้ว่าจะมีลักษณะท้องถิ่น แต่เมื่อรวมกันเข้าก็เป็นปัญหาระดับโลก ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ประเทศร่ำรวยส่งออกขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนา ปรากฏการณ์เช่นนี้ชี้ว่าค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะในประเทศพัฒนาแล้วสูงขึ้นทุกที และประเทศพัฒนาแล้วกำลังจะเอาปัญหาขยะไม่อยู่ จึงจำต้องส่งออกขยะเหล่านี้
ขยะที่ส่งออกนี้มีตั้งแต่ขยะสารพิษ ไปจนถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยังมีการลักลอบนำของเสียอย่างเช่นน้ำมันก้นถังไปทิ้งในมหาสมุทรอีก ขยะดังกล่าวบางส่วน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำไปเวียนใช้ได้ แต่ก็ก่อผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ทำงานนี้ที่ปราศจากการดูแลเอาใจใส่
โดยรวมขยะมีแนวโน้มจะพอกพูนขึ้น และจะทำให้เมืองมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และน่าอยู่น้อยลงทั้งทางตรงและทางอ้อม
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย