.
บทความก่อนหน้า - โคลง กับ สงคราม ของอยุธยา กับ ล้านนา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ยวนพ่าย วรรณกรรมประวัติศาสตร์ ราชวงศ์และสงคราม
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ www.sujitwongthes.com
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 77
( www.sujitwongthes.com/2012/09/weekly07092555/ )
ยวนพ่าย เป็นชื่อวรรณกรรมยุคต้นอยุธยา แต่งเพื่อพิธีกรรมยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ที่อยุธยา ระหว่าง พ.ศ.1991-2031) ที่ทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ที่เชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ.1985-2031)
ต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อยไม่มีบอกว่าหนังสือเรื่องนี้ชื่ออะไร? ใครแต่ง? เมื่อไร? ทำไม? ฯลฯ
ดังนั้น ชื่อยวนพ่ายจึงน่าจะสมมุติมาจากโคลงบทสุดท้ายในฉบับ อ.ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ชำระมีว่า
๏ สยามกวนยวนพ่ายแพ้ ศักดยา
ธิราชอดิสรสรร- เพชญเจ้า
กรุงศรีอยุธยาสา- มรรถมิ่ง เมืองแฮ
จบบทหมดต้นเค้า เท่านี้ เฮย
แต่โคลงบทนี้ไม่มีในฉบับพิมพ์เป็นเล่มของกรมศิลปากร (วรรณกรรมสมัยอยุธยา พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2529)
แสดงว่าเป็นโคลงใหม่แต่งเติมสมัยหลัง แต่ไม่รู้แต่งเมื่อไร? จึงไม่มีในทุกฉบับ
ลิลิตยวนพ่าย ชื่อตั้งเองสมัยใหม่
ทางการไทยปัจจุบันเรียกวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า "ลิลิตยวนพ่าย" แล้วยกเป็น "ลิลิตเรื่องแรกของไทย"
แต่ต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อยไม่มีชื่อลิลิตยวนพ่าย
อ.ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ บอกแต่ว่า "เราเรียกกันว่าโคลงยวนพ่าย ฤๅยอพระเกียรติพระเจ้าช้างเผือก กรุงเก่า" (ประชุมวรรณคดีไทยภาคพิเศษ ยวนพ่ายโคลงดั้น พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2513 หน้า 1)
คำว่าลิลิตมากำหนดกันใหม่เมื่อไม่นานมานี้โดยนักปราชญ์ราชบัณฑิตสมัยใหม่
ดังนั้น ที่ว่าเป็นลิลิตเรื่องแรกของไทยจึงประหลาดๆ เพราะยุคที่แต่งยวนพ่ายไม่มีลิลิตในความหมายดังกล่าว
ใครพ่ายใคร?
ยวนพ่าย หมายถึง เชียงใหม่พ่ายแพ้อยุธยา
ตามรูปศัพท์ ยวน คือ โยนก หมายถึงเชียงใหม่ซึ่งเป็นรัฐเอกราช ส่วนพ่าย ก็คือ แพ้, ไม่ชนะ
ที่ให้ชื่อว่ายวนพ่าย ก็เป็นเพราะฝ่ายอยุธยาแต่งเพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถ้าฝ่ายเชียงใหม่แต่งเพื่อยอพระเกียรติพระเจ้าติโลกราชบ้าง บางทีจะชื่อสยามพ่ายหรืออยุธยาพ่ายก็ได้
แต่มีเหตุการณ์ในพงศาวดารฝ่ายอยุธยา บอกว่า ราว พ.ศ.2008 สมเด็จพระบรมไตรฯ ทรงผนวชที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก ด้วยพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา มีเนื้อความในพงศาวดารโยนกบอกว่าทรงผนวชเพื่อขอบิณฑบาตเมืองเชลียง (เชียงชื่น) คืนจากพระเจ้าติโลกราชที่ยึดไว้ แต่ไม่สำเร็จ
อย่างนี้แสดงว่าทางเชียงใหม่ไม่คิดว่าพ่ายแพ้อยุธยา แต่คิดตรงข้าม
มีคำอธิบายของ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อยู่ในบทความเรื่อง สุโขทัย-อยุธยา และเชียงใหม่ ในตำนานสิบห้าราชวงศ์ (พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด ของ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2549 หน้า 188-189) จะคัดมาเป็นพยานดังต่อไปนี้
