.
สุรพศ ทวีศักดิ์ : เสรีภาพในการตีความคำสอนพุทธศาสนากับการละเมิดพระธรรมวินัย
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:00:00 น.
สุรพศ ทวีศักดิ์
ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติของวงการชาวพุทธบ้านเราเมื่อมีประเด็นปัญหาในวงการณ์สงฆ์เช่น พระชุมนุมทางการเมืองหรือมีข่าวทางสื่อมวลชนว่าพระทำอย่างนั้นอย่างนี้ผิดวินัยสงฆ์หรือไม่ สื่อมักจะไปถามความเห็นของพระที่มีชื่อเสียงเช่นพระพยอม กัลยาโณ พระไพศาลวิสาโล ว.วชิรเมธีเป็นต้น ทั้งที่ท่านเหล่านี้ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยตรง
หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามระบบปกครองสงฆ์คือมหาเถรสมาคมหรือหน่วยงานที่น่าจะมีบทบาทให้ความเห็นทางวิชาการอย่างมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็แทบจะไม่เป็นที่รู้จักของสื่อ พอมีปัญหาต่างๆในวงการสงฆ์หรือพุทธศาสนาเกิดขึ้นแทนที่สังคมจะได้รับคำอธิบายในเรื่องกฎเกณฑ์หลักการทางศาสนาหรือความเห็นทางวิชาการจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือสถาบันทางวิชาการด้านพุทธศาสนา(เช่น พระสงฆ์นักวิชาการในมหาวิทยาลัยสงฆ์)ก็กลายเป็นว่าได้ฟังเพียงความเห็นของพระที่มีชื่อเสียงบางรูปหรือเป็นแค่เรื่องที่มีคนบางกลุ่มถกเถียงกันไปตามกระแสข่าวแล้วซาไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสภาพที่สถาบันสงฆ์และสถาบันวิชาการด้านพุทธศาสนาในบ้านเราขาดประสิทธิภาพที่จะอธิบายประเด็นปัญหาทางพุทธศาสนาให้สังคมเข้าใจหรือยกประเด็นปัญหาทางพุทธศาสนาขึ้นมาสื่อสารในเชิงปัญญากับสังคมร่วมสมัย เช่น การยกประเด็นปัญหาทางพุทธศาสนาขึ้นมาถกเถียงกับมุมมองที่แตกต่าง อย่างกรณี"สตีฟจ็อบส์ ฉบับธรรมกาย"จะเห็นว่ามุมมองเสรีนิยมเข้ามาตั้งคำถามและวิพากษ์พุทธศาสนาอย่างน่าสนใจซึ่งมีทั้งประเด็นเหตุผลที่น่ารับฟังของเสรีนิยมและมีประเด็นที่เป็นจุดยืนทางพระธรรมวินัยเถรวาทเองที่ควรสื่อสารแลกเปลี่ยนให้เข้าใจและเคารพเหตุผล/จุดยืนกันทั้งสองฝ่าย
ผมคิดว่าหากการตั้งคำถามวิพากษ์พุทธศาสนาจากจุดยืนเสรีนิยมขยับเข้าไปในสถาบันการศึกษาสงฆ์เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์จะมีประโยชน์มากทั้งในแง่ที่สังคมสงฆ์จะได้เข้าใจว่าสังคมโลกสมัยใหม่เขามองสังคมสงฆ์อย่างไรและสังคมสงฆ์จะตอบคำถามข้อวิพากษ์หรือมีอะไรบางอย่างที่คิดว่าโลกข้างนอกเขาควรจะเข้าใจก็จะได้สื่อสารกันด้วยเหตุผลเป็นประโยชน์ทางปัญญาที่น่าจะมีความหมายต่อการปรับตัวของพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับโลกที่เป็นจริง
อย่างไรก็ตามสังคมสงฆ์ดูเหมือนจะปิดกั้นตนเองจากคำถามและข้อวิพากษ์ของเสรีนิยม ตัวอย่างเช่นกรณีที่มีการ"บีบ"ให้คำ ผกา ออกมาขอขมาและยุติการวิจารณ์ปัญหาทางพุทธศาสนาในรายการ"คิดเล่นเห็นต่าง" หรือกรณีที่พระระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงฆ์บางรูปถูกพระผู้ใหญ่สั่งห้ามวิจารณ์ประเด็นปัญหา"สตีฟจ็อบส์ฉบับธรรมกาย"เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าสังคมสงฆ์เองยังไม่พร้อมจะใช้เหตุผลถกเถียงแลกเปลี่ยนกับ"คนนอก"และไม่พร้อมจะวิจารณ์กันเองด้วยหลักวิชาการและเหตุผลซึ่งสะท้อนการไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ต้องอยู่ร่วมกับความแตกต่างด้วยเหตุผล
แต่หากพิจารณาจากหลักการพุทธเถรวาทแล้วจะเห็นว่ามีหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันสองประการสำคัญคือ"อยู่กับความเห็นต่างด้วยการใช้เหตุผล"และ"รักษาเอกภาพด้วยการเคารพพระธรรมวินัย"
หมายความว่าพุทธเถรวาทยอมรับเสรีภาพในการตีความคำสอนของพุทธศาสนาต่างกันได้แต่การกระทำผิด-ถูกตามวินัยสงฆ์227ข้อเป็นข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่สังคายนาครั้งที่1ว่าให้คงไว้และยึดถือปฏิบัติร่วมกัน
ผมคิดว่าบทบาทของท่านพุทธทาสและท่าน ป.อ.ปยุตโตสะท้อนหลักการดังกล่าวได้เป็นอย่างดีคือท่านพุทธทาสนั้นใช้เสรีภาพตีความคำสอนของพุทธแตกต่างจากคณะสงฆ์กระแสหลักเป็นอย่างมากกระทั่งตีความว่า"ธรรมะคือพระเจ้า"แต่การตีความนั้นก็อ้างอิงที่มาที่ไปจากพระไตรปิฎกและมีคำอธิบายชัดเจน แน่นอนว่าคณะสงฆ์ฝ่ายอนุรักษ์เช่นมหาเถรสมาคมอาจไม่เห็นด้วยกับการตีความเช่นนั้นแต่คณะสงฆ์ก็ไม่เคยเอาผิดทางวินัยสงฆ์หรือทางกฎหมายกับท่านพุทธทาส นี่แสดงว่ามีการจำแนกระหว่าง"ความเห็นต่าง"กับ"การละเมิดพระธรรมวินัย"ออกจากกัน
อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อธรรมกายตีความว่า"นิพพานเป็นอัตตา"ท่านป.อ.ปยุตฺโตไม่เห็นด้วยท่านจึงเขียนหนังสือ"กรณีธรรมกาย"โดยอ้างหลักฐานในพระไตรปิฎกและแสดงเหตุผลโต้แย้งแต่ไม่ได้เรียกร้องให้เอาผิดทางวินัยสงฆ์กับธรรมกาย เพราะท่านเห็นว่าปัญหาความเห็นต่างต้องใช้ข้อเท็จจริงตามหลักฐานและเหตุผลโต้แย้งกันอย่างเป็นสาธารณะให้สังคมตัดสินเอง
กรณี"วิวาทะ"ระหว่างพุทธทาสกับคึกฤทธิ์ก็เช่นกันก็คือการอยู่ร่วมกับความเห็นต่างด้วยเหตุผลแล้วยังมีพระรูปอื่นๆอีกหลายท่านที่สอนว่า"นิพพานเป็นอัตตา"ก็ไม่เคยถูกเอาผิดทางวินัยสงฆ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมพุทธเถรวาทในบ้านเราจำแนกชัดเจนระหว่าง"ความเห็นต่าง"กับ"การละเมิดพระธรรมวินัย"หากเป็นความเห็นต่างก็อยู่กันด้วยเหตุผล ถ้าเป็นการละเมิดพระธรรมวินัยก็ต้องดำเนินการเอาผิดตามกรอบพระธรรมวินัย
กรณีสันติอโศกไม่ใช่มีประเด็นความเห็นต่างอย่างเดียวแต่มีประเด็นปัญหาการละเมิดพระธรรมวินัยตามกรอบเถรวาทและการประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับการปกครองของมหาเถรสมาคมอยู่ด้วยเมื่อสันติอโศกยืนยันเช่นนั้นเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะแยกตัวเองเป็นอิสระและปฏิบัติตามแนวทางของเขา
กรณีธรรมกายถ้าเป็นเรื่องตีความคำสอนว่านิพพานเป็นอัตตานั่นเป็นเรื่องความเห็นต่างที่เอาผิดทางวินัยสงฆ์ไม่ได้
แต่กรณีอ้างญาณวิเศษรู้เรื่องชีวิตหลังความตายของสตีฟจ็อบส์และบุคคลอื่นๆเป็นประเด็นปัญหาว่าละเมิดพระธรรมวินัยหรือไม่(ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย)เพราะวินัยสงฆ์บัญญัติห้ามไว้ อีกทั้งธรรมกายก็สมัครใจอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของมหาเถรสมาคมเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ได้รับ"สมณศักดิ์"และสิทธิประโยชน์ทุกประการเช่นเดียวกับพระสงฆ์ทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้ปกครองของมหาเถรสมาคม
ระบบการปกครองสงฆ์ปัจจุบันที่มีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุดนั้นอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์2505แน่นอนว่ากฎหมายและองค์กรมหาเถรสมาคมมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยในเรื่องที่มาของกรรมการมหาเถรสมาคมและการแบ่งแยกอำนาจแต่ไม่ได้หมายความว่ามหาเถรสมาคมอยู่เหนือการตรวจสอบด้วยหลักธรรมวินัยและกฎหมาย
สมเด็จพระสังฆราชทำผิดวินัยสงฆ์ข้อเดียวกันและ/หรือทำผิดกฎหมายมาตราเดียวกันก็ต้องรับการตรวจสอบและรับผิดใน“มาตรฐานเดียวกัน”มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจออกคำสั่งข้อบังคับหรือกฎหมายพิเศษที่จะใช้จัดการเอาผิดพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหรือพระสงฆ์วัดใดวัดหนึ่งโดยเฉพาะ การดำเนินการทางพระธรรมวินัยใดๆต้องดำเนินการตามกรอบธรรมวินัยที่ทุกฝ่ายตรวจสอบได้เท่านั้น
ฉะนั้นแม้ระบบการปกครองสงฆ์ตามกรอบพระธรรมวินัยและกฎหมายดังกล่าวมีผลทำให้สถาบันสงฆ์ไม่เป็นอิสระจากรัฐ แต่การดำเนินการเอาผิดพระภิกษุรูปใดๆที่ละเมิดพระธรรมวินัยตามระบบที่เป็นอยู่นี้ หากอธิบายได้หรือถูกตรวจสอบได้ว่า"เป็นไปตามกรอบพระธรรมวินัย"อันเป็นพุทธบัญญัติทุกประการย่อมมีความชอบธรรม
เพราะ"การดำเนินการทางพระธรรมวินัย"ของคณะสงฆ์เถรวาทครอบคลุมวิถีชีวิตของพระสงฆ์แทบทั้งหมดตั้งแต่การครองไตรจีวร การแสดงความเคารพกันตามอาวุโสทางพรรษา การฉันอาหาร การจัดที่อยู่อาศัย การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การประกอบพิธีอุปสมบท การกำหนดบทบาทหน้าที่ของอุปัชฌาย์อาจารย์และลูกศิษย์ การรับกฐินฯลฯ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับอาบัติพระที่ทำผิดวินัยสงฆ์ก็มีถึง227 ข้อ มีการลงอุโบสถ์สวดปาติโมกข์ปลงอาบัติ ปรับอาบัติอยู่กรรม แก้อาบัติระดับต่างๆเป็นปกติ การ"ปรับอาบัติปาราชิก"เป็นเพียงวิธีดำเนินการเอาผิดทางวินัยสงฆ์1 ใน227ข้อเท่านั้น
หากอ้างเหตุผลว่าเพราะ"ศาสนากับรัฐไม่เป็นอิสระจากกัน"องค์กรปกครองสงฆ์จึงไม่มีความชอบธรรมจะดำเนินการก็เท่ากับว่าการดำเนินการทางวินัยสงฆ์ทั้งปวงย่อมไม่มีความชอบธรรมด้วยเช่นกัน
เหตุผลเรื่องรัฐกับศาสนาเป็นอิสระจากกันจึงเป็นประเด็นเรื่อง"รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา"เป็นด้านหลัก เป็นการยืนยันว่าเรื่องศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลแต่ละคนมีเสรีภาพจะนับถือศาสนาและนิกายศาสนาใดๆก็ได้ รัฐไม่เข้าไปยุ่งด้วยตราบที่ไม่เป็นการใช้ความเชื่อของตนไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ในขณะเดียวกันหลักเสรีนิยมย่อมเคารพความแตกต่างทางความเชื่อของศาสนานิกายศาสนาต่างๆที่เขาต่างมีกฎของตนเองมีสิทธิที่จะใช้กฎที่เขายอมรับร่วมกันตรวจสอบกันและกัน
กรณีมหาเถรสมาคมและธรรมกายก็คือคณะสงฆ์เถรวาทที่อยู่ภายใต้ระบบพระธรรมวินัยเดียวกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ยอมรับกันและกันไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ดังนั้นจึงชอบด้วยหลักการและเหตุผลที่จะตรวจสอบกันและกันตามกรอบพระธรรมวินัยไม่ว่าเวลาไหนที่ศาสนาจะเป็นอิสระจากรัฐหรือไม่ก็ตาม
ข้อเรียกร้องเรื่องศาสนาเป็นอิสระจากรัฐจึงไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงตรรกะอย่างจำเป็นหรืออย่างไม่มีทางเลือกอื่นกับข้อเรียกร้องการตรวจตามกรอบพระธรรมวินัยภายในคณะสงฆ์นิกายเดียวกัน
มีเหตุผลที่ฟังขึ้นว่าเมื่อศาสนาเป็นอิสระจากรัฐแล้วจะทำให้การตรวจสอบตามกรอบพระธรรมวินัยมีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อศาสนายังไม่เป็นอิสระจากรัฐ คณะสงฆ์เถรวาทไทยตามระบบที่เป็นอยู่(หรือในอดีตกว่าพันปี)จะไม่มีความชอบธรรมในการตรวจสอบกันเองตามกรอบพระธรรมวินัย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย