.
ปมที่แก้ไม่ออก
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 30
ใครๆ ก็พูดกันว่า การเขียนและการสอนประวัติศาสตร์ไทยนั้นมีปัญหา เพราะสอนให้ดูถูกเพื่อนบ้าน มองเห็นเขาเป็นศัตรูหรือต่ำกว่าเสมอ ข้อนี้จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ผมสงสัยว่ามันอาจจะสัมพันธ์กับข้อบกพร่องอื่นๆ ในการเขียนประวัติศาสตร์ไทยแบบใหม่ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ข้อบกพร่องของการเขียนประวัติศาสตร์สมัยนั้น ซึ่งเกี่ยวโยงกับการวาดภาพให้เพื่อนบ้านกลายเป็นศัตรูไปหมดนี้ เท่าที่ผมนึกได้ น่าจะมีอย่างนี้
ประการแรกคือรับเอากรอบการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของฝรั่งมา ได้แก่ รัฐชาติ ในขณะที่เราไม่เคยมีรัฐชาติมาก่อน แม้แต่ในสมัยที่เขียนประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น รัฐชาติก็เพิ่งเริ่มจะพัฒนาขึ้น ยังไม่มีลักษณะสมบูรณ์อย่างในโลกตะวันตก
เพื่อจะเข้าใจข้อนี้ ผมคิดว่าน่าจะเปรียบเทียบการวิเคราะห์กับการเขียนประวัติศาสตร์ของไทยโบราณ ซึ่งมักใช้พระพุทธศาสนา หรือปูชนียสถาน/ปูชนียวัตถุเป็นกรอบการวิเคราะห์ เช่น เล่าเรื่องพระพุทธศาสนาว่าได้เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่เดิม (ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลหลายโกฏิปี) จนถึงการตรัสของพระโพธิสัตว์ การตั้งศาสนา และที่สำคัญคือเผยแพร่และตั้งมั่นในดินแดนแถบนี้อย่างไร ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของรัฐใดรัฐหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะมีรัฐต่างๆ เข้ามามีบทบาทในเรื่องราวอยู่หลายรัฐ
เรื่องของปูชนียวัตถุสถานก็ทำนองเดียวกัน คือมีปูชนียวัตถุสถานนั้นๆ (เช่น พระแก้วมรกต หรือพระธาตุพนม) เป็นศูนย์กลางของท้องเรื่อง มีบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะกษัตริย์จากแคว้นโน้นแคว้นนี้ เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อไร ด้วยเหตุอะไร
ไม่ใช่เรื่องของรัฐใดรัฐหนึ่ง และรัฐเหล่านั้นก็ไม่ใช่ "ชาติ"
แม้แต่พระราชพงศาวดารก็ไม่ได้ใช้ "ชาติ" เป็นกรอบการวิเคราะห์ แต่เป็นเรื่องราวของการสืบพระราชวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดิน ศึกสงครามต่างๆ ล้วนเป็นการทำศึกแย่งความเป็นใหญ่กันระหว่างพระเจ้าแผ่นดินที่ครองอยุธยา, อังวะ, ละแวก เมืองเว้ ฯลฯ ไม่ใช่ระหว่าง "ชาติ" ไทยกับพม่า, เขมร หรือเวียดนาม
แต่พอใช้รัฐชาติเป็นกรอบการวิเคราะห์ เหตุการณ์ต่างๆ ก็กลายเป็นเรื่องของทุกคนในชาติไปหมด พระเจ้าแผ่นดินที่สร้างและทำนุบำรุงพระบรมธาตุเมืองนครฯ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นที่เจริญศรัทธาของราษฎรในแว่นแคว้นของตนอย่างเดียว แต่ทำให้แก่ชาวพุทธ (หรือแม้แต่ไม่ใช่) ของทั้งโลก เช่นเดียวกับพระธาตุพนม และอื่นๆ
การใช้กรอบการวิเคราะห์ที่ผิดยุคผิดสมัยเช่นนี้แหละครับ ที่ทำให้ไม่สนใจจะพูดถึงความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ระหว่างราษฎรที่อยู่ในอำนาจของอังวะ, หงสาวดี, ละแวก หรือปัตตานี ที่จริงแล้ว มีความสัมพันธ์กันด้วยเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสงครามอยู่มากทีเดียว
และเมื่อไปเน้นด้านสงคราม ก็ย่อมทำให้ฝ่ายที่ไม่ใช่อยุธยาหรือบางกอกกลายเป็นผู้ร้ายไปอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกลวิธีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งจะกล่าวในประการต่อไป