"พระบรมไตรโลกนาถ ทรงรำพึงว่าจะสู้รบกับเชียงใหม่ไม่ไหว จึงควรเจรจาความเมืองกัน โดยพระองค์จะออกผนวช (พงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ์ฯ ว่า พ.ศ.2008) และมอบเมืองให้แก่พระราชบุตรคือพระอินทราชา" แล้วให้ไปขอบิณฑบาตเมืองเชลียงจากพระเจ้าติโลกราช
พระเจ้าติโลกราชให้ชุมนุมพระสงฆ์ แล้วตอบว่าผู้ออกบวชย่อมสละสมบัติทั้งปวง เป็นพระสงฆ์จะมาขอบิณฑบาตเมือง จึงไม่ควรคืนเชลียงให้
พระบรมไตรโลกนาถมิได้ตรัสประการใด ต่อมาก็ทรงลาผนวชมาเสวยเมืองดังเดิม แล้วให้พรหมสะท้านไปอุปัฏฐากชีม่าน (พระพม่า) ให้สินบนชีม่านเป็นทองคำหนึ่งพัน เพื่อให้ไปทำลายต้นไทรที่เป็นศรีเมืองเชียงใหม่
ต้นฉบับขาดหายเพียงเท่านี้ จึงได้คัดตำนานเชียงใหม่มาเพิ่มเติมไว้เท่าที่ต้องการ "เมื่อทำลายต้นไทรได้สำเร็จในปีดับเล้า พ.ศ.2008 ต่อจากนั้นก็เกิดอันตรายต่างๆ แก่บ้านเมืองและเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย"
"ปีกาบสง้า พ.ศ.2017 หมื่นด้งผู้กินเชียงชื่นตาย พระเจ้าติโลกราชเอาหมื่นแคว้นผู้กินแช่ห่มไปกินเชียงชื่น ในปีนั้นพระยาหลวงสุโขทัยตีเมืองเชียงชื่นได้ และฆ่าหมื่นแคว้นตาย พระเจ้าติโลกราชเสด็จไปเอาเมืองเชียงชื่นคืนได้ แล้วให้ผู้กินเมืองนครไปรั้งเมืองเชียงชื่น"
ข้อความตอนท้ายนี้ ตำนานเดิมขาดหายไป ผู้คัดลอกเขียนเติมขึ้นใหม่ผิดความจริง
ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หมื่นแคว้นตาย "ลวดได้เชียงชื่นคืนดังเก่า" หมายถึงอยุธยาได้เชียงชื่นคืนไปเหมือนที่เคยเป็นอยู่เดิม และ "หมื่นผู้กินนครไปรั้งเชียงชื่นออกหนีได้" หมายความว่าเจ้าเมืองลำปางซึ่งไปดูแลเชียงชื่นหนีกลับไปล้านนาได้
ประวัติศาสตร์ราชวงศ์และสงคราม
ยวนพ่าย เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ราชวงศ์และสงครามยุคต้นอยุธยาของวงศ์สุพรรณภูมิจากเมืองสุพรรณบุรี มีเนื้อเรื่องหลายตอนไม่พบในพระราชพงศาวดาร
จะสรุปโดยคัดมาปรับใหม่จากหนังสือประวัติวรรณคดีไทย ของ อ.เปลื้อง ณ นคร (ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งที่แปด พ.ศ.2523 หน้า 68-69) ดังต่อไปนี้
ลิลิตยวนพ่ายมีโคลงดั้น 295 บท (แต่ละฉบับมีไม่เท่ากัน) ร่ายดั้นเป็นคำโคลงกล่าวยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรื่องสำคัญคือเรื่องสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยาตราทัพไปตีเมืองเชียงชื่น (หรือเชลียง, ศรีสัชนาลัย ปัจจุบันอยู่ จ.สุโขทัย)
เนื้อเรื่องตั้งแต่ร่ายบทที่ 1 ถึงโคลงบทที่ 55 เป็นคำกล่าวยอพระเกียรติ และในบทที่ 56-60 มีคำกล่าวออกตัวตามมารยาทของกวี และบอกความมุ่งหมายในการแต่งรวมอยู่ด้วย
ครั้นแล้วกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ตาม "สูตรสถานี" ตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา พระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงยกทัพไปรบเขมร และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประสูติตอนที่พระบิดากำลังชุมนุมพลที่ทุ่งพระอุทัย กล่าวถึงพระราชบิดาปราบเขมรได้ เสด็จคืนกรุงศรีอยุธยา และเมื่อพระบิดาสวรรคต พระองค์ก็ขึ้นเสวยราชย์
ครั้นแล้วกล่าวถึงพระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองพิษณุโลก ว่าเอาใจออกห่างจากกรุงศรีอยุธยา โดยไปติดต่อกับพระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้ยกทัพมาตีเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงยกทัพขึ้นไปปราบปรามจนสงบ แล้วเลยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ทรงบำรุงพระพุทธศาสนา พระองค์เองได้ทรงผนวชอยู่คราวหนึ่ง
กล่าวเรื่องฝ่ายเชียงใหม่ว่าพระเจ้าติโลกราชทรงตั้งหมื่นด้งนครเป็นเจ้าเมืองเชียงชื่น (เชลียง ศรีสัชนาลัย) กล่าวถึงพระเจ้าติโลกราชเกิดเสียจริต ประหารชีวิตหนานบุญเรืองราชบุตร แล้วเรียกหมื่นด้งนครกลับเชียงใหม่ แล้วจับตัวประหารชีวิตเสีย ส่วนภรรยาหมื่นด้งนครซึ่งอยู่ทางเมืองเชียงชื่น ได้ทราบเรื่องก็แค้นใจ ทำการแข็งเมืองแล้วมีสารมายังกรุงศรีอยุธยาขอกองทัพขึ้นไปช่วย แต่ทัพไทยยังไม่ทันขึ้นไป ทางเชียงใหม่ก็ยกลงมาตีเมืองเชียงชื่นแตกเสียก่อน แล้วเตรียมตกแต่งเมืองตั้งรับทัพไทย
ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ทรงยาตราทัพไปประชิดทัพเมืองเชียงใหม่ ทัพทั้งสองได้รบกันเป็นสามารถ แต่ทัพเชียงใหม่เป็นฝ่ายปราชัย เป็นจบเรื่อง
+++
โคลง กับ สงคราม ของอยุธยา กับ ล้านนา
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ www.sujitwongthes.com
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 77
( www.sujitwongthes.com/2012/08/weekly24082555/ )
รัฐอยุธยาอยู่ภาคกลาง แต่รัฐล้านนาอยู่ภาคเหนือ ห่างไกลกันมาก (ปัจจุบันระยะทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มากกว่า 600 กิโลเมตร)
สองราชสำนักติดต่อกันหรือไม่? อย่างไร? เพราะมีวรรณกรรมแต่งด้วยโคลงเหมือนกัน แล้วทำสงครามกันด้วย
กลอนลำ ในวัฒนธรรมลาวสองฝั่งโขง มีพัฒนาการเป็นโคลงอยู่ใน 2 ราชสำนัก คือ อยุธยา กับ ล้านนา แล้วราชสำนักทั้งสองก็แต่งโคลงนิราศเป็นวรรณกรรมของคนชั้นนำร่วมยุคร่วมสมัยกัน เมื่อราวเรือน พ.ศ.2000 หรือหลังจากนั้นไม่นาน
อยุธยามีโคลงกำสรวลสมุทร แต่งระหว่าง พ.ศ.2025-2034
ล้านนามีโคลงนิราศหริภุญชัย แต่งเมื่อ พ.ศ.2060
ลุ่มน้ำปิง กับ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
บริเวณลุ่มน้ำปิง มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1000 แล้วรับพุทธศาสนาจากบ้านเมืองทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีร่องรอยอยู่ในตำนานจามเทวีจากรัฐละโว้ (ลพบุรี)
เหตุนี้เอง วัฒนธรรมแบบทวารวดีจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงมีขึ้นในรัฐหริภุญชัย (ลำพูน)
หริภุญชัย กับ สุพรรณภูมิ
รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อยู่ทางตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีความสัมพันธ์ติดต่อไปมากับรัฐหริภุญชัย (ลำพูน) อยู่ทางเหนือของลุ่มน้ำปิง-วัง มีร่องรอยในพงศาวดารเหนือ ว่าราว พ.ศ.1733 พระยาพานจากเมืองนครชัยศรี (นครปฐม) เสด็จขึ้นไปเมืองลำพูน ดังนี้
"พระยาพานยกทัพขึ้นไปเมืองลำพูนไปนมัสการพระบรมธาตุพระพุทธเจ้า ถึงสามปีมาแล้วก็ยกทัพกลับลงมาเมืองใต้ จึงปรายเงินทองต่างข้าวตอกดอกไม้ ถวายพระบรมธาตุมาทุกๆ ตำบล มาแต่เมืองลำพูนลำปาง ลงมาทางเดิมบางนางบวชจนถึงเมืองนครชัยศรีสิ้นเก้าปี"
รัฐสุพรรณภูมิติดต่อสัมพันธ์กับรัฐหริภุญชัย มีหลักฐานโบราณคดีสนับสนุนตำนานในพงศาวดารเหนือ โดยพบศิลปกรรมแบบหริภุญชัยที่เมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) เช่น ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมเจดีย์แปดเหลี่ยม (ประวัติวัฒนธรรมลุ่มน้ำทวน-จรเข้สามพัน รายงานการสำรวจฯ โดย รศ.สุรพล นาถะพินธุ และ อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร พ.ศ.2552 หน้า 14-15)
ร.5 เคยทรงมีพระราชดำริว่าสมัยโบราณ น่าจะมีลำน้ำสายหนึ่งไหลล่องจากแม่ปิงผ่านเมืองกำแพงเพชรลงมาถึงเมืองอุทัยธานีโดยตรง ไม่วกผ่านเมืองนครสวรรค์ แล้วจากเมืองอุทัยธานีก็ไม่ผ่านเมืองพยุหะคีรี เมืองมโนรมย์ เมืองชัยนาท แต่ลงไปทางเมืองสรรคบุรี เมืองวิเศษชัยชาญทางหนึ่ง
กับอีกทางหนึ่งลงไปเมืองสุพรรณ (พระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สำรวจลำน้ำเก่า พ.ศ.2451)
เชียงแสน-พะเยา กับละโว้-สุโขทัย
ก่อนพระยามังรายจากดินแดนโยนกจะรวบรวมผู้คนพลไพร่ยกไปยึดครองเมืองหริภุญชัย มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่าง "เครือญาติ" ตระกูลไทย-ลาว หลายเรื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระยางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ที่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติและเครือข่ายบนเส้นทางการค้าของรัฐละโว้ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยผ่านรัฐสุโขทัยที่รัฐละโว้กำลังผลักดันสนับสนุนให้เติบโตขึ้นควบคุมทรัพยากรและเส้นทางคมนาคมลุ่มน้ำยม-น่าน เมื่อราวหลัง พ.ศ.1700
บ้านเมืองบริเวณโยนกทางที่ราบลุ่มในหุบเขาเขตเชียงราย-พะเยา (ลุ่มน้ำกก-อิง) ควบคุมเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาคทางตอนเหนือ ระหว่างลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำสาละวิน โดยมีศูนย์ใหญ่อยู่เมืองเชียงแสน ผ่านไปทางแม่สาย
เมื่อเกิดความขัดแย้งวุ่นวายในบ้านเมืองทางเหนือขึ้นไป โดยเฉพาะทางน่านเจ้า (ต้าหลี่) เป็นแรงจูงใจผลักดันให้รัฐละโว้ (ลพบุรี) ขยายเครือข่ายการค้าผ่านรัฐสุโขทัยขึ้นมาตามลำน้ำยมถึงรัฐพะเยา
ดังมีความทรงจำอยู่ในรูปของตำนานมีในพงศาวดารโยนกว่าพระยางำเมือง เมื่อ พ.ศ.1797
"ไปเรียนศิลปในสำนักพระสุกทันตฤๅษี ณ กรุงละโว้ อาจารย์เดียวกับสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย เหตุดังนั้นพระยางำเมือง กับสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยจึงได้เป็นสหายแก่กัน"
ล้านนา กับ อโยธยา
พงศาวดารเหนือยังเล่าอีกว่าบุตรเจ้าเมืองเชียงใหม่ลักลอบเข้าหาธิดาพระเจ้าอู่ทองเมืองอโยธยา แล้วถูกจับ ติดกับดักตายในท่อน้ำ
ให้การชาวกรุงเก่า เล่าเรื่องพระวันวษาให้ขุนแผนตีเมืองเชียงใหม่ ส่งผลให้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมีแต่เรื่องสงครามระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่
ตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นลูก, จนถึงรุ่นหลาน
เชียงใหม่รบอยุธยา
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ จดว่า
พ.ศ.1929 สมเด็จพระบรมราชา (พะงั่ว เมืองสุพรรณบุรี) ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ตีเมืองลำปาง แต่ตีไม่ได้ ต้องยกทัพกลับอยุธยา
พ.ศ.1985 เจ้าสามพระยายกไปตีเชียงใหม่อีก ก็ตีไม่ได้
เจ้าสามพระยายกทัพไปตีได้นครธม เมื่อ พ.ศ.1974 นับแต่นั้นมาอยุธยาไม่ต้องกังวลศึกกับกัมพูชา ก็หันมาทำศึกกับล้านนาเชียงใหม่หลายสิบปี
ระหว่างพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยา
เชียงใหม่เป็นศูนย์ศึกษาบาลี
ล้านนาเชียงใหม่รุ่งเรืองเป็นศูนย์การศึกษาภาษาบาลีในพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากลังกา
มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเป็นภิกษุหลายรูป จึงได้รับยกย่องจากบ้านเมืองอื่นๆ มากกว่าอยุธยา เช่น
ได้รับยกย่องจากรัฐในพม่า และรัฐในลาว รวมทั้งรัฐสิบสองพันนาในจีน (ที่หลังจากนั้นถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา)
* * * * * * * * * * * * * * *
คำบรรยายใต้ภาพ
เศียรยักษ์ (ซ้าย) เศียรเทวดา (ขวา) อายุระหว่าง พ.ศ.1600-1700 พบในเมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับงานช่างแบบหริภุญชัย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย