http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-25

“สังคมปลอดนิวเคลียร์”ทำได้จริงหรือ ก็แค่นโยบาย(หาเสียง) โดย นกุล ว่องฐิติกุล

.
..แผนการที่เป็นทางออก ต้องการการมีส่วนร่วมที่เหนียวแน่น เป้าหมายชัดเจน เพียงต้องแก้ปัญหารายทางเป็นลำดับขั้น ก็โดยผ่านการร่วมมือร่วมใจจากประชาชนพื้นฐานเป็นสำคัญ...ความคิดเห็นเบื้องต้นย้อนแย้งบางประเด็นในบทความนี้

______________________________________________________________________________________________________


“สังคมปลอดนิวเคลียร์” ทำได้จริงหรือ ก็แค่นโยบาย (หาเสียง)
โดย นกุล ว่องฐิติกุล คอลัมน์ จากญี่ปุ่น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 46


ในท่ามกลางเสียงต่อต้านนิวเคลียร์จากประชาชนหลายกลุ่มในทุกมุมของโลก 
ล่าสุดเพิ่งมีการประท้วงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของอินเดีย-รัสเซียบริเวณริมอ่าวเบงกอลของประเทศอินเดียโดยประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงในรัฐทมิฬนาดูของอินเดียผู้ไม่ต้องการเห็นโรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากนิวเคลียร์เกิดขึ้นในบ้านของตนจนบานปลายทำให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตไปหนึ่งคนจากกระสุนของตำรวจที่ยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ต่อต้าน 


ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้เกิดกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุของเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ จากภัยสึนามิเมื่อหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา มีการรวมตัวประท้วงต่อต้านการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์ที่หยุดเดินเครื่องชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในหลายภูมิภาคของประเทศ 
ด้วยแรงเสียดทานจากกระแสของสังคม ที่สุดนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายโยชิฮิโกะ โนดะ ต้องยอมอ่อนโอนตามเสียงเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้ประเทศญี่ปุ่นปลอดนิวเคลียร์ด้วยการตั้งคณะกรรมการทำงานวิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมของพรรคดีพีเจขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อศึกษาและวางแผนการเลิกใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ 
 
และเมื่อวันที่ 7 กันยายนนี้เอง รัฐบาลพรรคดีพีเจก็ได้ประกาศนโยบายพลังงานของชาติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการชุดดังกล่าว


แผนของนโยบายพลังงานฉบับล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะจากสื่อมวลชนและองค์กรธุรกิจ-อุตสาหกรรม พลังงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนถึงความเป็นจริงและผลกระทบที่จะเกิดตามมา 
สาระสำคัญของนโยบายพลังงานของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะถือเป็นวาระแห่งชาติก็คือการลดการพึ่งพาพลังงานจากนิวเคลียร์ให้เหลือเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เป็นอย่างช้า 
โดยกำหนดแผนการดังนี้ 
- จำกัดอายุการใช้งานเตาปฏิกรณ์ที่มีอยู่แล้วให้ได้ไม่เกิน 40 ปี 
- อนุญาตให้มีการใช้งานเตาปฏิกรณ์ที่มีอยู่แล้วเฉพาะที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ เร็กกูเรเตอร์ที่กำลังจะได้รับการแต่งตั้งในอนาคตอันใกล้ 
- ไม่มีการสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกในประเทศ


หากเป็นไปตามแผนงานนี้ในปี 2030 ประเทศญี่ปุ่นจะมีการใช้พลังงานจากนิวเคลียร์เหลือเพียง 15% จากพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศและจะลดลงเหลือ 0% ในปี 2050 
ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นพึ่งพาการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อยู่ที่ 30%




นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ยังมีกำหนดที่จะประกาศรายชื่อของคณะกรรมการนโยบายพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 5 นาย ซึ่งเดิมตั้งเป้าว่าจะเริ่มทำงานในวันที่ 1 เมษายน 2012 แต่ต้องเลื่อนกำหนดไปหลายครั้งจากกระแสกดดันของสังคมภายในวันสองวันนี้ 
คณะกรรมการดังกล่าวจะพิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการและคณะทำงานอีก 1,000 นาย ร่วมกันทำหน้าที่เร็กกูเรเตอร์ที่จะทำหน้าที่กำหนดนโยบายพลังงานของชาติรวมทั้งการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และตรวจสอบรับรองอนุญาตการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์ที่ได้ปิดตัวลงชั่วคราวหลังตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว 
ผลกระทบหนักหน่วงซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากนโยบายพลังงานของประเทศต้องเดินไปตามเป้าหมายที่เพิ่งถูกกำหนดขึ้นก็คือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ราคาค่าไฟฟ้าภายในประเทศจะต้องเพิ่มสูงขึ้นโดยประมาณว่าค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับเฉลี่ยเดือนละ 17,000 เยนต่อครัวเรือน จะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 32,250 เยนในปี 2030 
นั่นหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนทุกคนในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอยู่ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะขนาดเล็กและขนาดกลางจะไม่สามารถแบกรับภาระค่าไฟฟ้าสำหรับการประกอบการจนถึงขั้นต้องปิดตัวลงซึ่งหมายถึงจำนวนประชาชนที่ต้องตกงานจะมีเพิ่มมากขึ้น 

หากไม่มีการพัฒนาต่อยอดเทคนิคด้านพลังงานนิวเคลียร์ ประเทศญี่ปุ่นจะสูญเสียโอกาสความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ ไม่มีการพัฒนาบุคลากรด้านนิวเคลียร์ วิศวกรรุ่นใหม่จะไม่สนใจเข้าทำงานในภาคพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งกำลังจะหมดสิ้นอนาคตและความสำคัญในประเทศ

และญี่ปุ่นจะสูญเสียโอกาสด้านความร่วมมือกับต่างประเทศโดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์กับญี่ปุ่นในปัจจุบัน 
และเปิดโอกาสให้จีนกับเกาหลีใต้เข้ายึดครองตำแหน่งความเป็นผู้นำเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ในเอเชียไปครอง


ยิ่งไปกว่านั้นการลดใช้พลังงานนิวเคลียร์จะทำให้ประเทศต้องหันไปพึงพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น 
ทำให้อำนาจการต่อรองเรื่องราคาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลทำได้ยากลำบาก ค่าใช้จ่ายย่อมเพิ่มสูงเป็นเงาตามตัว 

ในปัจจุบันที่มีการปิดเตาปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ส่วนใหญ่ในประเทศเพื่อการตรวจสอบความปลอดภัย ประเทศญี่ปุ่นก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อหาเชื้อเพลิงอื่นเพิ่มขึ้นสำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานความร้อนประมาณปีละ 3 ล้านล้านเยนไปแล้ว 
รัฐบาลมีนโนยบายสำหรับโครงการประหยัดพลังงานซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 100 ล้านล้านเยนร่วมกับโครงการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนเช่นพลังแสงอาทิตย์ พลังลม พลังน้ำและพลังงานความร้อนใต้ดินซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกอย่างน้อย 50 ล้านล้านเยน 
ยังไม่รวมปัญหาจากเงินที่ลงทุนไปแล้ว 2 ล้านล้านเยนสำหรับโครงการโรงงานรีไซเคิลกากนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าที่เมืองร็อกคาโชะจังหวัดอาโอโมริที่เดินหน้าไปจนเกือบสมบูรณ์แล้วและกากนิวเคลียร์กว่า 3,000 ตัน ที่กองอยู่ในโรงเก็บเพื่อรอการรีไซเคิลที่เมืองดังกล่าวที่โครงการอาจจะต้องถูกพับไป 

การเลิกใช้พลังงานจากนิวเคลียร์จะทำให้มีการปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายเดิมของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศญี่ปุ่นให้ได้ 25% จากที่เคยปล่อยในปี 1990 ภายในปี 2020 น่าจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย



สื่อและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมญี่ปุ่นต่างบอกว่านโยบายปลอดนิวเคลียร์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันกำหนดขึ้นนั้นยังไร้ทิศทางที่ชัดเจนและมีความเป็นไปไม่ได้สูง การประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติย่อมเป็นภาระผูกพันถึงรัฐบาลชุดต่อไปไม่ว่าจะมาจากพรรคใดก็ตาม  
มีเสียงเตือนด้วยความห่วงใยจากหลายภาคส่วนทั้งจากรัฐมนตรีผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจและพลังงาน นักวิชาการเศรษฐกิจและพลังงาน นักธุรกิจและสื่อมวลชนต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ว่าอย่าประกาศนโยบายปลอดนิวเคลียร์ของประเทศเพียงเพื่อให้เป็นไปตามกระแสสังคมหรือเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าที่เชื่อกันว่าคงจะไม่นานเกินสิ้นปีนี้หรือภายในต้นปีหน้า


การไม่รักษาสัญญาประชาคมเพราะนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้เป็นความเจ็บปวดที่ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องเจ็บมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการกระทำของนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ บนโลกมานักต่อนักแล้ว.



.