นั่นก็คือการถือว่าพลังที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์มาจากผู้นำทางการเมืองสูงสุด คือพระมหากษัตริย์ บ้านเมืองหรือชีวิตของราษฎรจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างไร ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนมาจากการตัดสินใจและการกระทำของพระมหากษัตริย์
แต่เราก็รู้ดีว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณนั้นมีจำกัดมาก ในทางปฏิบัตินะครับ ไม่ใช่ทางทฤษฎี เพราะพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือของอำนาจที่จะแผ่อำนาจนั้นไปเหนือหัวราษฎรได้จริง แม้แต่อำนาจที่เกณฑ์แรงงานและส่วยสาอากรมาได้ ก็ต้องอาศัยอำนาจของ "นาย" ที่อยู่ใกล้ชิดกับราษฎรมากกว่า ปัญหามาอยู่ที่ว่าจะประกันความจงรักภักดีของ "นาย" ระดับต่างๆ เหล่านี้ให้มีต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างมั่นคงได้อย่างไร
และเอาเข้าจริงก็ไม่สามารถประกันได้ จึงเกิดการแย่งราชสมบัติกันตลอดมา พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีชีวิตอยู่ในการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำ จะต้องใช้ลูกล่อลูกชนต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้เหล่าชนชั้นนำเหล่านั้นหันดาบมาทิ่มแทงตน ฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดอะไรหรืออยากทำอะไร ก็ต้องดูทิศทางลมมากกว่าทำตามใจตัวเอง มีอำนาจ มีผลประโยชน์ มีอุดมการณ์ มีศักดิ์ศรีเกียรติยศของขาใหญ่รอบข้างที่ต้องประนีประนอม ถ้าทำตรงนี้ไม่สำเร็จ เขาก็เอาลงจากราชบัลลังก์พาไปวัดโคก
ในส่วนขาใหญ่ทั้งหลาย หรือชนชั้นนำทั้งหมด ก็จะปรับผลประโยชน์ อำนาจ อุดมการณ์ และศักดิ์ศรีเกียรติยศของตนไปตามความเปลี่ยนแปลงที่ตัวไม่ได้เป็นผู้กำหนดเอง เช่น มีสำเภาจีนและกำปั่นฝรั่งมาทำการค้ามากๆ เกิดเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จะทำอย่างไรจึงจะมีทรัพย์ มีอำนาจ ฯลฯ เพิ่มขึ้นหรือดำรงอยู่ต่อไปในสถานการณ์ใหม่นี้ แม้แต่ประชาชนเองก็ไม่ต่างกัน ทำอะไรเพื่อเพิ่มประโยชน์ส่วนตัว หรือเพิ่มอำนาจของตนได้ก็เลือกทำ เช่น ยกลูกสาวให้เจ๊ก เพราะรวยดีเป็นต้นและยังเข้าถึงขาใหญ่ได้ใกล้ชิดกว่าด้วย
ความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นจากผลรวมของการตัดสินใจ และการปฏิบัติ (ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว) ของคนจำนวนมาก ทั้งขาใหญ่ขาเล็ก เป็นการตัดสินใจที่สอดคล้องกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่หลังจากปะทะต่อสู้กันในเชิงต่างๆ แล้ว ก็ปรากฏเป็นผลรวมของความเปลี่ยนแปลง
เรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือพลังที่ผลักดันความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์นั้น เป็นพลังของบุคคล หรือพลังทางสังคม เรื่องนี้ถกเถียงกันมานาน ผมจะไม่พูดถึงล่ะครับ แต่จะชี้ว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนอยู่พ้นออกไปจากพลังทางสังคม ดังนั้น พลังทางสังคมจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่กำหนดให้บุคคลทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ทำอย่างไร ไม่ทำอย่างนี้ แต่ต้องทำอย่างโน้น ทำเมื่อไร ยังไม่ทำตอนนี้ แต่ไปทำตอนหน้า อะไรเหล่านี้ เป็นต้น
ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดในสมัย ร.5 ก็ไม่ได้มาจาก ร.5 พระองค์เดียว แต่มีพลังทางสังคมที่กำกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งจากภายนอกประเทศและภายในประเทศเอง การที่นักเรียนประวัติศาสตร์สมัยก่อนให้ความสำคัญแก่พลังทางสังคมน้อยเกินไป ผลก็คือแม้แต่ความเป็นบุคคลของ ร.5 เองก็ถูกละเลยไม่ใส่ใจตามไปด้วย จึงมักเสนอ ร.5 เหมือนเทวดา มากกว่าคน (และท่านก็กลายเป็นเทวดาจริงๆ หลังสวรรคต)
ทำไมนักประวัติศาสตร์อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงไม่ใส่พระทัยกับพลังทางสังคม ส่วนหนึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นอิทธิพลฝรั่ง เพราะนักประวัติศาสตร์ฝรั่งที่ดังๆ สมัยนั้นเองก็ให้ความสำคัญแก่บุคคลหรือผู้นำเกินจริงเหมือนกัน (อันที่จริงนักประวัติศาสตร์ฝรั่งที่ให้ความสำคัญแก่พลังทางสังคมมากกว่าก็มีแล้ว แต่ยังไม่ดังเท่า และอาจเขียนงานในภาษาที่สมเด็จฯ อ่านไม่ออก เช่น ฝรั่งเศสเป็นต้น... นี่ไงครับความสามารถของบุคคลย่อมถูกจำกัดลงด้วยพลังทางสังคมจนได้) แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกว่าก็คือ สมเด็จฯ ทรงมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นในเมืองไทย จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะวาดภาพของอดีตของ "ชาติ" ว่าเกิดขึ้นจากการกระทำของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก
ถ้าคิดเรื่องพลังทางสังคมไปให้กว้างและลึก ผมคิดว่าในที่สุดจะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หรือการเมืองระบบเปิดจนได้นะครับ เพราะทุกคนใน "ชาติ" ย่อมมีผลประโยชน์, อำนาจ, อุดมการณ์, ศักดิ์ศรีเกียรติยศที่ต่างกัน จึงต้องเปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้าไปต่อรองเชิงนโยบายอย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อพระมหากษัตริย์กลายเป็นพลังกำหนดความเปลี่ยนแปลงของ "ชาติ" ศัตรูของพระมหากษัตริย์ก็กลายเป็นผู้ร้ายไปหมด (ยกเว้นคนที่ชิงราชสมบัติได้สำเร็จ) นับตั้งแต่เจ้าอนุ, พระยาละแวก หรือรายารัฐมลายูทั้งหลาย
อันที่จริง ผมคงพูดถึงข้อบกพร่องของการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในรุ่นนั้นได้อีกแยะ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องอยู่กับความรังเกียจหรือดูหมิ่นเพื่อนบ้านทั้งนั้น แต่จะขอพูดเพียงเท่านี้
เพราะสิ่งที่ผมสงสัยก็คือ ที่เราเรียกร้องให้เขียนประวัติศาสตร์กันใหม่ เพื่อไม่เป็นการอบรมสั่งสอนให้เด็กไทยรังเกียจหรือดูแคลนเพื่อนบ้านเหมือนบรรพบุรุษของตนนั้น มันจะไม่ง่ายนักล่ะสิครับ
เราจะแก้แต่เนื้อหาที่เกี่ยวกับเพื่อนบ้านเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องรื้อแนวการวิเคราะห์ลงทั้งหมด และหลายต่อหลายอย่างของแนวการวิเคราะห์นั้น เป็นผลให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบอำนาจนิยมสามารถดำรงอยู่อย่างค่อนข้างมั่นคงในเมืองไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้ การเปลี่ยนแนววิเคราะห์ประวัติศาสตร์ จึงเท่ากับเป็นการทำลายฐานอำนาจผูกขาดหลายอย่างในเมืองไทยไปด้วย
วิธีวาดภาพอดีตหรือที่เราเรียกว่าประวัติศาสตร์นั้น ไม่ใช่การบรรยายเหตุการณ์เฉยๆ แต่เป็นการผูกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ภายใต้โครงเรื่องอันหนึ่ง เราไม่อาจแก้แต่เพียงบางส่วนของเรื่องให้ตรงตามความต้องการของเราได้ เพราะจะกระทบต่อโครงเรื่องที่เป็นตัวผูกเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าหากัน
อยากให้ "หม่อม" พรรณรายในบ้านทรายทอง เป็นคนแก่ใจดีเพราะเห็นแก่ความเป็น "หม่อม" ของแก จะแก้ให้กลายเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ เพราะพจมานจะไม่ผ่านประสบการณ์อันนั้น แต่จะกลายเป็น "เด็กในบ้าน" ไปจนตาย โดยไม่มีวันได้บ้านทรายทองคืนตามพินัยกรรมเป็นอันขาด
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย