.
พระเจ้าช้างเผือก ฉบับการ์ตูน
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 60
ข้อเขียนต่อไปนี้เขียนจากข้อมูลที่ได้จาก พระเจ้าช้างเผือก ฉบับการ์ตูน ภาพโดย เรืองศักดิ์ ดวงพลา จัดพิมพ์โดยสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก มิได้ใช้ข้อมูลจากหนังสือต้นฉบับหรือภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน
นี่คือบทประพันธ์เชิงนวนิยายเล่มเดียวของ ปรีดี พนมยงค์ เนื้อเรื่องเป็นเรื่องสมมติ แสดงให้เห็นทัศนะเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพของท่าน
มาดูกันว่าฉบับการ์ตูนจับใจความสำคัญมาได้มากเพียงใด
ลายเส้นของ เรืองศักดิ์ ดวงพลา เรียกได้ว่าไม่มีข้อกังขา เป็นลายเส้นแบบการ์ตูนแท้ๆ ที่เห็นเมื่อใดก็มีแต่ความสุข แม้จะวาดรูปคนก็ยังสามารถวาดเป็นการ์ตูนแท้ๆ ที่เหมือนคน เป็นหนึ่งในนักเขียนการ์ตูนไทยที่เห็นชื่อเมื่อไรก็ไล่สะสมผลงานได้โดยไม่ต้องลังเล
อโยธยา พุทธศักราช 2083
"หลวงตามาแล้ว" เสียงเด็กหญิงร้องเรียกดังไปทั่วคุ้งน้ำ
"แต่งตัวสวยพริ้งเชียวจะไปเที่ยวไหนหรือแม่หนู" หลวงตาพายเรือเข้าเทียบ
"ไปกับตาเจ้าค่ะ ตานัดเพื่อนชาววังไว้จะไปเที่ยวบ้านสวนท่านอัครมหาเสนาบดี" เด็กหญิงช่างพูดตอบคำถามฉะฉาน
"ถือโอกาสตรวจดูความเรียบร้อยของบ้านเมืองไปด้วย ในหลวงโปรดให้ข้าราชการตรวจตราแบบเงียบๆ ขอรับ" คุณตาของเด็กหญิงพูด
"ก็ดีนะ จะได้เห็นปัญหาที่แท้จริง" หลวงตาว่า
ที่เล่ามาเป็นหน้าแรกของหนังสือการ์ตูน เวลาผ่านมาถึงปี พ.ศ.2555 นอกจากข้าราชการส่วนกลางจะไม่มาตรวจงานส่วนภูมิภาคอย่างเงียบๆ แล้ว ทุกครั้งส่วนภูมิภาคต้องจัดการต้อนรับและเลี้ยงต้อนรับใหญ่โต หรือเทียวตีกอล์ฟเป็นที่เดือดร้อนของผู้น้อยทุกครั้งไป
จากนั้นเด็กน้อยและคุณตาก็ไปพบพี่ "จักรา" แล้วพายเรือไปด้วยกัน พี่จักราเอ็นดูเด็กน้อยช่างพูดช่างคุยจึงเล่าเรื่องพระเจ้าแผ่นดินและบ้านเมืองให้ฟัง
"อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ หมายความว่าปราศจากสงคราม นั่นคือสันติภาพ"
ตัดภาพไปที่ท้องพระโรง พระเจ้าจักราแห่งอโยธยาเสด็จออกขุนนาง เสนาบดีถวายรายงานแล้วเตือนพระเจ้าจักราที่มิได้ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี
"พระราชประเพณีที่พระเจ้าอยู่หัวควรมีมเหสี 365 พระองค์พ่ะย่ะค่ะ พระเจ้าหงสาเพื่อนบ้านของพระองค์ทำลายสถิติแล้ว 366 คนแล้ว พ่ะย่ะค่ะ"
แต่พระเจ้าจักราไม่สนพระทัย แม้เสนาบดีจะจัดงานฟ้อนรำถวายให้พระองค์เลือกก็ยังไม่สนพระทัยอยู่ดี "ข้าเพิ่งได้รับรายงานว่ากษัตริย์โมกุลผู้ยิ่งใหญ่ได้แผ่ขยายอำนาจมาถึงอินเดียและร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสาเพื่อนบ้านเรานี่เอง" ควันสงครามเริ่มแล้ว
ฉากถัดไปเสนาบดีอ้างเหตุผลว่าหากพระราชาไม่ทำตามราชประเพณีจะมีผู้คนเดือดร้อนมากมายแต่ก็ไม่เป็นผล ฉากถัดไปพระเจ้าจักราเสด็จประพาสสวนได้ยินบุตรีของเสนาบดีเล่าชาดกเรื่องเต่าช่างพูดที่ตกจากท้องฟ้าให้เด็กๆ ฟังก็นึกนิยมอยู่ในใจ
ฉากถัดไปเป็นเรื่องราวการต้อนช้างเข้าเพนียดได้ช้างเผือกมาเชือกหนึ่ง
ที่นครหงสาวดีพระเจ้าหงสานิยมกินเหล้าเคล้านารี สูบยาผุยๆ มีบัญชาให้ทำสงครามกับอโยธยา
"ขอเดชะ สมควรจะมีสาเหตุจำเป็นพอที่จะประกาศสงคราม" ขุนนางทัดทาน "หากรุกรานกรุงอโยธยาแล้ว ทั่วทั้งโลกจะต่อต้านพระองค์"
"ทั้งโลกเรอะ ฮ่ะ ฮ่ะ" พระเจ้าหงสายังคีบบุหรี่ "เจ้าคิดรึว่าทั้งโลกจะตั้งสันนิบาตมาต่อต้านข้า"
"ขอเดชะ พระองค์เพิ่งจะทรงลงพระนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการยุติกรณีพิพาทกับอโยธยา"
พระเจ้าหงสาจึงฉีกสนธิสัญญาทิ้งต่อหน้าขุนนางทั้งปวง และเมื่อทราบว่าอโยธยาได้ช้างเผือกมาใหม่จึงพบข้ออ้างที่จะทำสงคราม คิดแล้วจึงส่งทูตพิเศษนามว่าบุเรงไปขอช้างเผือกจากพระเจ้าจักราเพื่อให้ถูกปฏิเสธ บัดนี้ข้ออ้างในการทำสงครามดูเหมือนจะมีแล้ว ต่อไปก็เป็นขั้นตอนหาความชอบธรรม
"อืม ต้องเตรียมการที่เหมาะสมไว้บ้างเพื่อหาเสียงสนับสนุนจากประชาราษฎร์ในการทำสงคราม ข้าว่าควรป่าวประกาศสาเหตุของการทำสงครามครั้งนี้ให้ประชาชนของข้ารู้ไว้ด้วยจริงไหม" พระเจ้าหงสาว่า
แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้จะไม่สำเร็จ ทั้งประชาชนและขุนทหารไม่ยอมรับสาเหตุของการทำสงครามครั้งนี้โดยเชื่องๆ
"กษัตริย์กรุงอโยธยาได้ปฏิเสธข้อเสนอที่เอื้อต่อสันติภาพของข้า" พระเจ้าหงสาป่าวประกาศ
"สิ่งที่พระองค์มีพระประสงค์ให้พวกข้าพระพุทธเจ้าไปตายเพื่อให้ได้มานั้นย่อมสามารถได้มาด้วยวิธีการเจรจาโดยสันติวิธีพ่ะย่ะค่ะ" ขุนทหารอาวุโสให้ความเห็นแย้งจึงถูกสังหารในทันที
"ความใกล้ชิดกับผู้ใหญ่นำมาซึ่งความเดือดร้อนและไร้ความปลอดภัย ความสุขเป็นตรีคูณของบุคคลอยู่ที่การไม่มีใครรู้จักและปลีกตัวอยู่ในความสงบ แต่ความสุขเป็นร้อยเท่าของบุคคลจะเกิดขึ้นต่อเมื่อบ้านเมืองของตนมีสันติภาพแท้จริง สันติภาพที่ค้ำประกันโดยสติปัญญาและความเด็ดเดี่ยวมั่นคงของผู้ปกครอง มิใช่การยอมแพ้อย่างขลาดเขลาและไร้เกียรติ" เป็นข้อความบรรยายสรุปสำหรับสถานการณ์ก่อนเริ่มสงครามระหว่างอโยธยาและหงสาวดี
ครึ่งเล่มหลังเป็นฉากสงครามนำไปสู่การท้าประลองยุทธหัตถีในตอนจบ
"เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" พระเจ้าจักราประกาศ
เล่ามาโดยย่อเพื่อให้เห็นหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพที่บรรจุในบทประพันธ์นี้ถ่ายทอดเป็นฉบับการ์ตูนลายเส้นสวยงามน่าอ่าน
พระเจ้าช้างเผือก หรือ The King of the White Elephant เป็นหนังไทยขาวดำถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. ให้เสียงเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง ออกฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2484 พร้อมกันที่ศาลาเฉลิมกรุง สิงคโปร์ และนิวยอร์ก อำนวยการสร้างและเขียนบทโดย ปรีดี พนมยงค์ กำกับฯ โดย สันธ์ วสุธาร และกำกับภาพโดย ประสาท สุขุม นำแสดงโดย เรณู กฤตยากร เป็น พระเจ้าจักรา ประดับ รบิลวงศ์ เป็น พระเจ้าหงสา
เป็นงานเขียนเชิงนวนิยายเล่มเดียวของท่านปรีดีโดยเขียนต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ปัจจุบันมีดีวีดีและหนังสือจำหน่าย
อาจจะหายากสักหน่อย
เรืองศักดิ์ ดวงพลา มีผลงานกวาดรางวัลมากมาย ได้แก่ ยายทองใบใจร้าย สุภาพบุรุษชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พระจันทร์ที่ไม่เคยโดนเหยียบ โต๋เต๋ หนูน้อยคำแพง ทุกเรื่องน่าอ่านทั้งนั้น
เรื่องพระจันทร์ที่ไม่เคยโดนเหยียบ เขียนเรื่องโดย นพ.คุณากร วรวรรณธนะชัย เล่าเรื่องชีวิตหมอในชนบทได้จริงจัง
เรื่องโต๋เต๋เล่าเรื่องหมาข้างถนนและคนข้างถนนแฝงนัยด้านสังคมวัฒนธรรมของทั้งคนและหมาได้อย่างน่ารักน่าชัง
คือบิดาของเดอะดวง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย