http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-01

ระวัง! สถานการณ์..เปลี่ยนเร็ว ใครเดินทางผิด..ชีวิตต้องย่อยยับ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ระวัง! สถานการณ์..เปลี่ยนเร็ว ใครเดินทางผิด..ชีวิตต้องย่อยยับ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 20


ก่อนการเคลื่อนไหว เมษายน-พฤษภาคม 2553 ในประเทศไทย ยังไม่มีวี่แววของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือนในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง 
แต่เวลาสั้นๆ เพียง 2 ปี การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนกับเขื่อนที่สะสมน้ำระเบิดออกมา ตะกอนแห่งความอยุติธรรม พัดพาเอาผู้นำของหลายประเทศปลิว กระเด็นออกไปนอกประเทศ บ้างก็ต้องเสียชีวิต เพราะถูกดินโคลนถล่มทับ เขื่อนคือประชาชนที่ต้องแบกรับทุกปัญหา แต่ถ้ามากไปก็ต้องพัง
อยากให้ดูบทเรียนจากต่างประเทศ ทั้งที่เขื่อนระเบิดแล้ว และข่าวร้ายจากซีเรีย... 
วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2555 สถานการณ์สู้รบในสงครามกลางเมืองซีเรียล่าสุด มีการปะทะหนักใน 4 เมือง คือ กรุงดามัสกัส เมืองอาเล็ปโป้ เมืองอิดลิบและเมืองฮามา ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตทั่วซีเรีย เพิ่มเป็นกว่า 20,000 คนแล้ว 
ส่วนยอดผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย จากสงครามกลางเมืองนานกว่า 17 เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้าน 7 แสนคน จากประชากร 22 ล้านคน


บทเรียนของผู้นำต่างประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
ตูนีเซีย...ปฏิวัติดอกมะลิ


การปฏิวัติเริ่มจากการประท้วงของหนุ่มขายผักผลไม้ที่ยากจนซึ่งถูกขับไล่ไม่ให้มีแผงลอยขายของ ทำให้เขาจุดไฟเผาตัวเองในวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ข่าวสารถูกส่งผ่านอินเตอร์เน็ตไปทั่วประเทศ 
ไฟที่ไหม้ร่างขยายออกไปเป็นไฟต่อต้านรัฐบาล ขับไล่ประธานาธิบดี เบน อาลี ออกจากอำนาจ เพราะเชื้อเพลิงของสังคมที่สุมอยู่คือ การว่างงาน เงินเฟ้อ อาหารแพง การทุจริต การขาดเสรีภาพทางการเมืองและการแสดงออก คนหนุ่มสาวและสหภาพแรงงานกลายเป็นหัวหอกการประท้วงอย่างสันติ 
แต่รัฐบาลก็มีคำสั่งให้ปราบประชาชนที่มาประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน บาดเจ็บนับร้อย 

วันที่ 14 มกราคม 2554 หลังการเคลื่อนไหว 28 วัน ประธานาธิบดี เบน อาลี ก็ลาออกและลี้ภัยไปยังซาอุดีอาระเบีย สิ้นสุดการครองอำนาจซึ่งยาวนานถึง 23 ปี หลังการเปลี่ยนแปลง ได้มีการฟ้องร้อง และศาลตัดสินให้จำคุก เบน อาลี 66+20 ปี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยและบุคคลใกล้ชิด ซึ่งอยู่ในสายอำนาจเก่าหลายคน ต้องจำคุกถึง 15 ปี 
เดือนตุลาคม 2554 มีการเลือกตั้งใหม่ 
14 ธันวาคม ประเทศตูนิเซียได้ผู้นำคนใหม่คือ มอนเซฟ มาร์ซูคี ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นประธานาธิบดีตูนิเซีย ที่มาจากการเลือกตั้งเสรีคนแรก หลังการปฏิวัติดอกมะลิ



อียิปต์...ปฏิวัติกุหลาบเลือด

25 มกราคม 2554 กระแสการปฏิวัติของตูนิเซียลามมาถึงอียิปต์ การรณรงค์ต่อต้าน ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัก ได้เริ่มขึ้น ผู้ประท้วงอียิปต์ต้องการแก้ปัญหาด้านกฎหมายและการเมือง การคอร์รัปชั่น การว่างงาน ภาวะเงินเฟ้อ ค่าแรงที่ต่ำมาก  
ผู้ประท้วงต้องการล้มการปกครองของ ฮอสนี มูบารัก และยุติกฎหมายฉุกเฉิน ต้องการเสรีภาพ ความยุติธรรม ต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 
การประท้วงที่ปราศจากอาวุธ เกิดขึ้นทั้งที่กรุงไคโร อเล็กซานเดรีย สุเอซ และเมืองใหญ่อื่นๆ แต่รัฐบาลก็ดำเนินการปราบอย่างรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิต 850 คน บาดเจ็บประมาณ 6,000 
14 กุมภาพันธ์ 2554 ประธานาธิบดีมูบารักก็ลาออก และหลบไปอยูที่ริมทะเลแดง แต่ก็ถูกส่งกลับมาขึ้นศาลในข้อหาฆาตกรรมผู้ประท้วง ศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต หลังถูกส่งตัวเข้าคุกไปไม่นาน เขาก็ป่วยและเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 2555 ในขณะที่อายุ 84 ปี

แต่การเมืองในอียิปต์ยังต้องสู้กันต่อไป นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ยังต้องงัดข้อกับกลุ่มอำนาจเก่าและศาลรัฐธรรมนูญซึ่งสั่งยุบสภาผู้แทนฯ แต่ประธานาธิบดีก็สั่งปลดรัฐมนตรีกลาโหม (ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาเกือบ 20 ปี) และเสนาธิการทหารสายอำนาจเก่า ปลดหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง  
ทั้งยังให้ยกเลิกการแก้รัฐธรรมนูญที่ทหารจำกัดอำนาจประธานาธิบดี การเมืองในอียิปต์เริ่มแบบ 14 ตุลาคมของไทย  
แต่จะไปลงเอยแบบไหน อีกปีสองปี คงได้รู้กัน 
เพราะตัวประธานาธิบดีคนใหม่ มาจากกลุ่ม Muslim Brotherhood ที่มีกำลังจัดตั้งสนับสนุนหนาแน่นพอสมควร



ลิเบีย...ปฏิวัติในบ่อน้ำมัน

15 กุมภาพันธ์ 2554 กระแสลมปฏิวัติก็พัดเข้าใส่ลิเบียต่อจากประเทศตูนิเซียและอียิปต์ กองกำลังปฏิวัติต่อต้านกาดาฟีจัดตั้งรัฐบาลตั้งอยู่ที่เบงกาซี มีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มรัฐบาลกาดาฟีและจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มีลมหนุนมาจากตะวันตกเข้ามาช่วย มิฉะนั้น จะไม่สามารถต้านทานการปราบของกองรัฐบาลได้ การต่อสู้ที่ลิเบียจึงเป็นการประท้วงและตามมาด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เปิดช่องให้ฝ่ายตะวันตกทำลายการป้องกันทางอากาศของลิเบีย ทำให้กองกำลังฝ่ายปฏิวัติชนะในที่สุด 
สงครามกลางเมืองสิ้นสุดเมื่อ 23 ตุลาคม 2554 คาดว่ามีผู้เสียชีวีตถึง 30,000 คน พันเอกกาดาฟีไม่มีโอกาสได้ขึ้นศาลเพราะถูกจับในขณะที่หลบหนีและถูกฝ่ายต่อต้านยิงทิ้ง คนที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินนี้ เคยมีอำนาจสั่งเป็นสั่งตายถูกใครก็ไม่รู้ยิงทิ้งอยู่กลางถนน

มีการเลือกตั้งอย่างเสรีในรอบ 42 ปีเมื่อ 18 กรกฎาคม 2555 แต่ประชาธิปไตยของลิเบียต้องยอมรับว่าผูกพันอยู่กับแหล่งน้ำมันที่ประเทศมหาอำนาจ มารุมทึ้ง
ประชาธิปไตยในลิเบียจึงอยู่ในกรอบและถูกกำหนดให้เป็นไปด้วยการตกลงของมหาอำนาจหลายประเทศ



ซีเรีย...สงครามกลางเมือง

การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2554 และขยายใหญ่ในเดือนมีนาคมผู้ประท้วงเรียกร้องให้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ลาออก แต่รัฐบาลซีเรียใช้กองทัพปราบปรามอย่างรุนแรง เพราะการแทรกแซงจากต่างชาติมีน้อยมากในช่วงต้น  
แต่ในที่สุด ฝ่ายต่อต้านก็ใช้อาวุธเข้าต่อสู้ สถานการณ์ขณะนี้เลยกลายเป็นสงครามกลางเมือง 12 เมษายน 2555 มีการเจรจาหยุดยิงโดย UN ซึ่งไม่ได้ผล
19 กรกฎาคม 2555 เกิดเหตุระเบิดพลีชีพที่อาคารหน่วยงานความมั่นคงในกรุงดามัสกัส ที่คร่าชีวิต พลเอกดาอุด รัชฮา รัฐมนตรีกลาโหม, นายอัสเซฟ ชอว์กัต รัฐมนตรีช่วยกลาโหม พี่เขยของประธานาธิบดีอัสซาด และ พลเอกฮัสซัน ตุรโกมานี ประธานการแก้วิกฤติ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคน ส่วนรัฐมนตรีมหาดไทย ได้รับบาดเจ็บ ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา นับเป็นการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่นองเลือดที่สุด กองทัพซีเรียเสรี หรือ FSA ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ 
ขณะนี้การสู้รบในเมืองใหญ่ ยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด คาดว่าน่าจะจบในปี 2555 นี้

คอยดูตอนจบของประธานาธิบดี อัล อัสซาด แห่งซีเรีย ว่าจะเป็นอย่างไร



สถานการณ์ในประเทศไทย... 
กำลังถูกเร่งให้ปลี่ยน

ถ้าจะเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยกับ 3-4 ประเทศที่ยกมาข้างต้น ของเรามีความซับซ้อนกว่า 
ประเทศเหล่านั้นเมื่อประชาชนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงก็สามารถขับไล่ผู้นำที่เขาไม่ต้องการออกไป จัดให้มีรัฐบาลใหม่

แต่สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงรูปแบบนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2516 พอมาถึงยุคปัจจุบัน ถูกพัฒนาให้ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อประชาชนต่อสู้ให้มีการเลือกตั้งและชนะเลือกตั้ง กลับไม่สามารถมีอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ เพราะยังมีอำนาจตุลาการและอำนาจนอกระบบ มาแทรกแซงการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจนิติบัญญัติของสภาผู้แทน  
นี่คือตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงขั้นที่สอง

วันนี้เราจึงเห็นประชาชนที่ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังถูกขัง นักโทษการเมืองยังไม่ได้รับการประกันตัว คนแก่ที่ไม่รู้ว่าส่ง SMS เป็นหรือไม่ ก็ถูกขังจนตาย 
แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะขนาดสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนคนทั้งชาติ ยังถูกสั่งห้ามยกมือวาระ 3 
การต่อสู้ทางการเมืองจึงอยู่ในสภาพที่ต้องยันกันหลายแนวรบ แต่ความอยุติธรรมก็ปรากฏให้เห็นง่ายขึ้น


ต้องอดทนเล่นเกมทุกรูปแบบเพื่อเลี่ยงความรุนแรง

ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายใช้อำนาจผ่านองค์กรที่ตนเองควบคุม ทั้งสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา องค์กรอิสระ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมทุกชนิด ข่ายงานของรัฐบาล กำลังมวลชนที่สนับสนุน เข้ากดดันเพื่อผลทางการเมือง วันนี้เราจึงเห็นการเดินเกมในสภาฯ การฟ้องร้องในศาล กล่าวหาผ่านองค์กรอิสระ ลุยกันอุตลุด หวังผลในวันนี้และวันหน้า ตั้งแต่บุคคลธรรมดา ส.ส. ส.ว. กรรมการองค์กรอิสระ คนในรัฐบาลใหม่ คนในรัฐบาลเก่า เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ แม้แต่คนที่ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการ ทุกคนถูกลากมาเล่นเกมนี้ 
ที่จริงการเกิดปัญหาแบบนี้ บางคนที่เกี่ยวข้องอาจไม่อยากให้เกิด แต่นี่เป็นการต่อสู้ที่เหมือนกับการเดินหมากบนกระดาน พอถึงตาบังคับ ก็ต้องเดินเข้าแลกกัน

เช่น...กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันนี้งานกำลังเข้าเพราะเรื่องผลสรุปกรณีการปราบประชาชน ในการเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 จนป่านนี้แล้วยังไม่เห็น กสม. ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิประชาชนตรงไหนเลย อยากจะดูความเห็นเรื่องปืน M 16 ติดกล้องใช้ยิงนก และหนังสติ๊กใช้ลอบสังหารว่าเป็นอย่างไร  
ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินที่ถูกตรวจถึงหลังบ้านก็หายเงียบไปจากจอ ไม่ยอมตรวจสอบจริยธรรมเรื่องหนีทหาร มีคนเป็นห่วงกรรมการทุกองค์กร กลัวว่าจะถูกฟ้องตอนแก่ สำหรับประชาชนมีเวลาสู้ต่อสบายๆ เพราะเวลาในการทวงความยุติธรรมคืนไม่มีใครกำหนด

ข้อดีของการทะเลาะกัน ฟ้องร้องกัน แสดงว่า เรายังไม่ต้องยิงกัน ฆ่ากัน เรายังคิดว่ามีเกมที่พอเหลือความยุติธรรมให้เล่น ถ้าความเชื่อมั่นตรงนี้หมดเมื่อไร กระบวนการการใช้อาวุธจะเข้ามาแทนที่ และจะพัฒนาไปเป็นสงครามเหมือน ลิเบีย และซีเรีย

ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนเร็ว ขอทุกคน มองความเป็นจริงทั้งโลก ไม่มีใครปกปิดความจริงและขัดขวางความยุติธรรมได้อีกแล้ว การเปลี่ยนแปลงในแอฟริกาเหนือ ตูนิเซีย และอียิปต์ใช้เวลาแค่ 1 เดือน ลิเบีย 8 เดือน ซีเรีย อาจนานถึง 2 ปี

สำหรับไทย การเปลี่ยนขั้นที่สอง อาจจะ 3 เดือนหรือ 3 ปีไม่มีใครรู้ ผู้มีอำนาจ ผู้เกี่ยวข้องต้องมองอนาคตตนเองและคิดถึงประชาชน

กฎแห่งกรรมมีจริง ฆ่าคนต้องชดใช้ จับคนไปขังก็ต้องถูกขัง แม้ไม่มีใครจับขังยังต้องขังตนเองไปจนตาย...



.