http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-17

ก้าวหน้า-ปัญหาใต้, ขบวนการต้าน-โกง, ความจริง-ความเท็จ โดย จำลอง ดอกปิก

.

จำลอง ดอกปิก: ก้าวหน้า-ปัญหาใต้
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:10 น.


หากไม่เปิดวงพูดคุยสันติภาพ ปูทางการเจรจา ฝ่ายรัฐคงไม่อาจล่วงรู้ความในใจกลุ่มก่อการไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าคิดอย่างไรต่อการใช้วิธีต่อสู้อย่างรุนแรงมายาวนาน ใช้อาวุธเป็นเครื่องมือนำโดยไม่มีวี่แววเอาชนะ 
ไม่มีทางรู้หรอกว่า ฝ่ายผู้ก่อการก็ตระหนักถึงความสูญเสียทุกสิ่งอย่างเช่นกัน แม้แต่เสรีภาพการเลือกถิ่นอาศัย จำนวนหนึ่งต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ดำรงชีวิตปกติมิได้
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มองไม่เห็นอนาคต เป้าหมายอยู่ไกลแสนไกล จึงคิดวางอาวุธ กลับเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ
เมื่อเปิดใจกว้าง อย่างน้อยก็ได้รับรู้หลายเรื่องราว ได้รับทราบความต้องการ จากการหยั่งเชิง ขอดูท่าทีรัฐ ผ่านข้อเรียกร้อง 3 ประการ อันอาจเป็นลายแทงนำไปสู่การคิดหาทางคลี่คลายปัญหาต่อไป นั่นคือ 1.รัฐมีมาตรการดำเนินการต่อผู้ที่ยุติบทบาทความรุนแรงต่อรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับอย่างไร 2.รัฐจะจัดการความขัดแย้งให้เป็นรูปธรรมอย่างไร เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ และ 3.รัฐมีหลักประกันเช่นไรในการกำหนดนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม
การเจรจาเป็นสุดยอด กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าใช้ได้ผลมาแล้วแทบทุกระดับ ตั้งแต่ข้อพิพาทธรรมดาไปจนถึงศึกสงคราม 

ประเด็นการเปิดพูดคุย เจรจา หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่นี้ ได้รับการคัดค้านจากฝ่ายรัฐ และฝ่ายการเมืองในบางยุคสมัยมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ 1.เกรงเป็นการยกระดับ ยอมรับและให้ความสำคัญกับกลุ่มก่อการ 2.ไม่รู้ว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ มีหลายกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3.หวั่นเกรงเป็นบรรทัดฐานไม่ดี  
การแก้ปัญหาจึงใช้แนวทางเดิม ป้องกันและปราบปราม ควบคู่ไปกับการใช้การเมืองนำการทหาร ขยายมวลชนแนวร่วมในพื้นที่ ยกระดับเศรษฐกิจ การศึกษา ความเท่าเทียมยุติธรรม แต่งานด้านการเมือง-มวลชนต้องใช้เวลาอย่างมากในการเอาชนะอย่างยั่งยืนทางความคิด จิตใจ ขณะที่ฝ่ายติดอาวุธออกปฏิบัติการรุนแรงหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เกิดความสูญเสียรายวัน มาตรการภาครัฐช้ากว่าพัฒนาการเหตุการณ์ 

ไม่อาจรอและทนเห็นความสูญเสียได้


การปรับมุมมองการแก้ปัญหาภาคใต้ใหม่ ด้วยวิธีการใหม่เปิดเจรจา จึงถูกปัดฝุ่น หยิบยกมาใช้ ซึ่งความจริงมีการดำเนินการในทางลับมาระยะหนึ่งแล้ว โดยความเห็นพ้องระหว่างฝ่ายนโยบาย และฝ่ายปฏิบัติ 
ไม่ว่าจะมองว่าได้ดำเนินการทุกวิถีทางแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ในการยอมใช้แนวทางการเปิดเจรจา แต่ในเมื่อ มันเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ อันคาดหวังผลได้ การไม่ปฏิเสธแนวทางนี้อีกต่อไป ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว 
จุดเริ่มต้นนี้จะนำไปสู่อะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แม้ยังมีการบ้านต้องทำอีกมาก มีอีกหลายกลุ่มขบวนการก็ตาม 
แต่เพียงเท่านี้ก็นับได้ว่าเป็นนิมิตหมายใหม่แล้ว
นโยบายการเปิดแนวรุกใหม่ด้วยวิธีการพูดคุย-เจรจานี้ ไม่มีทางปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างเด็ดขาด หากฝ่ายกองทัพเมินเฉย ไม่ขยับและยินยอม

นอกจากฝ่ายนโยบายแล้ว ฝ่ายกองทัพจึงสมควรได้รับความชื่นชมอย่างยิ่ง ในฐานะที่เปิดกว้างรับแนวคิด รับสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จากที่เคยแต่ปิดตัวเอง อยู่ในกรอบกำแพงแห่งความมั่นคงมิติเดิมอย่างเคร่งครัด ก็เปิดกว้าง คิดก้าวหน้า 
การเปิดใจยอมรับแนวคิด-วิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ นี้ แน่นอนว่าย่อมจะทำให้ไม่อับจนหนทาง ไม่ว่าจะคิดแก้ไขปัญหาใด



++

จำลอง ดอกปิก : ขบวนการต้าน-โกง
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:40:16 น.


การสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งล่าสุด ดำเนินการโดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 17 จังหวัด มีแนวโน้มยอมรับได้มากยิ่งขึ้น หากรัฐบาลทุจริต คอร์รัปชั่น แต่ตนเองได้ประโยชน์ด้วย 
ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.4 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 65.8 ในเดือนสิงหาคม จำนวนนี้ กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา มีสัดส่วนสูงสุด ในการยอมรับได้ อัตราร้อยละ 70 รองลงมาคือกลุ่มพ่อค้า ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 66.2 
เรื่องนี้อาจขึ้นกับคำถาม หากมีตัวเลือกจำกัด แค่ 1.รัฐบาลทุจริต คอร์รัปชั่น แล้วตนเองได้ประโยชน์ กับ 2.รัฐบาลที่มีพฤติการณ์อย่างเดียวกัน ทว่าตัวเองไม่ได้อะไรด้วย


คำตอบนั้น ย่อมไม่ต้องสงสัยว่า ออกมาแบบนี้ผิดเพี้ยนหรือไม่ หากมีตัวเลือกมากกว่านี้ นับว่าเป็นทัศนคติอันตราย
แต่ไม่ว่าทัศนคติของสังคมเปลี่ยนแปลงไปทางดี-ร้ายอย่างไร ย่อมไม่อาจเปลี่ยนสถานภาพ หรือฐานความผิด การทุจริต คอร์รัปชั่น ให้เป็นเรื่องถูกต้องดีงาม ถูกกฎหมายได้ 
ผลการสำรวจอันทำให้ผู้คนตกอกตกใจเช่นนี้ ความจริงแล้วมีที่มา กลุ่มตัวอย่างนั้น มองตรงกัน ทุกรัฐบาลคอร์รัปชั่นด้วยกันทั้งสิ้น
เมื่อมีให้เลือกเพียงระหว่างกินรวบ กับกินแบ่ง ผลจึงปรากฏอย่างที่เห็น

แต่กระนั้น ก็ไม่อาจเหมารวม สรุปรวบรัดได้ว่า ผู้ยอมรับได้นั้น เห็นด้วยหรือสนับสนุนการทุจริต คอร์รัปชั่น 
ผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมือง คงไม่มีใครเห็นด้วยหรือสนับสนุนการทุจริต คอร์รัปชั่นหรอก เพียงแต่ประชาชนจำนวนหนึ่งอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น ไม่เสแสร้ง ดัดจริต 
คนรุ่นใหม่อาจจริงใจ แสดงออกตรงไปตรงมาสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม พ่อค้า นักธุรกิจนั้นไม่ต้องพูดถึง จำนวนไม่น้อย เป็นตัวการเพาะเชื้อการคอร์รัปชั่น 
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด ที่จะยอมรับได้ในสัดส่วนรองลงมา หากตัวเองหรือพวกพ้องได้ประโยชน์ด้วย เพราะไม่ว่ายุคสมัยใดก็เป็นเช่นนี้ มีการวิ่งเต้น แลกเปลี่ยน ต่างตอบแทนผลประโยชน์

พวกได้โครงการ ได้งานมักปิดปากเงียบ กลุ่มไม่ได้ก็ออกมาโวยวาย ต่อต้าน ยัดข้อหามีการทุจริต คอร์รัปชั่นนี่แหละง่ายดี พูดไปแล้วส่วนใหญ่คนเชื่อ 
เชื่อเพราะไม่เชื่อว่า ไม่มีรัฐบาลใดซื่อสัตย์ สุจริต 
เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่นถูกงัดมาใช้เป็นอาวุธชั้นดี โจมตี อภิปรายซักฟอกกันทุกยุคทุกสมัย และทุกรัฐบาลอีกเช่นกัน

ที่จำเป็นต้องประกาศนโยบาย ทำสงคราม รณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่น 
ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องดี หากลงมือทำอย่างจริงจัง เข้มแข็ง ไม่ปากว่าตาขยิบ หรือมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นเสียเอง
สัปดาห์ก่อน มีการรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นจากหลายภาคส่วน ขณะกำลังอ่านข่าวอยู่นั้น เหลือบเห็นภาพ ผู้เข้าร่วมงานระดับหัวขบวน
บางคนคุ้นหน้าคุ้นตา เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งทันทีภายหลังการรัฐประหาร 
สมัยยังรับราชการ ชื่อกระฉ่อนวงการ เป็นมือไม้สำคัญการจัดซื้อ จัดจ้าง และการสัมปทานของฝ่ายการเมือง ชงโครงการใหญ่-อื้อฉาว สารพัดประเภทวิธีพิเศษ บางโครงการยังค้างเติ่งมาจนทุกวันนี้ 
วันนี้มาร่วมขบวนการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชั่น ยืนตัวตรง ถ่ายภาพ เห็นแบบอย่าง ต้นฉบับของแท้แล้ว พยายามมองในแง่ดีว่า คงสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว ไม่ก็สร้างภาพ!

สร้างภาพคล้ายภาพรับไม่ได้กับผลโพล ทั้งที่ต้องน้อมรับอยู่กับความเป็นจริง ว่าปัญหานี้ยังดำรงคงอยู่ ผู้คนอับจนหนทาง ไม่มีทางออกทางเลือกใหม่ๆ จำใจยอมรับรัฐบาลที่โกงได้แต่เผื่อแผ่สังคม ยอมรับความจริงและร่วมกันลงมือแก้ไขคลี่คลาย

ไม่มีใครอยากได้รัฐบาลโกงหรอก



++

จำลอง ดอกปิก : ความจริง-ความเท็จ
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 15:50:27 น.


ความจริง อย่างไร มันก็ต้องเป็นความจริงวันยังค่ำ อย่างที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวไว้อย่างมิต้องสงสัย ไม่มีใครสามารถบิดเป็นอย่างอื่นใด ไม่ว่าวันเวลาผ่านไปเนิ่นนานเพียงใดก็ตาม 
กระบวนการสืบค้นหาความจริง กรณีการเสียชีวิตของบุคคลต่างๆ 98 ราย ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 คืบหน้าโดยลำดับ มีการชันสูตรพลิกศพในรายการเสียชีวิต น่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาแล้ว 19 สำนวน 
ระหว่างนี้มีการนัดไต่สวน นัดสืบพยานอย่างต่อเนื่อง 
คดีการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุมและเกี่ยวข้อง 6 ศพ บริเวณวัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ดูค่อนข้างแน่นหนา ชัดเจน ก็มีความคืบหน้า เป็นที่น่าพอใจของฝ่ายต่างๆ 

ขณะที่กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินอยู่นั้น นอกอาคาร คู่ขัดแย้ง รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า ย่อมไม่มีใครยอมตกเป็นผู้ร้าย
ยังคงหยิบยกประเด็นต่างๆ ขึ้นมาต่อสู้ฟาดฟัน กล่าวหากันอย่างดุเดือด เพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของการต่อสู้ทางการเมือง 
ความจริงในเรื่องนี้นั้นสงบนิ่งแล้ว มีฝ่ายผิด-ฝ่ายถูกที่รู้อยู่แก่ใจชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว รอเพียงกระบวนการตัดสินชี้ถูก-ชี้ผิดอย่างเป็นทางการ 
ฉะนั้น ระหว่างฝ่ายต่างๆ นี้ จะต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือมากกว่า 1 ฝ่าย ปั้นแต่ง โกหก บิดเบือนข้อมูลอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะดิ้นรนเพื่อการใดก็ตาม เพื่อหนีผิด หรือเพื่อแสวงหาความเป็นธรรม ต้องการความยุติธรรม แต่การยินยอมพร้อมใจ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกระดับชั้น การไต่สวน สืบพยาน การให้ปากคำต่างๆ
นับเป็นนิมิตหมายอันดี 
การให้ความร่วมมือของอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกฯในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. หรือแม้แต่ท่าทีฝ่ายกองทัพ ที่นอกจากส่งพลซุ่มยิงเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ยังพร้อมส่งปืนให้ตรวจสอบ ให้ความร่วมมือทุกอย่างอย่างไม่อิดออด 
การให้ความร่วมมือกันของทุกฝ่ายนี้ ย่อมจะทำให้กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง ในเหตุการณ์อันเป็นบาดแผลใหญ่ของสังคมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และรวดเร็ว 
สำหรับเนื้อหาการให้การ-ให้ปากคำ ตอบข้อซักถามนั้น อย่าว่าแต่พนักงานสอบสวนเลย ชาวบ้านทั่วไปก็มองออกว่า ฝ่ายผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้สั่งการ เป็นผู้ลงมือยิง เป็นพยานจะให้การอย่างไร ฝ่ายผู้ถูกกระทำและผู้เห็นเหตุการณ์อะไรต่อมิอะไรอย่างชัดเจนนั้น จะให้การอย่างใด


แต่ไม่ว่าใครจะให้การตอบรับหรือปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ มีวิธีการพิสูจน์ ตรวจสอบเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง ในเมื่อเวทีต่อสู้คดียังเปิดกว้างสำหรับทุกฝ่าย ในเมื่อยังไม่มีการตัดสิน เป็นเรื่องธรรมดายิ่ง ใครก็ตามย่อมมีสิทธิกล่าวอ้าง ความบริสุทธิ์ ได้รับสิทธินำข้อมูล หลักฐาน พยานขึ้นต่อสู้หักล้าง 
วันนี้อาจดูเป็นคนดี แต่วันข้างหน้าไม่แน่นัก ไม่แน่เนื่องจากไม่ว่าจะดูเป็นคนดี หรือมีภาพคนร้าย แต่นั่นเสมอเพียงภาพเท่านั้น มิใช่ของจริง-ความจริง

ความจริงที่อย่างไรมันก็ต้องเป็นความจริงวันยังค่ำ มิใช่พลิกเปลี่ยนจากคนดีเป็นคนร้ายชั่วข้ามรัฐบาล 



.