http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-01

เราจะซื้ออะไรสู้ในภาคใต้? โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

เราจะซื้ออะไรสู้ในภาคใต้?
โดย สุรชาติ บำรุงสุข
  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 34 


"ความคิดที่จะไม่ผ่านความยากเข็ญคดเคี้ยว
ไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด
จะต้องราบรื่นตลอดไป ได้รับความสำเร็จโดยง่ายนั้น
ความคิดเช่นนี้ เป็นเพียงความเพ้อฝัน"
ประธานเหมาเจ๋อตุง 
รวมนิพนธ์ เล่ม 7



หนึ่งในปัญหาสำคัญของสถานการณ์สู้รบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกองทัพไทยก็คือ ปัญหาการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์สำหรับการต่อสู้ที่เกิดขึ้น 
บทเรียนการสงครามทั่วโลกให้คำตอบแต่เพียงประการเดียวว่า รัฐที่ไม่เข้าใจแบบแผนการสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เคยชนะสงคราม
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ชัยชนะในการสงครามไม่ได้เกิดขึ้นจากความว่างเปล่า

ที่เชื่อว่ากองทัพฝ่ายเราทำอย่างไรก็ได้ แล้วในที่สุดฝ่ายข้าศึกจะแพ้ไปเอง เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายที่ดีกว่า... ถูกต้องกว่า... เหนือกว่า ความคิดเช่นนี้เอาเข้าจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยเป็นอย่างยิ่ง 
โดยเฉพาะฐานคิดที่เชื่อว่า เรามีอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่า เราจะเป็นฝ่ายที่แพ้ได้อย่างไร

ผู้นำทหารของไทยวนเวียนอยู่กับความคิดเช่นนี้ ดังจะเห็นได้ว่า นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนที่เกิดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 อันเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในภาคใต้ร่วมสมัยนั้น การพัฒนากำลังรบให้สอดรับกับสถานการณ์สงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีอยู่น้อยมาก 
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักที่จะเห็นได้ว่า กองทัพรบกับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบด้วยแบบแผนทางยุทธวิธีของสงครามตามแบบค่อนข้างมาก

อีกทั้งแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ของผู้นำทหารจากปี 2547 เป็นต้นมา ก็เป็นไปในทิศทางของสงครามตามแบบ
แม้ในระดับของผู้บังคับหน่วยในพื้นที่หลายๆ ส่วนพยายามที่จะ "คิดนอกกรอบ" ของสงครามตามแบบ แต่ทิศทางหลักของกองทัพยังคงไปในแนวทางของสงครามตามแบบ 
ดังจะเห็นได้ว่ายุทโธปกรณ์หลักที่ถูกจัดซื้อหลังจากรัฐประหารนั้น ไม่ใช่เครื่องมือหลักที่ช่วยให้กองทัพเอาชนะสงครามในภาคใต้ได้เลย

ในขณะเดียวกันการจัดซื้อที่เกิดขึ้นในอุปกรณ์บางชนิดก็กลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง 
ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ตรวจระเบิดที่กลายเป็นข่าวใหญ่มาแล้วอย่าง "จีที-200" หรืออุปกรณ์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จนเมื่อมีการจับกุมเจ้าของที่เป็นบริษัทผู้ขายอุปกรณ์ดังกล่าวในอังกฤษแล้ว เราจึงเริ่มยอมรับกันจริงๆ ว่า จีที-200 เป็นเพียงการ "ลวงโลก" และไม่สามารถใช้ตรวจวัตถุระเบิดได้จริง 
ซึ่งว่าที่จริงภายในเหล่าทัพก็มีผู้ที่พยายามแสดงความเห็นถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ดังกล่าวไปแล้ว แต่ดูเหมือนผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะทำใจไม่ได้ที่จะต้องยอมรับว่าจีที-200 ไม่สามารถใช้การได้ จนนำไปสู่การทดลองในเวทีสาธารณะ ซึ่งก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าทำงานไม่ได้จริง 
แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีการออกคำสั่งอย่างเป็นทางการให้ยุติการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ ดังจะเห็นจากภาพข่าวหลังจากการตรวจสอบอย่างเป็นทางการแล้ว หน่วยทหารบางหน่วยก็ยังคงใช้อุปกรณ์ดังกล่าว 
ทั้งที่ "กล่องพลาสติกเปล่า" ของสิ่งที่เรียกว่า จีที-200 และอุปกรณ์ที่คล้ายคลึงกันนั้น ไม่ใช่เครื่องมืออะไรเลย เป็นแต่เพียงความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเลื่อนลอยว่า กล่องพลาสติกกับแกนเหล็กพร้อมกับบัตรพลาสติกแข็งนี้จะตรวจจับวัตถุระเบิดได้

ดังนั้น เมื่อเกิดการจับกุมผู้ขายในอังกฤษแล้ว สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องกล้าแสดงออกก็คือ การสั่งยุติหรือประกาศยกเลิกการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเดินหน้าในการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทผู้ขายในอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอังกฤษก็มีความพยายามในการเอาผิดกับบริษัทดังกล่าว 
ส่วนจะมีการสอบสวนในการจัดซื้อจัดหาภายในกองทัพก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
แต่อย่างน้อยกับบริษัทผู้ขายในไทยก็น่าจะต้องถูกสอบสวนด้วยเช่นกัน


อุปกรณ์ทางทหารอีกชุดหนึ่งที่ฮือฮากันอย่างมากว่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยทหารในการลาดตระเวนและการเฝ้าตรวจก็คือ "เรือเหาะ" ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงมาก (มีตัวเลขประมาณการถึง 350 ล้านเหรียญสหรัฐ) 
แต่จนบัดนี้เรือเหาะดังกล่าวก็มีสถานะไม่แตกต่างจากจีที-200 คือใช้งานไม่ได้จริง 
ดังจะเห็นได้ว่าจนถึงปัจจุบันก็ไม่มีความชัดเจนว่า เรือเหาะนี้สามารถขึ้นสู่อากาศได้จริง เพราะมีข่าวปรากฏในสื่อตั้งแต่ยุคต้นถึงรูรั่วต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ความคิดในการลาดตระเวนและการเฝ้าตรวจทางอากาศนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดพลาด เพราะในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบนั้น การลาดตระเวนและการเฝ้าตรวจเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกองกำลังฝ่ายรัฐในการต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ
ดังจะเห็นได้จากบทเรียนการรบในสงครามนี้ในทุกสมรภูมิ การลาดตระเวนและการเฝ้าตรวจโดยใช้อุปกรณ์จากทางอากาศจึงเป็นประเด็นน่าสนใจอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพทางทหารของฝ่ายรัฐ 
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่แนวคิดของการใช้การลาดตระเวนและการเฝ้าตรวจทางอากาศนั้นกลายเป็นเรื่องของการใช้เรือเหาะ
เพราะว่าที่จริงเรือเหาะอาจจะมีจุดอ่อนอย่างมาก เช่น ความกังวลว่าเรือเหาะอาจจะถูกยิงจากปืนซุ่มยิงระยะไกล เป็นต้น (แต่ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ฝ่ายตรงข้ามไม่น่ามีอาวุธชนิดนี้) 
แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าก็คือ เมื่อมีการจัดซื้อจัดหาแล้ว เรือเหาะกลับไม่สามารถใช้งานได้จริง ทุกอย่างยังถูกเก็บเอาไว้ในโรงซ่อม
และจนถึงวันนี้ก็น่าจะชัดเจนว่า เรือเหาะดังกล่าวใช้งานไม่ได้
อีกทั้งก็ไม่มีความชัดเจนว่า การจัดซื้อดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงตัวเรือเหาะโดยไม่มีอุปกรณ์ทางยุทธวิธีของการเฝ้าตรวจ ซึ่งก็ยิ่งเท่ากับทำให้เรือเหาะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไร้ค่าในทางยุทธการเป็นอย่างยิ่ง


ปัญหาของเรือเหาะคงไม่แตกต่างจากจีที-200 ก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรดีกับสิ่งของเหล่านี้ มิใยต้องกล่าวถึงความรับผิดชอบของผู้จัดซื้อ แต่มุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงกระบวนการจัดซื้อที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 2549 ที่กองทัพมีอำนาจอย่างมากในทางการเมือง และสามารถจัดซื้อยุทโธปกรณ์และสิ่งต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย จนแทบจะไม่มีแรงต้านในกระบวนการดังกล่าวได้เลย! 
ในอีกมุมหนึ่งถ้าเราคิดถึงเทคโนโลยีทางอากาศในโลกปัจจุบัน แนวคิดทางยุทธการชุดนี้อาจจะใช้ "อากาศยานไร้คนขับ" หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า "ยูเอวี" (UAV) เพราะถ้าเปรียบเทียบการใช้เรือเหาะกับยูเอวีแล้ว การใช้ยูเอวีน่าจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจในทางยุทธการมากกว่า
แม้จะมีหน่วยของกองทัพบกบางส่วนใช้ยูเอวีอยู่บ้างก็ตามที แต่ก็ไม่ใช่การใช้อย่างเป็นระบบ จนถึงขั้นที่กล่าวได้ว่า ยูเอวีเป็นเครื่องมือหลักของการเฝ้าตรวจและการลาดตระเวนทางอากาศ 
ถ้าผู้นำกองทัพตัดสินใจรับเอาแนวคิดชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือหลักแล้ว ก็น่าจะเสริมสร้างบทบาทของกองทัพอากาศในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะบทบาทของ "นภานุภาพในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ" น่าจะเป็นหัวข้อสำคัญของกองทัพอากาศในสถานการณ์ความมั่นคงไทยปัจจุบัน  
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดของการใช้อากาศยานจริงๆ ในการลาดตระเวน เพราะอาจจะเกิดเสียงดังอย่างมาก หรือหากลาดตระเวนในระดับต่ำก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อนักบิน เช่นบทเรียนจากสงครามเวียดนาม 
ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดของการใช้อากาศยานลาดตระเวนนั้น การใช้ยูเอวีหรืออากาศยานไร้คนขับน่าจะเป็นทางเลือกอย่างมาก และอย่างน้อยวันนี้ก็เห็นได้จากประสบการณ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาในอิรักและในอัฟกานิสถานที่ใช้เครื่องดังกล่าว

ในกรณีของสหรัฐ อาจจะไปไกลมากถึงขั้นการใช้อากาศยานไร้คนขับในการโจมตีเป้าหมายที่ต้องการ จนปัจจุบันมีรายงานถึงความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งอีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากระบบงานข่าวกรองที่ดี เพราะงานข่าวกรองที่ดีทำให้การกำหนดเป้าหมายการโจมตีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จนบทบาทของการใช้อาวุธประเภทนี้มีส่วนอย่างมากในการทำให้กองทัพสหรัฐ สามารถดำรงความคิดริเริ่มในสนามรบได้
และที่สำคัญยังทำให้กองทัพสามารถควบคุมสนามรบได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย



ดังนั้น สิ่งที่ผู้นำกองทัพไทยอาจจะต้องการอย่างมากในอนาคตก็คือ การลงทุนทางทหารในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบซึ่งก็คือ "สงครามนอกแบบ" นั้น การจัดซื้อยุทโธปกรณ์สำหรับสงครามตามแบบอาจจะไม่ใช่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อประสิทธิภาพของปฏิบัติการทางทหารเท่าใดนัก และอาจจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าในสถานการณ์สงครามของไทย 
สิ่งที่ควรได้รับความสนใจอย่างมากในการจัดหายังคงเป็นอุปกรณ์ที่จะต้องช่วยในเรื่องของการตรวจจับวัตถุระเบิด ดังจะเห็นว่าสงครามในภาคใต้ของไทยมีการใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือหลัก ฉะนั้น เครื่องมือเช่นนี้จะมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยป้องกันชีวิตของกำลังพล และยังจะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยป้องกันความเปราะบางของพื้นที่เมืองซึ่งมีสภาพเป็น "เป้าหมายอ่อน" (soft target) 
เพราะหากขาดเครื่องมือดังกล่าว การปกป้องชีวิตของกำลังพลและชีวิตของประชาชนย่อมเป็นเรื่องยากลำบาก 
เพราะในโลกของการต่อต้านการก่อการร้ายสมัยใหม่ ต้องการเครื่องมือและ/หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด เครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด ตลอดรวมถึงถังป้องกันระเบิดเพื่อใช้ครอบวัตถุต้องสงสัย เป็นต้น


นอกจากนี้ การตรวจรถยนต์ต้องสงสัยก็ต้องการเครื่องมือในรูปแบบของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เครื่องที่สามารถถ่ายเอ็กซเรย์รถยนต์ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำได้เพียงการใช้กระจกส่องด้านล่างตัวรถ หรือในบางกรณีก็ใช้เครื่องมือพื้นฐานคือสุนัขดมกลิ่นที่ใช้ในการตรวจระเบิด 
แต่หากลงทุนซื้ออุปกรณ์เอ็กซเรย์รถ ซึ่งแม้จะเป็นการลงทุนที่สูง แต่ก็อาจจะเป็นความคุ้มค่าเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลในการต่อสู้กับการก่อเหตุร้าย 
และอาจจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์หนักสมรรถนะสูงในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้นำกองทัพไทยชอบจัดหาจนกลายเป็น "อนุสาวรีย์" ประจำตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพในแต่ละยุค 
บางทีเราอาจจะต้องแสวงหาเทคโนโลยีในการตรวจสอบรถยนต์ทั้งในเรื่องทะเบียนรถยนต์และภาพของเจ้าของรถ เพราะปัจจุบันมีการลักขโมยรถยนต์เพื่อใช้ประกอบเป็น "รถระเบิด" อยู่เสมอ 
การตรวจสอบรถยนต์ที่ถูกจารกรรมจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในการป้องกันการก่อเหตุร้าย


อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในการป้องกันพื้นที่เมืองยังคงต้องใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) แต่ก็จะต้องมีการเตรียมบุคลากรในการเป็นผู้ควบคุมกล้องดังกล่าว โดยกล้องจะต้องเป็นเครื่องมือของการแจ้งเตือน มากกว่าจะใช้เพื่อการเป็นวัตถุพยานหลังจากเกิดเหตุร้ายแล้ว 
หรืออีกนัยหนึ่งจะต้องใช้กล้อง CCTV ในลักษณะของ "งานเชิงรุก" มิใช่มีกล้องตามสถานที่ต่างๆ แต่ถูกใช้งานในรูปแบบการป้องกันเชิงรับ จนไม่อาจทำหน้าที่ในการแจ้งเตือนได้ 
แม้จะต้องลงทุนมากขึ้น แต่การติดกล้อง CCTV ในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องถือว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน 
เพราะกล้องดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญของการแจ้งเตือนเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ตัวอย่างสังเขปจากข้างต้นเป็นข้อเสนอบางประการที่เราอาจจะต้องปรับทิศทางของการจัดหาทางทหารใหม่ เพราะความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญคือสงครามก่อความไม่สงบที่ใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ แต่หากเรายังแสวงหายุทโธปกรณ์หนักที่หวังเพิ่มอำนาจการยิง และหวังว่าอำนาจเช่นนี้จะทำให้เราชนะข้าศึกแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับการ "รบผิดแบบและผิดสนามรบ" 
ด้วยเหตุนี้สนามรบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงท้าทายทางความคิดต่อผู้นำทางทหารของไทยเป็นอย่างยิ่ง

หรือหากยังยืนยันที่จะคิดในแนวสงครามตามแบบ ก็เอาทรัพยากรสำหรับการสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ซึ่งเป็นสองกองพลใหม่ของกองทัพบกไปพัฒนากำลังรบของกองทัพภาคที่ 4 ก็ยังน่าจะดีกว่า 
เพราะกองพลทั้งสองถูกจัดตั้งขึ้นโดยไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้รับกับภัยคุกคามอะไร!



.