http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-01

ฝิ่น โดย คำ ผกา

.

ฝิ่น
โดย คำ ผกา
http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 89 


"ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญมากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชนชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน"
(เจตนารมณ์ของ ศปช.) www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1346070082&grpid=01&catid=&subcatid=


"เราอาจรู้โดยไม่จำเป็นต้องพูดว่าในยุคสมัยใหม่ สังคมที่ "ดี" ที่สุดไม่ใช่สังคมที่ "พูด" ได้มากที่สุดเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน สังคมที่ "พูดไม่ได้" (แปลว่าพูดไม่ได้โดย "ปลอดภัย") ก็ไม่มีทางเป็นสังคมที่ดีได้ ในสังคมแบบนี้ การพูดในสิ่งที่ถูกห้ามนำไปสู่การถูกดำเนินคดี ปองร้าย กลั่นแกล้ง หรือประชาทัณฑ์ แทบไม่ต้องพูดเลยว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ดี"
มุกหอม วงษ์เทศ, วารสาร อ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 เมษายน-มิถุนายน 2555



อาจเป็นเรื่องขมขื่นหากจะบอกว่าสังคมไทยคงต้องขอบคุณการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ได้ทำให้คนจำนวนมากและเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไทย-หากนับตามเสียงที่ไปลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย-ได้ตระหนักถึงกะลายักษ์ (ตามสำนวนของ อ.ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธุ์) ที่ครอบสังคมไทยอยู่และคนจำนวนมากเหล่านั้นได้พยายามจะพลิกกะลาให้หงายออกแล้วเราจะพากันเดินออกสู่โลกกว้างที่พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก
มิใช่โลกในกะลาที่ความมืดและความสว่างถูกกำกับให้เกิดขึ้นตามอำเภอใจของเจ้าของกะลา

6 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยเปลี่ยนแปลงในอัตราความเร็วที่สูงมาก ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์กับความเร็วของสัญญาณอินเตอร์เน็ต ดาวเทียม ความทันสมัยของเครื่องมือสื่อสาร อัตราการไหลเวียนของข้อมูลจากกรุงเทพฯ ไปอุดรฯ จากสกลนครไปเชียงใหม่ จากอุบลฯ ถึงลำปาง จากอยุธยาถึงสมุทรปราการ จากปัตตานีถึงเชียงรายนั้นใช้เวลาสั้นลงเรื่อยๆ จนแทบจะเป็นชั่ว "คลิก" เดียว หรือช้าที่สุดเพียงชั่วข้ามวันของการเดินทางของหนังสือ สิ่งพิมพ์ และแผ่นซีดีรอม 
ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 6 ปีนี้จึงรุนแรงมากเมื่อเทียบกับความไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาของสังคมไทย

รายงาน "ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553" ความยาวประมาณ 1,000 หน้ากระดาษกับการยืนยันว่ามีแต่ความจริงและความยุติธรรมเท่านั้นที่จะสร้างสังคม (ไทย) ใหม่ได้ เป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยหลังการรัฐประหารและหลังการอำมหิตอีกครั้งของรัฐไทย
นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนอย่างเป็นระบบ


ในขนบของการเขียนประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมามีแต่การบันทึก "บุญคุณ" ของ "รัฐ" (ในความหมายกว้าง) ควบคู่ไปกับการประณามระบอบการปกครองประชาธิปไตยของตะวันตกว่าเป็น "ฝรั่ง" ซ้ำเติมด้วยการเลือกไฮไลต์ด้านเลวทรามของนักการเมืองหรือแม้กระทั่งเขียนประวัติศาสตร์ให้ผู้นำฝ่ายประชาชนกลายร่างเป็นเผด็จการฟาสซิสต์  ผสมปนเปไปกับเรื่องเล่าว่าด้วยนักการเมืองเลว ไร้คุณธรรม โลภ โกงกิน ตัวบั่นทอนสังคมไทยถูกทำให้เหลือเพียงคาถาว่าด้วยกลุ่มทุนบวกกลุ่มการเมือง ซึ่งถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเพราะกะลาใบนี้ไม่เปิดเผยหมดจดว่าใครครอบงำทั้งทุนทั้งการเมืองด้วยความสง่างาม ก่อนจะรวบยอดเป็นตะกอนความคิดให้ผู้มีการศึกษาและคุณธรรมในสังคมสรุปว่า สิ่งที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยคือ ธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย

สังคมไทยอาจจะเคยมีความพยายามบันทึกประวัติศาสตร์ความอำมหิตของรัฐไทยที่กระทำต่อประชาชนผ่านการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ หรือความพยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลาคม แต่น่าเสียดายที่อาคารอนุสรณ์สถานในสายตาของฉันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในแง่ของการใช้สถาปัตยกรรมเพื่อเล่าและเตือนความทรงจำของสังคมให้ตะหนักว่า "รัฐแบบไทย ไทย" นั้นอำมหิตขนาดไหน เพราะตัวอาคารไม่สื่อสารทางอารมณ์ ความรู้สึกกับคนที่เข้าไปใช้อาคารนั้น ไม่เล่าเรื่อง นิทรรศการไม่ชัดเจน พร่าเลือน เหมือนอยากพูดแต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร
เป็นนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ที่กรอบเกรียบโรยราที่สุดเท่าที่เคยเห็น
ไม่นับว่าการผลักดันให้ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยของนักเรียนประถม และมัธยมก็น่าจะล้มเหลว




เหตุที่เราไม่ตระหนักว่ารัฐไทยนอกจากจะไม่มีบุญคุณใดๆ กับราษฎร (ทั้งโดยหลักการแล้วรัฐสมัยใหม่พึงเห็นว่าราษฎรหรือประชาชนนั้นเป็นใหญ่ในรัฐ) แล้วยังเป็นรัฐที่โหดเหี้ยม อำมหิต เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการเข่นฆ่าและใช้ความรุนแรงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐก่อนสมัยใหม่หรือเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ "หลอน" ตนว่าเป็นรัฐสมัยใหม่โดยมีวิญญาณของรัฐแบบจารีตสิงร่างอยู่

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ มิวเซียมที่น่าจะเป็นในประเทศไทยที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทยน่าจะได้เล่าและแสดงนิทรรศการให้ประชาชนชาวไทยและชาวโลกได้เห็นว่า สังคมไทยผ่านความรุนแรงเหล่านั้นมาอย่างไรในอดีต และแต่ละครั้งมีการจัดการกับความจริงและความทรงจำของประชาชนอย่างไรบ้าง 
วัฒนธรรมว่าด้วยการนิรโทษกรรมของไทยส่งผลให้ผู้ก่อการความรุนแรงเห็นว่าการกระทำของตนคือความชอบธรรมและเป็น need ของสังคมไทยที่ต้องมี "รัฐประหาร" อยู่เนืองๆ เพื่อ "กำราบ" สังคมให้อยู่ในระเบียบแห่งประเพณี

แต่เมื่อความรุนแรงนี้ถูกก่อขึ้นมาโดยรัฐ จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะแสดงนิทรรศการว่าด้วยการก่ออาชญากรรมของตนเอง และมิวเซียมเอกชนของไทย และมิวเซียมท้องถิ่นก็มุ่งให้ความสำคัญกับการจัดแสดง เครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้าน กระต่ายขูดมะพร้าว ครัวไฟ เสื้อผ้า ฯลฯ มากกว่าจะบันทึกความขื่นขมและการถูกกระทำ 
หรือหากมีผู้ริจะทำเช่นนั้นก็เสียงที่จะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกที่มุ่งสร้างความแตกแยกแตกสามัคคีแก่คนในชาติ เผลอๆ อาจโดนข้อหาทำลายความ "มั่นคง" ของชาติด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากชีวิตอันยาวนานในกะลายักษ์ของสังคมไทยไม่ได้บ่มเพาะให้พลเมืองตระหนักว่า "ความมั่นคง" ของชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมีความ "ยุติธรรม"  
สังคมใดก็ตามที่ปราศจากซึ่งความยุติธรรม สังคมนั้นไม่มีวันจะมั่นคงได้เลย 
และยิ่งไม่มั่นคง สังคมนั้นก็ยิ่งต้องใช้อำนาจในการโฆษณาชวนเชื่อ ป่าวร้อง บังคับให้คนรู้รักสามัคคี 
ยิ่งไม่มั่นคงสังคมนั้นก็ยิ่งต้องใช้อำนาจในการจับกุม ลงโทษ ประชาชนที่ไม่ยอมศิโรราบต่ออำนาจของการโฆษณา 
ยิ่งลงโทษมาก การต่อต้านก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ ยิ่งมีการต่อต้านรัฐก็ยิ่งรู้สึกถึงความไม่มั่นคง ยิ่งไม่มั่นคงการลงโทษก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ถี่ขึ้นเรื่อย ยิ่งการลงโทษหนัก การต่อต้านก็ไม่ลดราวาศอก 
สังคมเช่นนี้จึงเต็มไปด้วยความรุนแรงและความอำมหิตและยิ่งไกลจากคำว่า "มั่นคง"


ยิ่งไปกว่านั้นสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ว่า "ความมั่นคงแห่งชาติ" นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการยอมรับคุณค่าของเสรีภาพทางการเมือง ศาสนา ความคิด ความเชื่อ และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงแห่งชาติคือการท่องคาถาแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างความหลากหลายของวัฒนธรรม มิใช่การบังคับให้มีความเป็นไทยทางการเมืองเหมือนกันและเฟ้นเลือกความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น 
ห้ามมีหน้าที่อื่น 
ความมั่นคงของชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมและคนในชาติหลุดพ้นจากกะลาแห่งความลวง แล้วได้เผชิญหน้ากับข้อเท็จจริง ซึ่งแปลว่ามีสนามแห่งการแข่งขันอย่างเสรีของการเปิดเผยข้อมูลให้สังคมและประชาชนได้ใช้วิจารณญาณของตนเองในเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อหรือแม้กระทั่งพื้นที่ในการ "สร้าง" ชุดความจริงใหม่ๆ ขึ้นมาแข่งขันกันต่อไป

ประวัติศาสตร์ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชาติ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยชัยชนะ วีรบุรุษ ความสามารถพิเศษ พิสดารพันลึกของมหาบุรุษ และความสามมัคคีศิโรราบของไพร่ แต่คือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ ความพ่ายแพ้ ความเจ็บปวด การลุกขึ้นสู้ของไพร่ การกบฏ การถูกกำราบปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า 
และการยืนยันที่จะเรียกร้องความยุติธรรม-ประวัติศาสตร์เช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้ "ชาติ" มั่นคง มิใช่ประวัติศาสตร์แห่งการยกตนข่มเพื่อนบ้านและเหยียดไพร่ให้เป็นสัตว์เซลล์เดียวที่คิดเองไม่เป็น



รายงานของ ศปช. คือจุดเริ่มต้นแห่งการเขียนและแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชาติไทยและสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์การถูกกระทำของประชาชนและการยืนหยัดที่จะเรียกร้องสังคมใหม่ที่ต้องมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน
ไม่ใช่ความสามัคคีอย่างหน้ามืดตามัวเป็นพื้นฐาน
แทนการรอคอยการทำงานของคณะทำงานที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล แทนการรอคอยความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากประชาชนได้ทำงานร่วมมือกับประชาชนผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาทำบันทึกให้เป็นที่ประจักษ์ว่า อำนาจรัฐที่ปฏิเสธประชาชนจะฆ่าและลงโทษประชาชนอย่างไร้ความเป็นธรรมที่สุดและทางเดียวที่จะประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมคือการยืนยันแสดงข้อเท็จจริงและไม่ปล่อยให้มีใครมาขโมยประวัติศาสตร์และความทรงจำนี้ไปจากสังคมโลกอีกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

หากเราต้องการสังคมที่ดี เราต้องยืนยันการเขียนประวัติศาสตร์และอำนาจของสถาปนาความทรงจำของสังคมทั้งระวังมิให้เกิดการผูกขาดความทรงจำไม่ว่าจะจากฝ่ายใด 
อำนาจของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเริ่มจดจารความเจ็บปวดของตนเองและป่าวประกาศมันออกมา

มิใช่การนอนสูบฝิ่นเสพความทรงจำจอมปลอมอยู่ในกะลา



.