http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-24

นิธิ: ธุรกิจขนาดใหญ่กับการคอร์รัปชั่น

.

ธุรกิจขนาดใหญ่กับการคอร์รัปชั่น
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 10:34:55 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 24 ก.ย.2555 )


ถึงเทศกาลรอบปีที่นักธุรกิจใหญ่ๆ ในสภาอุตสาหกรรมออกมารณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นภาครัฐกันอีกแล้ว และก็เหมือนปีที่ผ่านมา นั่นคือเทศนาสั่งสอนให้เห็นถึงความเลวร้ายของคอร์รัปชั่น ปลุกจิตสำนึกให้คนอื่นร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชั่น
จิตสำนึกครับ จิตสำนึก อะไรๆ ในเมืองไทยก็แก้กันด้วยสร้างจิตสำนึก นับตั้งแต่การอนุรักษ์ธรรมชาติและโลกร้อน ไปจนถึงความรักชาติ การดูแลผู้สูงวัย และการกินนมแม่

จิตสำนึกนั้นสำคัญแน่ แต่จิตสำนึกมาจากไหนครับ? เป็นความคิดที่อยู่นิ่งกับที่โดยไม่ปรับไม่เปลี่ยนเลยทั้งชีวิต หรือเป็นความคิดที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมา แล้วถูกปรับเปลี่ยนไปตามอิทธิพลรอบข้าง ตึงขึ้นหรือหย่อนลงไปตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ประสบการณ์สอนให้ปรับให้เปลี่ยน
โตแล้วไม่โกง เป็นเจตนารมณ์ที่มั่นคงมากในตอนเป็นนักเรียน เพราะต้องสอบผ่านวิชานี้ให้ได้ แต่ชีวิตไม่ได้อยู่ในโรงเรียนตลอดไป หรือไม่ได้ไร้เดียงสาเช่นนั้นตลอดไป ได้พบได้เห็นอะไรต่อมิอะไรในสังคมไทยมากขึ้น เจตนารมณ์นั้นยังอยู่ตอนโตแค่ไหน และอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สรุปก็คือ จิตสำนึกนั้นสำคัญแน่ แต่จิตสำนึกไม่ได้มาจากคำสอนหรือตำราเพียงอย่างเดียว ดำรงอยู่ได้เพราะเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ ในทางสังคมที่จะเอื้อให้จิตสำนึกนั้นดำรงอยู่ต่อไป หรือถูกขัดเกลาให้ฉลาดขึ้นในจิตสำนึกได้ด้วย


ผมสังเกตว่า ผู้ใหญ่ในสังคมไทยสนใจแค่ส่วนแรกของการสร้างจิตสำนึก แต่ไม่ค่อยสนใจส่วนหลัง คือส่วนที่ต้องทำให้เกิดเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ซึ่งเอื้อให้จิตสำนึกดำรงอยู่ต่อไป ยกตัวอย่างคันๆ เล่นก็ได้ว่า เกลียดการโกง แต่ไม่เกลียดเผด็จการ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่า เรายุติหรืออย่างน้อยบรรเทาการโกงได้ ก็ต่อเมื่ออำนาจทุกชนิดต้องถูกตรวจสอบได้ อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ระบอบเผด็จการทุกชนิดมีไม่ได้

เช่นเดียวกับการรณรงค์ของนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่ชักชวนประชาชนต่อต้านการโกง ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าจิตสำนึกอีกแล้ว ซ้ำยังฟังดูเหมือนการโกงรายใหญ่ๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น นักธุรกิจไม่เกี่ยวด้วยเลย นักการเมืองและข้าราชการจะตบมือข้างเดียวได้อย่างไรเล่าครับ
นักธุรกิจบางคนอธิบายให้ผมฟังว่า มันไม่มีทางเลือกนี่หว่า ไม่ติดสินบนก็ไม่ต้องขายอะไรล็อตใหญ่ๆ แก่ราชการ หรือไม่ต้องรับเหมางานชิ้นใหญ่ๆ อะไรจากราชการล่ะสิ (แม้แต่ประเทศที่ธุรกิจรุดหน้าไปไกลอย่างสหรัฐ การใช้จ่ายภาครัฐก็ยังเป็นแหล่งรายได้มหึมาอยู่นั่นเอง)

ถ้าอย่างนั้นก็แก้กฎหมายการติดสินบนสิครับ ส่วนจะแก้อย่างไรผมไม่ทราบ นักธุรกิจ ศึกษาเอง หรือจ้างนักกฎหมายไปศึกษาก็ได้ อย่างน้อยก็แสดงว่าคุณสนใจจะสู้กับคอร์รัปชั่นจริงมากกว่าการปลุกจิตสำนึก


ผมจึงอยากเห็นอย่างแรกเลยว่า ในการรณรงค์ต่อสู้การคอร์รัปชั่นของนักธุรกิจ จะมีโครงการอะไรที่จะจัดการ หรือบรรเทาการติดสินบนในหมู่นักธุรกิจด้วยกันบ้าง บางกรณี วงการธุรกิจเองนั่นแหละมีข้อมูลที่รู้กันดีว่าใครวิ่งเส้นไหนอย่างไร ลองแพลมให้แก่สื่อบ้างสิครับ แต่ไม่ใช่แพลม
เพื่อตัดขากันเอง ต้องแพลมแบบที่มีหลักฐานข้อมูลเพียบพร้อมในระดับหนึ่ง ที่เหลือก็หาทางให้สื่อมีกึ๋นพอจะตามต่อเอาเอง (เช่นแพลมในนามของสภาเอง ไม่ใช่ในนามของบริษัทคู่แข่ง โดยเรียกร้องให้สื่อตรวจสอบ)
สภาอุตสาหกรรมและหอการค้ามีมาตรการอะไรบ้าง ที่จะทำให้สมาชิกของตัวได้ ‘กำไร’ (ทั้งในรูปทรัพย์และต้นทุนชีวิต)เต็มที่ หากไม่ใช้เส้นสายหรือสินบนในการทำธุรกิจ ผมไม่ทราบหรอกว่าทำอะไรได้บ้าง แต่เท่าที่ทราบก็ไม่รังเกียจแม้แต่จะเชิญคนเหล่านั้นเป็นกรรมการบริหารด้วยซ้ำ

เปรียบเทียบกับภาครัฐ ผมเห็นว่าภาครัฐ (ไม่ใช่รัฐบาลนะครับ) ทำอะไรในเรื่องนี้มากกว่าภาคธุรกิจเยอะแยะ ไม่นับ ป.ป.ช.และ ปปท.แล้ว ยังมีกรมทะเบียนการค้าซึ่งเปิดเผย ‘เส้นสาย’ ทางการเงินของธุรกิจต่างๆ พอสมควร มีความพยายามสร้างมาตรการที่ทำให้การประมูลจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสขึ้น (แต่ก็ถูกนักการเมืองและราชการหลีกเลี่ยงกฎระเบียบอยู่เป็นประจำ) ถ้าได้รับความร่วมมือจากสมาคมนักธุรกิจต่างๆ อย่างจริงจัง ก็จะทำให้การคอร์รัปชั่นในภาครัฐไม่ลื่นคอหอยนัก  
ภาครัฐต้องทำสิ่งเหล่านี้เพราะแรงบีบของสังคม แสดงว่าสังคมมีสำนึกถึงภยันตรายของการโกงสาธารณะยิ่งกว่านักธุรกิจเสียอีก ไม่อย่างนั้นจะไปบีบให้ภาครัฐสร้างมาตรการเหล่านี้ขึ้นมาทำไม ซ้ำไม่ใช่สำนึกเฉยๆ ด้วย เป็นมาตรการรูปธรรม


ข่าวสารข้อมูลก็มีความสำคัญในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น นักธุรกิจทำอะไรบ้างกับการทำให้สื่อช่วยเจาะข่าวความไม่ชอบมาพากลในการทำธุรกิจ เท่าที่ผมทราบ ดูเหมือนจะให้เงินอุดหนุนแก่สื่อออนไลน์บางแห่ง 
แต่สภาอุตสาหกรรมสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้อีกแยะ เช่นแทนที่จะให้เงินอุดหนุนแก่บางสื่อ สู้ให้รางวัลก้อนใหญ่ๆ แก่นักข่าวที่สามารถเจาะเรื่องประเภทนี้ออกมาอย่างได้ผลไม่ได้ แต่อย่าให้รางวัลแก่สำนักสื่อนะครับ เพราะสำนักสื่อเองก็อยู่ในวงจรเส้นสาย และมักจะเลือกปิดข่าวความไม่ชอบมาพากลของเส้นสายตัวเอง
สื่อที่สุจริตย่อมพอใจอยู่แล้ว ที่นักข่าวในสังกัดของตนได้รางวัล
ที่รางวัลต้องก้อนใหญ่ ก็เพื่อให้คุ้มกับการที่ผู้สื่อข่าวอาจถูกเขม่นจากผู้ใหญ่ของสำนัก

ยิ่งไปกว่านั้น นักข่าวที่ไปเจาะบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งวางโฆษณาชิ้นใหญ่ในสื่อเป็นประจำ มักถูกสำนักข่าวของตนเองเซ็นเซอร์ สภาอุตสาหกรรมรับซื้อเลยครับข่าวประเภทนี้ แต่ต้องเป็นข่าวที่ดี มีหลักฐานข้อมูลเพียบ แล้วหาทางเผยแพร่ทางทีวี เช่นมีข่าวที่ไม่ได้รับการเผยแพร่เช่นนั้นให้ทำสคริปต์ สภาช่วยออกค่าใช้จ่ายในการออกทีวีให้ด้วย 
เอาเบาะๆ แค่นี้เป็นกระสายแล้วกันครับ 
แต่แค่นี้ผมก็รู้ว่าเป็นวิธีร้อนที่สภาอุตสาหกรรมไม่ทำหรอก เพราะมันจะเละไปหมดทั้งสภา ฉะนั้นลองนั่งนึกถามตัวเองดีไหมครับว่า สภาอุตสาหกรรมมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่ต่อรองนโยบายใช่ไหมครับ การเป็นหน่วยงานที่ต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง จะลดหรือเพิ่มอำนาจต่อรองนโยบายของสภาอุตสาหกรรมเล่าครับ



แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวัง 
ผมคิดว่า การคอร์รัปชั่น (ในทุกความหมาย ทั้งตรงไปตรงมา เช่นให้สินบนไปจนถึงซับซ้อนกว่านั้น เช่นการอุดหนุนพรรคการเมือง หรือการร่วมหุ้นและการแจกตำแหน่งกรรมการบริษัท) เป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองนโยบายในธุรกิจไทย แต่อุตสาหกรรม (และธุรกิจ) ไทยอาจโตจนกระทั่งคอร์รัปชั่นแบบเก่าเช่นนี้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาก้าวหน้าของธุรกิจอุตสาหกรรมเองก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ถ้าการคาดเดาของผมมีเค้าอยู่บ้าง ก็ต้องคิดถึงสองปัญหา

หนึ่งก็คือ ธุรกิจอุตสาหกรรมไทยโตไม่เท่ากัน ส่วนที่ยังไม่โตมากนัก ยังคงเห็นความจำเป็นจะต้องใช้การคอร์รัปชั่น (ในทุกรูปแบบ) เป็นการต่อรองนโยบายต่อไป ฉะนั้นถ้าจะคิดถึงการเมืองที่ปลอดคอร์รัปชั่น ต้องคิดถึงช่องทางการต่อรองนโยบายที่มีประสิทธิภาพอื่นๆ (ซึ่งไม่ใช่คอร์รัปชั่น) ของธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่โตเท่าพี่ไปด้วย พูดง่ายๆ คือถ้าไม่มีคอร์รัปชั่น ต้องมีอะไรมาแทนล่ะครับ

สอง ไม่ว่าธุรกิจอุตสาหกรรมโตๆ ที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นจะโตสักแค่ไหนก็ตาม พี่ทำคนเดียวไม่ได้หรอกครับ พี่ต้องสร้างพันธมิตร (ไม่ใช่ที่มัฆวานนะครับ) กับสังคมในวงกว้างให้มากกว่านี้ แค่นิด้า, กทม.(!!), และพรรคประชาธิปัตย์ (!!) ทำไม่สำเร็จหรอกครับ
ฉะนั้น ต้องคิดใหม่ให้หนักว่า จะสร้างพันธมิตรกับใคร และอย่างไร จึงจะเกิดประสิทธิภาพในการทำให้การคอร์รัปชั่นในเมืองไทยทำได้ยากขึ้น และให้ผลตอบแทนไม่คุ้ม

เทศกาลต่อต้านคอร์รัปชั่นของสภาอุตสาหกรรมนั้นดีแน่ หากตั้งใจทำจริง ไม่ใช่เพียงการออกตัวว่าผมมือสะอาด แต่ต้องคิดให้มากกว่านี้ และอย่าปฏิเสธศักยภาพของตนเอง เพราะสภาอุตสาหกรรมนั้นมีศักยภาพที่จะทำได้มากกว่านี้อีกมาก



.