http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-17

นวลน้อย: ความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯและภูมิภาค

.

ความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯและภูมิภาค
โดย ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์  คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
จากมติชนออนไลน์ วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 10:35:39 น.


เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักวิชาการหลายแขนงพยายามที่จะตอบโต้กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯว่า ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ รัฐบาลจะต้องมีการพัฒนาหรือมีนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาในพื้นที่ที่ยากจนที่สุด ซึ่งนำมาสู่การปรับปรุงนโยบายในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงานในชนบท ลดการหลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพฯและปริมณฑล การปรับเปลี่ยนการกระจายงบประมาณการให้บริการภาครัฐ เช่น งบประมาณทางด้านสุขภาพ การศึกษา ก็มีการจัดสรรงบประมาณต่อหัวประชากรเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันก็มีการจัดสรรงบประมาณพัฒนาในระดับจังหวัด

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของธนาคารโลกเรื่อง Improving Service Delivery ซึ่งมีการเผยแพร่ในปีนี้ (2555) โดยมีการจัดเก็บข้อมูลในช่วงก่อนหน้านี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ยังคงดำรงอยู่ในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ในรายงานบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงานรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพิจารณาการกระจายการใช้จ่ายของภาครัฐในภูมิภาคต่างๆ โดยแบ่งเป็น กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ในปี 2553 พบว่า

กรุงเทพฯ ซึ่งมีประชากรคิดเป็นร้อยละ 17 ของประเทศ มีส่วนในการสร้างจีดีพี ร้อยละ 26 แต่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาครัฐบาลและท้องถิ่นรวมกัน ร้อยละ 72 ของงบประมาณทั้งหมด
ตรงกันข้ามภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีประชากรรวม ร้อยละ 34 มีส่วนแบ่งในจีดีพี ประมาณร้อยละ 12 ได้รับผลประโยชน์จากการใช้จ่ายภาครัฐประมาณน้อยที่สุดที่ร้อยละ 5.8
ส่วนภาคอื่นๆ ได้แก่ ภาคกลางมีประชากร ร้อยละ 17 มีส่วนแบ่งในจีดีพี สูงที่สุดที่ร้อยละ 44 (เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากตั้งอยู่) และมีส่วนแบ่งในการใช้จ่ายของภาครัฐที่ร้อยละ 7 ส่วนภาคเหนือมีส่วนแบ่งประชากร ร้อยละ 18 ส่วนแบ่งในจีดีพี ร้อยละ 9 และส่วนแบ่งในการใช้จ่ายของภาครัฐที่ร้อยละ 7 สำหรับภาคใต้มีส่วนแบ่งประชากรน้อยที่สุดที่ร้อยละ 14 ส่วนแบ่งใน จีดีพี ร้อยละ 10 และส่วนแบ่งในการใช้จ่ายของภาครัฐที่ร้อยละ 8


มีข้อน่าสังเกตคือ ทุกภาค (ยกเว้นกรุงเทพฯ) มีสัดส่วนของส่วนแบ่งจากการใช้จ่ายภาครัฐน้อยกว่าบทบาทในการมีส่วนในการสร้างจีดีพีของประเทศ 
เมื่อคำนวณการใช้จ่ายของภาครัฐต่อหัวประชากรพบว่า กรุงเทพฯได้รับงบประมาณต่อหัวสูงที่สุดที่ประมาณ 163,802 บาทต่อคน (แยกเป็นจากการใช้จ่ายของรัฐบาล 157,104 บาทต่อคน และจากการใช้จ่ายของท้องถิ่น 6,697 บาทต่อคน) ส่วนภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ไม่แตกต่างกันมากนัก คือมีการใช้จ่ายงบประมาณเฉลี่ยต่อหัวที่ประมาณ 16,600 บาท (มาจากรัฐบาลประมาณ 13,000 บาทเศษ และจากท้องถิ่นประมาณ 3,000 บาทเศษ) 
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับงบประมาณการใช้จ่ายจากภาครัฐต่ำที่สุดอยู่ที่ประมาณ 13,200 บาทต่อคน (มาจากการใช้จ่ายของรัฐบาล 10,200 บาท บาทต่อคน และท้องถิ่นอีกประมาณ 3,000 บาทต่อคน)


ทั้งนี้ผู้เขียนรายงานให้เหตุผลว่า การใช้จ่ายของภาครัฐกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯค่อนข้างสูง น่าจะมาจากสาเหตุ 3 ประการคือ หนึ่ง หน่วยงานบริหารราชการของรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ หน่วยงานเหล่านี้รวมถึงหน่วยให้บริการสำคัญคือสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ล้วนแล้วแต่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพทั้งสิ้น สอง ต้นทุนต่อหน่วยในการให้บริการต่างๆ ในกรุงเทพฯสูงกว่าภูมิภาคอื่น เช่น การศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น และสาม เป็นผลของการกระจุกตัวของความเจริญในมิติต่างๆ ที่มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ทำให้ยิ่งต้องการบริการทางสังคมและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าภูมิภาคอื่น
ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อสังเกตด้วยว่า การที่งบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐมีการกระจายอย่างไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองหลวงและขนาดใหญ่กับภูมิภาคอื่นของประเทศในขนาดประมาณ 5 เท่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่กรณีกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่มีขนาดของความเหลื่อมล้ำทางด้านงบประมาณที่ได้รับต่อประชากร มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ถึงประมาณ 10 เท่า ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก


การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำจากทางด้านรายจ่ายของภาครัฐ อาจจะมีข้อแก้ตัวบางประการ เช่น อาจจะต้องพิจารณาจากการจัดเก็บภาษีด้วยว่า แหล่งที่มาของภาษีมาจากพื้นที่ใดบ้าง เป็นสัดส่วนเท่าใด ซึ่งในประเด็นการจัดเก็บภาษีก็มีปัญหาการบิดเบือนพอสมควร เพราะบริษัทจำนวนมากที่มีสาขาหรือโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมักนิยมที่จะเสียภาษีรวมอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำให้การวิคราะห์แยกแยะทำได้ลำบาก ขณะเดียวกันพฤติกรรมเหล่านี้มีผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีท้องถิ่นหรือจัดเก็บได้น้อยจากสถานประกอบการเหล่านั้น แต่ต้องใช้งบประมาณมาเพื่อบริการสถานประกอบการเหล่านั้น เช่นเรื่องขยะ เป็นต้น

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯกับภูมิภาคอื่นๆ คงจะแก้ไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่มีการพิจารณาเรื่องการใช้งบประมาณในเชิงพื้นที่ในมิติต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 



.