.
จีนศึกษา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 17:50:25 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 3 กันยายน 2555 )
เมื่อหลายสิบปีก่อน ผมรู้จักคนไทยที่เรียนจีนศึกษาหลายคน ทั้งที่เป็นเพื่อนและเป็นคนรู้จัก ในสมัยนั้นการศึกษาเรื่องจีนยังเป็นที่ "ต้องห้าม" หรืออย่างน้อยก็ถูกผู้ใหญ่ขมวดคิ้วใส่อยู่ ผมพบว่าทั้งหมดที่ผมรู้จักล้วนชื่นชมจีนอย่างมาก ชนิดที่ในปัจจุบันต้องเรียกว่าไม่ลืมหูลืมตาเอาเลย
ผมเข้าใจความหลงใหลแบบนี้นะครับ คนไทยถูกบังคับให้หลับตาแก่เพื่อนบ้านที่เป็นยักษ์ใหญ่ข้างบนมา 20 กว่าปี ในขณะที่ยักษ์ตื่นขึ้นมาจากการหลับใหลเป็นศตวรรษ ฉะนั้น จีนที่นักจีนศึกษาได้รู้จักจึงเป็นสิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้นไปเสียทุกอย่าง
นอกจากนี้ ภายใต้การพัฒนาของระบอบทหารที่ครอบงำประเทศไทยเป็นเวลานาน เราเผชิญมิติใหม่ๆ ของปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน เช่น ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจนั้นอาจมีในเมืองไทยมานานแล้ว แต่ความไม่เป็นธรรมภายใต้นโยบายพัฒนาของระบอบทหาร เป็นอีกมิติหนึ่งที่แตกต่างจากเดิมอย่างมาก เช่น หลักการที่เคยบรรเทาความเหลื่อมล้ำในวัฒนธรรมเก่าของไทย ใช้ไม่ได้อีกแล้ว นักจีนศึกษารุ่นแรกๆ ได้ไปพบทางเลือกใหม่ในจีน ปัญหาเหล่านี้จีน (อ้างว่า) แก้ได้หมด เช่น รถไม่ติด อย่างน้อยทุกคนอิ่มท้อง และชุดประธานเหมาทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่ทิ่มแทงใครแรงเกินไป (แต่หนังของจางอี้โหมวสมัยนั้น คนจีนดูไม่ได้) บางคนในหมู่นักจีนศึกษารุ่นนั้น นอกจากเป็นนักวิชาการแล้วยังเป็นนักเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน
แต่จีนที่เราเห็นได้ในปัจจุบัน ไม่ได้ตรงกับอุดมการณ์ของนักจีนศึกษารุ่นนั้นแต่อย่างไร จีนไม่ใช่ประเทศที่มีกำลังป้องกันตนเองเท่านั้น แต่มีกำลังเข้าไปยุ่งในกิจการต่างๆ ทั่วโลก จนกระทั่งเราไม่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์โลกในเรื่องใดได้ หากไม่นับปัจจัยจีนเข้าไปด้วย
กำลังทางเศรษฐกิจของจีนนั้นเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว เช่น มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ มีทุนสำรองระหว่างประเทศปึ้กปั้ก มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับหลักสิบติดต่อกันหลายสิบปี แม้จะชะลอตัวลงในระยะนี้บ้าง ฯลฯ แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือ เป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อที่ (น่าจะ) ขยายต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัด
เวลานี้มีประชากรกว่า 300 ล้านคน ที่มีกำลังซื้อสูงมากไม่แพ้ประเทศตะวันตก ซ้ำยังชอบจับจ่ายใช้สอยยี่ห้อดังๆ เหมือนเศรษฐีใหม่ทั่วไป ปัญหามาอยู่ที่ว่า อีก 1,000 ล้านคน อยู่ส่วนในซึ่งมีฐานะเศรษฐกิจดีขึ้นแต่ไม่มากนัก จะได้โอกาสทำรายได้สูงขึ้นเหมือนคนริมฝั่งทะเลหรือไม่ สี่ห้าปีมานี้รัฐบาลจีนพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ตรงนี้ หากทำสำเร็จ ตลาดที่มีกำลังซื้อของจีนจะโตต่อไปอีกนาน (อย่างแทบไม่มีขีดจำกัด)
จีนเอาเงินกำไรมหาศาลนี้ไปลงทุนซ้ำหลายอย่าง ที่กระทบถึงเรามากที่สุดคือ การลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานชนิดต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นการคมนาคมขนส่ง อีกส่วนหนึ่งคือการลงทุนสร้างพลังงานสำรองทั้งไฟฟ้า, น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อันล้วนอยู่นอกประเทศจีนทั้งสิ้น
การลงทุนในต่างประเทศของจีน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านธุรกิจการค้า มีสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้นและสำคัญขึ้นแก่ทุกประเทศในอาเซียน อีกทั้งยังเป็นตลาดรองรับสินค้าด้อยเทคโนโลยีที่อาเซียนต้องการด้วย
กิจการทางเศรษฐกิจของจีนในอาเซียน มีลักษณะต่างตอบแทนอันนำความพอใจมาแก่ทั้งสองฝ่ายหรือไม่ เรื่องนี้คงเถียงกันได้ แต่ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในทุกประเทศอาเซียน ล้วนมีกลุ่มคน เล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่เห็นว่าจีนเอาเปรียบทั้งในเชิงระบบนิเวศ, ธุรกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีประชาชนในอาเซียนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มองจีนอย่างเป็นมิตรนัก
รัฐบาลจีนถือนโยบายไม่แทรกแซงทางการเมืองต่อประเทศอื่น แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนถือเป็นภาระหน้าที่ต้องช่วยพรรคพี่พรรคน้องในประเทศอื่น อย่างที่ได้เคยช่วยเหลือ พคท.มาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว หากไม่นับเวียดนามและลาว เวลานี้ไม่มีกองกำลังที่แข็งแกร่งของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศใดในอาเซียนที่กำลังรบกับรัฐบาลอยู่ ฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้ข้างหน้า ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะเห็นได้ว่า จีนจะใช้พลานุภาพของตนในการทำสงครามกับประเทศใดในอาเซียน และดูจะไม่มีเหตุอันใดที่จีนจะทำ "สงครามสั่งสอน" ใครอีก
อย่างไรก็ตาม เวลานี้จีนมีปัญหาพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศรอบบ้านตัวเอง แย่งเกาะแก่งในทะเลจีนกับญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, บรูไน, เวียดนาม, และมาเลเซีย ด้านอินเดีย จีนก็อ้างพื้นที่ถึงกว่า 90,000 ตารางกิโลเมตร ในแคว้นอนุจาลประเทศ โดยจีนเรียกว่าทิเบตใต้
แม้ทุกฝ่ายรวมทั้งจีนเอง ต่างประกาศว่าจะไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการตัดสินกรณีพิพาท แต่จีนก็รุกไปเรื่อยๆ เช่น ตั้งจังหวัดขึ้นในเกาะที่เป็นกรณีพิพาท เป็นต้น ฉะนั้น ปัญหาเรื่องเขตแดนคงไม่ปะทุขึ้นเป็นสงคราม แต่ก็เป็นหนามทิ่มแทงใจของเพื่อนบ้านจีนไปหมดทุกทิศ
จีนมีกำลังทหารที่น่าเกรงขาม โดยเฉพาะการใช้ยุทธวิธีทุ่มเทกำลังคนลงไปโจมตีข้าศึกอย่างชนิดไม่นับศพ ประเทศที่มีอาวุธยุทธภัณฑ์จำกัดอย่างอาเซียนย่อมยากที่จะเอาชนะจีนได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในประเทศจีนเอง ทำให้น่าสงสัยว่า จีนจะใช้ยุทธวิธีนี้ในสงครามที่กินเวลายาวนาน เช่น สงครามเกาหลีได้อีกหรือไม่ ในกรณี "สงครามสั่งสอน" เวียดนาม จีนยุติการสั่งสอนในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะเมื่อกองทัพจีนถูกกลลวงของเวียดนาม จนถูกเผาทั้งเป็นไปจำนวนมาก
ความเป็นไปได้ทางด้านการทหาร คือการทำสงครามตัวแทน โดยฝ่ายจีนสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เบื้องหลัง (เช่น สนับสนุนเขมรแดงผ่านไทย) และนี่เป็นเรื่องที่น่าห่วงกว่าการทำสงครามขนาดใหญ่โดยกองทัพปลดปล่อยของจีน สิ่งที่ประเทศอาเซียนต้องระวังคือ อย่ามีสงครามกลางเมือง และอย่าใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการตัดสินกรณีพิพาทระหว่างกัน แต่ทั้งสองเรื่องก็เป็นสิ่งระวังได้ยากในหมู่ประเทศอาเซียน
เพราะกำลังของจีนในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ จีนศึกษากำลังกลับมาใหม่ในเกือบทุกประเทศอาเซียน ซ้ำขยายตัวกว่าเก่าอีกมากด้วย เพราะไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ อีกแล้ว แต่รวมตั้งแต่เด็กชั้นประถม-มัธยมในโครงการภาษาจีนของหลายโรงเรียน ไปจนถึงการแปลงานวรรณกรรมและวิชาการของจีนเป็นภาษาต่างๆ ของอาเซียน
ว่าเฉพาะในเมืองไทย การกลับมาใหม่ของจีนศึกษาเที่ยวนี้ แตกต่างจากอดีต เพราะเป็นลักษณะการศึกษาเชิงอาณานิคมอย่างชัดแจ้ง จำนวนมากของผู้เรียนภาษาจีน เรียนเพื่อหางานทำในตำแหน่งงานจ้างประเภทลูกมือเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้คิดจะใช้ความรู้ทางภาษาสร้างความรู้เกี่ยวกับจีนในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับจีนศึกษาในระยะแรกที่มีการแปลสามก๊กเป็นภาษาไทยแล้ว ก็เห็นว่าต่างกันไกล หรือแม้แต่จะเปรียบกับจีนศึกษาในช่วงสงครามเย็น ก็ยังต่างกันอยู่นั่นเอง เพราะจีนศึกษาในสมัยปัจจุบัน กลายเป็นแค่โรงเรียนภาษา
ผมคิดว่า ไทยและอีกเกือบทุกประเทศของอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) ควรสร้างและทำความเข้มแข็งแก่จีนศึกษาที่มากกว่าการเรียนภาษา จะว่าไปจีนนั้นมีความสำคัญแก่อาเซียนกว่าสหรัฐเสียอีก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะกำลังอันมหาศาลของจีนและความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่ายักษ์ใหญ่อย่างจีนจะขยับท่าไหน ก็กระทบถึงเราอย่างมหันต์ทุกทีไป
จีนศึกษาไม่ได้จำกัดเฉพาะการเรียน "อารยธรรม" จีน อันเป็นหน้าที่หลักของสถาบันขงจื่อเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการศึกษาการเมืองการปกครอง (รัฐศาสตร์), เศรษฐกิจ (เศรษฐศาสตร์) ความสัมพันธ์ทางสังคม (มานุษยวิทยาและสังคมวิทยา) และการเมืองระหว่างประเทศของจีนอย่างทะลุปรุโปร่ง ตลอดจนสร้างความรู้เกี่ยวกับจีนจากจุดยืนของตนเอง
ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น หากทำได้ควรสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียน เพื่อสร้างจีนศึกษาที่มองจากจุดยืนของอาเซียนด้วย ในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ พื้นฐานด้านนี้ไปได้ไกล และอาจเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โครงการจีนศึกษาของอาเซียนได้ ทำนองเดียวกับการสร้างเอไอที อาเซียนน่าจะมีสมรรถภาพพอจะร่วมมือกันทำสถาบันจีนศึกษาของอาเซียนขึ้นได้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย