http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-06

ความกล้าหาญทางจริยธรรม โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ความกล้าหาญทางจริยธรรม
ใน www.prachatai.com/journal/2012/09/42490 . . Wed, 2012-09-05 23:33
เผยแพร่ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 375 ประจำวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2555


ในคืนวันที่ 25 สิงหาคม ก่อนพิธีฌาปนกิจศพนายอำพล ตั้งนพคุณ ที่วัดลาดพร้าว สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขึ้นกล่าวคำไว้อาลัย โดยกล่าวถึงเรื่อง “Moral Courage" หรือความกล้าหาญทางจริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนยิ่งนักสำหรับกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทย
สมศักดิ์ได้ยกตัวอย่างให้เห็นในประวัติศาสตร์ เช่น กรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการกล่าวหาว่า นายปรีดี พนมยงค์ อยู่เบื้องหลัง และมีการจับกุมมหาดเล็ก คือ นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศรินทร์ และนายเฉลียว ปทุมรส และในที่สุด ศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสามคน ทั้งที่หลักฐานอ่อนมาก และพิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้เลย
แต่ในบรรดาผู้พิพากษาทั้งหมดสามศาล มีเพียงหลวงปริพันธ์พจนพิสุทธิ์เพียงคนเดียว ที่ยืนยันว่าจำเลยไม่มีความผิดและต้องปล่อยตัว และในที่สุด สังคมไทยใช้เวลามากกว่า 30 ปี จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า มหาดเล็กทั้งสามคนเป็นผู้บริสุทธิ์ และนายปรีดีก็ไม่เกี่ยวข้อง การตัดสินที่ผิดพลาดของศาลเช่นนี้ ยังไม่ได้ถูกพิจารณา มีการขอโทษ หรือเปลี่ยนคำตัดสินอย่างเป็นทางการ

กรณีเรื่องปัญหาจริยธรรมของสังคมยังเห็นได้อีกหลายกรณี เช่น กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ฝ่ายนักศึกษาถูกกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกเข่นฆ่าสังหารในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน แต่กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายนักศึกษาที่เป็นเหยื่อถูกจับกุมดำเนินคดีอีกนาน 2 ปี โดยที่ฝ่ายฆาตกรที่เข่นฆ่าไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด พอมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็เป็นการนิรโทษกรรมทั้งหมดทุกฝ่าย โดยไม่ต้องพูดกันว่าใครถูกใครผิด และใครจะต้องรับผิดชอบในการสังหารหมู่ประชาชนกลางเมือง

กรณีที่เกี่ยวกับการตัดสินที่ผิดพลาดของศาลอีกกรณีหนึ่งก็คือ คดีคุณวีระ มุสิกพงศ์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2531 ถูกศาลฎีกาตัดสินว่า มีความผิดในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามาตรา 112 ต้องถูกจำคุก 4 ปี ทั้งที่หลักฐานและสภาพแวดล้อมเหตุการณ์ไม่สามารถสรุปให้คุณวีระมีความผิดได้เลย และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการยอมรับในความผิดพลาดของการตัดสินอย่างเป็นทางการ

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เราจะพบกรณีที่เกี่ยวข้องกับความกล้าหาญในด้านจริยธรรมอีกหลายเรื่อง ที่เกิดขึ้นแล้วคือ กรณีของคดีคุณอำพน ตั้งนพคุณ หรือ อากง ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี ในกรณีความผิดตามมาตรา 112 และในที่สุดก็ถึงแก่กรรมในคุก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้อธิบายความผิดพลาดในเรื่องนี้ชัดเจนว่า 
“ในระดับตุลาการที่ตัดสินอากง ตั้งแต่การไม่ให้อากงประกัน ตุลาการต้องรู้แน่ๆ ว่าการไม่ให้ประกันมันผิด เหตุผลที่ว่าอากงอายุ 60 จะหนี เป็นเหตุผลที่ว่าผิดแน่ๆ ถ้าตุลาการไปอ้างเหตุผลแบบนี้ แต่ไม่กล้าจะบอกว่าคนนี้ไม่หนีหรอกแล้วให้ประกัน แล้วการตัดสินศาลก็ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานพอที่อากงเป็นคนส่ง SMS ในภาษากฎหมายเขามีศัพท์ว่า "Burden of Proof"  ภาระในการพิสูจน์ไม่ได้อยู่ที่จำเลย ไม่ได้อยู่ที่ตัวโจทย์ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยส่งจริง ศาลก็ต้องปล่อยจำเลยไป และกรณีที่ต่อให้อากงยอมรับว่าส่ง SMS จากเครื่องนี้จริง แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าอากงในการกดส่ง ตามหลักภาระในการพิสูจน์ศาลก็ต้องปล่อยอากง แต่ศาลก็ไม่กล้าตัดสิน ในสังคมซึ่งมีความเป็นมนุษย์อยู่ ตุลาการที่นั่งบัลลังก์ไม่อนุมัติประกันอากง เขาต้องรู้แน่ๆ ว่าการไม่อนุมัติให้อากงประกันไม่ถูก เขาต้องรู้แน่ๆ ว่าการตัดสินแบบนี้มันผิดหลักกฎหมายแต่ก็ไม่ให้ประกัน ตัดสินเสร็จก็ไม่ให้ประกัน อ้างเรื่องกลัวหนีอีก นี่คือสิ่งที่ผมไม่มีความกล้าหาญทางคุณธรรม อย่างน้อยควรจะรู้อะไรผิด อะไรถูก”
ในกรณีนี้ ปิยะบุตร แสงกนกคุณ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้อธิบายว่า “โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับอากงและครอบครัว ไม่ใช่ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาเรื่องสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลพิพากษาเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาเรื่องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาเรื่องสิทธิของผู้ถูกจับกุมคุมขังเท่านั้น และไม่ใช่ปัญหาเรื่องมาตรฐานและคุณภาพชีวิตในเรือนจำเท่านั้น แต่โศกนาฏกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงอัปลักษณ์ของมาตรา 112 ในทุกมิติ”


กรณีของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ศาลกำลังจะอ่านคำพิพากษาในเดือนกันยายนนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน คุณสมยศถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 โดยอ้างหลักฐานคือ บทความที่คุณสมยศไม่ได้เป็นผู้เขียน แต่อ้างว่า คุณสมยศต้องมีความผิดเพราะเป็นบรรณาธิการของวารสารนั้น ทั้งที่กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันระบุว่า บรรณาธิการไม่ต้องรับผิดชอบต่อข้อเขียนในวารสาร เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความนั้นเอง แต่เมื่อถูกจับกุม ศาลก็อ้างเหตุว่า คุณสมยศจะหลบหนี จึงห้ามการประกันตัว คุณสมยศจึงติดคุกฟรีมานานมากกว่า 1 ปี ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะผู้พิพากษาขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะบอกว่า คุณสมยศไม่มีความผิด เหตุผลในการห้ามการประกันตัวก็อ้างกันจนเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ศาลต้องรู้ดีในหลักการทางนิติศาสตร์สากลว่า ผู้ถูกกล่าวหาถือว่า ยังไม่มีความผิด และโดยหลักการทั่วไปต้องให้ประกันตัว นอกจากว่า จำเลยจะมีส่วนไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐาน ซึ่งในกรณีหลักฐานคือ บทความในวารสาร คุณสมยศคงจะไปแก้ไขทำลายไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น ศาลก็ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะพิจารณาว่า คุณสมยศไม่เคยประกอบความผิดมาก่อน มีอาชีพที่แน่นอนชัดเจน และยังมั่นใจว่าตนเองไม่ได้ทำความผิด จึงไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่คุณสมยศจะหลบหนี กรณีจับคุณสมยศเข้าคุก จึงเป็นเรื่องอัปยศอีกครั้งหนึ่งของวงการตุลาการไทย

แต่ที่มากกว่า ไม่มีตุลาการคนใดเลยที่จะประกาศว่า กฎหมายมาตรา 112 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นผลพวงของการรัฐประหารเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกประกาศเพิ่มโทษในการกระทำความผิดตามมาตรานี้ หมายความว่า มาตรา 112 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงไม่เคยผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งสมัยไหนเลย ถ้าหากคณะตุลาการมีจริยธรรมเพียงพอ ต้องบอกว่า กฎหมายแบบนี้ใช้ไม่ได้ การตัดสินพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรานี้ทั้งหมดที่ผ่านเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นความไม่สิวิไลซ์ทางด้านกฎหมาย


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ถามถึงความรับผิดชอบของทุกฝ่ายต่อกรณีการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์อย่างคุณอำพน โดยชี้ว่าในทุกวงการไม่มีใครมีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงพอ และความไม่กล้าหาญเช่นนี้เอง ได้ทำลายคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของชนชั้นนำในสังคมลงไปด้วย 
การวิจารณ์ในลักษณะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่ง ในด้านหนึ่งก็เป็นการสะท้อนความชั่วร้ายของฝ่ายอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายขบวนการเสื้อเหลือง และศาล ที่ร่วมกันละเมิดสิทธิมนุษยชน ปลุกกระแสคลั่งเจ้า เอาคนบริสุทธิ์เข้าคุก


แต่ในอีกด้านหนึ่ง คงจะต้องสะท้อนในด้านของฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยเอง ที่ช่วยเหลือความทุกข์ของคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 น้อยเกินไป หรือไม่กล้าพูดว่า กรณีเหล่านี้คือความไม่เป็นธรรม การใช้กฎหมายแบบนี้ไม่ถูกต้อง มักอ้างกันว่าเป็นเรื่องของศาลสถิตยุติธรรม แต่ในกรณีที่ศาลไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนเช่นนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังจำนนกับศาลมากเกินไป จนไม่สามารถมีมาตรการใดที่จะนำไปสู่การปฏิรูปศาลได้เลย และในที่สุดประชาชนคนสามัญนั่นเอง ก็จะตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น

และนี่คือปัญหาเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรมในสังคมไทย


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

6ตุลา 34 ปีใครฆ่าพี่ "เราไม่ลืม"
www.youtube.com/watch?v=1HmprfrFbyw




.