http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-21

เกษียร(1): ‘ข้อสังเกต-สถานการณ์ปัจจุบัน :The Weary Moderation’

.

เกษียร เตชะพีระ : ‘ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน : The Weary Moderation’
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:15:34 น.
( ที่มา คอลัมน์กระแสทรรศน์ โดย เกษียร เตชะพีระ นสพ.มติชนรายวัน ประจำวันศุกร์ 14 ก.ย. 2555 )


โดยไม่ได้ทำการวิจัยหรือสำรวจโพลอะไร ผมมีข้อสังเกตจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองระยะปัจจุบัน นับแต่หลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป การจัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมา ขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้เพื่อลองถกเถียง วิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไป

1) The Weary Moderation (กระแสสังคมเข็ดล้าจนปรับตัวหันมาเดินสายกลาง)

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดทางการเมืองในระยะปัจจุบันคือ กระแสหลักของสังคมการเมืองไทยที่เคยเอนเอียงสะวิงสุดโต่งในช่วง 5 ปี หลังรัฐประหาร คปค. 19 กันยายน พ.ศ.2549 รู้สึกเข็ดล้าต่อความขัดแย้งรุนแรงยืดเยื้อที่ทอนกำลังและทำลายสังคมเศรษฐกิจไทยโดยรวมกันเอง จึงปรับตัวหันมาเดินสายกลาง และปฏิเสธแนวทางการเมืองสุดโต่งของคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ที่ผ่านมา

อาจกล่าวได้ว่า อาการสะวิงสุดโต่งทางการเมือง (political extremism) ในช่วงก่อนเป็นปฏิกิริยาของสังคมไทยต่อระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นตัวแทนผลักดันให้รื้อถอนเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจและจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกันใหม่ขนานใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อนหลังการลุกฮือ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้นมา

กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่นิยมใช้อำนาจ รุกเร็ว รุนแรง แผ่กว้างและเจาะลึก ซึ่งไปเบียดขับแบบแผนอำนาจสถาปนาแห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับวัฒนธรรมไทยแต่เดิมไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ย่อมเสี่ยงสูงที่จะเผชิญแรงเสียดทานต่อต้านขัดแย้งจากพลังของกลุ่มผลประโยชน์หยั่งยึดผู้ถือตนเป็นเจ้าของและผู้ดูแลรักษาประเทศชาติมาก่อน

ในที่สุดเมื่อหัวขบวนการเปลี่ยนแปลงถูกมองว่า กระทำการอันเป็นภัยต่อผลประโยชน์ได้เสียสำคัญของ "ชาติ" ในมุมมองราชาชาตินิยม สังคมการเมืองไทยก็ถูกปลุกกระตุ้นให้แสดงปฏิกิริยาสะวิงสุดโต่งเพื่อตอบโต้ภัยดังกล่าว โดยไม่เลือกวิธีการและไม่บันยะบันยังไม่ว่า.....

-ใช้สื่อเอกชนในสังกัดหรือสื่อรัฐใต้การควบคุมเลือกข้างรณรงค์โจมตีให้ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามและยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงอย่างบ้าระห่ำไร้จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพหรือการเคารพความจริง และกฎเกณฑ์กติกาของบ้านเมือง

-ตั้งกองกำลัง รปภ.ติดอาวุธประจำกาย/แสวงเครื่องกลางเมืองพร้อมรบกับเจ้าหน้าที่และฝ่ายตรงข้าม

-ปิดล้อมบุกรุกยึดครองสถานที่ราชการและสถานประกอบการเอกชนอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการบริหาร สื่อสารคมนาคมและธุรกิจอย่างยืดเยื้อโดยไม่แคร์ผลกระทบเสียหายต่อผู้อื่น

-รัฐประหาร, ลุกขึ้นสู้, ก่อการร้าย, ล้อมปราบและฆ่าหมู่กลางเมือง ฯลฯ


กล่าวได้ว่าช่วง 5 ปีนั้น สังคมการเมืองไทยเสมือนขาดสติสัมปชัญญะหรือโดน "ผีเข้าสิง เจ้าเข้าทรง" ไปชั่วคราว ถึงแก่ขนสมบัติร่วมของชาติออกมาเป็นเครื่องมือและเดิมพันในการต่อต้านระบอบทักษิณแทบหมดเนื้อหมดตัว ทุกสถาบันสำคัญของชาติถูกระดมใช้ในภารกิจดังกล่าวจนหมดสิ้น ผลก็คือปฏิกิริยาตอบกลับจากพลังการเปลี่ยนแปลงที่นำขบวนโดยเครือข่ายทักษิณก็ดุเดือดเลือดพล่านรุนแรงสุดโต่งเช่นกัน ความขัดแย้งรุนแรงในลักษณะ/ระดับที่สังคมไทยไม่เคย ประสบพบเห็นมาก่อนปะทุระเบิดถึงขั้นสุดยอดในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภาอำมหิต เมื่อปี พ.ศ.2553

ความสูญเสียและปวดร้าวยิ่งใหญ่มหาศาลทั้งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินจากเหตุการณ์ดังกล่าว อาจลุกลามขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้เหมือนที่เคยเกิดหลัง 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 แต่เดชะบุญ ความสูญเสียชีวิต 98 คน และบาดเจ็บพิการทุพพลภาพร่วม 2 พันคน เป็นมูลเหตุขับดัน พื้นฐานโดยตรงทางศีลธรรม มโนธรรมและมนุษยธรรมให้ผู้คนเพื่อนมิตรมากมายหลายฝ่ายทั้งใน และต่างประเทศหันมาสงบเย็น ตั้งมั่น ตั้งสติ หาทางคิดค้นริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการเปิดช่องสร้างเวที ชักนำให้การต่อสู้ขัดแย้งคลี่คลายขยายตัวไปในหนทางที่ไม่รุนแรง ไม่ว่าผ่านการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ และวัฒนธรรม การวิจัยบันทึกเผยแพร่ปากคำและค้นหาความจริงทางวิชาการ การสานเสวนาทั้งเปิดเผยและจำกัดวง การเลือกตั้ง การดำเนินการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และฟ้องร้องดำเนิน คดีตามกระบวนการยุติธรรม

เมื่อประกอบกับความเข็ดขี้อ่อนขี้แก่และเหนื่อยล้าถอดใจกับสงครามการเมืองสุดโต่งที่ไม่เลือกวิธีการ ไม่บันยะบันยังและไม่รู้จักจบจักสิ้น ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงภายในจนรัฐไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตและล่อแหลมต่อภาวะรัฐล้มเหลวมากขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งทำลายสินทรัพย์และโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศให้เปล่าเปลืองไปครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างน่าเสียดายและนับวันจะสายเกินแก้หรือเกินกู้คืนได้ ฯลฯ

ในที่สุดจึงนำมาสู่ฉันทมติโดยนัย (implicit consensus) ของสังคมการเมืองไทยหลังเลือกตั้งทั่วไป 2554 ที่จะกำกับจำกัดควบคุมการต่อสู้ขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองให้อยู่ในกรอบและวิถีของการเดินสายกลางเพราะเข็ดล้าเต็มทน (The Weary Moderation)

ซึ่งไม่ได้หมายถึงการที่จู่ๆ จะให้เลิกแยกข้างแบ่งฝ่าย ถอดเสื้อสี แล้วหันมารู้รักสามัคคีกันกะทันหัน เพราะนั่นผิดฝืนธรรมชาติ เป็นไปไม่ได้

หากหมายถึงการยอมรับสภาวะความเป็นจริงที่บัดนี้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้พาผู้คนมาถึงจุดที่ขัดแย้งแบ่งฝ่ายต่างสีกันเป็นธรรมชาติธรรมดาของการเมืองแล้ว ดังนั้นใครจะนิยมนับถือ หรือต่อต้านผู้นำการเมืองคนไหน จะรักใครเกลียดใครไม่ว่ากัน แต่วิธีการที่ใช้ควรอยู่ในกรอบที่ไม่ทอนกำลังและทำลายส่วนรวมกันเอง

โดยยกบรรดาสถาบันสำคัญอันเป็นสมบัติร่วมของชาติให้พ้นออกไปจากการต่อสู้ขัดแย้ง เลือกข้างเลือกฝ่ายทางการเมือง แล้วปล่อยให้พลังการเมืองฝ่ายต่างๆ ขัดแย้งต่อสู้กันต่อไปในลู่ทางกฎเกณฑ์กติกาของบ้านเมืองอย่างยืดเยื้อและเยือกเย็น เพื่อที่กลไกรัฐราชการจะได้ปรับปรุงฟื้นตัวจากภาวะเปื่อยยุ่ยเอนเอียงเสียดุลเพราะพัวพันกับความขัดแย้งจนขาดความเป็นปึกแผ่น ไม่เลือกปฏิบัติและมีประสิทธิภาพ และการลงทุนขนาดใหญ่ระยะยาวเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรับกระแสความเปลี่ยนแปลงผันผวนของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคที่กำลังมาถึงจะได้เดินหน้าต่อไป

พูดอย่างกระชับรวบยอดก็คือ ต้องเลิกอบายมุขทางการเมืองที่ใช้ที่ทำกันมาอย่างเสียหาย ร้ายกาจต่อประเทศชาติของเราเองระยะหลังนี้เสียที ได้แก่ :

"ไม่เอาผังล้มเจ้า ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาสงครามครั้งสุดท้าย" ทั้งนี้เพราะ

ที่ตั้งอันมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยคืออยู่เหนือการเมือง ไม่เลือกข้าง และเป็นของคนไทยทุกคน

ที่ตั้งอันมั่นคงของกองทัพแห่งชาติในระบอบประชาธิปไตยคืออยู่เคียงข้างเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนและอยู่ใต้อำนาจและคำสั่งโดยชอบตามกฎหมายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่อยู่ตรงข้ามกับประชาชนหรือเป็นอิสระจากรัฐบาล


ที่ตั่งอันมั่นคงของความขัดแย้งแบ่งฝ่ายทางการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยคืออยู่ในกรอบของหลักนิติรัฐและการยอมรับอำนาจเสียงข้างมาก (ไม่ใช่สงคราม) จนกว่าจะถึงการเลือกตั้ง รอบหน้า (ไม่มีครั้งสุดท้าย)


ภาวะน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นของการเดินสายกลางที่ว่านี้ ภายใต้แรงกดดันคาดคั้นของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมข้ามชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ภายนอกของบรรษัทประเทศไทยในสายโซ่การผลิตทุนนิยมโลก และเดิมพันได้เสียที่สูงลิบถึงขั้นความล่มสลายหรืออยู่รอดทางเศรษฐกิจของชาติ ที่เรียกร้องต้องการการปฏิรูปปรับแนวทางบริหารจัดการทุนนิยมไทยระดับมหภาคอย่างเร่งด่วน เครือข่ายชนชั้นนำที่เป็นคู่ขัดแย้งก็หันมาจับมือกันร่วมหาทางจัดการภัยธรรมชาติยุคโลกร้อน, ทรัพยากรน้ำ, และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 3 นับแต่ปี พ.ศ.2501 เป็นต้นมา



.