http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-30

สุรพศ: ศาสนาปฏิบัติต่อมนุษย์ “อย่างมีศีลธรรม” หรือไม่?

.
Adminโพสต์นำเสนอแล้ว . .หลักๆ คือผู้เขียนตั้งคำถามถึงว่า " สิ่งที่ศาสนาสอนๆ กันอยู่ มันใช่ "ศีลธรรม" หรือไม่? " 
..และก็เห็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการถกเถียงถึงวิถีการคิดที่มุ่งถึง “เสรีภาพและความยุติธรรมที่เป็นอิสระ” ซึ่งก็เป็นการต่อสู้มิติหนึ่ง .
.
ขณะที่สังคมนั้นเต็มไปด้วยมิติที่ไม่อิสระของความขัดแย้ง, การต่อรองและผูกขาด ในการสร้างอำนาจกำหนดการใช้ทรัพยากรและได้ประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ( โดยมีเวทีขับเคลื่อนที่หาจุดลงตัวค่อนข้างถาวรได้ยากยิ่ง ..แม้ในหมู่ประชาชนกันเองก็แล้วแต่ )

______________________________________________________________________________________________________

สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนาปฏิบัติต่อมนุษย์ “อย่างมีศีลธรรม” หรือไม่?
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:00:49 น.
( และใน www.prachatai.com/journal/2012/09/42895 . . Sat, 2012-09-29 12:50  มีความคิดเห็นท้ายบท )


ป้ายโฆษณา“ตักบาตรแอปเปิ้ลรับเกรดA” เป็นที่วิจารณ์กันในโซเชียลมีเดีย บ้างก็ว่า “เป็นการมอมเมา งมงาย ไม่ซื่อตรงต่อหลักการพุทธศาสนาที่เน้นปัญญาความมีเหตุผล” บ้างก็ว่า “นี่เป็นกุศโลบายดึงคนหนุ่มสาวปัจจุบันที่ห่างวัดให้หันมาสนใจใส่บาตรทำบุญ” หรือพยายามพูดให้ดูมีเหตุผลว่า “เมื่อใส่บาตรแล้วสบายใจจิตสงบก็ทำให้มีสติดูหนังสือ และสอบได้เกรด A” บ้างว่า “มันเป็นสิทธิที่เขาจะทำเช่นนั้นได้ ตราบที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าจะทำการตลาดกับศรัทธาทางศาสนาของชาวบ้านก็เป็นเรื่องปกติเพราะอะไรๆ ในสังคมปัจจุบันก็เป็นเรื่องการตลาดทั้งนั้น”
แต่ปัญหาที่ผมสนใจคือศาสนาที่ใช้ “กุศโลบาย” ทำนองนี้ (ที่ทำกันอยู่ทั่วไป) กำลังเดินสวนทางกับสิ่งที่เรียกว่า“ศีลธรรม” หรือไม่?

ศีลธรรมที่ผมพูดถึงหมาย ถึงศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานการ “เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์” ผมกำลังพูดศีลธรรมตามทัศนะของค้านท์ (Immanuel Kant) ซึ่งผมคิดว่า มีความหมายใกล้เคียงกับศีลธรรมตามสาระสำคัญของพุทธ สำหรับค้านท์ศักดิ์ศรีมนุษย์อยู่ที่ศักยภาพที่จะใช้เสรีภาพและเหตุผลเลือก“กฎศีลธรรม” สำหรับตนเอง (ลองคิดเปรียบเทียบหลวมๆถ้าสิทธัตถะมัวแต่เดินตามทางของคนอื่น ไม่เชื่อในเสรีภาพและปัญญาของตน ก็ไม่มีพุทธะที่ค้นพบอิสรภาพภายในด้วยตนเองแน่นอน ไม่มีใครค้นพบมันเพื่อคนอื่นได้)


หากมองจากหลักศีลธรรมแบบค้านท์ กุศโลบาย “ตักบาตรรับเกรด A” (หรือ ทำบุญแล้วรวย สวย หล่อเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือ “การกระทำภายใต้เงื่อนของการหวังผลตอบแทนใดๆ”) ย่อมไม่ใช่การกระทำที่มีศีลธรรม เพราะความมีศีลธรรมไม่ได้ขึ้นต่อเงื่อนไขหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ใช่เป้าหมายกำหนดความถูกต้องของวิถี (endjustifies means) แต่วิถีหรือตัวการกระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องในตัวมันเองไม่เกี่ยวกับผลที่เป็นบวกหรือลบ ความพอใจ ไม่พอใจ ฯลฯ

เพราะถ้าอ้างผลลัพธ์ที่ต้องการมาตัดสินความถูกต้องของการกระทำย่อมมีปัญหาตามมา เช่น ทำให้การกระทำที่ผิดศีลธรรมเป็นสิ่งที่ถูก (ลอกข้อสอบแล้วได้เกรดA ถ้าเอาผลลัพธ์เป็นเกณฑ์ตัดสิน การลอกข้อสอบก็ไม่ผิด เพราะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ)ทำให้การกระทำที่ไม่ใช่เรื่องศีลธรรมกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม (ชมสาวๆว่าสวยแล้วเธอปลื้มใจ ถ้าเอาผลคือความปลื้มใจเป็นเกณฑ์ การชมว่าสวยซึ่งเป็นคำพูดธรรมดาๆก็กลายเป็นความดีทางศีลธรรมไป)หรือแม้กระทั่งการอ้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เพื่อละเมิดความเป็นมนุษย์ของคนส่วนน้อยก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรม (เช่น ใช้ ม.112 เชือดไก่ให้ลิงดูเป็นการจัดการกับคนส่วนน้อยที่อ้างว่าเพื่อคำนึงถึง “ความรู้สึก” ของคนส่วนใหญ่)


สมมติเราถามว่า“ทำไมเสรีภาพจึงเป็นสิ่งมีค่า?” ถ้าตอบว่า เสรีภาพมีค่าเพราะมันก่อให้เกิดความสุขระยะยาวแก่คนส่วนใหญ่  คำตอบนี้ก็จะมีปัญหาว่า ถ้ามีหลักประกันความสุขระยะยาวที่ดีกว่าเสรีภาพ เช่น ความจงรักภักดีเผด็จการโดยธรรม เผด็จการโดยทุนที่ทำให้คนส่วนใหญ่ร่ำรวยสุขสบายได้ หรือ ฯลฯ (ซึ่งใครๆก็อาจอ้างได้) เสรีภาพก็ไม่จำเป็น แน่นอน ค้านท์ย่อมไม่ตอบแบบนี้ สำหรับค้านท์เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่าเพราะว่ามัน “มีค่าในตัวมันเอง” หรือค่าของเสรีภาพอยู่ที่เสรีภาพ ไม่ขึ้นอยู่กับว่ามันจะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร คุณปกป้องเสรีภาพแล้วเจ็บปวด ติดคุก หรือถูกฆ่าตาย ก็ไม่ได้ทำให้เสรีภาพเป็นสิ่งไร้ค่า ในทางตรงข้ามใครที่ทำลายเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์แล้วสุขสบาย มีอำนาจวาสนา ก็ไม่ได้ทำให้การกระทำที่เลวนั้นเป็นเป็นสิ่งที่ดีหรือมีเกียรติทางศีลธรรมไปได้

ฉะนั้นการกระทำที่ดีจึงเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง มันไม่ได้มีค่าเพราะว่าเป็นวิถี หรือเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งอื่นด้วยเหตุนี้ เราจึงทำดีเพื่อความดี ทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อรักษาความถูกต้อง เราปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรม เพราะเสรีภาพ ความยุติธรรมมีค่าในตัวมันเองไม่เกี่ยวกับว่าปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรมแล้วใครจะได้หรือเสียประโยชน์ เช่นเป็นหน้าที่ที่เราต้องต่อต้านรัฐประหาร และ/หรือระบบอำนาจใดๆ ที่ทำลายเสรีภาพและความยุติธรรม  การต่อต้านนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องในตัวของมันเองไม่เกี่ยวกับว่าใครหรือฝ่ายไหน จะได้หรือเสียประโยชน์    


ถ้าคำนึงว่าใครจะได้หรือเสียประโยชน์ก็เท่ากับว่าการได้หรือเสียประโยชน์เป็นเงื่อนไขของความถูกต้องของการปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรม แต่นิยามของ “ได้-เสียประโยชน์” เป็นสิ่งที่ลื่นไหลไม่แน่นอนตายตัว การปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่แน่นอนตายตัวไปด้วย เราไม่มีทางปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมในกรณีที่ศัตรูหรือคนที่เราเกลียดจะได้ประโยชน์(เช่นไม่มีทางที่คนเกลียดทักษิณจะยอมรับการล้างผลพวงรัฐประหาร)หรืออาจสะใจที่ศัตรู คนที่เราเกลียดถูกละเมิดเสรีภาพ หรือถูกกระทำอย่างอยุติธรรม

ฉะนั้นจึงมีแต่การยอมรับว่าเสรีภาพ ความยุติธรรมมีค่าในตัวมันเองเท่านั้นเราจึงจะเกิดสำนึกปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอย่างปราศจากเงื่อนไข และนี่จึงทำให้การกระทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง (เช่น ปกป้องเสรีภาพเพื่อรักษาเสรีภาพ หรือปกป้องความยุติธรรมเพื่อรักษาความยุติธรรม) เป็นไปได้

การยอมรับว่าความดีความถูกต้องเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเอง(ไม่เกี่ยวกับว่าทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องแล้วจะทำให้ตนเองดูดี เป็นคนดี) อยู่บนฐานของการยอมรับว่า“มนุษย์มีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง” การกระทำที่ดีหรือถูกต้องจึงอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่นหรือ “มนุษยชาติ” ทั้งมวล  คุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์คือ “ศักยภาพที่จะมีเสรีภาพและเหตุผล” เลือกกฎศีลธรรมสำหรับตนเอง ที่สามารถทำให้เป็นกฎศีลธรรมสากลสำหรับมนุษย์ทุกคนได้



ความคิดดังกล่าวนี้ของค้านท์ถูกอ้างอิงอย่างหนักแน่นในการสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนที่วางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าสากลที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน
ในทัศนะของค้านท์ แม้โดยธรรมชาติมนุษย์อาจถูกชักจูงด้วยอารมณ์สัญชาตญาณ ความต้องการ กิเลสตัณหาต่างๆ แต่มนุษย์ก็มีศักยภาพที่จะมีเสรีภาพเหนือสิ่งเหล่านั้น เสรีภาพไม่ได้มีความหมายแค่ว่า “ไม่ถูกบังคับ” แต่เสรีภาพคือการกระทำตาม“อัตตาณัติ” (การกระทำที่เป็นอิสระ-autonomously) หมายถึง การกระทำตามกฎที่เรากำหนดให้กับตนเอง ไม่ใช่กฎของธรรมชาติ หรือธรรมเนียมของสังคม

วิธีเข้าใจเสรีภาพตามความคิดของค้านท์ เราต้องเปรียบเทียบอัตตาณัติที่ตรงข้ามกับ “อัญญาณัติ” (heteronomy) เวลาที่เราทำตามอัญญาณัติ หมายถึงเรากำลังทำตามเหตุปัจจัยที่นอกเหนือจากตัวเองไม่ว่าจะเป็นเหตุปัจจัยทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กฎธรรมชาติ เช่น เราหล่นจากที่สูง(หรือถูกผลัก) ขณะที่เรากำลังตกลงสู่พื้นไม่มีใครบอกว่าเราเป็นอิสระ เพราะการเคลื่อนไหวของเราถูกกำกับด้วยแรงโน้มถ่วงถ้าบังเอิญเราทับใครตายก็ไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรม ค้านท์กำลังจะบอกว่าเราต้องมีเสรีภาพจากการกำหนดโดยสิ่งอื่นๆการกระทำใดๆ ของเราจึงจะมีค่าทางศีลธรรม

ประเด็นของค้านท์คือเมื่อเรากระทำสิ่งใดๆ ตามแรงปรารถนา หรือแรงดึงดูดจากสิ่งอื่น เช่น อยากได้เกรด A เราไม่ได้มีเสรีภาพเพราะเราถูกกำกับโดยสิ่งอื่น (อัญญาณัติ)ไม่ต่างอะไรจากการหล่นจากที่สูงที่เราถูกกำกับโดยแรงโน้มถ่วง
เมื่อเรา “ใส่บาตรเพราะอยากได้เกรด A” ดูเผินๆเหมือนกับว่าเราเลือกอย่างอิสระ เพราะไม่มีใครบังคับ แต่ที่จริงเราไม่ได้เลือกอย่างอิสระ เราถูกความอยากได้ผลลัพธ์ (เกรด A) กำหนดให้เราทำหรือเกรด A คือเงื่อนไขให้เราใส่บาตร

เราไม่ได้เป็นเจ้าของเป้าหมายที่อยู่นอกตัวเราแต่เราตกเป็นเครื่องมือของเป้าหมาย (ใดๆ) ที่เราไล่ตาม มันคือการที่เราลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองให้เป็นสิ่งของที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนอกตัว
โดยเฉพาะเป็นเป้าหมายนอกตัวจาก“การวางเงื่อนไข” โดยคนอื่น คนที่โฆษณาชวนเชื่อให้มาตักบาตรรับเกรด A ก็คือคนที่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเขาเอง เช่น พวกเขาอาจจะมีเป้าหมายว่า เพื่อดึงคนให้หันมาสนใจใส่บาตรทำบุญให้มากๆ หรือต้องการให้คนศรัทธาในศาสนามากขึ้นหรือแม้แต่เป้าหมายแบบ “คิดแทน”คนอื่นๆ ว่าเมื่อพวกเขาได้มาใส่บาตรแล้วเขาจะมีความสุข เป็นคนดี ฯลฯก็ล้วนแต่เป็นการไม่เคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและเหตุผลในตนเองของคนอื่นๆทั้งสิ้น


การมีเสรีภาพจึงหมายถึงการเป็นอิสระที่จะทำตามเหตุผล (ไม่ใช่ทำตามเงื่อนไขชักนำของอารมณ์ความรู้สึก กิเลส กฎธรรมชาติ ศาสนา ประเพณีฯลฯ) นักประโยชน์นิยมอาจมองว่า เราใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุผลประโยชน์ที่ต้องการมันช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ธอมัส ฮอบส์ เรียกเหตุผลว่า “แมวมองของความปรารถนา”(scout for the desires) ส่วนเดวิด ฮูม เรียกเหตุผลว่า “ทาสของอารมณ์” (slave of the passions)

แต่สำหรับค้านท์การใช้เหตุผลที่แสดงว่า มนุษย์มีเสรีภาพเลือกกฎศีลธรรมสากลได้ หมายถึง “เหตุผลบริสุทธิ์เชิงปฏิบัติ”(a pure practical reason) ที่เป็นอิสระจากอารมณ์ อคติอิทธิพลของเงื่อนไขทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และเหตุผลนี่เองที่รู้ว่าอะไรคือความถูกต้องและเห็นว่าความถูกต้องคือหน้าที่ที่ต้องทำหรือทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้องไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใด

การใช้เหตุผลตามทัศนะของค้านท์จึงหมายถึงการมีเจตนาทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะเห็นว่ามันถูกต้องโดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขว่าผลลัพธ์จะเป็นบวกหรือลบเป็นความสุขหรือความเจ็บปวด พอใจหรือไม่พอใจ ฯลฯสิ่งที่ถูกต้องมันถูกต้องในตัวมันเอง เช่น การพูดความจริงถูกต้องเสมอ ไม่ว่าคนจะชอบหรือไม่ก็ตาม(การมีกฎหมายอย่าง 112 ห้ามพูดความจริงจึงผิดหลักการนี้) การเอาสิ่งที่คนชอบมาล่อ หรือเป็น“กุสโลบาย”ให้คนทำสิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่มีค่าหรือมีเกียรติทางศีลธรรมมันไม่ต่างอะไรกับการลงทุนเพื่อหวังกำไรเหมือนการทำธุรกิจทั่วๆ ไป

แน่นอนผมกำลังพูดถึง “การใส่บาตรแอปเปิ้ลรับเกรด A” เป็นเพียงกรณีตัวอย่างแท้จริงแล้วสังคมเราเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมการใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเครื่องมือไปสู่ผลประโยชน์ที่ตนเองต้องการจึงเป็นสังคมที่ไม่สามารถเดินไปได้บน “หลักการที่ถูกต้อง”คือ หลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ จึงเกิดรัฐประหารมากที่สุดในเอเชียและจึงไม่มีตัวบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร สถาบันไหนจะมี “ความเป็นกลาง” ที่น่าเชื่อถือได้จริงมีแต่หลักการที่ถูกต้องในตัวมันเองเท่านั้นที่มีความเป็นกลางจริงๆ


ผมคิดว่าแก่นสาระของพุทธคล้ายกับค้านท์ (แม้จะมีรายละเอียดบางด้านต่างกัน) เพราะพุทธศาสนามองว่าคุณค่าในตัวเองของมนุษย์คือ “พุทธภาวะ” หมายถึง ศักยภาพที่จะมีเสรีภาพด้านในและเสรีภาพด้านในจะแสดงตัวออกมาเป็นปัญญาที่ปราศจากการครอบงำ (พูดภาษาค้านท์ คือเป็นอิสระจากอัญญาณัติ-heteronomy) ปัญญา คือการเห็นตามเป็นจริง และเห็นว่าความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำไม่ใช่ทำเพื่อพอกพูนความต้องการสิ่งอื่นๆ หรือเพื่อไปสู่เป้าหมายอื่นๆที่รอคอยอยู่ข้างนอกจากการกระทำที่ถูกต้องนั้นๆ ฉะนั้น “วิถีกับจุดหมายจึงเป็นหนึ่งเดียวกัน” หรือ “จุดหมายที่ถูกต้องงอกงามออกมาจากวิถีที่ถูกต้อง” (ท่านพุทธทาสพูดคล้ายกับค้านท์ว่า “ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าจะนำมาพูดเพียงล้อเล่น)

แท้จริงแล้วค้านท์ไม่ได้ปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก ความปรารถนา ความต้องการ หรือกิเลสของมนุษย์หรือไม่ยอมรับความจริงว่า มนุษย์มักทำสิ่งต่างๆ บนเงื่อนไขของการต้องการผลประโยชน์บางอย่างแต่เขาเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ฐานอ้างอิงของศีลธรรมได้เลย ศีลธรรมต้องมาจากเสรีภาพและเหตุผลของมนุษย์และเป็นศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์เท่านั้นไม่ใช่การใช้ตัวเองและเพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือไม่ว่าในกรณีใดๆ ฉะนั้นศีลธรรมคือหน้าที่ที่ต้องเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์!

คิดจากศีลธรรมปกป้องคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์แบบค้านท์แล้วผมไม่แน่ใจว่าพุทธศาสนาบ้านเราปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ “อย่างมีศีลธรรม”หรือไม่?


หมายเหตุ:ผมสรุปเนื้อหาความคิดของค้านท์จาก หนังสือ “ความยุติธรรม:JUSTICE: WHAT”S THE RIGTH THING TO DO?” ของ Mjchael J.Sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล ผู้สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมในหนังสือนี้ หน้า 138-183



.